หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )
หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองทุ่งคาหรืออำเภอเมืองภูเก็ต ให้เจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวง คนในเมืองทุ่งคาเรียกท่านว่า ท่านหลวงรินทร์ ส่วนญาติเรียกท่านว่า หลวงตาดิษฐ์
หลวงนรินทร์บริรักษ์ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของพระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เจ้าแขวงเมืองภูเก็ต มารดาไม่ปรากฏนาม ท่านมีพี่น้อง คือ พี่ชายคนโต พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) คนที่ ๒ นายบุตร (บุศร) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คนที่ ๓ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) คนที่ ๔ หลวงราชรองเมือง ( คง รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) คนที่ ๕ ไม่ทราบนาม คนที่ ๖ ไม่ทราบนาม คนที่๗ นายร้อยโทเจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คนที่ ๘ พระรัตนดิลก ( เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )
ชีวิตครอบครัวหลวงนรินทร์บริรักษ์ ท่านมีภรรยา ๗ คน ภรรยาคนที่หนึ่งไม่ทราบชื่อมีบุตรสาวชื่อนางชื่น ภรรยาคนที่สองไม่ทราบชื่อ มีบุตรธิดาคือ ขุนเขตขันธ์ภักดี(แนบ) หลวงประสานสรรพเหตุ(เอี๋ยว) นายแดง ภรรยาคนที่สาม ไม่ทราบชื่อมีบุตรชื่อนายรุ่ง ภรรยาคนที่สี่ไม่ทราบชื่อมีบุตรชื่อ รองอำมาตย์ตรีเอียด ภรรยาคนที่ห้าชื่อนางปี๊ด กระบี่ทอง มีบุตรธิดาคือ นายศักดิ์ ภรรยาชื่อนางเปี่ยม ณ นคร และนางวัน ณ นคร นายผัน นางนัดสามีชื่อขุนนรกรรมบริรักษ์(อาภรณ์ศิริ) นายผิน ภรรยาคนที่หกชื่อนางบัว มีบุตรธิดาคือ นางชม นายตรี นางเชียร และภรรยาคนที่เจ็ดไม่ทราบชื่อ
ในวัยเด็กวัยหนุ่มนายดิษฐ์(นายดิด) คงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับบุตรขุนนางทั่วไปคือเรียนภาษาไทย ภาษาจีน ภาษามาเลย์ ภาษาอังกฤษ รวมทั้งเรียนรู้การเก็บภาษีอากร ตลอดจนงานการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อบิดาคือพระภูเก็ตแก้วได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อนำกุลีจีนจำนวน ๓๐๐ คนลงมาภูเก็ตเป็นกุลีเหมืองดีบุกของตน นายดิษฐ์คงได้ช่วยบิดาในการทำราชการและงานเกี่ยวกับการสร้างถนนตลาดใหญ่ และถนนซอยในตลาดทุ่งคา รวมทั้งการสร้างอาคารตึกแถวเป็นจำนวนมาก เพื่อให้คนจีนเช่าค้าขาย ทำให้เกิดการค้าหลากหลายชนิด เช่น พวกเครื่องมือขุดแร่ดีบุก มีจอบเสียม ปุ้งกี๋ เชือก ป่าน ร้านขายยา โรงบ่อน ร้านโกปีเตี่ยม ร้านขายหมี่ รวมทั้งโรงงิ้วและซ่องโสเภณี เป็นต้น เมืองทุ่งคาจึงคึกคักมีผู้คนมาก
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม นายดิษฐ์คงรับราชการกับพี่ชายคือพระยาวิชิตสงครามและหลานชายคือพระยาภูเก็ตลำดวน จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ท่าคงทำมาหากินเช่นเดียวกับคนทั่วไป เมื่อทางการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปค้าขายโดยไม่ผูกขาดโดยรัฐ เช่น การเปิดบ่อน โป การค้าฝิ่น สุรา ฯลฯ จากรายชื่อผู้เสียภาษีให้รัฐบาล มีชื่อ หลวงนรินทร์บริรักษ์ เปิดบ่อนโปอยู่ที่ ในบ้านสวน เสียภาษีให้หลวงปีละ ๕๐๐ เหรียญมาเลย์
หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เป็นบรรพชนท่านหนึ่งที่ได้ร่วมพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนบัดนี้
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
|