โนราชูวังเวง

ชูวังเวง เป็นตำนานเล่าถึงความอาถรรพณ์ของโนราชูแห่งจังหวัดภูเก็ต ที่จบชีวิตด้วยฝีมือเจ้าเมือง อย่างน่าอนาถ ซึ่งคนรุ่นเก่าเล่าสืบต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
นางชุม ฤกษ์ถลาง บุตรีของพระยาถลาง (ฤกษ์)ได้เล่าตำนานเรื่องนี้ว่า
มีโนราคนหนึ่ง ชื่อ ชู ว่างดงามและเสียงไพเราะมาก จนมีผู้ให้ชื่อว่า ชูวังเวง ชูวังเวงได้ลงกาจับหลัก (ดู กาจับหลัก) ไว้ที่ฟันซี่หนึ่ง ถ้ายิ้มให้ใครแล้วคนนั้นก็ต้องหลงรัก โดยเฉพาะเพศตรงข้าม แล้วอาจเกิดอาการถึงขั้นคลั่งไคล้ โนราชูก็รู้ในข้อนี้ จึงเอาสำลีปิดฟันซี่นั้นเสมอเมื่อออกรำ
จากการที่โนราชูลงเสน่ห์กาจับหลักนี้เอง ที่ต้องทำให้ชีวิตตัวเองและคณะ ต้องจบลงอย่างน่าอนาถ
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง ภรรยาน้อยคนโปรดของของเจ้าเมืองถลาง ไปดูโนราชู แล้วเห็นโนราชูออกรำ โดยเอาสำลีปิดฟันซี่ที่ลงเสน่ห์กาจับหลักไว้ ฝ่ายภรรยาน้อยเจ้าเมืองคนนั้นก็ได้สบประมาทว่า ถึงฟันซี่นั้นไม่ปิดสำลี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โนราชูเมื่อได้รู้ถึงคำสบประมาทนั้น ก็ถอดสำลีที่ปิดออกเสีย แล้วโปรยยิ้มไปยังภรรยาน้อยเจ้าเมือง เมื่อภรรยาน้อยเจ้าเมืองเห็นเข้า ถูก นะจังงังจากเสน่ห์กาจับหลัก ก็หลงรัก โนราชูไปแสดงที่ไหน ภรรยาน้อยเจ้าเมืองคนนั้นก็ตามไปดูทุกครั้ง ทำให้เจ้าเมืองถลางโกรธโนราชูมาก จึงคิดฆ่าเสีย โดยให้ขุดหลุมใหญ่และลึก แล้วเอาขวากแหลมคม ปักไว้ในหลุมที่ขุดนั้นจนเต็ม แล้วสร้างโรงโนราครอบหลุมนั้น พื้นโรงโนราทำเป็นกระดานกล ถ้ากระตุกเชือกเมื่อไร กระดานปูโรงทั้งโรงจะพลิกคว่ำลง เมื่อเตรียมสถานที่เสร็จแล้ว เจ้าเมืองให้คนไปรับคณะโนราชูมาแสดง ที่บนโรงนั้น พอโนราชูออกรำ ก็ให้คนกระตุกเชือกให้พื้นโรงพลิกลง โนราทั้งคณะก็ตกลงไปในหลุมขวากที่ดักไว้ ปรากฏว่าตายเกือบหมด เหลือเพียงคนแสดงเป็นตาพรานคนเดียว ที่หนีรอดไปได้ ฝ่ายเจ้าเมืองก็ให้คนฝังกลบหลุมนั้นเสีย
ในเวลาต่อมา ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความอาถรรพณ์ของโนราชู ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น รวมทั้งผู้ที่สัญจรไปมาใกล้โรงโนราชู ในเวลาค่ำคืนจะได้ยินเสียงการบรรเลงดนตรีโนรา และการขับบทอย่างชัดเจน แต่ไม่ปรากฏเจ้าของเสียง บางครั้งได้ยินเสียงดนตรีโนรา ลอยตามลมมาจากบริเวณนั้น เสียงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นที่ร่ำลือของผู้คนไปทั่วนับเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งความเจริญได้เข้าไปสู่เมืองภูเก็ต มีรถราและผู้คนมากขึ้น ทำให้เสียงที่เคยได้ยินหายไป คงเหลือแต่สิ่งที่เล่าต่อสืบกันมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (จร.สด.)
คัดลอกจาก
ชูวังเวง (๒๕๒๙) สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙ เล่ม ๓ หน้า ๑๐๔๗ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
****
หมายเหตุ
สมัยยังเด็ก ผมชอบไปเที่ยวบ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง หรือ บ้านเคียน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของป๋าจอด แก่นตะเคียน บิดาของผม ปู่ผมเรียก กงสุ้น (แซ่หลิม) แก่นตะเคียน ส่วนย่าคือ ย่าเขียว ประทีป ณ ถลาง ช่วงปิดเทอมทุกปีตอนเรียนอยู่ชั้นประถม มักไปนอนบ้านอาอาที่บ้านเหรียง บ้านพรุจำปา บ้านพรุสมภาร บ้านนาม่วง บ้านนอก(บ้านนานอก) ไปเยี่ยมญาติบ้านดอน
เหล่าบรรดาญาติ ต่างก็เล่าตำนานตาชูวังเวง ซึ่งผมก็ชอบฟังอยู่แล้ว แถมยังบอกถึงสถานที่ที่ตั้งโรงโนราด้วย ญาติบางคนเล่าถึงเสียงดนตรีโนราชูที่ลอยมาตามลม สมัยก่อนไม่ว่าโรงโนราหรือโรงหนังตะลุง มักสร้างตามทุ่งนาที่เป็นโคกหรือชายป่า ไม่ได้สร้างในหมู่บ้าน โรงโนราตาชูวังเวง ญาติเล่าว่า อยู่บริเวณริมถนนสวนยางพารา ด้านขวามือแยกทางเข้าบ้านเหรียงกับถนนเทพกระษัตรี เยื้องกับทางเข้าวัดนาในหรือวัดพระทอง สมัยนั้นถนนเข้าบ้านเหรียง เป็นถนนดินลูกรังบางส่วนเป็นโคลนตม ชาวบ้านมักเดินทางลัด ตัดสวนยางพาราหรือคันนา จำได้ว่าเวลาเดินผ่านบริเวณนั้น มักนึกถึงโนราตาชูวังเวง คงเป็นเพราะเป็นเรื่องเล่าที่ค่อนข้างสุดโหดน่ากลัว เรื่องหนึ่งสำหรับเด็ก
***
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔
***
ต้องการทราบรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่อง โนรา
ไปหาอ่านได้ที่ห้องสมุดใหญ่
โนรา (๒๕๒๙) สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙ เล่ม ๕ หน้า ๑๘๐๔ ๑๘๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
***
ภาพประกอบ
จาก
อินเทอร์เน็ต
และ
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙
****
.jpg)
.jpg)

.jpg)


*****
|