หอนาฬิกาภูเก็ต Phuket Clock Tower
ตามหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ มักสร้างหอนาฬิกาไว้ในชุมชนเมือง หรือเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครในเมืองนั้น เพื่อให้ชาวเมืองได้ดูเวลา เพราะสมัยก่อน ชาวเมืองหาซื้อนาฬิกายาก ดังนั้น ทางการจึงสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูเวลาให้กับชาวเมือง อาจจะมีหน้าเดียว สองหน้าสี่หน้าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และองค์ประกอบของอาคาร แต่ส่วนใหญ่แล้วสร้างแบบสี่หน้า
นาฬิกาที่สร้างขึ้นมักมีขนาดใหญ่ และมีสองระบบ คือ แบบมีเสียงย่ำเวลากับไม่มีเสียง ทั้งนี้แล้วแต่ผู้สร้างว่าจะเลือกระบบใด
ส่วนบริเวณที่สร้างมักเป็นสามแยกสี่แยกในเขตชุมชน ที่คนทั่วไปมองเห็นได้ชัดเจน บางแห่งอาจสร้างไว้ตามสวนสาธารณะ หรือบริเวณหน่วยงานบางแห่งที่อยู่ติดถนนใหญ่ หรือตามสถาบันการศึกษา หอนาฬิกาเหล่านั้น อาจสร้างพ่วงกับอาคารที่ทำการของรัฐ เช่น อาคารไปรษณีย์ สถานีรถไฟ สถานีตำรวจ ตามโบสถ์วิหาร เป็นต้น
ตามประวัติกล่าวว่า หอนาฬิกาได้มีการสร้างตั้งแต่สมัยโบราณยุคกรีก เอเทนส์ โดยสร้างขึ้นที่หอคอยวายุ ที่เอเทนส์ เป็นนาฬิกาแดด และมีนาฬิกาน้ำ โดยใช้พลังน้ำในการขับเคลื่อนที่เมืองอโครโพลิส เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนสมัยโบราณ มีการสร้างหอนาฬิกาที่อาคารดาราศาสตร์เมืองไคฟง เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๑ โดยนักวิทยาศาสตร์จีนชื่อ ซูซ่ง ด้วยการใช้กระบวนการของเหลวในระบบกลศาสตร์ขับเคลื่อน
หอนาฬิกาที่มีชื่อเสียงมานาน ได้แก่ หอนาฬิกา บิ๊กเบ็น (Big Ben)ซึ่งเป็นชื่อเรียกเล่น แต่ชื่อที่เป็นทางการคือ หอนาฬิกา Clock Tower โดยสร้างติดกับพระราชวังเวสมินสเตอร์ (Palace of Westminster) ที่กรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. ๑๘๓๑ เป็นนาฬิกาแบบมีเสียงตีทุกสิบห้านาที ที่ดังไปไกลหลายกิโลเมตร นอกจากนี้ มีหอนาฬิกาที่มีความเก่าแก่สมัยโบราณอีกหลายเรือนในอังกฤษ และประเทศอื่นๆในยุโรป นอกจากในยุโรปแล้ว ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ตามเมืองใหญ่ๆก็มีการสร้างหอนาฬิกาเช่นเดียวกัน
สำหรับหอนาฬิกาที่จังหวัดภูเก็ต มีอยู่ ๓ แห่ง คือที่สี่แยกอาคารสถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่เดิมหรือสี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ด ถนนพังงาตัดกับถนนภูเก็ต แห่งที่สองที่วงเวียนสุรินทร์ ถนนภูเก็ต และเพิ่งสร้างใหม่ห้าแยกฉลองถนนทางลอดเรียกว่า หอนาฬิกาดอกบัวทอง
หอนาฬิกาภูเก็ต สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ด
หอนาฬิกาแห่งนี้ สร้างเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถานีตำรวจภูธรตำบลตลาดใหญ่ ปัจจุบันได้ยุบไปรวมกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตแล้ว จากภาพถ่ายเก่าอาคารธนาคารชาร์เตอร์ด เท่าที่สังเกตไม่ปรากฏว่ามีอาคารหอนาฬิกา ดังนั้น อาคารหลังนี้จึงน่าจะสร้างในภายหลัง แต่สร้างเมื่อไร ยังไม่มีข้อมูล
รูปทรงของอาคารเป็นแบบรูปตัวแอล ตรงมุมถนนตรงกันข่ามกับธนาคารชาร์เตอร์ด ด้านหนึ่งอยู่ถนนภูเก็ต ซึ่งมีสามคูหาอีกด้านหนึ่งอยู่ถนนพังงามีสามคูหาเช่นเดียวกัน โดยมีมุมอยู่ตรงสี่แยกส่วนโค้งอีกหนึ่งคูหา รวมเป็นเจ็ดคูหา เป็นอาคารสองชั้น ไม่มีทางเดินที่เรียกว่า หง่อก่ากี่เหมือนอาคารอื่น แต่การแบ่งช่องคูหาเป็นรูปโค้งแบบโรมัน ที่น่าสังเกตคือ คูหากลางมีความกว้างกว่าคูหาซ้ายขวารวมทั้งคูหาตรงมุมถนนด้วย แต่ละคูหาประกอบด้วยเสาทรงสี่เหลี่ยมแบบโดริก ตรงตอม่อมีฐานรองรับแต่ไม่มีเสา ระหว่างตอม่อทั้งสองข้างส่วนโค้งก่อปูนทึบขึ้นไปเฉพาะขอบเส้นโค้งทำเป็นลายเส้นลดหลั่นกัน จนถึงคีย์สโตนหรือสลักหิน ดังนั้น จึงเกิดช่องว่างระหว่างเสาสำหรับทำประตูหน้าต่าง ส่วนช่องเสาทางโค้งตรงมุมถนน ก่อทึบตั้งแต่ฐานชั้นล่างขึ้นไปจนถึงคีย์สโตน เช่นเดียวกับช่องเสาแรกถนนพังงาก่อทึบทั้งหมด เหลือไว้เพียงสองคูหา
ส่วนรูปคีย์สโตน ทำเป็นรูปเฟลอร์เดอลี เอาเฉพาะสามแฉกส่วนล่างเท่านั้น ซึ่งน่าจะมีความหมายถึง กองเสือป่าที่มีหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น ช่วยจับผู้ร้าย ทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวบ้าน เป็นต้น อาคารหลังนี้จึงน่าจะสร้างหลังจากรัชกาลที่๖ เสด็จภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๖๐
อาคารหลังนี้ปัจจุบัน ใช้แสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ เป็นต้น และเป็นส่วนหนึ่งของ อาคารธนาคารชาร์เตอร์ด
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
*****
ภาพประกอบ
โดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
****
ภาพเก่า
จากอินเทอร์เน็ต
****
ภาพหอนาฬิกา
ต่างประเทศ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
****
หอนาฬิกาบิ๊กเบ็น กรุงลอนดอน อังกฤษ
หอนาฬิกา ในมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา
หอนาฬิกาเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่่ย
*****
ภาพหอนาฬิกา
จากอินเทอร์เน็ต
****
*******
|