ฮวดโสะ 法索
ในช่วงเทศกาลกินเจ ปัจจุบันแทบทุกศาลเจ้าจีนมีคนเข้าทรง สวมใส่เอี้ยมหรือต้อ มือมักถืออาวุธประจำกาย เช่น กระบี่ ลูกตุ้มเหล็ก ขวาน เป็นต้น รวมทั้งธงดำหรือ อ้อเหล่ง และอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ฮวดโสะ
คำว่า ฮวดโสะ 法索 หรือ ฝาสัว หรือ เฉิ้งเปี้ยน 淨鞭 หรือ ฝาเปี้ยน 法鞭 หรือ จินสัวเซิ่งเจ๋อ 金鞭聖者 หมายถึง แส้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมทางลัทธิเต๋า แส้ที่ใช้มีสองรูปแบบ คือ แบบถักเป็นเปีย กับแบบไม่ได้ถักซึ่งยังคงเป็นเส้นหางม้า ในรูปที่ถักเป็นเปียต่อจากด้ามไม้ จะมีลักษณะช่วงแรกอ้วนแล้วยาวเรียวเล็กตรงปลาย ลักษณะเหมือนลำตัวงูยาวตลอดไปถึงหางงู
คนจีนในสมัยโบราณใช้แส้ที่ทำด้วย หางม้า มัดเข้ากับไม้สำหรับเป็นด้ามถือเพื่อปัดตัวแมลงเหลือบยุงที่มาตอม และยังใช้แทนไม้เรียวสำหรับตีวัวควายเทียมเกวียนหรือการขี่ม้า พวกนักพรตลัทธิเต๋า หรือพระสงฆ์นิกายมหายานในจีนใช้สำหรับปัดแมลงดังกล่าว ต่อมาแส้ที่ใช้ประจำตัวได้พัฒนาไปเป็นหนึ่งในอาวุธประจำกายของนักพรตและพระสงฆ์ สำหรับใช้ต่อสู้กับกระบี่ กระบอง ไม้พลองหรืออาวุธอื่นๆของคู่ต่อสู้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสำนักหรือวัดลัทธิเต๋าตลอดจนวัดพระสงฆ์ในปัจจุบันบางวัดที่มีการสอนฝึกวิทยายุทธก็ยังคงใช้อยู่ เช่น วัดเส้าหลิน มณฑลเหอหนาน สำนักบู๊ตึ๊งลัทธิเต๋าแห่งเขาอู่ตง มณฑลหูเป่ย เป็นต้น การใช้แส้ดังกล่าวใช้ทั้งที่ถักเปียและไม่ได้ถักเปีย พัฒนาการของแส้ ได้นำไปใช้เล่นลูกข่างขนาดใหญ่ แถบมณฑลเหอหนาน เพื่อการออกกำลังกายก็มี
นอกจากนี้ ในสมัยโบราณ พวกราชองครักษ์ของฮ่องเต้หรือท่านอ๋อง ใช้ฮวดโสะเปิดทางในชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน ด้วยการฟาดฮวดโสะให้มีเสียงดัง เพียะ ทำให้ผู้คนหลบหลีก เป็นการกรุยทางหรือเปิดทางให้เสด็จ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการใช้เชือกมาทำเป็นแส้แทนขนหางม้า แล้วถักเป็นเปีย มีความยาวแตกต่างกันไป ตามความต้องการของผู้ใช้ ส่วนด้ามไม้ที่ถือ แกะสลักเป็นหัวมังกรหรือหัวงูในลักษณะต่างๆ แต่ตามศาลเจ้าจีนทั่วไปในเมืองไทย ม้าทรงใช้แส้หัวมังกรกันเป็นพื้น ส่วนลัทธิเต๋าประเทศอื่นยังคงใช้แส้หัวงู
ตามลัทธิเต๋า นักพรตหรือเจ้าพิธีกรรมใช้แส้ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อขับไล่สิ่งสกปรกพวกภูตผีปีศาจวิญญาณชั่วร้าย ในบริเวณนั้นให้บริสุทธิ์ ด้วยการฟาดหรือสบัดให้มีเสียงดังเพียะๆ จากตำนานเล่าขานกันว่า แส้นี้เกิดขึ้นจากการที่เทพเจ้าจางกงเสินจวิน หรือ ฝ่าจูกง (張公聖君又稱法主公) หรือ จางซื่อกวน(พ.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๖) ผู้เป็นปรมาจารย์ในการปราบปีศาจ ด้วยการใช้ฮวดโสะปราบปีศาจงู และใช้ในการควบคุมเหล่าฝูงวิญญาณปีศาจ เป็นต้น
ดังนั้นเหล่าลูกศิษย์ของเทพเจ้าฝ่าจูกง จึงศึกษาพิธีกรรมในการปราบปีศาจวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามที่ต่างๆทั้งที่รบกวนชาวบ้าน หรือเข้าสิงชาวบ้าน กล่าวโดยทั่วไปแล้ว พิธีกรรมของเจ้าพิธีการขับไล่ผีหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆของลัทธิเต๋าเมื่อใช้ฮวดโสะในการประกอบพิธีกรรม ให้สังเกตตัวฮวดโสะว่า มีลักษณะดังต่อไปนี้หรือไม่ คือ
ประการแรก ฮวดโสะที่ใช้เป็นด้ามไม้หัวงู ตรงหัวงูมีตราสัญลักษณ์ปากั้ว หรือ ปากั้วย่าติ่ง (八卦壓頂) หรือยันต์แปดทิศ
ประการที่สอง ตรงคองูแกะสลักเป็นรูปดาวเจ็ดดวง เป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า
ชิชิงเฟิ่งโหว (七星封喉) หรือดาวหมีใหญ่
ดังนั้นฮวดโสะที่ใช้ในพิธีกรรมจึงต้องมีลักษณะดังกล่าวเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ถูกต้องตามลัทธิเต๋า แต่ถ้าไม่มีลักษณะดังกล่าว ก็ถือว่า เป็นพิธีกรรมธรรมดาโดยทั่วไป คือ ไม่มีพลังศักดิ์สิทธิ์เท่าหรือไม่ขลังนั่นเอง
ดังนั้นก่อนที่จะประกอบพิธีกรรม เจ้าพิธีกรรมที่จะใช้ฮวดโสะจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสม ดังนี้
ประการแรก การทำความสะอาดของร่างกายตน การล้างมือให้สะอาด การใช้หู้หรือยันต์เผาไฟ แล้วหมุนรอบมือของตนตลอดจนร่างกายของตน อันแสดงถึงการทำความสะอาดร่างกายอีกชั้นหนึ่ง เพื่อแสดงถึงการให้ความเคารพต่อองค์เทพเจ้า และเป็นการป้องกันการฉ้องหรือถูกของ เจ้าพิธีกรรมจึงไม่ควรละเลยในเรื่องนี้
ประการที่สอง เมื่อจะหยิบฮวดโสะ ให้แสดงความเคารพในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้จิตของเจ้าพิธีกรรมกับฮวดโสะให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วจึงหยิบเอาไปหมุนรอบควันธูปที่กระถางธูปสามครั้งโดยหมุนขวา ก่อนที่จะใช้ประกอบพิธีกรรม
ประการที่สาม เจ้าพิธีจะต้องถือฮวดโสะด้วยมือทั้งสองให้หัวงูหรือหัวมังกรหันไปทางซ้าย อย่าได้เอามือหรือสิ่งอื่นใดปิดหัวงูหรือหัวมังกรเด็ดขาด
ประการที่สี่ การฟาดแส้ฮวดโสะ ให้ใช้มือขวาจับด้ามฮวดโสะมาถือไว้ แล้วเหวี่ยงตัวแส้ฮวดโสะประมาณเศษสามส่วนสี่ ขึ้นไปในอากาศอย่างเต็มแรง กระชากลงมาอย่างรวดเร็ว จะเกิดเสียงดังเพียะ คล้ายเสียงงูเห่าสู้กับศัตรู ดังนั้นจึงไม่ควรให้ผู้หญิงมีครรภ์หรือเด็กเล็กอยู่บริเวณใกล้ๆพิธีนี้ เพราะเป็นการไล่พวกปีศาจบริเวณนั้นให้ตกใจหนีไป หรือหากคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หางฮวดโสะอาจไปพันเกี่ยวกับบุคคลใกล้ๆแล้วโดนกระชากอย่างแรง อาจเกิดอันตรายได้ จึงควรให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นอยู่ในบริเวณนั้น เพราะรู้ทางของฮวดโสะที่เจ้าพิธีฟาดไป
ประการที่ห้า ภายหลังจากฟาดแส้ฮวดโสะไปแล้ว ให้รวบตัวแส้แล้วถือฮวดโสะด้วยมือทั้งสอง ซึ่งถือว่าเป็นเสร็จพิธีกรรมครั้งที่หนึ่ง เจ้าพิธีควรแสดงคารวะต่อองค์เทพเจ้าเพื่อบอกให้ทราบว่าพิธีกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยการจับไม้ให้หัวฮวดโสะหันไปทางองค์เทพเจ้า แล้วเจ้าตัวแสดงคารวะเป็นการบอกกล่าว
ถ้าหากจัดพิธีกลางแจ้ง เจ้าพิธีหวดแส้ฮวดโสะสามครั้งแล้ว ให้ยกหัวฮวดโสะขึ้นฟ้า ส่วนตัวเชือกให้ปล่อยไว้บนพื้น แล้วม้วนจัดเก็บให้เรียบร้อย การจัดเก็บแส้ฮวดโสะ ไม่ควรวางไว้บนพื้น ใต้โต๊ะ บนเก้าอี้ ที่ที่ไม่ควรวางเมื่อถือว่าฮวดโสะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงควรวางไว้บนหิ้งพระเทพเจ้า บนโต๊ะหน้าแท่นบูชาต่อพระพักตร์องค์เทพเจ้าที่เจ้าพิธีเคารพนับถือ
ถ้าหากม้าทรงเข้าทรงเทพเจ้าองค์ใด จึงควรที่จะเก็บฮวดโสะไว้ในที่ที่เหมาะสมเช่นดียวกัน และควรจัดเก็บในรูปแบบตามภาพที่ปรากฏ ไม่ควรม้วนฮวดโสะรอบไม้หัวมังกร วัตถุสิ่งของ ตั้งแต่องค์เทพเจ้า อาวุธ ธงอ่อเหล่ง และฮวดโสะประจำองค์เทพเจ้า ม้าทรงและผู้ติดตาม จึงควรให้ความเคารพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ปฏิบัติดี ตลอดไป
ปัจจุบัน หลายจังหวัดได้จัดพิธีกินเจตามศาลเจ้าจีน มีม้าทรงเป็นจำนวนมาก เช่นที่จังหวัดภูเก็ตมีเป็นพันคน ม้าทรงเหล่านั้นจะมีเทพเข้าทรงจริงหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้รู้จะสังเกตได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ม้าทรงแต่ละคนควรศึกษาก็คือ การใช้ฮวดโสะอย่างไรให้ถูกต้องตามขนบประเพณีของลัทธิเต๋า ไม่ใช่จะใช้อย่างไรก็ได้ ม้าทรงจึงต้องฝึกการฟาดฮวดโสะเช่นเดียวกับการศึกษาพิธีกรรมอื่นๆ เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมตามลัทธิเต๋าให้คงอยู่สืบไป
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๖
******
*****
|