ศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต
ศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต หลายแห่งมีอายุร้อยปีเศษคือสร้างแต่ครั้งต้นรัชกาลที่๓เป็นต้นมา สถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมน่าจะเป็นแบบศาลเจ้าประจำตระกูลแซ่ในแต่ละตำบล คือ ในตำบลใดมีคนตระกูลแซ่ใดมาก ก็จะสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อประดิษฐานป้ายวิญญาณหรือซินจู้ขึ้น อาจเป็นแซ่เดียว หรือ สามแซ่สี่แซ่แล้วแต่คนในตำบลจะตกลงกัน ศาลเจ้าขนาดเล็กแบบนี้มีทั่วไปแถบจีนภาคใต้และเกาะไต้หวัน แต่จีนภาคเหนือไม่นิยมสร้าง เมื่อพวกเขาอพยพมาอยู่ภูเก็ต จึงได้นำแบบอย่างการก่อสร้างดังกล่าวมาด้วย ศาลเจ้าจีนเป็นอาคารขนาดเล็กมักไม่มีลวดลายมาก รูปหลังคา ในช่วงแรกจึงเอาแบบอย่างอาคารดังกล่าวมาสร้าง เช่น ศาลเจ้าถี่กงตั๋ว ศาลเจ้าเฉ่งจุ้ยโจวซือกงนาคา ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือถนนทุ่งคา ศาลเจ้าพ้อต่อกงบางเหนียว ศาลเจ้าต่องย่องสูที่อำเภอกะทู้เป็นต้น
ต่อมาได้มีพัฒนาการไปสู่อาคาร ที่มีการใช้ปูนปั้นแบบลอยนูนทั้งหลังคา ด้านหน้าและภายในอาคารแบบวิจิตรบรรจง ด้วยลวดลายตัวมังกร ลายเครือเถา เทพจีนบางองค์เช่น โป๊ยเซียน หลี่จิ้ง เทพประจำทั้งสี่ทิศ ลวดลายภาพที่เป็นมงคลทั้ง เทพสัตว์ ต้นไม้ ผลไม้ จึงดูหรูหราและใหญ่โต การแกะสลักลายไม้ที่สวยงามเช่นศาลเจ้าปุดจ้อ ส่วนจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีเรื่องราวในพงศาวดารจีนและเทพนิยายจีนประกอบ ด้วยฝีมือพื้นบ้าน และช่างฝีมือที่ชำนาญงาน เช่น ศาลเจ้ากุศลธรรมถนนพังงา ศาลเจ้าพ้อต่อกงบางเหนียว ศาลเจ้าฮกหงวนเก้งที่วงเวียนหอนาฬิกา ศาลเจ้าเฉ่งจุ้ยโจวซือกงนาคาหลังเก่าที่รื้อไปแล้ว เป็นต้น
ศาลเจ้าจีนขนาดเล็กที่สร้างด้วยไม้ ที่มีรูปแบบเครื่องหลังคาที่น่าสนใจมากคือศาลเจ้าฮกเซี้ยงเก้งที่อำเภอกะทู้
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓ เมษายน ๒๕๕๗
: s.kantakian@gmail.com
****
ภาพตัวอย่าง
|