หอนาฬิกาวงเวียนสุรินทร์ Surin Circle Clock Tower

ตามหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ มักสร้างหอนาฬิกาไว้ในชุมชนเมือง หรือเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครในเมืองนั้น เพื่อให้ชาวเมืองได้ดูเวลา เพราะสมัยก่อน ชาวเมืองหาซื้อนาฬิกายาก ดังนั้น ทางการจึงสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูเวลาให้กับชาวเมือง อาจจะมีหน้าเดียว สองหน้าสี่หน้าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และองค์ประกอบของอาคาร แต่ส่วนใหญ่แล้วสร้างแบบสี่หน้า
นาฬิกาที่สร้างขึ้นมักมีขนาดใหญ่ และมีสองระบบ คือ แบบมีเสียงย่ำเวลากับไม่มีเสียง ทั้งนี้แล้วแต่ผู้สร้างว่าจะเลือกระบบใด
ส่วนบริเวณที่สร้างมักเป็นสามแยกสี่แยกในเขตชุมชน ที่คนทั่วไปมองเห็นได้ชัดเจน บางแห่งอาจสร้างไว้ตามสวนสาธารณะ หรือบริเวณหน่วยงานบางแห่งที่อยู่ติดถนนใหญ่ หรือตามสถาบันการศึกษา หอนาฬิกาเหล่านั้น อาจสร้างพ่วงกับอาคารที่ทำการของรัฐ เช่น อาคารไปรษณีย์ สถานีรถไฟ สถานีตำรวจ ตามโบสถ์วิหาร เป็นต้น
ตามประวัติกล่าวว่า หอนาฬิกาได้มีการสร้างตั้งแต่สมัยโบราณยุคกรีก เอเทนส์ โดยสร้างขึ้นที่หอคอยวายุ ที่เอเทนส์ เป็นนาฬิกาแดด และมีนาฬิกาน้ำ โดยใช้พลังน้ำในการขับเคลื่อนที่เมืองอโครโพลิส เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนสมัยโบราณ มีการสร้างหอนาฬิกาที่อาคารดาราศาสตร์เมืองไคฟง เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๑ โดยนักวิทยาศาสตร์จีนชื่อ ซูซ่ง ด้วยการใช้กระบวนการของเหลวในระบบกลศาสตร์ขับเคลื่อน
หอนาฬิกาที่มีชื่อเสียงมานาน ได้แก่ หอนาฬิกา บิ๊กเบ็น (Big Ben)ซึ่งเป็นชื่อเรียกเล่น แต่ชื่อที่เป็นทางการคือ หอนาฬิกา Clock Tower โดยสร้างติดกับพระราชวังเวสมินสเตอร์ (Palace of Westminster) ที่กรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. ๑๘๓๑ เป็นนาฬิกาแบบมีเสียงตีทุกสิบห้านาที ที่ดังไปไกลหลายกิโลเมตร นอกจากนี้ มีหอนาฬิกาที่มีความเก่าแก่สมัยโบราณอีกหลายเรือนในอังกฤษ และประเทศอื่นๆในยุโรป นอกจากในยุโรปแล้ว ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ตามเมืองใหญ่ๆก็มีการสร้างหอนาฬิกาเช่นเดียวกัน
สำหรับหอนาฬิกาที่จังหวัดภูเก็ต มีอยู่ ๓ แห่ง คือที่สี่แยกอาคารสถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่เดิมหรือสี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ด ถนนพังงาตัดกับถนนภูเก็ต แห่งที่สองที่วงเวียนสุรินทร์ ถนนภูเก็ต และเพิ่งสร้างใหม่ห้าแยกฉลองถนนทางลอดเรียกว่า หอนาฬิกาดอกบัวทอง
หอนาฬิกา วงเวียนสุรินทร์
วงเวียนในตัวเมืองภูเก็ตมีสี่แห่ง คือ วงเวียนสุริยเดช วงเวียนสุรินทร์ วงเวียนม้าน้ำ และวงเวียนอนุสรณ์ ๖๐ ปีสะพานหิน
วงเวียนสุริยเดช อยู่ตรงหัวถนนเยาวราช ถนนระนอง ถนนบางกอก และถนนรัษฎา ตรงกลางวงเวียนเดิมสร้างเป็นหอกระจายเสียง เพื่อเปิดเพลงชาติ และสื่อสารจากรัฐบาลถึงชาวบ้าน สร้างประมาณพ.ศ. ๒๔๙๒ สมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ต่อมาเทศบาลรื้อหอกระจายเสียงทิ้ง แล้วสร้างเป็นอ่างน้ำพุ เอากระบอกฉีดน้ำ(จุ้ยปีด) ของเหมืองแร่ดีบุกมาติดตั้งเพื่อพ่นน้ำทั้งสี่ทิศ
ส่วนวงเวียนสุรินทร์ เดิมเป็นเพียงวงเวียน ต่อมาเทศบาลได้สร้างหอนาฬิกาขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓ สมัยจอมพลแปลกเป็นรัฐบาล กล่าวกันว่า ทางเทศบาลได้ไปเห็นเมืองต่างๆมีหอนาฬิกาตรงสี่แยก เลยนำความคิดมาสร้างที่วงเวียนสุรินทร์ หอนาฬิกาแห่งนี้อยู่มาได้ถึง ๕๓ ปี ก็ต้องถูกรื้อทิ้งโดยเทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อตอนดึกของวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยไม่ได้ถามชาวตลาดเมืองภูเก็ต ทางเทศบาลอ้างว่า ต้องการสร้างหอนาฬิกาใหม่เป็นแบบ สถาปัตยกรรมชิโน - ยูโรเปียนสไตล์ เหมือนอาคารต่างๆในภูเก็ต ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง ๗ ล้านบาท นาฬิกาเรือนนี้มีสี่ด้าน แบบมีเสียงตีบอกเวลา ลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมสามชั้น ความกว้างลดหลั่นกันทั้งสามชั้น โดยชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกา มีหลังคาทรงปั้นหยา ตัวนาฬิกามีสี่เรือน ถัดลงมาเป็นช่องโปร่ง เพื่อให้เสียงนาฬิกาเวลาตีบอกเวลาจะได้ดังออกไป
การสร้างหอนาฬิกาใหม่ นัยว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองภูเก็ต ในเมื่อคิดการที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว น่าจะสร้างให้ใหญ่และสูงกว่านี้ เสียงตีบอกเวลาจะได้ดังไปไกล โดยเฉพาะเวลาตอนเย็น นักท่องเที่ยวจะได้มารอฟังเสียงไพเราะของนาฬิกาเวลาตีบอกเวลา เหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ
:สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
****
ภาพประกอบ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
*****

.jpg)





.jpg)



 

ภาพเก่า
จาก
ภาพถ่าย
กลุ่มไลน์
อินเทอร์เน็ต
*****





ขอบคุณเจ้าของภาพ
*******
|