การทำนายด้วยเซียมซี
เซียมซี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ทำนายเสี่ยงทาย มีใช้กันอยู่ทั่วไป ตามศาลเจ้าจีนลัทธิเต๋า และศาลเจ้าพระกวนอิมโพธิสัตว์ ตลอดจนวัดพุทธศาสนาที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าหลักเมือง เพื่อให้คนได้เสี่ยงทายสอบถามเกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ โชควาสนาของตน ว่าจะดีร้ายประการใด มีโชคลาภเมื่อไร เป็นการช่วยให้คนในสังคม มีทางเลือก ทางปลอบใจ เป็นต้น
คำว่า เซียมซี มีการเรียกขานกันตามภาษาถิ่น เช่น กาวชีม ชิมถ้อง ชิมถุ้ง เฉี้ยนถง 簽筒 ฉิวเชียน ฉิ้วเชียม 求籤 คำว่า เซียมซี น่าจะมาจากคำว่า เชียมชิม ในภาษาจีน คำว่า เซียม หรือ เชียม 簽 หมายถึง ติ้ว เป็นไม้ซี่เล็กๆ สำหรับใช้แทนคะแนนในการนับ สมัยก่อนหัวหน้างานในเมืองแร่ดีบุกจะแจก เชียมซึ่งทำด้วยสังกะสีมีรูร้อย ให้กุลีเมื่อเลิกงานแต่ละป้านหรือกะหรือครึ่งวันสี่ชั่วโมง ราคาเชียม มีหนึ่งบาท ห้าบาท สิบบาท เอาไปให้ถ่อจู้แลกเป็นเงิน หรือกระดาษสลิปเงินเดือน ป้ายติดกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น
การทำนายด้วย เซียมซี มีมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น ถ้าหากศึกษาจากการทำนายด้วยกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ ด้วยการตั้งคำถามต่างๆ แล้วหาคำตอบจากลักษณะรอยที่ปรากฏ แล้วทำนาย ซึ่งมีทั้งถูกและผิด แต่เป็นการเก็บข้อมูลสถิติเพื่อทำนายครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังมีการทำนายด้วยใบไม้ การทำนายเหล่านี้ย่อมพัฒนาไปสู่การทำนายแบบ อี้จิง หรือปากั๋ว ซึ่งเข้าใจกันว่า พระเจ้าฝูซี สมัยซานหวงอู่ตี้ ทรงเป็นผู้ค้นคิด การทำนายแบบเซียมซีจึงเข้าใจกันว่าได้พัฒนามาจากการทำนายแบบ อี้จิง
เซียมซีได้มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น ระหว่างพ.ศ. ๘๐๘ ๙๖๓ ได้มีการกล่าวถึงการใช้ซี่ไม้ไผ่เขียนคำทำนาย เอาไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วสั่นให้ติ้วหล่นออกมาหนึ่งอัน เป็นคำทำนายสั้นๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่เก้า ต่อมาได้มีการบันทึกไว้ในสมัยราชวงศ์ชิงว่า สมัยห้าราชวงศ์ระหว่างพ.ศ. ๑๔๕๐ ๑๕๐๓ หลูตั๊วะฉิ้น นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือกำเนิดในช่วงปลายราชวงศ์ถัง กล่าวว่าสมัยเขายังเป็นเด็ก เขาได้ใช้ไม้ติ้วจำนวน ๔๙ อัน ใส่ในกระบอกไม้ไผ่เพื่อทำนายว่าดีหรือไม่ดี และยังได้ศึกษาเรื่องหยินและหยางอีกด้วย
ที่จังหวัดภูเก็ต มีศาลเจ้าปุดจ้อ หรือศาลเจ้าพระกวนอิมโพธิสัตว์ ที่ได้ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ห้า ต่อมาหลวงพิทักษ์เนาวบรรณ์ (เส้วจงก๊อก)ได้ริเริ่มให้มีเซียมซีขึ้น ด้วยการเจียดยาหรือขอยาจากพระกวนอิม และเซียมซีเสี่ยงทาย ใบเซียมซีทั้งสองแบบเป็นภาษาจีน ต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาไทย
เซียมซีขอยาจากพระกวนอิม แบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้ ๕ หมวด คือ
๑. หมวดยาเกี่ยวกับภายนอก คือเป็นตัวยาให้กิน ยาต้ม ยาอาบ หรือเป็นคำแนะนำให้ทำกิจกรรม หากไม่มีฉลากยาออกมา
๒. หมวดยาสำหรับบุรุษ มีจำนวนฉลากยาทั้งสิ้น ๑๐๐ หัวข้อ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ข้อ ๑๐๐
๓. หมวดยาสำหรับสตรี มีจำนวนฉลากยาทั้งสิ้น ๑๐๐ หัวข้อ ตั้งแต่ ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐๐
๔. หมวดยาสำหรับเด็ก มีฉลากยาทั้งสิ้น ๑๐๐ หัวข้อเช่นเดียวกัน
๕. หมวดยาสำหรับนัยน์ตา ปัจจุบันมีทั้งหมด ๕๓ หัวข้อ เดิมมี ๑๐๐ หัวข้อ แต่ได้สูญหายไป
นอกจากเซียมซีการขอยารักษาความเจ็บป่วยแล้ว ยังมีเซียมซีถามถึงความทุกข์ร้อนของคนถาม เช่น ไปรักษาแล้วโรคก็ยังไม่ทุเลา กินยาแล้วก็ยังไม่ทุเลา จึงต้องทำบุญแก้เคล็ดตามใบเซียมซี การขอโชคลาภ มีจำนวน ๖๐ อันหรือหัวข้อ ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
ใบเซียมซีเหล่านี้เดิมแกะเป็นบล็อกไม้เป็นภาษาจีน ต่อมาใช้พิมพ์ด้วยเครื่องจักร ข้อความในเซียมซีเป็นเรื่องนิทานหรือพงศาวดารจีนสมัยต่างๆ แล้วเอามาแปลความว่าดีหรือร้าย
นอกจากนี้ ยังมีศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง เซียมซีมี ๗๕ หัวข้อ ศาลเจ้าโจวสู่กงหรือศาลเจ้าฮกหงวนเก้ง มี ๖๐ หัวข้อพร้อมหัวข้อเจียดยาเช่นเดียวกับศาลเจ้าปุดจ้อ ศาลเจ้ามาจอโป๋ มี ๖๐ หัวข้อ ศาลเจ้าพ้อต่อกง มี ๖๐ หัวข้อ เป็นต้น ข้อความจากเซียมซี ๖๐ หัวข้อ น่าจะเป็นชุดเดียวกัน
ในปีพ.ศ. ๒๔๕๘ มีบริษัทหนึ่งนำเซียมซีไปเผยแพร่ครั้งแรกที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแบบ ๑๐๐ หัวข้อ แต่ปรากฏว่า เหลือเพียง ๗๘ หัวข้อ หรือ ๗๘ คำตอบ เรียกว่า "Chi Chi Chinese Fortune Teller" หรือ ชิชิ การทำนายโชคชะตาแบบจีน คือมีทั้งไม้ติ้วและกระดาษคำตอบ ระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๖๘ มีอีกบริษัทได้นำไปจำหน่ายในชื่อว่า "Chien Tung Fortune Teller." หรือ การทำนายด้วยเฉี้ยนถุง การทำนายด้วยเซียมซี จึงได้แพร่หลายไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เครื่องมือในการทำนายด้วย เซียมซี มีอะไรบ้าง
ประการแรกไม้ติ้ว ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้บางเป็นซีกหรือซี่ ขนาดประมาณ ๑ ถึง ๑.๕ ซ.ม. ความยาวแล้วแต่ผู้ทำ ซึ่งผันตามกระบอกที่จะใส่ ตรงส่วนหัวอาจตัดเป็นรูปกลม ตรงส่วนปลายตัดเป็นรูปแหลม ตรงหัวมักทาสีแดง จำนวนติ้วแล้วแต่กำหนด เช่น ๖๐ อัน ๗๘ อัน ๑๐๐ อัน หรือ ๑๐ อัน เสร็จแล้วส่วนที่ตัวไม้ เขียนเลขกำกับ ตั้งแต่ ๑ ๖๐ ทั้งภาษาจีนและอารบิก บางแห่งอาจเขียนข้อความสั้นๆเกี่ยวกับคำตอบไว้ด้วย
ประการที่สอง กระบอกติ้วมักทำด้วยไม้ไผ่ ทรงกระบอก กลม บางแห่งอาจทำด้วยไม้รูปทรงแจกัน รูปทรงแปดเหลี่ยม มีฝาปิด ลงรักปิดทอง หรือทาสีแดง เขียนลวดลายและข้อความคำอวยพร แต่ปัจจุบัน มักทำด้วยสแตนเลส
ประการที่สาม คำทำนาย ซึ่งคัดลอกบทกวีร้อยกรองที่ไพเราะสมัยต่างๆ หรือนำเอาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น สามก๊ก ที่ได้กล่าวถึงบุคคลนั้นๆว่า ไปไหน ทำอะไร ผลเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี สมัยโบราณคำทำนายเหล่านั้นมักเขียนไว้ที่ศาลเจ้า เพราะปัญหาเรื่องพิมพ์ คนเฝ้าศาลเจ้าจะเป็นผู้อ่านให้ฟัง ตามเลขเซียมซีที่ผู้ถามได้มา หรือบางแห่งเขียนข้อความสั้นๆไว้ที่ไม้ติ้วเลยว่าเลขนี้ดีไม่ดีอย่างไร ปัจจุบัน พิมพ์เป็นแผ่นปลิว ใส่ไว้ในช่องตามเลขหมาย บางแห่งพิมพ์คำทำนายเป็นเล่มขายควบคู่กับไม้ติ้วเป็นกล่อง ผู้ถามจึงเอาไปใช้ที่บ้านหรือที่ศาลเจ้าไหนก็ได้
ประการที่สี่ โป้ย ไม้เสี่ยงทายคู่ประกบ ซึ่งตั้งวางคู่กับกระบอกเซียมซี หรืออาจซื้อเก็บไว้เป็นส่วนตัวก็ได้
วิธีการเสี่ยงเซียมซีทำอย่างไรบ้าง
ประการแรก ผู้ที่จะถามมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรบ้างในช่วงนั้น ที่ต้องการคำตอบ แล้วผู้ถามสำรวจดูว่า ศาลเจ้าแห่งใดมีคนขึ้นมาก ไปใช้กันมาก แสดงว่า เทพเจ้าอยู่ใกล้ชิดกับคน ผลเสี่ยงทายน่าจะเป็นที่พอใจ ผู้ถามควรเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไปด้วย เช่น ผลไม้ ธูปเทียน เป็นต้น ควรทำจิตใจและร่างกายให้สะอาด และควรไปตอนเช้า ควรเตรียมคำถามไว้ในใจให้ละเอียด เมื่อไปถึงศาลเจ้า เอาของเซ่นไหว้วางไว้ตามที่กำหนด จุดธูปเทียนไหว้เทพเจ้าตามจุดต่างๆจนครบ
ประการที่สอง หยิบกระบอกเซียมซีมาถือไว้ ทำจิตให้มีสมาธิ สงบ คุกเข่าหน้าแท่นโต๊ะบูชาองค์เทพเจ้าที่ผู้ถามต้องการถามท่าน บอกชื่อแซ่ วันเดือนปีเกิด แหล่งที่อยู่ แล้วเล่ารายละเอียดทั้งหมดในใจ ถามท่านว่าดีไม่ดี ทำอย่างไร เดิน ทางไกลได้ไหม สอบบรรจุได้ไหม ค้าขายกับคนนั้นๆได้ไหม ย้ายบ้านได้ไหม เป็นต้น
ประการที่สาม เมื่อถามเสร็จแล้ว จึงสั่นกระบอกอย่างตั้งใจ ให้กระบอกเอนลงเพื่อให้ไม้ติ้วไหลออกได้ ต้องให้ไม้ติ้วไหลออกตกลงพื้นเพียงหนึ่งอันเท่านั้น ถ้าตกมากกว่าหนึ่งต้องใส่กลับแล้วสั่นกระบอกใหม่ จนกว่าจะได้เพียงหนึ่งอัน
ประการที่สี่ เมื่อได้หนึ่งอันแล้ว ผู้ถามดูเลขแล้ววางไม้ติ้วไว้ก่อน หยิบโป้ยมาถือแบบไหว้ พร้อมอธิษฐานว่า เลขที่ได้นั้น ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้โป้ยออก คว่ำอัน หงายอัน แล้วโยนโป้ย ถ้าผลออกมาว่าใช่ จึงเอาไม้ติ้วและโป้ยเก็บที่เดิม ไปหยิบคำตอบตามช่องหมายเลขที่ได้ บางคนถือเคล็ดว่า ถ้าได้เลขดีจึงจะเอากลับบ้าน ถ้าไม่ดีจะเอาไปเก็บตามช่องเดิม ในกรณีที่โยนโป้ย ครั้งแรกและผลออกมาแล้วว่าใช่ จึงไม่ต้องถามอีกถือว่าได้คำตอบแล้ว ถ้าโยนโป้ยออกมา คว่ำทั้งสองอันหรือหงายทั้งสองอัน จึงจะปัวะโป้ยใหม่
บางคนเมื่อได้สมปรารถนาแล้ว จึงมักจะไปเซ่นไหว้อีกครั้งเพื่อขอบคุณองค์เทพเจ้า การเซียมซีจึงถามถึงเรื่องในอนาคต บางครั้งผู้ถามได้รับคำตอบที่ทำให้ไม่สบายใจ คิดมากเกรงว่าจะเป็นดั่งคำทำนาย จึงปัวะโป้ยใหม่หลายๆครั้ง ก็จะได้รับคำตอบทั้งดีและไม่ดี แต่คำตอบแรกถือว่าเป็นคำตอบสุดท้าย
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๕
*****
*****
|