หอนาฬิกาดอกบัวทอง Golden Lotus Clock Tower
หอนาฬิกาวงเวียนห้าแยกฉลอง เป็นผลพลอยได้จากการสร้างทางลอดห้าแยกฉลอง ด้วยรัฐบาลมีโครงการสร้างทางลอดหลายแห่งในภูเก็ต หนึ่งในนั้นคือโครงการสร้างทางลอดห้าแยกฉลอง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ระทางยาว ๕๖๐ เมตร กว้าง ๙.๕๐ - ๑๐.๕๐ เมตร ความสูงของช่องลอด ๕.๕๐ เมตร หลังคาทางลอดยาว ๓๖๑ เมตร เปิดให้ทดลองใช้เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยให้ทดลองใช้ก่อน ๑ ช่องจราจร และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ โดย นายกรัฐมนตรี
ส่วนที่เป็นวงเวียนเหนือทางลอดห้าแยกฉลอง สร้างเป็นหอนาฬิกา สถาปัตยกรรมไทย-ยูโรเปียนสไตล์ (Thai - European Style) สถาปนิกคงได้แนวความคิดเกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเกาะ สิ่งสำคัญสำหรับนักเดินเรือในสมัยก่อนก็คือ "ประภาคาร" เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเดินเรือที่จะเข้าเทียบท่าเมืองภูเก็ต ด้วยเหตุนี้จังหวัดภูเก็ตจึงต้องสร้างประภาคารไว้ที่เกาะตะเภา และบนยอดเขาโต๊ะแซะ
ดังนั้น รูปแบบหอนาฬิกาวงเวียนห้าแยกฉลอง จึงเป็นรูปประภาคารทรงกลมปลายแหลม บนสุดเป็นรูปดอกบัวทองตูม มีเหล็กสายล่อฟ้า ถัดลงมาเป็นรูปฐานรองรับดอกบัวเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เป็นเหมือนเสาตอม่อเป็นเสากลม ใต้บัวหงาย ทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมซ้อนสองชั้นทั้งสี่ด้าน โดยมีเส้นแบ่งเป็นสี่เส้นทอดยาวลงไปจรดฐานบัวรูปโค้ง ตรงกลางบรรจุนาฬิกา ใต้นาฬิกา มีสามช่องเล็กๆรูปวงรียาว ถัดลงมา เป็นรูปโค้งยอดแหลมซ้อนกันที่เรียกว่า โกธิคยอดแหลม (Gothic Pointed Arch) มีฐานบัวหรือคิ้วบัวหงายรองรับ ไม่มีเสา แต่เป็นปีกโค้งวงกลมชนกันทั้งสี่ด้านคล้ายเสา ข้างล่างมีบัวหงายรองรับเป็นฐาน ถัดลงไปเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย ซ้อนกันสามชั้นจนถึงชั้นล่างสุดบนพื้นดินเป็นฐานทรงกลมของตัวอาคาร
หอนาฬิกาดอกบัวทอง เป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย และเป็นจุดที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
***
ภาพประกอบ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
****
ภาพจาก
อินเทอร์เน็ต
*****
*****
|