ขุนชนานิเทศ (เซียวเชอะ ทองตัน)
บรรพชนผู้เป็นต้นตระกูล ทองตัน ตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่งของเมืองภูเก็ต คือ นายตันเซียวเชอะ เดินทางจากบ้านเกิดที่ตำบลน่ำฮั้ว มณฑลฮกเกี้ยน มาอยู่ภูเก็ตตั้งแต่อายุได้ ๑๑ ปี ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๑๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ประสบความสำเร็จจากการเปิดร้านขายของชำแถวถนนถลาง ชื่อร้าน สุ่ยหิ้นจั่ง และการค้าส่งออกหอม กระเทียม พริกไทย ระหว่างภูเก็ต ตรังและปีนัง เมื่อมีฐานะมั่งคั่งขึ้น ได้ซื้อบ้านหลังแรกอยู่ตรงหัวมุมถนนดีบุก กับถนนเทพกระษัตรี ด้านหลังโรงแรมซิตี้ปัจจุบัน จากนั้นก็เริ่มทำกิจจการเหมืองแร่ดีบุก ที่เหมืองป้อซ่าง บริเวณตรงกันข้ามกับโรงเรียนดาวรุ่งในปัจจุบัน และกิจการบ้านเช่าแถวบางเหนียว ถนนภูเก็ต แถวน้ำ แถวถนนรัษฎา และถนนถลาง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ หลัง
นอกจากนี้ยังได้สร้างสถานบันเทิงสำหรับคนภูเก็ตสมัยนั้น คือโรงละคร ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ชื่อ เฉลิมตันติ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อโรงภาพยนตร์สยาม แล้วได้เลิกกิจการเปลี่ยนเป็นสถานออกกำลังกาย
ตันเซียวเชอะ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ ๖ เป็น ขุนชนานิเทศ มีตำแหน่งทางราชการเป็นกำนันตำบลทุ่งคา เมืองภูเก็ต ได้สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์แก่ชาวภูเก็ตหลายอย่าง โดยเฉพาะการบริจาคทรัพย์สินเงินทองและที่ดินสร้างศาลเจ้า ฮกหงวนเก้ง ใกล้วงเวียนหอนาฬิกา ศาลเจ้าเจ่งอ๋อง อยู่ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และศาลเจ้าแม่กวนอิมพระโพธิสัตว์ ใกล้วงเวียนสุริยเดช ถนนบางกอก
ขุนชนานิเทศมีภรรยา ๒ คน ภรรยาคนแรกเป็นคนไทยชื่อนางนุ้ย เป็นชาวจังหวัดตรัง มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นชายทั้งหมด คือ ตันเฉ่งห้อ หรือ หลวงชนาทรนิเทศ ตันเฉ่งกาง และ ตันเฉ่งเกียดหรือ ขุนตันติวานิชกรรม ส่วนภรรยาคนที่ ๒ ไม่มีบุตรด้วยกัน นอกจากนี้ขุนชนานเทศยังมีบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง
ขุนชนานิเทศถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
****
: คัดลอกจาก
ตระกูล ทองตัน : ขุนชนานิเทศ และ หลวงชนาทรนิเทศ บรรพชนผู้สร้างเมืองภูเก็ต (๒๕๓๓) ภูเก็ต๓๓ (หนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต ๒๕ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๓)
****
๐๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
|