ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ)
ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ) เป็นชาวจีนอีกผู้หนึ่งที่ได้เดินทางมาภูเก็ต แบบชาวจีนคนหนุ่มทั่วไปในสมัยก่อนเพียงเสื่อผืนหมอนใบ เพื่อผจญโชค หลายคนได้รับความสำเร็จ นั่นคือ จากไม่มีอะไรเลย กลายเป็นคหบดีคนหนึ่งของภูเก็ต ดังเช่น ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ) หรือ นายตันหลิม ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกท่านว่า ขุนหลิม หรือเรียก ตันเค่หลิม สำหรับผู้ที่มีอายุใกล้เคียงกับท่าน ขุนเลิศโภคารักษ์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรือง
ขุนหลิมมีภรรยาชื่อ นางหยินฮั้ว แซ่หลิม หรือ หลิมหยินฮั้ว 林迎花 มีธิดาเพียงคนเดียว คือ คุณหญิงกาญจนา ตันบุญ ณ ระนอง มีบุตรบุญธรรมคนหนึ่งชื่อ นายเจริญ แซ่ตัน
ตันหลิม หรือ เฉินหลิน 陳琳 เขียนแบบไทยว่า นายหลิม แซ่ตัน ถือกำเนิดที่ตำบลตงหู 东湖社区 จังหวัดเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับวันที่ ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ตามปฏิทินจีน ปีวอก ในรัชสมัยฮ่องเต้กวงชี่ตี้ หรือ กวงสู แห่งราชวงศ์ชิงเป็นปีที่ ๒๑
ชาวตำบลตงหูมีอาชีพในการทำนาเป็นส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ติดทะเลสาบ ตันหลิมจึงต้องทำนาตามครอบครัวซึ่งไม่ถูกกับนิสัยของตน เมื่อได้เห็นคนหนุ่มหลายคนในตำบลนี้ได้เดินทางไปผจญโชคยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนได้ประสบผลสำเร็จมีเงินทองติดตัวกลับบ้าน เป็นที่กล่าวขานกันในตำบล ตันหลิมจึงตัดสินใจไปเผชิญโชคเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปีในปีพ.ศ. ๒๔๕๘ ด้วยการโดยสารเรือใบมาถึงเกาะภูเก็ต
งานแรกที่ทำก็คือเป็นกรรมกรเหมืองหาบได้ระยะหนึ่ง แล้วลาออกมาเป็นคนเฝ้าสวนผักของเศรษฐีแซ่ตันได้เงินเดือนๆละ ๖ บาท ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเป็นคนงานเฝ้าเรือยนต์ของบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ ทิน เทรดยิ่ง จำกัด ได้รับเงินเดือนๆละ ๓๖ บาท พอมีเงินเก็บ จึงได้ซื้อเรือแจวรับจ้างขนส่งผู้โดยสารจากท่าเรือไปส่งยังเรือเดินสมุทร มาตัง จนสามารถเก็บเงินได้มากพอแล้วซื้อเรือยนต์รับส่งผู้โดยสาร แล้วขยายกิจการด้วยการทำไม้ฟืนส่งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ ทำให้ตันหลิมเป็นคนหนึ่งในการประสานงานกับบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ
ต่อมาได้ขยายกิจการจากเรือยนต์ลำเล็กๆ เปลี่ยนเป็นเรือยนต์ลำใหญ่สามสี่ลำขนาด ๖๐ ตันถึง ๑๐๐ ตันด้วยการรับส่งผู้โดยสารระหว่างกันตัง - กระบี่ - พังงา แสดงให้เห็นถึงความวิริยะในการทำงาน สามารถก่อร่างสร้างตัวได้อย่างรวดเร็ว จนมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือยนต์โดยสารชายฝั่งจำนวนหลายลำ
ด้วยความที่นายตันหลิม มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือยนต์ชายฝั่งระหว่างจังหวัดภูเก็ต-พังงา-กระบี่-ตรัง เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๗๑ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตคือ หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคือ พระยาศรีสุทัศน์ (ม.ล.อนุจิตร สุทัศน์) ได้จัดเตรียมการรับเสด็จในครั้งนี้ที่เป็นหน้าที่ของข้าราชการในท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการ เช่น การเตรียมเรือยนต์นำร่องเรือพระที่นั่ง การเตรียมเรือยนต์เสริมสำหรับข้าราชบริพารตามเสด็จ รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่น ในส่วนที่ทางราชการส่วนกลางรับผิดชอบคือ เรือพระที่นั่งมหาจักรี กับเรือพระที่นั่งศรีธรรมราช และเรือเจนทะเลหรือเรือหาญทะเลอีกสองลำของกระทรวงทหารเรือ อีกประการหนึ่งในเรื่องอาหาร เฉพาะพระองค์ท่านมีห้องพระเครื่องต้นฝรั่งและห้องพระเครื่องต้นไทยตามเสด็จอยู่แล้ว ส่วนข้าราชบริพารตามเสด็จให้ส่วนราชการท้องถิ่นจัดดำเนินการ
ด้วยเหตุนี้ นายตันหลิม จึงได้รับการพิจารณา ให้เป็นกรมการคนหนึ่ง ในการเตรียมเรือยนต์นำร่องเรือพระที่นั่งและเรือยนต์เสริมสำหรับข้าราชบริพารตามเสด็จ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น อีกประการหนึ่ง นายตันหลิมในฐานะผู้เจนจัดในทะเล คงได้รับมอบหมายให้จัดหาพวกอาหารทะเลได้แก่ ปลาทะเล หอย กุ้ง ปู ตลอดจนพืชผักต่างๆ สำหรับห้องพระเครื่องต้น และการเตรียมอาหารสำหรับข้าราชบริพาร
การเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ตเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและพังงา สังเขป ดังนี้
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เรือพระที่นั่งถึงอ่าวภูเก็ต เสด็จจากเรือพระที่นั่งโดยกระบวนเรือยนต์ ถึงพลับพลารับเสด็จที่อ่าวมะขาม เสด็จเข้าตัวเมืองภูเก็ต
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จศาลารัฐบาล และศาลมณฑลภูเก็ต เสด็จวัดโฆษิตวิหาร เสด็จอ่าวฉลองทอดพระเนตรเรือขุดแร่ในอ่าวฉลอง
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จโรงเรียนประจำมณฑลชายและโรงเรียนประจำมณฑลสตรี โรงเรียนจีน ภูเก็ตฮั่วบุ๋น กับโรงเรียนจีน ส่องเต็กภูเก็ต โรงพยาบาลวชิราวุธ (วชิระภูเก็ต) เสด็จอ่าวราไวย์
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จทอดพระเนตรเรือขุดแร่ขนาดใหญ่และเป็นแบบใหม่ที่บริษัทกะทู้ติน ภาคค่ำเสด็จศาลารัฐบาลเสวยพระกระยาหารค่ำและภูเก็ตสโมสร ทอดพระเนตรการแห่โคมไฟ พ่อค้าจีนกล่าวถวายพระพร
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จทอดพระเนตรเหมืองสูบที่บ้านระเงง ประพาสน้ำตกถลาง(โตนไทร) เสด็จหาดสุรินทร์
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จทอดพระเนตรการทำเหมืองหาบและเหมืองปล่องที่ตำบลนาลึก ใกล้หาดสุรินทร์ เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันลอนเทนนิสที่สโมสรฝรั่ง นายเหมืองฝรั่งกล่าวถวายพระพร
วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่าง
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จจังหวัดพังงา โดยกระบวนรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จวัดถ้ำ ประทับที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พระราชทานพระแสงราชศัสตรา เสด็จไปวัดประพาสประจิมเขต แล้วเสด็จประทับเรือยนต์ไปสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งทอดอยู่ที่หน้าเกาะปันหยี ประทับ ๑ ราตรี
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จโดยเรือยนต์ประพาสถ้ำลอด ทอดพระเนตรการแข่งเรือ เสด็จสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกเรือพระที่นั่งตรงไปยังเกาะลิบง ปากอ่าวจังหวัดตรัง ทอดพระเนตรหมู่เกาะตามรายทางเสด็จ ประทับแรมที่เกาะลิบง
...
จากรายการเสด็จประพาสภูเก็ต-พังงา ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ นายตันหลิมในฐานะผู้รับผิดชอบเรือนำร่อง คงจะได้ตามเสด็จถึงเกาะลิบง ซึ่งประทับแรมหนึ่งคืนที่เกาะนี้ ในโอกาสนี้พวกข้าราชการท้องถิ่นและผู้ตามเสด็จที่เป็นคนท้องถิ่นคงได้เข้าเฝ้าแหนอย่างใกล้ชิด และได้พระราชทานของที่ระลึกที่เป็นส่วนพระองค์ ให้ข้าราชการท้องถิ่นตลอดจนผู้ตามเสด็จ
ซึ่งนายตันหลิมได้รับพระกรุณาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม รับพระราชทานถึง สามประการด้วยกัน คือ
ประการแรก ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ ชั้น ขุน ในราชทินนามว่า เลิศโภคารักษ์ เป็น ขุนเลิศโภคารักษ์ ถือศักดินา ๔๐๐
ประการที่สอง นายตันหลิมยังไม่มีนามสกุลไทยใช้ จึงได้รับพระกรุณาฯพระราชทานนามสกุลให้ว่า ตันบุญ เป็น ขุนเลิศโภคารักษ์ ( หลิม ตันบุญ )
ประการที่สาม ได้รับพระราชทาน แหนบเงินประดับพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร.ทองคำ ส่วนพระองค์ ขนาดกว้าง ๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๓ เซนติเมตร ด้านหน้าประดับพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ใต้พระมหาภิชัยมงกุฎ ด้านหลังมีที่หนีบ สลักลำดับเลขพระราชทาน (ป.ป.ร. คือ อักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗)
ขุนเลิศโภคารักษ์ได้ทำงานด้านธุรกิจในการเดินเรือมา จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างพ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ ทำให้พวกฝรั่งเจ้าของบริษัทเรือขุดแร่ที่ภูเก็ตต่างอพยพครอบครัวกลับบ้านเมืองของตนเป็นการด่วน ในส่วนของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ ที่ขุนเลิศโภคารักษ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ได้รับความไว้วางใจให้เก็บรักษาเอกสารสำคัญของบริษัทไว้
เรื่องสงครามโลกครั้งที่๒นี้ มีสองฝ่ายคือ ฝ่ายอักษะมีประเทศเยอรมัน อิตาลีและญี่ปุ่นฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายคือฝ่ายพันธมิตร มีประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นหลักและมีประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าเป็นพวก
ภูเก็ตเป็นจุดยุทธศาสตร์จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ เมื่อก่อนทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จากแถลงการณ์รัฐบาลไทยขณะนั้นว่า ตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. กองทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่ประเทศไทยในทะเลจังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และบางปู ส่วนทางบกได้ยกเข้าทางพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงคราม เกือบทุกแห่งทหารและตำรวจได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง ไทยจำต้องให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่น ได้ยกพลขึ้นภูเก็ตในเวลาดังกล่าวแล้ว กองทหารญี่ปุ่นได้แยกย้ายกันไปประจำที่ตำบลราไวย์ หาดสุรินทร์ สามกอง บางงั่ว ท่าแครง เป็นต้น ฝ่ายญี่ปุ่นและอิตาลีได้ส่งเรือรบมาลาดตระเวนน่านน้ำเกาะภูเก็ต ซึ่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดหลายแห่ง จมเรือรบอิตาลีที่เกาะตะเภาและอ่าวมะขาม
เหล่าบรรดาพ่อค้าคนภูเก็ตหลายคนได้ทำมาค้าขายกับนายทหารญี่ปุ่น จนร่ำรวย แต่พ่อค้าบางคนคิดโกงทหารญี่ปุ่นจนถูกทำโทษก็มี เมื่อนายทหารญี่ปุ่นทราบว่าขุนเลิศโภคารักษ์เก็บรักษาเอกสารสำคัญของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯไว้ จึงเคี่ยวเข็ญขุนเลิศโภคารักษ์ให้บอกที่ซ่อนเอกสาร แต่ท่านไม่ยอมบอกจนถูกนายทหารญี่ปุ่นลงโทษ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่๒ยุติลง ทางบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯกลับมาดำเนินการต่อ ในโอกาสที่ขุนเลิศโภคารักษ์ได้เก็บรักษาเอกสารสำคัญไว้ ความดีอันนี้ทางบริษัททุงคาฮาเบอร์จึงได้อนุญาตให้ขุนเลิศโภคารักษ์ ทำเหมืองในที่ของบริษัทที่เรือขุดแร่ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ โดยชักเพียง ๑๒ เปอร์เช็นต์ และบังเอิญโชคดีปรากฏว่าพบแหล่งแร่ดีบุกเดือนหนึ่งได้หลายร้อยหาบ และประกอบกับราคาแร่ดีบุกในช่วงนั้นแพงมาก ขุนเลิศฯจึงเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ๆ ทำให้กิจการเหมืองแร่ขยายออกไปหลายเหมือง ฐานะจึงเริ่มมั่นคงได้ในระยะเพียง ๑๐ ปี
ระหว่างวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดภูเก็ต ในการนี้ ขุนเลิศโภคารักษ์ได้เป็นกรมการในการรับเสด็จด้วย ในฐานะคหบดีจังหวัดภูเก็ต ด้วยความดีความชอบครั้งนี้ ขุนเลิศโภคารักษ์ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๔ ซึ่งเป็นคหบดีเพียงคนเดียว ส่วนอีกสองท่านที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ คือ หลวงอนุภาษภูเก็ตการ กับ นายอรุณ เชื้อชูวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
หากพูดถึงธุรกิจของขุนเลิศโภคารักษ์ ตั้งแต่เริ่มแรกคือเรือโดยสารชายฝั่งจำนวนหลายลำ แล้วขยายกิจการออกไปเป็นการทำสวนยางพารา การเป็นตัวแทนสินค้าการก่อสร้าง การสร้างศูนย์การค้าแห่งแรกในภูเก็ตในปีพ.ศ. ๒๕๑๒ ที่มีทั้งโรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สถานโบวลิ่ง สถานบันเทิง เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ
ในด้านการสาธารณกุศลนั้น ขุนเลิศโภคารักษ์ ได้สร้างศูนย์บริการโลหิต เลิศโภคารักษ์ ให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต การขุดบ่อน้ำให้เป็นสาธารณะ การซ่อมแซมเสนาสนะในวัดหลายแห่ง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย การขยายอาคารเรียนให้โรงเรียนบางแห่ง และที่สำคัญคือ
ประการแรก ขุนเลิศโภคารักษ์ได้บริจาคที่ดินที่ทำเหมืองแร่ดีบุกแล้ว สร้างเป็นโรงเรียนบ้านสะปำ มงคลวิทยา ด้วยเนื้อที่ ๔๐ ไร่ ที่ตำบลเกาะแก้ว ริมถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมืองภูเก็ต พร้อมกับสร้างอาคารเรียน ๑ หลัง โรงเรียนได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘
ประการที่สอง ขุนเลิศโภคารักษ์ ได้นำที่ดินที่ทำเหมืองแร่ดีบุกแล้วที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จำนวน ๒๗๓ ไร่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมทบกับที่ดินของทางราชการที่มีอยู่ส่วนหนึ่งแล้วเพื่อสร้างเป็น วิทยาลัยครูภูเก็ต ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติครบ ๒๕ ปีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งทางราชการได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้น ระหว่างวันที่ ๘ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ การบริจาคที่ดินครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน วิทยาลัยครูภูเก็ตจึงได้เริ่มสถาปนาเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔
ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่างๆ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๙๘ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ. ๒๕๐๐ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
พ.ศ. ๒๕๐๒ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้น ๔ (ภ.ป.ร. ๔)
พ.ศ. ๒๕๐๔ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. ๒๕๐๕ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. ๒๕๑๐ ตริตาภรณ์มงกฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. ๒๕๑๐ เหรียญกาชาดสรรเสริญ
พ.ศ. ๒๕๑๔ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ) หรือ ตันหลิม 陳琳 ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ และตรงกับปฏิทินจีนวันที่ ๒๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านเลขที่ ๕๖ ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง ภูเก็ต สิริรวมอายุ ๗๖ ปี ศพฝังที่สุสานประจำตระกูลที่เชิงเขาบ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง ภูเก็ต
ขุนเลิศโภคารักษ์ (หลิม ตันบุญ) จึงเปรียบได้ดั่งหยกชิ้นงามชิ้นหนึ่ง (琳) ที่ประดับบนเกาะภูเก็ต และเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแก่ชนรุ่นหลัง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงได้สร้างรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ไว้ ณ บริเวณภายในมหาวิทยาลัย โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓
***
ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ กันยายน ๒๕๕๙
***
ภาพประกอบ
|