|
|
หอศาสตราคมบนพระนครคีรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระนครคีรีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔o๑ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) เป็นแม่กอง และพระเพชรพิสัยศรีสวัสดิ์ ( ท้วม บุนนาค ) เป็นนายงานการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีไปถึง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า "แล้วได้ทำบุญฉลองหอศาสตราคมใหม่ในเขานี้ ..."
ปัญหาคือ หอศาสตราคม คืออาคารหลังใดบนเขาวัง
คำว่า ศาสตราคม เรามักจะนึกไปถึงอาวุธต่างๆ หอนี้จึงมักจะเข้าใจกันว่า เป็นที่เก็บศาสตราวุธ ประเภท พระแสงปืน พระแสงดาบ ฯลฯ แต่เมื่อพิจารณาถึงศัพท์คำนี้ จะเห็นว่า ศาสตระ แปลว่า วิชาความรู้หรือตำรา ส่วนคำว่า อาคม แปลว่า เวทมนตร์คาถา ดังนั้นหอนี้จึงน่าจะเป็นที่รวบรวมตำราเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาต่างๆ
ส่วนหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น หอนี้ตั้งอยู่บริเวณริมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯให้สร้างพระที่นั่งเป็นสององค์ คือพระที่นั่งโถง เรียกว่า พระที่นั่งทรงปืนซ้ายขวา ต่อมาเรียกว่า พระที่นั่งเสถียรธรรมปริตกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์
รัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้รื้อพระที่นั่งเสถียรธรรมปริตลง ให้คงเฉพาะฐานของอาคารไว้ แล้วให้สร้างส่วนบนขึ้นใหม่มีผนังโดยรอบ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสานปิดทองทั้งองค์ และเพื่อใช้สำหรับพระสงฆ์รามัญนิกายวัดตองปรุหรือวัดชนะสงครามในปัจจุบัน สวดพระพุทธปริตทำน้ำพระพุทธปริตทุกวัน เพื่อทรงใช้สำหรับสรงพระพักตร์และสรงน้ำ รวมทั้งการนำไปประพรมพระราชมนเทียรด้วย หอนี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "หอศาสตราคม"
ลักษณะเด่นของหอนี้ก็คือ พระทวารและพระบัญชรลงรักปิดทองเป็นรูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงราชศาสตราวุธต่างๆ
ส่วนหอศาสตราคมบนเขาวังนั้น เมื่อพระองค์โปรดฯให้ฉลองแล้ว ยังได้โปรดฯให้แห่พระชัยสำริดก้าไหล่กับพระหายโศก จากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔o๓ มาประดิษฐานไว้ในหอศาสตราคมนั้นด้วย
บางท่านกล่าวว่า หอศาสตราคมบนพระนครคีรี น่าจะเป็นอาคารหลังเล็กด้านหลังพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
จากพระราชหัตถเลขาของพระองค์ช่วงที่กำลังก่อสร้างพระนครคีรีอยู่นั้น ความตอนหนึ่งว่า "เสาธงเก่านั้น ถ้าจะเอาปักเสียข้างยอดเขาหอพิมานเทวราชศาสตราคมสถาน ไว้สำหรับชักธงมงกุฎเมื่อเวลาฉันออกไปอยู่ก็ได้ เสาธงใหญ่ชักธงช้างสำหรับเมือง ..."
หอพิมานเทวราชศาสตราคมสถาน จึงน่าจะเป็นหอพิมานเพชรมเหศวร์ ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยอาคารสามหลัง และน่าจะเป็นหลังกลางซึ่งมีสามคูหา ส่วนคูหากลางสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านซ้ายสำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธปริต ส่วนด้านขวาสำหรับทรงศีลเจริญภาวนา
ส่วนเสาธงสำหรับชักธงมงกุฎ น่าจะเป็นตรงป้อมวัชรินทราภิบาลและ หอพิมานเพชรมเหศวร์ ในปัจจุบัน แต่เดิมตามพระราชหัตถเลขาทรงใช้ว่า "หอพิมานเทวราชศาสตราคมสถาน" นั่นเอง แต่ได้เปลี่ยนชื่อเมื่อใดยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
**********
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน "หอศาสตราคมบนพระนครคีรี" สาส์นมวลชน ๑๖ มกราคม ๒๕๓o หน้า ๕
|
บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
|
|
|
|
|