เรือนอั่งหม่อหลาว 红毛楼
เรือนอั่งหม่อหลาว หรือตึกฝรั่ง หรือบ้านตึกสองชั้นหรือชั้นเดียว และเป็นบ้านเดี่ยวหรือบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ เป็นบ้านของคนมีเงินที่พัฒนามาจากเรือนกว้านแล้วขยับไปเป็นอั่งหม่อหลาวหรือบ้านแบบฝรั่ง ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนยุโรปหรือในที่นี้ใช้ว่า สถาปัตยกรรมชีโน-ยูโรเปียน ( Chino - European Architecture) ที่มีอิทธิพลในการนำสถาปัตยกรรมประเทศของตนมาสู่รัฐอาณานิคม และสถาปัตยกรรมพื้นบ้านดั้งเดิมของท้องถิ่น เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นไป ทั้งเมืองภูเก็ตและเมืองปีนัง ที่มีการถ่ายทอดกันไปมา ด้วยรูปแบบแปลนของอาคาร ช่างก่อสร้าง วัสดุการก่อสร้าง ดังนั้นหากพบเห็นรูปทรงบ้านอั่งหม่อหลาวจากภาพถ่าย ไม่สามารถจะตอบได้ว่าอยู่ที่ภูเก็ตหรือเมืองปีนัง หรือเมืองอื่นๆในภูมิภาคนี้
คำว่า อั่งหม่อหลาว เป็นสำเนียงฮกเกี้ยนคำว่า อั่งหมอ จากคำว่า อั๋ง หรือ อ๋าง หรือ จีนกลางว่า หง 红 แปลว่าสีแดง คำว่า หมอ คำจีนกลางว่า หมาว 毛 แปลว่าเส้นผมหรือผม ส่วนคำว่า หลาว หรือโหลว คำจีนกลางว่า หลาว-โหลว 楼 เมื่อเอาสามคำมาประกอบ อ่านเป็นฮกเกี้ยนว่า อั่งหม่อหลาว จีนกลางว่า หงหมาวโหลว 红毛楼
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ที่มีอิทธิพลต่อรัฐในอาณานิคมเช่นประเทศโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส ด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบโรมันในตัวอาคาร ที่เป็น แบบโรมัน จำพวกเสารูปแบบต่างๆได้แก่ เสาแบบโดริก ไอโอนิก โครินเธียน และแบบคอมโพสีต ทั้งเสาแบบกลมและแบบเหลี่ยม ประกอบคิ้วบัวหรือบัวคิ้วเหนือเสาในแต่ละแบบ นอกจากเสาแล้วที่เห็นได้ชัดเจนคือ รูปโค้งแบบต่างๆ คือโค้งแบบโรมัน แบบระนาบ แบบโอจี แบบโกธิก แบบระฆัง เป็นต้น รูปโดมแบบต่างๆ นอกจากนี้ช่างยังได้นำสถาปัตยกรรมของชาติตนมาผสมผสานด้วย โดยรวมเอาสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นดั้งเดิม รวมกับสถาปัตยกรรมแบบจีน จึงปรากฏงานก่อสร้างทั้งตึกแถวและเรือนตึกฝรั่ง ที่ปรากฏเป็นจำนวนมากในตัวเมืองภูเก็ต สถาปัตยกรรมดังกล่าวยังแบ่งออกได้ในรูปแบบสมัยอีกด้วย คือ แบบสมัยเรเนสซองส์และแบบสมัยบาโรก เป็นต้น
สถาปนิกผู้ออกแบบแปลนโดยทั่วไปเป็นฝรั่งที่เจ้าของบ้านจ้างให้ออกแบบให้ หรือใช้แบบที่มีผู้สร้างไว้ก่อนแล้ว นำมาประยุกต์ใช้ตามความพอใจของเจ้าของบ้าน ว่าจะตัดเติมเสริมแต่งตรงส่วนใด จะเพิ่มรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนหรือแบบที่ตนชอบเข้าไป ลักษณะบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา ด้านหน้าตรงกลางมีมุขยื่น ตรงหน้ามุขชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่งที่ใช้จอดรถยนต์ได้เป็นระเบียงบ้าน บางบ้านมีมุขยื่นออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้าน อาจเป็นห้องนอน ส่วนชั้นบนตรงมุขอาจเป็นห้องโถงห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น บางบ้านทำเป็นเฉลียง ชั้นล่างตรงกลางเป็นห้องโถง ทำเป็นที่รับแขกมีผนังหรือชั้นตู้โชว์กั้นกลาง มีช่องเป็นประตูทั้งสองข้างเพื่อเข้าไปหลังบ้าน ด้านขวามือเป็นห้องมีชั้นวางป้ายซินจู้ ส่วนด้านซ้ายเป็นบันไดชึ้นชั้นสอง ทั้งซ้ายขวาเป็นห้องนอนข้างละห้อง หลังชั้นตู้โชว์ด้านซ้ายทำบันไดขึ้นลง ส่วนใต้ห้องมุขเป็นที่จอดรถ มีบันไดขึ้นบ้าน
ส่วนของชั้นสองปูพื้นไม้ ตรงกลางห้องเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ทำเป็นห้องนั่งเล่น ห้องหนังสือ ฯลฯ ด้านซ้ายขวาทำเป็นห้องนอนข้างละสองห้องนอน หรือแล้วแต่ความต้องการของเจ้าของบ้าน
ประตูหน้าหรือประตูใหญ่มีสองชั้น ประตูชั้นนอกบานประตูมักแกะสลักลวดลายแบบจีน บางบานมีหลายชั้นละเอียดสวยงาม แล้วลงรักปิดทอง ส่วนประตูด้านในส่วนใหญ่ไม่ได้แกะสลักและมักเป็นประตูสำหรับปิด ส่วนกลอนประตูเป็นไม้สลัก กลอนประตูมีสองชั้น ส่วนหน้าต่างตรงหน้าบ้านมีข้างละบานเคียงประตู หน้าต่างบางบ้านอาจมีช่องลม เหนือประตูขึ้นไปมีป้ายคำแล้วแต่เจ้าของบ้านจะใช้คำอะไร เช่นเป็นแซ่ หรือ ตุ้ยเหลียน คำกลอนอวยให้เจ้าบ้านอยู่เย็นเป็นสุขมีโชคลาภ ทั้งข้างบนและสองข้างประตู คำกลอนนี้อาจแกะสลักไม้ทำแบบถาวร หรือเขียนด้วยลายมือที่สวยงามและเปลี่ยนทุกปี บริเวณเสาบ้าน มุมบ้าน กรอบหน้าต่างรอบบ้านทั้งชั้นบนและชั้นล่าง มักทำลวดลายปูนปั้นแบบลอยนูน เป็นลายเถาลายไม้ดอกที่เป็นมงคล หรือลายจีน อาจมีรูปสัตว์ที่เป็นมงคลประกอบ เช่น ค้างคาว นก เป็นต้น
ส่วนห้องครัวสร้างชั้นเดียว แยกจากหลังใหญ่มีประตูตรงกลางและหลังคาเชื่อมตรงทางเดินจากบ้านใหญ่ไปครัว ส่วนสองข้างระหว่างบ้านหลังใหญ่กับห้องครัวมีกำแพงสูง เป็นบริเวณโล่งทั้งสองข้าง เรียกว่า จิ่มแจ้ อาจขุดบ่อน้ำ ซักล้าง ห้องครัวมีโพหรือเตาหุงข้าว และเครื่องใช้ในครัว เช่น ตู้กับข้าว ตู้วางถ้วยโถโอชาม โต๊ะกินข้าว มีประตูออกไปหลังบ้าน สองข้างประตูมีหน้าต่าง ส่วนส้วมสร้างไว้นอกบ้าน สมัยก่อนเป็นส้วมถังเท ในตัวเมืองเป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะเข้าไปเก็บเอาไปทิ้ง
บริเวณหน้าบ้านอาจทำเป็นวงเวียนมีสนามหญ้าอยู่กลางวงเวียน รอบบ้านปลูกต้นไม้ ผลไม้ เช่น ชมพู่ มะม่วง รั้วบ้านเป็นรั้วเหล็กฐานปูน หรือบางบ้านปลูกต้นชาหรือไผ่เล็กให้ขึ้นหนาแน่นแล้วตัดแต่งเป็นรั้ว ตรงประตูทางเข้าบ้านมีเสาโป๊ะไฟและประตูเหล็ก บางบ้านมีประตูเข้าและประตูออก
ปัญหาของเรือนอั่งหม่อหลาวในปัจจุบันคือ อาคารใหญ่โต ค่าใช้จ่ายสูง ลูกหลานแยกย้ายกันไปอยู่ต่างจังหวัดหรือออกเรือนไป การซ่อมแซมต้องใช้ทุนสูงมาก หลังคากระเบื้องกาบกล้วยดินเผามีปัญหาด้วยใช้มานาน จึงรั่วทำให้พื้นกระดานชั้นสองผุ หลายบ้านจึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนหรือกระเบื้องว่าว บ้านบางแห่งจึงต้องเสียสละบางส่วนสงวนบางส่วนไว้ หรือยุบไปสร้างหลังขนาดย่อมใหม่ด้วยรูปแบบเดิม เป็นต้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓ เมษายน ๒๕๕๗
: s.kantakian@gmail.com
****
ภาพสถาปัตยกรรมเรือนอั่งหม่อหลาว
เรือนชาวอังกฤษของ ดร.แมคคินนอน สร้างที่ปีนังรูปแบบใกล้เคียง
กับเรือนของฟรานซิส ไลต์ ที่บ้านท่าเรือเมืองถลาง สมัยท้าวเทพกระษัตรี
ให้สังเกตรูปทรงเรือนหลังเล็กด้านขวามือ
(Ian Morson(1993) : A Short Account of Francis Light)
เรือนพระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ที่บ้านท่าเรือ
***********************
เรือนอั่งหม่อหลาวบนเกาะปีนัง มาเลเซีย
rev. 14/12/2014
enl. 25/05/2017
|