พระปรางค์แดงบนพระนครคีรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างวิหารพระแก้ว หรือที่เราเรียกกันว่า วัดพระแก้วและพระพุทธเสลเจดีย์ หรือ เจดีย์ศิลา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในโอกาสเสด็จทรงตรวจความเรียบร้อย บนพระนครคีรี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ ทรงเห็นว่า หน้าวิหารพระแก้ว มีบริเวณกว้างลดหลั่นกัน พอที่จะสร้างถาวรวัตถุได้อีก จึงทรงพระราชดำหริว่า น่าจะสร้างปราสาทศิลาแบบขอม รูปแบบปราสาทให้เหมือนกับที่ปรากฏที่เมือง พุทไธสมัน เมืองเขมร
ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพมหานครแล้ว จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าเมืองปราจีนบุรี คือ พระสุพรรณพิศาล และทรงปรึกษากับช่างที่ทรงโปรดฯและไว้วางพระราชหฤทัย คือ ขุนชาญเลขา เกี่ยวกับเรื่องปราสาทดังกล่าวแล้ว จากหมายรับสั่งความตอนหนึ่งว่า
"มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าสั่งว่า ณ เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เอกศก เสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองเพชรบุรี ทอดพระเนตรบนยอดเขามหาสวรรค์ ที่ทำเลกว้างขวาง พอจะสร้างศิลาปราสาทได้ จะต้องพระราชประสงค์ปราสาทศิลาเมืองพุทไธสมัน ที่รูปทรงแลลวดลายสลักงามดีปราสาทหนึ่ง จะได้สูงต่ำโต เล็กประมารเท่าใด พอจะขนเอามาได้ ให้ขุนชาญเลขา กับพระสุพรรณพิศาล เลือกวัด ชันสูตร สูงต่ำใหญ่เล็ก เขียนตัวอย่างรูปเชี่ยว รูปตัด กำหนดสัดนิ้ว รีบมีหนังสือบอกเข้าไปให้ถี่ถ้วนแน่นอน จะได้วัดดูกับพื้นที่บนยอดเขา พอจะตั้งได้ จะได้มีตราออกมาให้รีบขนศิลาเข้าไปถึงกรุงเทพโดยเร็ว..."
เมื่อขนย้ายจากเมืองปราจีนบุรีแล้ว ให้มาลงเรือที่กบิลบุรี โดยมอบหน้าที่ให้พระยาสระบุรี เป็นผู้ดำเนินการ ขนมาให้ถึงกรุงเทพมหานคร
แต่ขณะที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น พระสุธรรมพิศาล เจ้าเมืองปราจีนบุรี ถูกลอบทำร้ายจนถึงแก่กรรม งานขนย้ายปราสาทศิลาจึงชงักอยู่ เข้าใจว่ามิได้ทรงมอบให้ผู้ใดดำเนินการต่อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทรงเห็นว่า การขนย้ายปราสาทศิลาดังกล่าว มีปัญหา เข้าใจว่า ทรงโปรดฯให้ช่างทำการร่างแบบแบบปราสาท โดยดัดแปลงรูปปราสาท พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ซึ่งมียอดปรางค์ ๕ ยอด เป็นรูปปราสาทสี่มุข ที่มียอดปรางค์ยอดเดี่ยว และออกแบบให้โปร่ง รูปทรงองค์พระปรางค์โปร่ง เหนือปราสาทเป็นปรางค์ห้าชั้น ใต้เกียรติมุขทำเป็นช่อง คล้ายหน้าต่างทั้งสี่ทิศ สามารถมองทะลุถึงกันได้
รูปทรงขององค์ปรางค์ คล้ายกับรูปองค์ปรางค์ของนครวัดจำลอง ซึ่งพระองค์โปรดฯให้พระยาสามภพพ่าย ไปจำลองมาจากเมืองเขมร และโปรดฯให้สร้างด้วยศิลา ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๙ แต่พระปรางค์องค์นี้ต่างกันที่มีลักษณะคล้ายช่องหน้าต่างสี่ทิศห้าชั้น และไม่มีฝักเพกาปักข้างบน ซึ่งน่าจะมี เพราะมองดูแล้วเลี่ยน จึงขอฝากท่านผู้รู้ช่วยกันพิเคราะห์ต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระที่นั่งวิเชียรปราสาทที่มียอดปรางค์ห้ายอดนั้น แต่เดิมทาสีเหลือง ส่วนพระปรางค์องค์นี้ทาสีแดง ผู้เขียนอยากจะเรียก ปราสาทแดงเสียด้วยซ้ำ เพราะดูแล้วเป็นปราสาทยอดปรางค์เดียว เพียงแต่ยอดปรางค์ใหญ่ จึงมองเห็นเป็นปรางค์ และตัวปราสาทสี่ทิศที่ฐาน อาจมองเป็นมุขของฐานองค์ปรางค์ไป
***
ผศ.สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๐
***
|