จวนข้าหลวงหลังเก่าจังหวัดภูเก็ต
วันหนึ่งได้รับข้อมูลว่า ที่แขวงการทางภูเก็ต ถนนนริศร ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง ภูเก็ต มีบ้านโบราณอยู่หลังหนึ่ง เมื่อผ่านไปทางนั้นจึงแวะเข้าไปดูบ้านดังกล่าว โดยถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เขาบอกว่า บ้านหลังนี้เดิมเป็นบ้านข้าหลวง เขาบอกชื่อ แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีชื่อนี้
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ตรงหน้ามุขของอาคาร มีเลขอารบิกกำกับ ว่า "2457" ซึ่งน่าจะเป็นปีที่สร้างบ้านพักหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักของผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต
เมื่อมาพิจารณาปีพ.ศ. ๒๔๕๗ ในช่วงนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กับ ผู้สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คือ หม่อมเจ้าปฏิพัทธ์ เกษมศรี ว่าราชการที่ภูเก็ตระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๘ ส่วนผู้สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต คือ พระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) พ.ศ. ๒๔๕๖ - ๒๔๖๓ พระยาสุรินทราชา(ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ท่านเคยมาเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๒๔๔๕ ในปีพ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) เพื่อไปรับตำแหน่ง แม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ ๑ (กองทัพภาคที่ ๑)
แต่บ้านพักข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต มีอยู่แล้ว ลักษณะอาคารใหญ่โตหรูหรา จึงไม่น่าจะเป็นบ้านข้าหลวงมณฑล จึงน่าจะเป็นจวนข้าหลวงภูเก็ตมากกว่า ส่วนผู้ที่สร้าง ถ้าดูปีที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จึงน่าจะเป็น หม่อมเจ้าปฏิพัทธ์ เกษมศรี และน่าจะประทับเพียงปีเดียวแล้วย้ายเข้ากรุงเทพฯ
ลักษณะตัวอาคารหลังนี้ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคม (Colonial Architecture) ผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เป็นอาคารใต้ถุนสูง มีสองอาคาร โดยใช้ฉนวนทางเดินหรือระเบียงทางเดินหรืออาร์เขด ระหว่างอาคารทั้งสอง มีหลังคาคลุมประกอบด้วยไม้ค้ำยันทั้งสองด้านตลอดแนว เสาปูนสี่เหลี่ยมใหญ่ บัวหัวเสารูปแปลกตาแบบง่ายๆ อาคารหลังนี้ที่แปลกกว่าอาคารอื่นก็คือ มี "ไม้ค้ำยัน" หรือเรียกกันหลายชื่อว่า แขนนาง คันทวย ท้าวแขน ไม้ค้ำชายคา เป็นต้น โดยใช้ค้ำยันชายคาบ้านเรือนให้แข็งแรง และอยู่ด้านนอกของตัวอาคาร และเป็นสองอาคารที่มีระเบียงทางเดินยกพื้นเชื่อมต่อกัน ลักษณะอาคารแบบนี้ เท่าที่เห็นมีที่ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม คือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สร้างพ.ศ. ๒๔๕๑ กับพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สร้างพ.ศ. ๒๔๕๙ ทั้งสองตำหนักมีฉนวนหรือระเบียงทางเดินยกพื้นเชื่อมต่อกัน
อาคารบ้านพักหลังนี้ จึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมภูเก็ต ที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นแบบอย่างต่อไป
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
***
ภาพประกอบ
ถ่ายโดย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
****
|