ขุนชินสถานพิทักษ์ (อยู่อี่ ตัณฑวณิช)
ขุนชินสถานพิทักษ์ หรือ นายอยู่อี่ ตันฑวณิช หรือ ตันอยู่อี่ เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้รุ่งเรือง อันเป็นรากฐานในการพัฒนามาสู่ยุคปัจจุบัน ชาวภูเก็ตเรียกท่านว่า "ขุนชิน"
ขุนชินสถานพิทักษ์ เป็นบุตรของพระพิทักษ์ชินประชา(ตันม้าเสียง) พระพิทักษ์ชินประชามีบุตรธิดารวม ๑๑ คน คือ ตันอยู่อี่ ตันอยู่เอี่ยว ตันอยู่เกี้ยง ตันสวดศรี ตันสวดจิต ตันสวดเช้ง ตันอยู่เก้ง ตันอยู่เหลียง ตันสวดเอ๋ง ตันอยู่ซิด และตันสวดเอี่ยม
ขุนชินสถานพิทักษ์ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ณ บ้านตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้รับการศึกษา ชั้นประถมจากโรงเรียนจีน ส่องเต็ก ถนนดีบุกตรงกันข้ามกับวัดมงคลนิมิตร และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนประจำมณฑลภูเก็ต (โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย) หลังจากนั้น บิดาได้ส่งไปศึกษาต่อในระดับ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เมืองปีนัง รัฐมลายูของอังกฤษ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่เมืองปีนังแล้วจึง ได้เดินทางกลับมาทำงานในกิจการของบิดา
ในด้านครอบครัว ในปี ๒๔๗๓ ท่านได้แต่งงานกับ เจ้าสาว จากเมืองปีนังคือนางสาวอู่ชี้ กอย์ บิดาได้ยก บ้านชินประชา ซึ่งสร้างมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๒ ให้เป็นเรือนหอ มีบุตรด้วยกัน ๔ คน คือ
นายประชา ตัณฑวณิช
นางจันทราวรรณ ตัณฑวณิช ฉั่ว
นายประธาน ตัณฑวณิช
นางจันทราภา ตัณฑวณิช โชควาณิชพงค์
ต่อมาท่านได้ภรรยาคนที่ ๒ คือนางกัลยา ตัณฑวณิช มีบุตร ๒ คน คือ
นางชยา ตัณฑวณิช
นายสมชาย ตัณฑวณิช
ในด้านหน้าที่การงานนั้น ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ บิดาได้ให้ไปดูแลกิจการเหมืองแร่ดีบุกที่ บ้านบางเนียง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตเป็นครั้งแรก หลวงพิทักษ์ทวีป ได้เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก และ อยู่อี่ ตัณฑวณิช ได้เป็นเทศมนตรีในสมัยนั้น และได้รับ บรรดาศักดิ์เป็น ขุนชินสถานพิทักษ์๑
ในปีพ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ขุนพิทักษ์ชินประชาได้สมัครและได้รับคะแนนอันดับแรกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
เมื่อมีการยุบสภา เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ มีการจัดให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ มีผู้ขอให้ท่านลงสมัครเลือกตั้งต่ออีกสมัย แต่ขุนชินฯได้ปฎิเสธไปเพราะมีภารกิจดูแลธุรกิจของครอบครัว แต่ได้ให้การสนับสนุนผู้อื่นและให้คำปรึกษาต่อไป
ขุนชินฯมีธุรกิจหลายอย่าง เพราะความเป็นคนกว้างขวางมีเพื่อนมาก จึงมีการติดต่อให้ขุนชินฯเป็น ตัวแทนการค้า เช่น เป็นตัวแทนบริษัทเดินเรือ ทั้งภาคพื้นเอเชียและยุโรปของ STRAITS STEAMSHIP CO.LTD ของ ประเทศอังกฤษ ทั้งจังหวัดภูเก็ตและหาดใหญ่ เป็นตัวแทนจำหน่ายสุรา แม่โขง และอีกหลายอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ธนาคารกสิกรไทย ได้มาตั้งสาขาครั้งแรกในจังหวัดภูเก็ตก็ได้ให้ ขุนชินฯ เป็นผู้จัดการสาขาภูเก็ต คนแรก
จากอุปนิสัย ของขุนชินฯ ท่าน เป็นคนร่าเริง ใจกว้าง ชอบคบเพื่อน จึงมีเพื่อนฝูงอยู่ในวงราชการและ วงการธุรกิจ มากมายทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ เพื่อนฝูงรักใคร่ท่านมาก แม้เมื่อ ท่านได้เสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจเฉียบพลัน เมื่อ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ เมืองปีนัง มาเลเซีย ได้มี เพื่อนฝูงอาทิ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและอีกหลายท่าน ได้กรุณาเดินทาง มาร่วมพิธีศพ ของขุนชินสถานพิทักษ์ที่จังหวัดภูเก็ต.
: ทวียศ นาโคศิริ สัมภาษณ์ คุณประธาน ตัณฑวณิช เมษายน ๒๕๕๗
หมายเหตุ :
๑ บรรดาศักดิ์ ขุนชินสถานพิทักษ์ น่าจะได้รับพระราชทาน พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ตพ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ไม่มีการเลื่อนหรือตั้งบรรดาศักดิ์อีกเลย และยกเลิกบรรดาศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
****
******
|