หง่อก่ากี่ ( 5 kaki )
หง่อก่ากี่ ( 5 kaki )
คำว่า หง่อก่ากี่ เป็นคำที่คนภูเก็ตใช้เรียก บริเวณทางเดินด้านหน้าภายในอาคารเดี่ยว หรืออาคารห้องแถว ทางเดินดังกล่าว ชาวยุโรปเรียก อาร์เขด (Arcade) ซึ่งสร้างเป็นส่วนหนึ่ง ของทางเดินภายในอาคารขนาดใหญ่ เช่น วิหาร วัง หรือสิ่งก่อสร้างอื่น
คำว่า หง่อก่ากี่ เป็นคำผสมระหว่าง หง่อ เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน แปลว่า ห้า(๕) กับคำว่า กากี ซึ่งประเทศที่ใช้คำว่า กากี ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งช่างไม้ช่างปูนชาวภูเก็ตสมัยก่อนก็ใช้คำนี้
คำว่า กากี หมายถึง ฟุต ซึ่งเป็นมาตราวัดระยะของอังกฤษ คือ ๑๒ นิ้ว เป็น ๑ ฟุต
ดังนั้น
๑ ฟุต ( 1 foot ) เท่ากับ ๑๒ นิ้ว เท่ากับ ๑ กากี
๕ ฟุต ( 5 feet ) เท่ากับ ๖๐ นิ้ว เท่ากับ ๕ กากี
ส่วนของทางเดินที่เชื่อมระหว่างอาคารตึกแถว ที่ภูเก็ต สร้างเป็นช่องทางเดิน ด้านบนเป็นส่วนโค้งแบบโรมัน ด้านล่างตรงตีนผนัง ระยะห่างประมาณ ๖๐ นิ้ว+- เท่าที่ได้ลองวัดดู บางแห่ง ๕๘ นิ้ว บางแห่ง ๖๐ กว่านิ้วนิดหน่อย ตรงส่วนโค้งเท่าที่เห็นมีอาคารตรงสี่แยกถนนดีบุกสร้างลิ่มสลักหิน หรือ คีย์สโตนด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่มี ทางเดินระหว่างอาคารตรงส่วนโค้งนี้ คนภูเก็ตเรียกว่า หง่อก่ากี่ หรือ ห้ากากี
การสร้างหง่อก่ากี่ ก็เพื่อให้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ ได้เดินหลบฝนหลบแดด และเดินได้ทะลุไปหลายคูหาหรือเกือบสุดถนนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม มีหลายบ้านที่ไม่ได้เป็นร้านค้าขาย คือใช้เป็นบ้านอยู่อาศัย แต่เจ้าของบ้านก็ยังเปิดให้เดินผ่านได้ ต่อมาบ้านบางหลังได้สร้างลูกกรงไม้ปิดทางเดินรวมทั้งหน้าบ้านด้วย บางบ้านเอาสินค้ามาวางปิดช่องทางเดิน พอนานเข้า เอาปูนมาโบกปิดช่องทางเดินดังกล่าว ทำให้เอกลักษณ์ที่ดีงามของตลาดเมืองภูเก็ตเสียไป การฟื้นฟูให้สามารถใช้หง่อก่ากี่เหมือนเดิม จึงขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้าน ผู้อาศัยในชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตเท่านั้น
คำว่า กากี มีอีกความหมายหนึ่ง คือ สีกากี ชุดเสื้อกางเกงกากีที่ทหารบางประเทศใช้ หรือชุดนักเรียน กากี คำนี้ มาจากคำว่า khaki จากพจนานุกรม O.U.D.I. ฉบับเล็ก เล่ม ๑ หน้า ๑๐๘๓ บอกว่าเป็นภาษาอูรดู เปอร์เซีย หมายถึงสีฝุ่นค่อนไปทางน้ำตาลเหลือง ใช้เป็นสีชุดทหาร ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๔๒...
สรุป คำว่า หง่อก่ากี่ มาจากคำว่า 5 kaki เมื่อนำมาใช้ น่าจะเขียนทับศัพท์เป็นรูปแบบเดียวกัน คือ หง่อก่ากี่
***
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
***
ภาพประกอบ
****
|