หลวงวรเทพภักดี (ญีหลีบ ய்இழ்இப் )
พระยาถลาง (เจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) หรือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามสยามบริรักษ์พิทักษ์ภักดี เป็นผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ภายหลังจากบ้านเมืองถูกพม่าเผา และกวาดต้อนผู้คนทรัพย์สมบัติไปสิ้น พระยาถลางเจิม เป็นต้นสกุล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
บรรพบุรุษของพระยาถลางเจิมเป็นแขกทมิฬชาวอินเดีย ชื่อ ญีหลีบ ய்இழ்இப் เป็นชาวเมืองมัดราส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาดู ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย เดิมเมืองมัดราสเป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๒๒ ต่อมาเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๙
ท่านญีหลีบได้เดินทางไปมาค้าขายระหว่างประเทศอินเดีย กับชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองเรื่อยลงไปถึงสตูลและมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ครั้งแรกได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดระนองด้วยการเลี้ยงวัวฝูง เดิมคงไม่ได้ตั้งใจที่จะอยู่ที่ระนอง แต่เมื่อเรือสำเภาบรรทุกวัวมาจากมัดราส จำเป็นต้องขึ้นที่ท่าเรือระนอง แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะระนองมีคนเบาบาง และวัวถูกขโมยจึงลงมาอยู่ที่เมืองถลาง
เมื่อมาอยู่เมืองถลาง ในฐานะที่เป็นคนรู้ภาษาอังกฤษดีนอกจากภาษาอื่นๆ จึงสมัครเป็นล่ามและรับราชการในฐานะล่าม จนได้เป็น ขุนล่าม ในสมัยคุณหญิงจัน ที่มีชื่อกล่าวถึงในจดหมายของพระยาทุกขราชผู้เป็นพระยาปลัดพ.ศ. ๒๓๓๒ ว่า ข้าพเจ้าให้ญีหลีบผู้เป็นขุนล่าม... จดหมายอีกฉบับของพระยาทุกขราชได้ให้ญิหลีบขุนล่าม ลงไปเมืองเกาะหมากทำธุระให้พระยาทุกขราช คงจะไปหลายวันยังไม่กลับ พระยาทุกขราชจึงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า แลให้ท่านเห็นดู เร่งให้ญิหลีบผู้เป็นขุนล่ามกลับมาเมืองถลางโดยเร็ว จะได้เอาของให้ไป... คำว่า ขุนล่าม เรียกชื่อแบบสามัญตามสะดวก แต่บรรดาศักดิ์จริงๆนั้นน่าจะเป็น ขุนวรวาที ตามตำแหน่งล่ามซึ่งมี ขุนวรวาที ขุนราชาวดี ขุนรักษาสมุด ผู้เป็นล่ามกปิตัน มีศักดินา ๓๐๐ ไร่ ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเป็น หลวงล่าม ดังนั้น ขุนวรวาที ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นตามความดีความชอบ เป็น หลวงวรเทพภักดี หรือ หลวงล่าม ตำแหน่งเจ้าท่าเมืองถลาง มีศักดินา ๖๐๐ ไร่ ซึ่งบรรดาศักดิ์นี้ได้สืบทอดมาถึง หลวงวรเทพภักดี (เดช รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)
ขุนล่ามญีหลีบได้ภรรยาเป็นชาวเมืองถลาง ญาติของท้าวเทพกระษัตรี ท่านขุนมีบุตรธิดาหลายคน คนหนึ่งชื่อ เจิม ชาวเมืองถลางเรียกท่านว่า เจ๊ะมะ น่าจะเป็นชื่อภาษาทมิฬว่า จ้ามาหรือญ่ามา ஜமா ท่านเจิมได้รับราชการในเมืองถลาง และได้แต่งงานกับคุณแสง ผู้เป็นญาติกับท้าวเทพกระษัตรี ท่านเจิม ต่อมาได้เป็นพระยาถลางเจิม
ดังนั้น บรรพชนผู้เป็นต้นตระกูล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ชื่อ ญีหลีบ เป็นแขกทมิฬ เมืองมัดราส แคว้นทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย รับราชการกับท้าวเทพกระษัตรี(จัน)ที่เมืองถลาง จนได้เป็น หลวงล่าม ที่ หลวงวรเทพภักดี ศักดินา ๖๐๐ ไร่ ตำแหน่งเจ้าท่าเมืองถลาง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๓
***
|