ธนาคารชาร์เตอร์ด (The Chartered Bank) สาขาภูเก็ต
ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อทำการปรับปรุงมณฑลนี้ คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ประกอบด้วย ๑.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พระยศสมันนั้น) ๒.พระยาสุริยานุวัตร์ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ๓.พระยาสุขุมนัยพินิจ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ๔.มิสเตอร์เจนส์ ไอ. เวสเตนการ์ด๑ ผู้ช่วยและที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ๕.พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี(คอซิมบี้) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำนุบำรุงมณฑลภูเก็ตจำแนกได้ ๘ หัวข้อ คือ
๑. ภาษีฝิ่น
๒. เรื่องการธนาคาร
๓. เรื่องกุลี
๔. เรื่องจะย้ายที่ว่าการเมืองภูเก็ตให้ที่ทำเหมือง
๕. เรื่องกรมแร่
๖. เรื่องการทำแผนที่
๗. เรื่องการทำถนน
๘. เรื่องการสร้างทางรถไฟ
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงหัวข้อที่ ๒.เรื่องการธนาคาร(สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ประวัติเมืองภูเก็ต : ๓๗ : ๒๕๒๐) ความว่า
๒. เรื่องการธนาคารหรือแบงค์ ผู้อำนวยการบริษัทชาเตอร์แบงค์ ที่เมืองปีนัง ได้ยื่นหนังสือต่อพระยารัษฎาฯ ขอจัดตั้งสาขาชาร์เตอร์แบงค์ที่ภูเก็ต ถ้ารัฐบาลพอใจจะต้องสนับสนุนบริษัท ๒ อย่าง คือ ให้สถานที่จัดตั้งและให้เงินแก่ธนาคารปีละ ๕๐๐ ปอนด์ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี เหมือนกับรัฐบาลมลายูของอังกฤษ ได้อุดหนุนให้ธนาคารจัดตั้งตามหัวเมืองต่างๆ เรื่องนี้คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่า บรรดานายเหมืองโดยมาก ได้ไปกู้ยืมเงินมาจากเมืองปีนัง ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๖ - ๑๘ อันเป็นเป็นภาษีหนักแก่นายเหมือง บริษัทอังกฤษสเตรดดิงกำปะนีได้มาตั้งร้านรับซื้อดีบุกที่ภูเก็ตส่งไปถลุงที่สิงคโปร์ บริษัทได้ทดรองจ่ายให้นายเหมืองแล้วใช้คืนด้วยดีบุกต่อไป ดีบุกก็จะไปตกแก่บริษัทนี้มากขึ้นทุกที เพราะบริษัทใช้วิธีการธนาคารเข้ามาปะปนกับธุรการซื้อแร่ของบริษัท ทำให้บรรดานายเหมืองที่มีทุนน้อยเสียเปรียบมาก ถ้ามีธนาคารเข้ามาตั้ง นายเหมืองหาทุนกู้โดยเสียดอกเบี้ยน้อยลง นับได้ว่าประโยชน์ต่อการทำเหมือง รัฐบาลได้พิจารณาตามคำขอของธนาคารชาเตอร์ด และได้เรียกผู้แทนธนาคารดังกล่าวที่อยู่ในกรุงเทพฯตกลงกัน
การเปิดสาขาธนาคารชาร์เตอร์ด ที่ภูเก็ต
ธนาคารชาร์เตอร์ด (The Chartered Bank)๒ ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๖ ด้วยพระราชินีวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักรเกรตบริเทน ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้นายเจมส์ วิลสัน (James Wilson) ชาวสก็อต ผู้เป็นเลขานุการกระทรวงการคลังของลอร์ดปาล์มเมอร์สตัน สร้างธนาคารขึ้นได้ที่กรุงลอนดอน ครั้นถึงปีพ.ศ. ๒๔๐๑ ได้เริ่มเปิดธนาคารสาขาขึ้นพร้อมกันสองแห่งในอาณานิคมของตน คือ ที่เมืองมุมไบ กัลกัตตา ในชื่อ ธนาคารชาร์เตอร์ดแห่งอินเดีย (The Chartered Bank of India) และ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๐๒ ได้เปิดสาขาเพิ่มที่เกาะฮ่องกง และที่เมืองสิงคโปร์ ไม่นานนักได้เปิดสาขาที่กรุงเทพมหานคร ส่วนที่ภูเก็ตเปิดสาขาขึ้น ประมาณปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๐
หลังจากคณะกรรมการมณฑลภูเก็ต ได้เจรจาตกลงกับผู้อำนวยการธนาคารกันแล้ว ทางรัฐบาลไทยจึงได้สร้างธนาคารชาร์เตอร์ด (The Chartered Bank) ตรงสามแยกมุมถนนพังงากับถนนภูเก็ต บริเวณริมฝั่งคลองบางใหญ่ ตลาดทุ่งคา เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งในสมัยนั้น หน้าคลองบางใหญ่เรือใบขนาดสามเสาที่มาจากเกาะปีนังหรือเมืองไทรบุรี และเมืองอื่นๆ สามารถเข้าเทียบท่าได้
ส่วนรูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยูโรเปียน (European Architecture) ในรูปแบบบริติชโคโลเนียลสไตล์ (British Colonial Style) สถาปนิกน่าจะเป็นชาวอังกฤษ และคงเป็นผู้ออกแบบอาคารหลังหนึ่งที่สร้างในพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคล้ายกัน แต่ส่วนประกอบต่างกันไป ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบโรมัน ด้านยาวทอดไปตามถนนพังงา มีหกช่วงเสา ส่วนด้านกว้างทอดไปตามถนนภูเก็ตมีสี่ช่วงเสา รูปสี่เหลี่ยมตรงมุมถนนที่ทอดไปตามถนนทั้งสองสาย สร้างเป็นรูปโค้งสำหรับประตูอีกหนึ่งช่วงเสา รวมแล้วเป็น สิบเอ็ดช่วงเสา เป็นอาคารตึกสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา รวมเนื้อที่ ๕๘๕ ตารางเมตร
ตัวอาคารมีระเบียงทั้งสองชั้น ชั้นล่างริมถนนเป็นทางเดินที่เรียกว่า หง่อก่ากี่หรืออาร์เขด ช่วงกว้างประมาณ ๕ ฟุต ตรงมุมเสาทางเดินทำเป็นรูปโค้งแบบโรมัน ลักษณะทางเดินแบบนี้มีการสร้างทั่วไปในยุโรปตามวิหาร โบสถ์ หรืออาคารสำคัญ ต่างกันที่ส่วนโค้งเท่านั้น เสาอาคารเป็นแบบโดริก ในแต่ละช่วงเสาสร้างปีกเสามีตอม่อประกบเสาจริง เหนือตอม่อสร้างเป็นรูปโค้งแบบโรมันเป็นสองระดับ มีลิ่มสลักหิน หรือ คีย์สโตน (key stone) อยู่ตรงกลางทุกช่วงเสา มีสองช่วงเสาสุดท้ายด้านถนนพังงาสร้างเป็นผนังหลอกหรือผนังบอด (Blind Arcade) ปลายเสามีคิ้วบัว ความสูงเสมอกับลิ่มสลักหิน เหนือขึ้นไปเป็นปีกนกขนาดเล็กขนานกันไปทั้งสองด้าน ส่วนตีนเสาฐานบัว มีคิ้วบัวประกอบเฉพาะส่วนนอก ส่วนภายในปล่อยโล่ง
ชั้นสองรูปเสาแบบไอโอนิก ขนาดย่อมกว่าชั้นล่าง มีลูกกรงประกอบตรงอาร์เขด แนวลูกกรงตรงเสาใส่คิ้วบัวตลอด ตรงฐานเสาชั้นสองสร้างปีกนกตลอด ใต้ปีกนกใส่คิ้วบัวตลอดแนว ตรงปลายเสาชั้นสองระดับเดียวกับลิ่มสลักหินใส่คิ้วบัวใต้ปีกนก เหนือปีกนกขึ้นไปเป็นผนังกันตกหรือปิดซ่อนชายคาที่เรียกว่า พาราเพ็ด(parapet) ทั้งสองด้านทำป้ายติดอักษรคำว่า The Chartered Bank ส่วนลักษณะภายในอาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้ ส่วนบันไดและราวบันไดเป็นไม้ ตัวราวบันไดไม้น่าจะเป็นของเก่า
ในส่วนของหลังคาสร้างเป็นหลังคาทรงปั้นหยา ที่เลือกใช้แบบนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศของท้องถิ่น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ฝนตกรั่วง่ายถ้าไม่ได้ใช้ช่างชำนาญงาน ในสมัยนั้นกระเบื้องมุงหลังคา ใช้กระเบื้องกาบกล้วยกันเป็นพื้น โดยซื้อมาจากเมืองปีนัง ไม่ว่าอาคารตึกแถวหรือบ้านอั่งหม่อหลาว กระเบื้องแบบนี้พอใช้ไปนานๆเข้า น้ำฝนรั่วซึมและหลุดล่อนหรือแตก นอกจากนี้แปที่ใช้ไม้ย่อมผุง่ายเมื่อใช้ไปหลายปี จึงต้องเปลี่ยนกระเบื้องหรือเปลี่ยนเป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบอื่น ตลอดจนเปลี่ยนแปไม้เป็นวัสดุอย่างอื่น หากสังเกตจากรูปถ่ายหลังคาของธนาคารแห่งนี้ น่าจะเปลี่ยนมาแล้วสามครั้ง
อิฐที่ใช้ก่อสร้าง จากการสังเกตแผ่นอิฐกว้าง x ยาว x สูง = 4x9x2 นิ้ว โดยประมาณ แผ่นอิฐขนาดจะไม่เท่ากันทั้งความหนาและความยาว น่าจะทำในท้องถิ่น ก่อนนี้มีโรงทำอิฐตั้งแต่ตลาดสามกองมาถึงหน้าโรงพยาบาลวชิระและหน้าวัดโฆษิตวิหาร ชาวบ้านแถบนั้นเรียก โรงอิฐ ส่วนวัสดุอื่นๆสั่งซื้อจากเมืองปีนังทั้งสิ้น
ส่วนช่างคุมงานและช่างฝีมือคงจ้างมาจากเมืองปีนัง เช่นเดียวกับการก่อสร้างบ้านตึกอั่งหม่อหลาวของเศรษฐีเหมืองแร่ภูเก็ต
นอกจากสร้างธนาคารแล้ว บริษัทยังขอสถานที่สร้างบ้านพักผู้จัดการธนาคารด้วย โดยรัฐบาลไทยได้มอบที่ดินจำนวน ๖ ไร่ ริมถนนดำรงบริเวณกลุ่มที่พักข้าราชการแถวบ้านบางงั่ว บ้านพักเป็นแบบอาคารยุโรปสองชั้น
เพื่อความปลอดภัยของธนาคาร ทางการไทยได้สร้างสถานีตำรวจขึ้น ตรงมุมถนนฝั่งตรงกันข้ามกับธนาคารบนถนนพังงา เป็นอาคารสองชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียน รูปทรงเป็นรูปตัวแอล (L) ตรงส่วนมุมตัวแอลทำเป็นหอนาฬิกาสี่ด้านเป็นนาฬิกาแบบเงียบ หลังคาทรงปั้นหยา ทาสีขาวเช่นเดียวกัน เรียกว่า สถานีตำรวจตลาดใหญ่ หรือ โรงพักตำรวจตลาดใหญ่
นอกจากธนาคารชาร์เตอร์ดแล้ว อังกฤษยังได้ตั้งธนาคารแสตนดาร์ด (The Standard Bank) ขึ้นที่มณฑลเคป (Cape Province) แอฟริกาใต้เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๕ โดยนายจอห์น แพตเตอร์สัน สก็อต ( John Paterson Scot) เป็นที่รู้จักกันในนามธนาคารแสตนดาร์ดแห่งแอฟริกาใต้ (The Standard Bank 0f South Africa) ต่อมาได้ขยายสาขาไปทั่วโลก ส่วนที่กรุงเทพฯได้เปิดสาขาขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๗
ในปีพ.ศ. ๒๕๑๒ ธนาคารชาร์เตอร์ดได้รวมกับธนาคารแสตนดาร์ด เป็น ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (The Standard Chartered Bank)
ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับอนุญาตจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้ใช้เป็น ศูนย์วัฒนธรรมบ้าบ๋าภูเก็ต (Phuket Baba Cultural Center) ทางเทศบาลนครภูเก็ตจึงได้เริ่มปรับปรุงภายในอาคารเพื่อใช้แสดงวัฒนธรรมบ้าบ๋าภูเก็ต
ต่อมาสมาคมเพอรานากัน (Peranakan Association) ซึ่งเป็นสมาคมลูกครึ่งบ้าบ๋าย่าหยาแห่งมะละกา ปีนังและสิงคโปร์และเครือข่าย ได้ให้ความร่วมมือกับเทศบาลนครภูเก็ต ปรับปรุงอาคารธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และอาคารหอนาฬิกาหรืออาคารสถานีตำรวจตลาดใหญ่เดิม ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ต (Phuket Museum) ด้วยการทาสีใหม่และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสม แล้วจัดนิทรรศการ และแสดงประวัติของชาวบ้าบ๋าภูเก็ตด้วยระบบมัลติมีเดีย ได้แก่ หนุ่มจีนเดินทางด้วยเรือสำเภามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต การแต่งกายชุดย่าหยาและปุนเต๋ ชีวิตความเป็นอยู่ในบ้าน อาหารการกิน การทำเหมืองแร่ดีบุก
อาคารธนาคารชาร์เตอร์ดภูเก็ต และอาคารสถานีตำรวจตลาดใหญ่พร้อมหอนาฬิกา ที่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมยุโรป รูปแบบอาณานิคมอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่าร้อยปีแล้ว ที่ได้รับการอนุรักษ์ตัวอาคารเป็นอย่างดี พร้อมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม นับว่าเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์อาคารเก่าในจังหวัดภูเก็ต ให้คงอยู่ตลอดไป
อาคารธนาคารชาร์เตอร์ด หรือ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ต สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ ในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ ครบ ๑๑๑ ปี ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๖๙ ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ๘๓๐๐๐
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
***
หมายเหตุ
๑พระยากัลยาณไมตรี เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด (Jens Iverson Westengard) เป็นชาวอเมริกา เกิดที่เมืองชิกาโก เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๑๔ ในครอบครัวชาวเดนมาร์คซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา Jens Iverson Westengard ( 1871-1918 ) เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด (Jens Iverson Westengard) เข้ามารับราชการในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ โดยใน พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๕๑ เป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หลังจากนั้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงกราบถวายบังคมลาออกกลับไปสหรัฐอเมริกา เวสเตนการ์ดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๔๗ ปี ))
๒คำว่า chartered อ่านตามศัพท์ว่า ชา-เต้อ-เดอะ อ่านเร็วๆเป็น ชา-เติ๊ด
การเขียนเป็นภาษาไทยได้เขียนตามที่ธนาคารใช้ คือ ชาร์เตอร์ด อ่านว่า ชา-เติ๊ด
***
ภาพประกอบ
อาคารธนาคารชาร์เตอร์ด
สาขาภูเก็ต
***
*********
บ้านพักผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์ด
สาขาภูเก็ต
*****
หอนาฬิกาภูเก็ต
(สถานีตำรวจตลาดใหญ่เดิม)
*****
ภาพบุคคลที่เกี่ยวข้อง
กับธนาคารชาร์เตอร์ด
***
สมเด็จพระราชินี วิกตอเรีย
***
เจมส์ วิลสัน (๑๘๐๕ - ๑๘๖๐)
***
จอห์น เพ็ตเตอร์สัน (๑๘๒๒ - ๑๘๘๐)
***
เจนส์ ไอ. เวสเต็นการ์ด (๑๘๗๑ - ๑๙๑๘)
***
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
(๒๔๐๐ - ๒๔๕๖)
***
อาคารเปรียบเทียบสร้างที่ประเทศพม่าของอังกฤษสมัยนั้น
***
|