เรื่องของพระอินทร์
คนเราพยายามสร้างแต่กรรมดีกันทั้งนั้นบางครั้งบางคราวกรรมอันนั้น เราไม่ทราบว่ามันไม่ดีเลยทำไป แต่เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา อาจกลับใจประกอบแต่กรรมดีก็ได้ เวลาตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นเทวดา ใครสร้างกุศลมากๆ ก็เป็นเทวดาชั้นพิเศษหน่อย ใครสร้างกรรมดีไว้ไม่ถึงขนาด ก็อาจเป็นเพียงเทวดาชั้นต่ำลงมา แต่ขึ้นชื่อว่าเทวดาแล้ว เรามักเหมาเอาว่า สบายที่สุดแล้ว อยากกินอะไรเพียงแต่นึกก็อิ่ม อยากได้อะไรเพียงแต่นึกก็ได้ดังใจ อยากไปไหนๆ ไม่ต้องนั่งรถเบียดเสียดกันเหมือนอัดอยู่ในปลากระป๋อง แต่เหาะไปเลย แต่ถ้าเป็นเทวดาชั้นดีๆ หน่อย อาจมีสัตว์เป็นพาหนะขี่ไป อย่างไรก็ตาม เทวดาก็ตายได้เหมือนกัน เทวดาองค์ใดที่ชอบกระทำความชั่วบ่อยๆ อาจจะเป็นสันดานเดิมครั้งเป็นมนุษย์ติดขึ้นไปก็ได้ เทวดาองค์นั้นก็ต้องจุติลงมาเกิดเป็นคน ตั้งหน้าตั้งตาใช้กรรมของตนต่อไป
เทวดาแต่ละองค์ต่างก็มีหน้าที่และบทบาทต่างกันไป แต่ที่คนไทยเรารู้จักกันและคุ้นมากได้แก่พระอินทร์
แต่เดิมพระอินทร์ก็เป็นคนธรรมดาเช่นเราๆ ท่านๆ นี่แหละครั้ง ชื่อมฆมาณพได้ประกอบแต่กรรมดี สร้างกุศลไว้มาก เมื่อตายไปจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ พระเทพบิดา คือ พระกัสสป หรือพระเทพบิดร พระมารดา คือพระนางอทิติ ตอนที่มฆมาณพขึ้นไปเกิดในสวรรค์นั้น เพื่อนๆ รวมสามสิบสองคนก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นเดียวกันด้วย
วิมานหรือวังของพระอินทร์ อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ (เขาไกรลาสเป็นที่อยู่ของพระอิศวร) บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นสวรรค์ชั้นที่สองในสวรรค์ทั้งหกชั้น (ฉกามาวจร) เมืองหลวงชื่อ สุทัศน์ หรือ อมราวดี เพื่อนๆ ทั้งสามสิบสองคนต่างไปครองกันคนละเมือง และขึ้นตรงต่อพระอินทร์ รวมทั้งเมืองของพระอินทร์ด้วยเป็นสามสิบสามเมือง (ดาวดึงส์หรือไตรตรึงษ์) ปราสาทชื่อ เวชยันต์ หรือ ไพชยนต์มีมเหสี ๔ องค์ คือ สุชาดา สุธรรมา สุจิตรา และ สุนันทา มีชายา ๙๒ คน มีนางบำเรออีก ๒๕ ล้านคน ลูกชายชื่อ ไชยันต์ อาวุธประจำกายของพระอินทร์ได้แก่ ศร ชื่อ ศักรธนู พระขรรค์ชื่อ ปรัญชะ อาวุธที่สำคัญที่สุดคือ วชิราวุธ ทำด้วยเพชร
ช้างทรงชื่อ เอราวัณ หรือ ไอราพต (ไอยราพรต) มีสามสิบสามหัว แต่ละหัวมีแปลกพิสดารออกไปอีก (ดูในหนังสือวรรณคดี ม.ศ.๔) ม้าทรงชื่อ อุจไฉศรพ (เกิดตอนเทวดากับยักษ์กวนน้ำอมฤต) รถทองชื่อ วิมาน หรือ เวชยันต์ สารถีชื่อ มาตุลี มีนายช่างสถาปนิกชื่อ พระเวษณุกรรม
พระอินทร์มีอุทยานอยู่ ๔ แห่ง คือ นันทวัน ปารุสกวัน จิตรลดาวัน สักกวัน สิ่งสำคัญที่มีอยู่ในสวนปารุสกวัน คือ ต้นปาริชาติ หรือ ปาริฉัตร เป็นต้น ไม้ที่ใครได้ดมกลิ่นแล้วบุคคลนั้นจะไม่รู้จักตายและสามารถระลึกชาติได้ด้วย
นิสัยของพระอินทร์เป็นที่รู้กันว่าเจ้าชู้นัก ครั้งหนึ่งได้ไปลอบรักกับนางอหลยา เมียพระโคดมฤษี เมื่อฤษีรู้เรื่องเข้าก็โกรธมากเลยสาปให้โยนีเต็มไปทั้งตัวพระอินทร์ พระอินทร์คงจะอายมากเลยต้องไปช่วยไหว้วานให้บรรดาเทวดาทั้งหลายไปช่วยขอโทษขอโพยแทนตนด้วย พระฤษีโคดมใจอ่อนเลยสาปให้โยนีกลายเป็นตาสับปะรดเต็มไปทั้งตัว พระอินทร์จึงได้ชื่อว่าท้าวพันตา
มีลิงชั้นสูงตัวหนึ่งชื่อ ท้าวฤกษราช เกิดจากน้ำพระเนตรของพระพรหมขณะเที่ยวไปในป่านั้นพบสระน้ำใสเข้าแห่งหนึ่ง เห็นเงาของตัวเองคิดว่าเป็นลิงอีกตัวหนึ่งจึงกระโจนลงไปหา พอขึ้นจากสระกลับกลายเป็นผู้หญิงสวยงามมาก พระอินทร์กับพระอาทิตย์เหาะผ่านมาเห็นเข้า จึงร่วมรักกับนาง เกิดมีลูกขึ้นมาสองตนกับพระอินทร์ ชื่อ พาลี กับพระอาทิตย์ ชื่อ สุครีพ
ครั้งหนึ่งพระอินทร์รบกับทศกัณฐ์ ท้าวสุมาลีเป็นคุณตาของทศกัณฐ์ตายในสนามรบ รณพักตร์ลูกชายทศกัณฐ์คิดแก้แค้นแทนพ่อจึงเข้ารบกับไชยันต์ลูกชายพระอินทร์ รณพักตร์เห็นว่าตัวเองสู้ไม่ไหวจึงร่ายคาถาทำให้มืด ข้างฝ่ายปุโรมาสูรผู้เป็นคุณตาของไชยันต์เมื่อเห็นว่าหลานของตัวกำลังจะเสียทีข้าศึก จึงตรงเข้าไปอุ้มไชยันต์พาไปซ่อนไว้ใต้มหาสมุทรเสีย ฝ่ายพระอินทร์คิดว่าลูกชายตายเสียแล้วยิ่งรบหนักเข้าไปอีก รณพักตร์เห็นว่าทศกัณฐ์พ่อของตัวสู้ไม่ได้จึงร่ายมนตร์ให้มืด แล้วตรงเข้าจับพระอินทร์พาไปยังเมืองลงกา พวกเทวดาจึงแพ้ยักษ์ ต่างพากันไปเฝ้าพระพรหม พระหรหมทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเสด็จไปเมืองลงกา แล้วประทานนามรณพักตร์ว่า อินทรชิต อินทรชิตจึงขอพรจากพระพรหมเพื่อเป็นค่าไถ่ตัวพระอินทร์
ตอนกำเนิดหนุมาน หนุมานเป็นลูกของท้าวเกศรีกปิราชกับนางอัญชนา แต่พ่อจริงๆ ของหนุมานคือพระพาย นางอัญชนาไปคลอดทิ้งไว้ในป่า หนุมานแรกเกิดขึ้นมาก็รู้สึกหิว เห็นพระอาทิตย์คงคิดว่าเป็นผลไม้จึงเหาะขึ้นไปหมายจะจับกินเสีย ข้างพระอาทิตย์ก็ช่วยพัดมิให้ร้อน บังเอิญวันนั้นพระราหูกำลังจับพระอาทิตย์อยู่ด้วย พระราหูเลยปล่อยพระอาทิตย์แล้วไปฟ้องพระอินทร์ หนุมานเห็นพระราหูจึงเข้าไปจะจับ พระราหูหนีไปซ่อนอยู่หลังช้างเอราวัณซึ่งพระอินทร์กำลังทรงดูเหตุการณ์อยู่ หนุมานเห็นช้างเอราวัณคิดว่าน่ากินจึงตรงเข้าไปจับ พระอินทร์ตีด้วยวชิราวุธ หนุมานตกลงมายังพื้นดินคางหัก เลยได้ชื่อว่าหนุมาน
ในเรื่องมหาชาติ ตอนพระเวสสันดรต้องเสด็จอยู่ป่า พวกพราหมณ์ทูลขอสิ่งของต่างๆ เกือบหมด ร้อนถึงพระอินทร์ กลัวว่าจะมีใครไปทูลขอนางมัทรีไปเสีย พระอินทร์จึงแปลงเป็นพราหมณ์ไปทูลขอไว้ก่อนแล้วฝากไว้กับพระเวสสันดร พร้อมกันนั้นก็ให้พรแปดประการแก่พระเวสสันดรด้วย นอกจากนี้ในพระพุทธประวัติก็มีกล่าวถึงพระอินทร์ด้วย คือ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ พระอินทร์ก็ติดตามลงมาด้วย
ในสมัยฤคเวท (_๘๐๐ - ๖๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) พวกอารยันได้ยกย่องพระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุดมีเทวดาเป็นที่ปรึกษาและรักษา คือ
๑. พระพฤหัสบดี รับหน้าที่เป็นผู้ปรึกษาทางวิชาการ
๒. พระวรุณ รับหน้าที่เป็นผู้อารักขาเหมือนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
๓. พระยม รับหน้าที่เป็นราชทัณฑ์คอยลงโทษผู้ตายไปแล้ว
ในคัมภีร์เวท ลัทธิปาร์ซีหรือโซโรแอสเตอร์ พระอินทร์กลายเป็นหัวหน้ามารชื่อ อหริมัน พวกอสูรเขานับถือเป็นพระเจ้า เรียกว่า อหูมาซดา ตามลัทธินี้เทวดาถือว่าเป็นมารหรือปีศาจ พระอินทร์ก็คืออหริมันนั่นเอง มีบริวารมากมาย คำว่า อหูมาซดา กลายเป็น มารซาตาน ในศาสนาคริสต์และอิสลาม
ตามความเชื่อของชาวธิเบต พระอินทร์เป็นผู้รักษาโลกทางทิศตะวันออก พระวรุณทิศตะวันตก พระกุเวรทิศเหนือ และพระยมรักษาทางทิศใต้
หน้าที่อันแท้จริงของพระอินทร์ก็คือ คอยกำกับฤดูกาลให้เป็นไปตามปกติ และดูแล ความทุกข์สุขของมนุษย์ ในหนังสือวรรณคดีต่างๆ ที่เราเรียนจะเห็นว่า พระอินทร์เข้ามามีบทบาทมาก เช่นช่วยนางรจนากับพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง ช่วยพระรถเสนในเรื่อง พระรถเมรี เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า พระอินทร์มีหลายบทบาทด้วยกันจึงตั้งชื่อหรือเรียกพระอินทร์ไปต่างๆ คือ พฤตหน ปุรันทร ศจิบดี เทวินทร์ เทเวศร์ เทวบดี สุรินทร์ อมรินทร์ สโยนี เนตรโยนี สหัสนัยน์ มเหนทร์ มัฆวาน วาสพ เพชรปาณี ศัตกระตู มรุตวาน สวรรคบดี ตรีเนตร สักกะ โกสีย์ โกสินทร์ วชิรปาณี วัลลภิท และเมฆาหน เป็นต้น
พระอินทร์ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าสูงสุดก็จริง แต่มีศัตรูมาก พระอินทร์ออกรบปราบปรามเสมอ บางทีชนะ บางทีก็แพ้ และเนื่องจากพระอินทร์แพ้บ่อยๆ นี่เอง ฐานะของ พระอินทร์จึงตกกระป๋องไป พวกพราหมณ์จึงเลือกเทวดาองค์อื่นเป็นใหญ่แทน
*******
ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
ภาพประกอบ
จากกูเกิ้ล
***
***
|