อาคารโรงเรียนภูเก็ตฮัวบุ๋น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช ๒๔๗๑ จากสำเนากำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๗๑
"วันที่ ๒ กุมภ์ เวลา ๑๐.๐๐ น. เสด็จโรงเรียนประจำมณฑลชาย โรงเรียนประจำมณฑลสตรี โรงเรียนจีน "ภูเก็ต ฮัวบุ๋น" กับโรงเรียนจีน "ส่องเต็ก ภูเก็ต" โรงพยาบาลวชิราวุธแล้ว เสด็จกลับสู่ที่ประทับ
เวลา ๑๖.๐๐ น. เสด็จอ่าวราไวยโดยกระบวนรถยนต์ เสวยเครื่องว่าง ณ พลับพลาชายหาด เวลา ๑๘.๐๐ น. เสด็จกลับสู่ที่ประทับ"...
โรงเรียนจีนในจังหวัดภูเก็ต ได้เปิดสอนกันมานานแล้ว ตามเอกสารรายงานของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๕๓ ว่า ภูเก็ตมีโรงเรียนจีนอยู่ ๓ โรง คือ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่โรงหนึ่ง สอนมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๓ โรงเรียนเขตอำเภอกะทู้แห่งหนึ่ง และโรงเรียนที่ตำบลบางเหนียวใต้อีกแห่งหนึ่ง สอนมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๔ โรงเรียนทั้งสามแห่ง มีคณะกรรมการจีนหาเงินมาจ้างครูและค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ในปีพ.ศ. ๒๔๕๖ รัฐบาลได้อนุญาตให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนได้เป็นแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ก่อตั้งโรงเรียนภูเก็ตฮัวบุ๋นขึ้น ที่ถนนกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าจากถนนกระบี่จรดตรอกสุ่นอุทิศ แต่รูปแบบอาคารเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน
พ.ศ. ๒๔๖๙ โรงเรียนภูเก็ตฮัวบุ๋นได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการสร้างอาคารตึกเรียนชั้นเดียว จำนวน ๖ ห้อง รูปแบบสถาปัตยกรรม ชิโน-ยูโรเปียนสไตล์ ด้านหน้าอาคารเรียนหันออกไปทางตรอกสุ่นอุทิศ มีป้ายปูนปั้นบอก พ.ศ. ๒๔๖๙
ต่อมา กลุ่มชาวจีนในภูเก็ต นำโดย นายตันเคกิ๋ว (ตระกูลตันติวิท) นายตันจิ้นหงวน (ตระกูลหงส์หยก) นายตันตั่วโท (ตระกูลเอกวาณิช) นายหงอฮั่นก๋วน (ตระกูลอุบัติศฤงศ์) นายตันเองกี้ (ตระกูลอุดมทรัพย์) ได้ร่วมแรงร่วมทุนเพื่อก่อสร้างตึกเรียนหลังใหม่ โดยให้นายเอี่ยวหงาเอี๋ยน เป็นสถาปนิกออกแบบอาคาร แล้วมอบหมายการก่อสร้างให้นายเอี๊ยบกิมเจี้ยน (เจียร วานิช) อาคารหลังนี้เป็นแบบสองชั้น ตั้งอยู่ค่อนไปทางตรอกสุ่นอุทิศ หันหน้าไปทางถนนกระบี่ สร้างเสร็จและเปิดฉลองอาคารเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
ลักษณะตัวอาคารสองชั้น ยกพื้นมีบันไดสามชั้นยาวตลอดแนว เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สถาปนิกได้ออกแบบมองดูแล้วแข็งแรงมั่นคงบึกบึน ประตูสามช่องตามวัฒนธรรมจีน หมายถึง ประตูช่องกลางใช้สำหรับทางเข้าออกผู้ใหญ่ ถ้าเป็นวังสำหรับฮ่องเต้ หรือประธานาธิบดี เจ้าเมือง ผ่าน ส่วนบุคคลทั่วไปเข้าทางด้านซ้ายเมื่อหันหน้าเข้าอาคาร และเดินออกทางชวามือ เสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สี่ต้นแบบโดริกทำเป็นร่องลายขวางตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบนเป็นกรอบทั้งสามช่อง ทำเป็นส่วนโค้งครึ่งวงกลมแบบโรมัน มีแท่งสลักหิน ทำเป็นร่องสัมพันธ์กัน แต่ละช่องของส่วนโค้งมีหกร่อง มีฐานบัวขนาดใหญ่รองรับ ส่วนเสาแบ่งเป็นเสากลมแบบไอโอนิกสองต้นประกบเสาสี่เหลี่ยมแบบโกธิก ในกรอบวงโต้งทำเป็นประตูกระจกเข้าออก เหนือเสาทั้งสี่ต้นมีฐานบัวรองรับคานยาวตลอด มีข้อความ พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้านซ้ายมือ เมื่อหันหน้าเข้อาคาร และด้านขวามือบอก ค.ศ. 1934
ล่วงถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้สั่งปิดโรงเรียนจีนทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้โรงเรียนส่องเต็กภูเก็ตต้องปิดกิจการ เจ้าของโรงเรียนจึงให้โรงพยาบาลมิชชั่นเช่าหลายปี ปัจจุบันอาคารโรงเรียนส่องเต็กเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิกุศลสงเคราะห์ จังหวัดภูเก็ต
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงแล้ว ในปีพ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ตั้งโรงเรียนจีนขึ้นมาใหม่ โดยใช้สถานที่โรงเรียนภูเก็ตฮัวบุ๋น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนภูเก็ตจุงหัว" เปิดสอนได้เพียงสองปีต้องปิดกิจการลงอีก ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์
ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ จึงได้ตั้งโรงเรียนจีนขึ้นมาใหม่ ชื่อ "โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว" โดยใช้อาคารเก่าที่สร้างตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๗ ดำเนินการ
ต่อมาโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวได้ย้ายไปอยู่สามแยกซี่เต็กค่า ถนนวิชิตสงคราม
ส่วนตึกสองชั้น ปัจจุบันใช้เป็น พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตของชาวจีน จากมณฑลฮกเกี้ยนได้เดินทางเข้ามาอาศัยในภูเก็ตประกอบอาชีพต่างๆ
อาคารหลังนี้ จึงเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมภูเก็ต ที่ได้อนุรักษ์ไว้อย่างมั่นคง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชนชาวจีนที่ได้อาศัยอยู่ในภูเก็ต นับว่าเป็นเอกลักษณ์สิ่งก่อสร้างของชาวภูเก็ตเป็นอย่างดี
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
***
ภาพประกอบ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
****
*****
|