พระปรางค์วัดกำแพงแลง
ปรางค์หรือพระปรางค์วัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ในตลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี นับว่าเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของเมืองเพชรคือน่าจะก่อสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗
ปรางค์วัดกำแพงแลงประกอบด้วยหมู่ปรางค์ ๕ หลัง ทุกองค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วศิลาทรงสี่เหลื่ยมผืนผ้าทั้งสี่ทิศ บริเวณด้านหน้ามุมซ้ายมีสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าสร้างในสมัยเดียวกัน
ปรางค์ทั้ง ๕ หลัง มีปราสาทองค์กลางเป็นประธาน โดยมีปรางค์องค์ประกอบสามหลัง คือองค์ด้านซ้ายด้านขวาและด้านหลัง เฉพาะองค์ด้านหลังได้พังลงมานานแล้ว ส่วนปรางค์อีกองค์หนึ่งอยู่ทางด้านหน้าขององค์ประธานและค่อนข้างห่างจากกลุ่มสี่องค์แรก
ปราสาทองค์ประธานมีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน และมีประตูทั้งสี่ด้าน ส่วนของยอดปรางค์ชำรุด
องค์ทางขวามือหันหน้าสู่ทิศตะวันออก ยอดยังสมบูรณ์ สร้างเป็นคูหามีประตูเข้าทางเดียวคือทางทิศตะวันออก เข้าใจว่าองค์ทางซ้ายมือและองค์หลังที่พังลง มีรูปลักษณะเช่นเดียวกับองค์ทางขวามือ
ส่วนองค์ทางด้านหน้าสุดมีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก คล้ายกับเป็นซุ้มประตูทางเข้าหมู่ปราสาท ส่วนประตูอีกสองด้านเข้าใจว่าเดิมสร้างเป็นท่อนเดียวคล้ายหน้าต่าง หรืออาจจะเป็นประตูทั้งสี่ด้านเหมือนองค์กลางก็ได้
สำหรับกำแพงแก้วรอบหมู่ปราสาท ซึ่งทำให้เกิดเป็นบริเวณนั้น ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะกำแพงด้านทิศเหนือ บริเวณข้างสระน้ำติดกุฏิ ยังเห็นลักษณะเดิมอย่างชัดเจน
ส่วนสระน้ำก็ยังคงอยู่ในลักษณะเดิมที่บุด้วยหินแลง
เป็นบุญของชาวเมืองเพชรที่ไม่มีคนขนเอาหินแลงเหล่านี้ไปสร้างวัตถุสถานอื่นๆ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐
ที่น่าสังเกตคือ ใบเสมาหินขนาดใหญ่ปักอยู่ข้างปรางค์องค์หน้าด้านขวาหนึ่งอัน ลักษณะน่าจะเท่ากับและรูปร่างคล้ายกับใบเสมาที่มีอยู่ที่วัดชมพูพน วัดเพชรพลี วัดพลับพลาชัย เข้าใจว่าเอาไปไว้ที่วัดบวรนิเวศวรมหาวิหารที่กรุงเทพฯอีกหนึ่งอัน
ปรางค์กำแพงแลงสร้างด้วยอะไร
ปราสาทหินโดยทั่วไปสร้างด้วยหินปูนเป็นพื้น โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชา เช่น ปราสาทนครวัด นครธม ฯลฯ รวมทั้งปราสาทหินแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การก่อสร้างปราสาทบางแห่งใช้ทั้งหินปูน หินทรายและหินแลง
แต่ปราสาทกำแพงแลง ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสร้างด้วยหินแลง
หินแลง ก็คือหินลูกกรวดลูกรัง โดยทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หรือสกัดตามรูปแบบที่ต้องการ กล่าวกันว่าที่ภาคเหนือมีบ่อหินแลง เมื่อขุดลงไปหินเหล่านั้นจะนิ่ม พอถูกลมก็จะแข็ง ซึ่งสามารถนำมาทำตามรูปแบบที่ต้องการได้
หินลูกกรวดลูกรังใต้พื้นดินมีที่เมืองเพชร และมีมากเสียด้วย แถบอำเภอเขาย้อย หนองปรง และอำเภอท่ายางแถบทุ่งโป่ง เป็นต้น
ส่วนปราสาทหินนั้น มีผู้สันนิษฐานว่า ใช้หินผสมเช่นเดียวกับการทำปูนซิเมนต์ในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนผสมคือ
๑. ใช้ส้มมะขามเปียกขยำกับน้ำแล้วเอากากออก
๒. เอาหินปูนมาป่นให้ละเอียดแล้วร่อนเอาแต่ผงปูน
๓. น้ำมันยางสน
๔. น้ำมันยางโมง เอามาผสมกันตามอัตราส่วนที่กำหนด แล้วทิ้งไว้ประมาณ ๗ วันก็จะแข็ง
การเชื่อมก้อนหินนั้นกล่าวกันว่า ใช้น้ำมันยางโมงผสมหินปูนบดละเอียดและสนิมเหล็กเข้าด้วยกันเพื่อใช้ยารอยต่อ แต่บางท่านกล่าวว่า ใช้น้ำอ้อยผสมกับข้าวเหนียว เป็นต้น
แต่การสร้างด้วยหินแลง ลักษณะพื้นผิวจะไม่ราบเรียบเหมือนการสร้างด้วยหินปูน จึงได้สร้างองค์ประกอบขององค์ปราสาทด้วยวิธีปั้นปูนให้เป็นลวดลายต่างๆประกอบอาคาร เช่น รูปลวดลายเถาเครือ ลายดอกไม้ ลายเกียรติมุข ลายกลีบมะเฟือง ลายจุดไข่ปลา เป็นต้น
ใครสร้างปราสาทกำแพงแลงและสร้างไว้ทำอะไร
ปราสาทกำแพงแลงเป็นโบราณสถาน ที่เข้าใจกันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอม ประมาณพ.ศ. ๑๗๒๔ ๑๗๖๑
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง กล่าวกันว่าทางทิศตะวันตกจดอาณาจักรพุกาม พม่าและแหลมมลายูบางส่วน
จากจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ได้กล่าวถึงการสร้างที่พักสำหรับคนเดินทางทั่วราชอาณาจักรขอมและหัวเมืองใกล้เคียงและมีสถานพยาบาลถึง ๑๐๒ แห่ง
ทรงให้สร้างศาสนสถานตามเมืองต่างๆรวม ๒๓ เมือง เช่น เมืองละโว้ สุพรรณบุรี ราชบุรี เมืองสิงห์ ( ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี ) และปรางค์กำแพงแลงเมืองเพชรบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ คือ พระพุทธรูปนาคปรก
กษัตริย์ขอมส่วนใหญ่ ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูนิกายไศวะ แต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระบิดาของพระองค์รวมทั้งพระมเหสีทรงนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ดังนั้น ปราสาทกำแพงแลง จึงเข้าใจว่าสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหานาถหรือพระพุทธรูปนาคปรก หรือพระชัยพุทธมหานาถ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว กษัตริย์ขอมองค์ใหม่ทรงหันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ พระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ตามปราสาทจึงถูกกวาดล้างไปสิ้น แล้วนำเอาเทวรูปมาประดิษฐานแทน มิหนำซ้ำ รูปแกะสลักพระสงฆ์ตามอาคารเหล่านั้นก็ถูกดัดแปลงให้เป็นรูปฤษีอีกด้วย
ส่วนกษัตริย์เพชรบุรีหรือเจ้าครองนครเพชรบุรีบางองค์อาจจะทรงนับถือพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดูก็ได้
หมู่ปราสาทวัดกำแพงแลงของจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นสิ่งก่อสร้างแบบขอมที่กล่าวกันว่าอยู่ใต้สุดของประเทศ และเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเพชร
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน. สาส์นมวลชน ๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ หน้า ๗, ๑๕
***
|