พระพุทธเสลเจดีย์
พระพุทธเสลเจดีย์ หรือที่เราเรียกกันว่า พระสุทธเสลเจดีย์นั้น เป็นเจดีย์ศิลาบริเวณวัดพระแก้ว หรือวิหารน้อย บนพระนครคีรี เจดีย์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระแก้ว
ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างพระที่นั่งบนพระนครคีรีอยู่นั้น ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเนินเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณนั้นมีเจดีย์โบราณองค์เล็กก่ออิฐถือปูนและชำรุดอยู่ ทรงพระราชดำหริว่า น่าจะได้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่แห่งนั้นให้ถาวรสวยงาม ก็จะเป็นการดีไม่น้อย
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานครแล้ว โปรดฯให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม ผู้กำกับกรมศิลาและกรมช่างสิบหมู่ ให้ร่างรูปพระเจดีย์เก่าที่ปรากฏทางภาคเหนือและกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนที่อื่นที่มีอยู่ เมื่อร่างรูปเสร็จแล้ว โปรดให้จ้างช่างจีนทำที่เกาะสีชัง
ตามรูปแบบที่ร่างนั้น สูง ๕ วา ฐานกว้าง ๒ วา ส่วนกลมรอบองค์เจดีย์ ๖ วา ศิลาหนา ๑๕ นิ้ว โดยสกัดเป็นชิ้นๆ แล้วประกอบเป็นรูปเจดีย์ ณ ที่นั้น เสร็จแล้วให้ถอดออกลงเรือจากเกาะสีชัง นำมาประกอบบนฐานเจดีย์เก่าองค์เล็ก การทำครั้งนั้น ทรงจ้างช่างจีนผู้นั้นด้วยพระราชทรัพย์จำนวน ๓๐ ชั่ง
เมื่อประกอบองค์พระเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรดฯให้รอเพื่อบรรจุพระบรมธาตุ ด้วยเหตุที่พระวิหารน้อยและพระปรางค์แดงยังสร้างไม่เสร็จ
เมื่อสร้างพระวิหารน้อยและพระปรางค์แดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดฯให้มีการบรรจุพระธาตุจำนวน ๗ องค์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๕ พร้อมกับการจัดให้มีการสมโภชรวม ๓ วัน ๔ คืน งานสมโภชมีการละเล่นต่างๆ คือ โขน หุ่น ละคร หนังตะลุง จุดดอกไม้ไฟ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมตอนเช้านิมนต์พระสงฆ์บิณฑบาตวันละ ๒๐ รูป ในตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตร
บริเวณพระเจดีย์มีการประดับธงฉัตร ตามประทีปโคมไฟ ใหญ่น้อยอย่างสวยงาม นอกจากนี้จัดให้มีเครื่องประโคมแตรสังข์ พิณพาทย์ ตลอดทั้งสามวันสี่คืน แล้วทรงโปรยทานแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายพิธีการได้ประกาสเทวดาวันเจริญพระพุทธมนต์ บรรจุพระบรมธาตุในพระเจดีย์ ความตอนหนึ่งว่า
"...เพื่อจะได้เป็นอุดมปูชนียสถานที่ไหว้นมัสการของเทพยดา มนุษย์ ประชาชนชาวบ้านชาวเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา แลเปนที่เจริญตาแก่ชนนานาประเทศ ที่ซึ่งจะมาเที่ยวดูที่ต่างๆ จนถึงที่นี้ จะได้เปนวัตถุสถานที่ประกาศ พระพุทธคุณ พระบรมราชเกียรติยศ สืบไปภายหน้า..."
พระเจดีย์ศิลาองค์นี้ เดิมพระองค์ทรงเรียกว่า "เจดีย์ศิลาเพชรภูมิไพโรจน" แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "พระพุทธเสลเจดีย์" คำว่า "เส-ละ" หมายถึง ศิลา
ต่อมาภายหลังมีคนเรียกกันว่า "พระสุทธเสลเจดีย์" ใครเป็นคนเปลี่ยนชื่อเรียก ยังหาข้อมูลไม่ได้
***
ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๐
***
|