โบราณสถานทุ่งเศรษฐี
จังหวัดเพชรบุรีเป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่ทราบกันว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนโบราณหลายแห่ง มีศิลปวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมาตลอด เมืองโบราณบริเวณที่ราบภาคกลางหรือบริเวณที่ราบเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นต้นมา บางเมืองร้างบางเมืองย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เมื่อพิจารณา บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างจะเห็นว่าเป็นที่ราบลุ่มต่ำ จากขอบเขตของอ่าวไทย ลึกเข้าไปในแผ่นดินโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านส่วนภูมิภาคตะวันตก มีแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลองและตะวันออกมีแม่น้ำปราจีนบุรีก่อนไหลออกสู่อ่าวไทย เรียกว่า แม่น้ำบางปะกงที่ราบลุ่มเจ้าพระยามีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ๒ - ๓ เมตร ซึ่งจากหลักฐานของผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา (๒๕๓๓ : ๓๓ ) ได้ระบุว่าที่ราบลุ่มเจ้าพระยาสมัยทวารวดีเป็นทะเลมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระดับความสูง ๓.๕ ๔. ๐ เมตร จะมีส่วนสัมพันธ์กับเมืองโบราณที่พบแถบที่ราบเจ้าพระยากว่า ๖๓ แห่ง และได้สันนิษฐานว่าในสมัยทวารวดีชายฝั่งทะเลเป็นอ่าวเว้าเข้าไปทางเหนือห่างจากฝั่งทะเลปัจจุบันถึง ๑๔๐ กิโลเมตร ชุมชนโบราณที่อยู่รอบชายฝั่งเหล่านี้ ได้แก่ เมืองเพชรบุรี, อู่ทอง, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, อู่ตะเภา, ศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากแผนที่ จะเห็นว่าเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีอยู่ใกล้ทะเล (จากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย ๒๕๓๔ : ๒๔๕ ) จากการสำรวจของผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของเมืองโบราณ ณ ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี ลักษณะเป็นคูเมืองขนาดยาวคล้ายรูปตัวแอลกลับหลัง(ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา ๒๕๒๓ : ๖๖ ) เข้าใจว่าเป็นเมืองตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี อาจจะติดต่อค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ตลอดชายฝั่งที่ราบลุ่มเจ้าพระยา การติดต่อส่วนใหญ่อาจจะใช้การเดินเรือและอาจจะใช้ทางบกด้วยนอกจากหลักฐานดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรีได้รับแจ้งจากชาวบ้านตำบลหนองปรงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีว่า ได้พบโบราณวัตถุบริเวณทุ่งนาแนวใต้คลองชลประทานซึ่งกำลังก่อสร้างได้พบเศษหินโกลน พระพุทธรูปโกลน เศษหม้อดินเผาและบริเวณนี้เคยพบธรรมจักรกับกวางหมอบ มีเนินดินตรงกลางขุดเป็นหลุมลึกมีเศษอิฐสมัยทวารวดีแตกหัก (สมบูรณ์ แก่นตะเคียน และ สุขสมาน ยอดแก้ว ๒๕๒๘ :๓๒ ๓๔ ) บริเวณนี้อาจเป็นชุมชนโบราณ เมื่อพิจารณาจากแผนที่จะเห็นว่าเป็นชายฝั่งทะเลระหว่างเมืองเพชรบุรีโบราณกับเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี
จากการสำรวจของกรมศิลปากรทำให้ทราบว่าบริเวณตั้งแต่เขาย้อยลงมาผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่ายางจนถึงชะอำ พบโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งชุมชนโบราณสมัยทวารวดีหลายแหล่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โบราณสถานที่ทุ่งเศรษฐีซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ ๖ บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ลงข่าวและภาพว่าได้พบสถูปเจดีย์สมัยทวารวดี(สถูปเจดีย์สมัยทวารวดี ๒๕๓๔ : ๑๓ )อยู่ห่างชายฝั่งทะเลประมาณ ๔ กิโลเมตร ตรงเส้นรุ้งที่ ๑๒ องศา ๕๐ ลิปดา ๔๗ ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ ๙๙องศา ๕๗ ลิปดา ๒๔ ฟิลิปดาตะวันออกพิกัดกริด ๔๗ RPQ ๐๓๘๐๑ (โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ม.ป.ป:๔๑ ๔๕ ) บริเวณที่ตั้งโบราณสถานเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาคือเขาจอมปราสาทซึ่งสูง ๒๘๗ เมตร อันเป็นเทือกเขาหินปูนเทือกเดียวกับเขาเจ้าลายใหญ่หรือเขาพันธุรัตน์ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง มีสำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐีตั้งอยู่ใกล้เคียงและมีลานทำอิฐของชาวบ้านอยู่ด้วย ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ( ๒๕๓๘: ๔๘๗ -๔๘๙ ) ได้เขียนไว้ว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นฐานพระสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ ประมาณขนาดกว้างกว่า ๒๐ เมตร ส่วนสูงที่เหลือประมาณ ๗ เมตร จากพื้นดินชาวบ้านเล่าว่าประมาณ พ.ศ.๒๕๓๘ ได้มีการขุดเจาะเพื่อหาสมบัติเป็นพระพุทธรูปทองคำและอื่น ๆ ที่มีค่าตามลายแทง โดยขุดเจาะตรงกลางและตอนบนของพระเจดีย์ ได้พบ ประติมากรรมปูนปั้นรอบฐานพระเจดีย์ เมื่อขุดเปิดหน้าดินเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่พบสมบัติตามลายแทงจึงนำกลับมาถมไว้ตรงกลางพระเจดีย์ ปูนปั้นบางส่วนที่ไม่ถูกทำลายได้นำไปเก็บไว้ที่สำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี วัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิว) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และโรงงานแห่งหนึ่งที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ลักษณะของพระสถูปเจดีย์ เป็นเนินขนาดใหญ่ จากการขุดทำลายของชาวบ้าน เผยให้เห็นตรงกลางเป็นหลุมลึกประมาณ ๔ เมตร ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ๓๕ คูณ๑๗คูณ๑๐ เซนติเมตร เป็นอิฐที่มีส่วนผสมของข้าวเปลือกมาก เป็นอิฐแบบเดียวกับที่มีการใช้ก่อโบราณสถานสมัยทวารวดีโดยทั่วไป จากสภาพของโบราณสถานเมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งแล้วจะมีลักษณะดังภาพ จอง บัวเซอลีเย่ (จองบัวเซอลีเย่ ๒๕๑๑ : ๓๕ -๖๔ ) ได้เขียนไว้ว่าสถูปสมัยทวารวดีมีเพียง ๓ แบบคือ แบบสี่เหลี่ยมจตุรัส แบบแปดเหลี่ยม บางครั้งย่อมุมประกอบลักษณะนี้มีเมืองอู่ทองซึ่งสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐีก็เป็นลักษณะย่อมุมเช่นเดียวกัน และแบบสุดท้ายเป็น แบบกลม ซึ่งหาได้ยากและมีขนาดเล็ก
รูปร่างของสถูปเจดีย์มีฐานค่อนข้างสูงผนังฐานรูปทรงง่าย ๆ มีลวดลายปูนปั้นประกอบฐานเป็นลายทักษิณขององค์สถูปเจดีย์ด้วย มีทางเชื่อมคล้ายบันไดอยู่ทางทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ฐานย่อมุมก่อเป็นช่องลึกเข้าไปในฐาน ลักษณะเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานประติมากรรม ด้วยลักษณะของการพอกปูนคล้ายกับว่าได้มีการพอกปูนทับซ่อมอีกชั้นหนึ่ง จากการสังเกตทางด้านทิศใต้จะมีลักษณะคล้ายภาพเขียนสี แต่ไม่สามารถอ่านได้
ส่วนของยอดพระสถูปเจดีย์ไม่สามารถจะทราบได้ นอกจากการขุดแต่งพบชิ้นส่วน แต่โดยทั่วไปองค์ระฆังมักเป็นทรงกลม จอง บัวเซอลีเย่ เขียนไว้ว่า ยอดสถูปอาจมี ๒ แบบ คือ เป็นฉัตรซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ซึ่งมีน้อย อีกแบบหนึ่งคือ ทรงกลมซึ่งมีหลักฐานพบมากกว่า โดยทำเป็นรูปทรงกลมมียอดแหลม (จองบัวเซอลีเย่ ๒๕๑๑ :๓๕ -๖๔ ) องค์พระสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐีจังน่าจะเป็นลักษณะหลัง
จากการขุดค้นที่เมืองคูบัวของกรมศิลปากร มีเนินโคกที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถานมากกว่า ๔๔ แห่ง สถาปัตยกรรมส่วนมากก่อสร้างด้วยอิฐเป็นพื้น และมีอยู่แห่งเดียวคือเนินโบราณสถานวัดโขลง ซึ่งมีพื้นฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง การก่ออิฐสร้างสถูปเจดีย์สมัยทวารวดี ที่เมืองคูบัวอาจแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ การก่ออิฐเรียงทับตันทั้งองค์ภายในอาจแสดงถึงก้อนอิฐที่มีการวางศิลาฤกษ์ ส่วนอิฐรอบนอกใช้อิฐแผ่นสมบูรณ์ ส่วนตรงกลางใช้ดินหรืออิฐหักถมลงกลางองค์ ส่วนพระสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐีภายในคล้ายกับว่าจะกลวงเพราะมีขอบหลุมลึก
แต่จากการขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรีของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ๒๕๐๖ ได้สรุปไว้ว่าลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคูเมืองล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน จากทิศเหนือจดทิศใต้ยาวประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ได้สรุปลักษณะโบราณสถานไว้ ๘ ลักษณะ คือ แบบที่หนึ่ง สี่เหลี่ยมจัตุรัส บนฐานสี่เหลี่ยมมีองค์เจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แบบที่สอง สี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ละด้านแบ่งเป็นสามมุข ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๖ แห่ง บางแห่งจะมีบันไดยื่นออกมาจากฐานทั้ง ๔ ด้าน แบบที่สาม แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นฐานเรียงลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้น ๆ มีซุ้มรอบองค์เจดีย์ แบบที่สี่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีบันไดยื่นออกมาทั้งสี่ด้านหรือด้านเดียว แบบที่ห้า ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่มุม แบบที่หกเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้าใจว่าเป็นวิหาร แบบที่เจ็ดลักษณะกลม และประการสุดท้ายลักษณะแปดเหลี่ยม (สมศักดิ์ รัตนกุล ๒๕๓๕ :๒๒ ๒๖ ) ลักษณะของฐานเจดีย์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับเจดีย์ทุ่งเศรษฐีจะเห็นว่าคล้ายกับลักษณะที่สองมากคือแบบจัตุรัสมีสามมุขมีบันไดยื่นออกมาสองด้าน โดยเฉพาะซากฐานหมายเลข ๔๐ และซากฐานเจดีย์ หมายเลข ๑ ฐานเจดีย์จุลประโทนนครปฐมจะคล้ายกันมาก
สถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานซึ่งใช้อิฐมากที่สุด อิฐที่ใช้ขนาดใหญ่มากขนาด ๓๔ คูณ ๑๘ คูณ ๘ เซนติเมตร และ ๔๐ คูณ ๑๙ คูณ ๑๐ ส่วนเจดีย์ทุ่งเศรษฐี อิฐมีขนาด ๓- คูณ ๑๘ คูณ ๘ และ ๓๕ คูณ ๒๕ คูณ ๑๐ เซนติเมตร เป็นดินผสมข้าวเปลือก อิฐเผาสุกเป็นสีเหลืองปนแดงและสีแดงแก่ บางส่วนเผาจนแกร่งเกือบดำคล้ายเคลือบ การทำอิฐแบบนี้เป็นลักษณะพิเศษเป็นของตนเอง (ชาวทวารวดี) โดยเฉพาะ (จอง บัวเซอลีเย่ ๒๕๑๑ :๓๕ ๖๔ )
ลักษณะการก่ออิฐ แบบสั้นยาวสลับกันไป การสอโดยทั่วไปสมัยทวารวดีจะสอด้วยดินเหนียว ดินอาจผสมด้วยน้ำอ้อย ชั้นก่อจะบางมาก
ประติมากรรมลวดลายเครื่องประดับประกอบพระสถูปเจดีย์องค์นี้เป็นลวดลายปูนปั้นศิลปะทวารวดี เหมือนกับที่พบตามโบราณสถานสมัยทวารวดีโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะที่โบราณคดีคูบัว ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับพระสถูปเจดีย์องค์นี้มากที่สุด เป็นลวดลายปูนปั้นที่งดงาม ซึ่งขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างปูนปั้น และอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียตอนใต้ ลวดลายปูนปั้นที่พบที่องค์พระสถูปเจดีย์แห่งนี้ จำแนกได้ดังนี้ (โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ม.ป.ป. ๔๑ ๔๕ )
๑.รูปเคารพในศาสนา
๒.รูปบุคคล
๓.รูปสัตว์
๔.ลวดลาย
รูปเคารพในศาสนาเป็นเศียรพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย กว้าง ๑๖ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตรหนา ๑๑ เซนติเมตร พระพักตร์ได้สัดส่วนงดงามพระโอษฐ์หนา คล้ายพระโพธิสัตว์ดินเผาที่เมืองคูบัวจังหวัดราชบุรี ซึ่งศีรษะรูปที่สวมเครื่องประดับเป็นพิเศษเหล่านี้ เป็นงานศิลปะชั้นสูงมีคุณค่าในทางความคิดและทางอารมณ์ ความรู้สึกที่เร้นลับ รูปเคารพและรูปบุคคลหรือมนุษย์ ศิลปินจะปั้นให้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราทราบได้ว่าศิลปินชั้นครูนั้นสามารถถ่ายทอดลักษณะของเทวดาและมนุษย์ได้อย่างดียิ่ง (ศิลป พีระศรี ๒๕๐๙ :๑๔ ๒๒ ) พระพุทธรูปพบเฉพาะส่วนพระพักตร์ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แบะคล้ายกำลังยิ้มลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปเมืองคูบัว
รูปบุคคลพบใบหน้าบุคคล สวมเครื่องประดับศีรษะ ริมฝีปากแสดงอารมณ์ยิ้ม ตาโปนบาง ใบหน้าสวมตุ้มหูวงกลมขนาดใหญ่ประดับ ลักษณะลำตัวบางชิ้นส่วนที่พบ มือสองข้างพนมไว้ที่อกมีเครื่องประดับที่เรียกว่า กรองศอ คาดเข็มขัดรัดผ้านุ่งชายสั้นขอบหนาเข็มขัดเป็นลวดลายซิกแซกเรียงกัน
ประติมากรรมรูปสัตว์ ที่พบจะเป็นรูปมกรเฉพาะส่วนหัวเป็นรูปติดกับอาคาร บนหัวมกรทำเป็นสันนูนตกแต่งด้วยเส้นตรงรูปเกล็ด ดวงตาเรียวยาว ส่วนที่เป็นงวงชำรุด นอกจากนี้ยังพบรูปสัตว์กำลังอ้าปากเห็นฟันเรียงชัดเจน มีมือจับอยู่ด้านบน เมื่อเปรียบเทียบกับที่เมืองคูบัวลวดลายที่พบน่าจะเป็นลายก้านต่อดอก คล้ายกับเมืองคูบัว ลายพันธุ์พฤกษาเป็นลายก้านขดและใบไม้เป็นรูปโค้ง น่าจะเป็นลายประดับซุ้ม ลวดลายคล้ายกับวัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองคูบัว ราชบุรีและที่เขาคลังในเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีเสาประดับอาคาร เป็นชิ้นส่วนหัวเสาประดับ อาคารเป็นรูปเสานูนครึ่งวงกลม มีลายเป็นเส้นนูน ๒ เส้น ขนานกันคาดทางขวาง ภายในเป็นลายสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีจุดตรงกลางเรียงต่อกันไป ถัดลงมาทำคล้ายลายอุบะห้อยประดับโดยทำเป็นเส้นนูน เสาประดับอาคารลักษณะคล้ายลูกมะหวดด้านบนทำเป็นเม็ดกลม ๓ เม็ด เรียงต่อกัน แล้วทำเป็นเสาคอดและป่องออกตรงกลางเป็นลูกแก้วด้านหลังแบบเรียบเพื่อใช้ติดกับอาคาร ลักษณะเป็นเสาหลอกใช้กั้นแบ่งพื้นที่เป็นช่วง ๆ แบบเดียวกับเมืองคูบัว (โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ม.ป.ป. ๔๑ ๔๕ )
นอกจากนี้เจ้าสำนักทุ่งเศรษฐียังได้เล่าว่า เคยเห็นตะคันดินเผาเป็นจำนวนมาก อาจจะวางเรียงรอบพระสถูปเจดีย์เพื่อใส่น้ำมันตามไฟแทนตะเกียงก็เป็นได้ และยังได้พบเหรียญเงิน เหรียญด้านหนึ่งมีรูปคล้ายหอยอีกด้านรูปคล้ายเรือนแก้วและรูปปลา เหรียญดังกล่าวมีใช้กันทั่วไปสมัยทวารวดี
สรุปแล้วพระสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐีสมัยทวารวดีเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มาก และบริเวณใกล้เคียงได้พบร่องรอยของสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่ชาวทวารวดีได้อยู่อาศัย และก่อสร้างศาสนสถานไว้เพื่อเคารพบูชา นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งติดต่อเดินทางไปมาหาสู่ทั้งทางเรือและทางบกตลอดพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และสามารถเดินทางไปปักษ์ใต้และข้ามไปต่างประเทศ การติดต่อค้าขายและเป็นการกระจายอารยธรรมของชนต่างๆ จนกลายมาเป็นอารยธรรมของท้องถิ่นสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เพราะเมืองเพชรบุรีตามประวัติศาสตร์ ที่ได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เป็นเอกลักษณ์ของชาวเพชรบุรีดังจะเห็นได้จากศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร จิตรกรรมประติมากรรมที่มีชื่อเสียงของเพชรบุรีจึงสมควรอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนาให้คงอยู่สืบไป
บรรณานุกรม
จากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย (๒๕๓๔) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน (พิมพ์ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๓๖ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๓๔)
ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา (๒๕๒๓) รายงานการวิจัยเรื่อง "เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บัวเซอลีเย่, จอง (๒๕๑๑) "ศิลปะทวารวดี ตอนที่๑" แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ศิลปากร ๑๑(๕) : ๓๕-๖๔ มกราคม
"โบราณสถานทุ่งเศรษฐี" (ม.ป.ป.) กรมศิลปากร หน้า ๔๑ - ๔๕ (เอกสารถ่ายสำเนา)
มานิต วัลลิโภดม (๒๕๓๘) "ซากพระสถูปสมัยทวารวดีที่ชะอำ" ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ ๔๘๗ - ๔๘๙ กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ
ศิลป์ พีระศรี (๒๕๐๙) "การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี" เมืองราชบุรี หน้า ๑๔ - ๒๒ พระนคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ (พิมพ์ในงานศพคุณหญิงประพันธ์ดำรัสลักษณ์ (ชื่น สุขวณิช) ๒๓ เมษายน
"สถูปเจดีย์สมัยทวารวดีที่บ้านนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี" ๒๙ สยามรัฐ ๒๕๓๔
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน และ สุขสมาน ยอดแก้ว (๒๕๒๘) "แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีฯ" ศิลปวัฒนธรรม ๖(๑๒) : ๓๒ - ๓๔ ตุลาคม
สมศักดิ์ รัตนกุล (๒๕๓๕) โบราณคดีเมืองคูบัว กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ปรับปรุงจาก :
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน. โบราณสถานทุ่งเศรษฐี. วารสารราชภัฏเพชรบุรี ๘ : ๒ (พ.ย. ๒๕๔๑ - มี.ค. ๒๕๔๒ ) หน้า ๕๔ - ๖๙.
ภาพประกอบ
หลังกรมศิลปากรขุดแต่ง
แผนผังเจดีย์ทุ่งเศรษฐี
แผนผังเจดีย์เมืองคูบัว
แผนผังเจดีย์เมืองคูบัว
แผนผังเจดีย์จุลประโทน นครปฐม
ร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดี
|