พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามสยามบริรักษ์พิทักษ์ภักดี(เจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)
พระยาถลาง (เจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) หรือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามสยามบริรักษ์พิทักษ์ภักดี เป็นผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ภายหลังจากบ้านเมืองถูกพม่าเผา และกวาดต้อนผู้คนทรัพย์สมบัติไปสิ้น พระยาถลางเจิม เป็นต้นสกุล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
บรรพบุรุษของพระยาถลางเจิมเป็นแขกทมิฬชาวอินเดีย ชื่อ ญีหลีบ ய்இழ்இப் เป็นชาวเมืองมัดราส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาดู เดิมเมืองนี้เป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๒๒ ต่อมาเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๙ ท่านญีหลีบได้เดินทางไปมาค้าขายระหว่างประเทศอินเดีย กับชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองเรื่อยลงไปถึงสตูลและมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ครั้งแรกได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดระนองด้วยการเลี้ยงวัวฝูง เดิมคงไม่ได้ตั้งใจที่จะอยู่ที่ระนอง แต่เมื่อเรือสำเภาบรรทุกวัวมาจากมัดราส จำเป็นต้องขึ้นที่ท่าเรือระนอง แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะระนองมีคนเบาบางและวัวถูกขโมยจึงลงมาอยู่ที่เมืองถลาง
เมื่อมาอยู่เมืองถลาง ในฐานะที่เป็นคนรู้ภาษาอังกฤษดีนอกจากภาษาอื่นๆ จึงสมัครเป็นล่ามและรับราชการในฐานะล่าม จนได้เป็น ขุนล่าม ในสมัยคุณหญิงจัน ที่มีชื่อกล่าวถึงในจดหมายของพระยาทุกขราชผู้เป็นพระยาปลัดพ.ศ. ๒๓๓๒ ว่า ข้าพเจ้าให้ญีหลีบผู้เป็นขุนล่าม... จดหมายอีกฉบับของพระยาทุกขราชได้ให้ญิหลีบขุนล่าม ลงไปเมืองเกาะหมากทำธุระให้พระยาทุกขราช คงจะไปหลายวันยังไม่กลับ พระยาทุกขราชจึงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า แลให้ท่านเห็นดู เร่งให้ญิหลีบผู้เป็นขุนล่ามกลับมาเมืองถลางโดยเร็ว จะได้เอาของให้ไป... คำว่า ขุนล่าม เรียกชื่อแบบสามัญตามสะดวก แต่บรรดาศักดิ์จริงๆนั้นน่าจะเป็น ขุนวรวาที ตามตำแหน่งล่ามซึ่งมี ขุนวรวาที ขุนราชาวดี ขุนรักษาสมุด ผู้เป็นล่ามกปิตัน มีศักดินา ๓๐๐ ไร่ ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเป็น หลวงล่าม ดังนั้น ขุนวรวาที ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นตามความดีความชอบ เป็น หลวงวรเทพภักดี หรือ หลวงล่าม ตำแหน่งเจ้าท่าเมืองถลาง มีศักดินา ๖๐๐ ไร่ ซึ่งบรรดาศักดิ์นี้ได้สืบทอดมาถึง หลวงวรเทพภักดี (เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)
ขุนล่ามญีหลีบได้ภรรยาเป็นชาวเมืองถลาง มีบุตรธิดาหลายคน คนหนึ่งชื่อ เจิม ชาวเมืองถลางเรียกท่านว่า เจ๊ะมะ น่าจะเป็นชื่อภาษาทมิฬว่า จ้ามาหรือญ่ามา ஜமா ท่านเจิมได้รับราชการในเมืองถลาง และได้แต่งงานกับคุณแสง ผู้เป็นญาติกับท้าวเทพกระษัตรี ท่านเจิมมีบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ แก้ว ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงาขอไปเป็นบุตรบุญธรรม ในขณะที่ท่านเจิมได้ย้ายไปรับราชการที่เมืองตะกั่วทุ่ง ด้วยหน้าที่การปฏิบัติงานอย่างแข็งขัน จนได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง ดังจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๓ ( พ.ศ. ๒๓๕๔ ) สารตรามา ณ วันศุกร์แรม๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม ตรีศกฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ...ให้เอาหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นพระวิเชียรภักดี ว่าราชการเมืองถลาง ออกมาส้องสุมชักชวนเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ตั้งบ้านเรือนทำไร่นา ขุดร่อนแร่ดีบุก ณ ที่พังงาให้พร้อมมูลก่อน ถ้าได้เสบียงอาหาร ปืน กระสุนดินประสิว ซึ่งจะรักษาบ้านเมืองพร้อมมูลขึ้นเมื่อใด จึงจะให้ไปตั้ง ณ เกาะเมืองถลาง...
พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งนายฤทธิ์มหาดเล็กชื่อ เริก หรือ ฤกษ์(นายศักดิ์ นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช เป็นบรรดาศักดิ์มีศักดินา ๘๐๐ ตำแหน่งมหาดเล็ก ) บุตรเจ้าพระยาสุรินทรราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ ) เป็นหลวงวิชิตภักดี ช่วยราชการ อีกด้วย เรื่องการสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ รัชกาลที่ ๓ ทรงรับสั่งถามเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า จะให้ทางเมืองนครศรีธรรมราช ดำเนินการรับผิดชอบไปก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาฟื้นฟูทั้งตัวเมืองถลาง และชาวเมืองถลางหลายปี ทางนครศรีธรรมราชยินดีรับและได้จัดการดูแลเมืองถลางอยู่หลายปี โดยมี พระวิเชียรภักดี ( เจิม ) เจ้าเมืองถลาง และ หลวงวิชิตภักดี ( เริก หรือ ฤกษ์ จันทโรจวงศ์ ) ผู้ช่วยราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้พระวิเชียรภักดี ได้มอบให้หลวงวิชิตภักดีไปควบคุมภาษีดีบุกที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ต่อมาพระวิเชียรภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระถลาง (เจิม) เมื่อเมืองถลางเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว พระถลาง จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถลาง หรือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามสยามบริรักษ์พิทักษ์ภักดี(เจิม)
ฝ่ายหลวงวิชิตภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระวิชิตภักดีด้วย พระยาถลางเจิมได้ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการมาด้วยดี ทั้งเรื่องการขุดหาแร่ดีบุกที่ได้มอบให้พระวิชิตภักดีดูแล การเตรียมการป้องกันพม่าข้าศึกรุกราน
อย่างไรก็ตามพม่ายังหาเลิกที่จะมาตีไทยไม่ แต่ติดต่อขอความร่วมมือไปยังอังกฤษ เวียดนามและพระยาไทรบุรี ที่จะยกเข้าตีไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๔ หลิมโห้ยพ่อค้าตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองถลาง ได้เดินทางไปปีนังด้วยเรือของตน ขากลับสังเกตเห็นเรือสำเภาที่ไม่ใช่เรือแล่นอยู่ในน่านน้ำแถบนั้น จึงเข้าไปใกล้เห็นเป็นพวกพม่า จึงเข้าจับกุมส่งตัวให้พระยาถลางเจิม ปรากฏว่ามีหนังสือจากผู้ใหญ่เมืองพม่ามีไปถึงพระยาไทรบุรี ให้เป็นกบฏต่อไทย พระยาถลางเจิมจึงส่งชาวพม่าที่จับได้พร้อมหนังสือและตัวนายหลิมโห้ยไปยืนยันที่กรุงเทพฯ เมื่อแปลหนังสือและสอบสวนแล้วเป็นความจริงทุกประการ รัชกาลที่ ๒ จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ หลิมโห้ย เป็น หลวงราชกปิตัน ให้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าเก็บภาษีดีบุกส่งหลวงที่เกาะถลาง รวมทั้งการผูกขาดการถลุงแร่ดีบุกเป็นของหลวงด้วย
พระยาถลางเจิมได้ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๐ ปีกุน พระวิชิตภักดี เริก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม พระยาถลางต่อมา
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
Title : Praya Narongruangritprasitthisongkram ( Jerm )
: Somboon Kantakian
rev. 24/01/2015
rev. 01/02/2015
|