ศาลเจ้ากวนอูนาบอน
ศาลเจ้ากวนอู บ้านนาบอน ตั้งอยู่ ที่บ้านนาบอน ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก เลขที่ ๖๔/๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายทนง องค์สันติภาพ ( ๑๘ พ.ค. ๒๕๕๐ ) ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันศาลเจ้ามีเนื้อที่ดินหลายแปลง คือ ที่ดินแปลงที่หนึ่ง ๑ ไร่ ๓ งาน ๐๘ ตารางวา แปลงที่สอง ๓ งานเศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าขณะนี้ แปลงที่สาม ๖ ไร่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา แปลงที่สี่เป็นสวนสาธารณะ ๕ ไร่ ๑ งาน ๘๔ ตารางวา แต่ด้วยเหตุที่เทพกวนอูและเจ้าที่ดินต้องการสถิตที่ตั้งดั้งเดิมของศาลเจ้า คณะกรรมการศาลเจ้าจึงไม่สามารถขยับขยายศาลเจ้าไปยังที่ที่กว้างขวางกว่าได้ ที่ดินศาลเจ้าในปัจจุบันเดิมเป็นที่ดินของแปะเจียมผี่ ทรงคุณ ( แซ่อึ๋ง ) ต่อมาได้แบ่งให้โกนุ้ย แล้วโกนุ้ยจึงขายให้ศาลเจ้า
ศาลเจ้ากวนอู บ้านนาบอนตั้งมากว่าร้อยปีแล้วประมาณพ.ศ. ๒๔๒๘ เริ่มจากคนจีนเข้ามาอาศัยในเมืองภูเก็ตด้วยการทำงานเป็นกรรมกรเหมืองดีบุก บ้านนาบอนจึงเป็นแหล่งหนึ่งที่มีชาวจีนอาศัยพักพิงจนบางคนเปลี่ยนอาชีพ เป็นทำสวนผักสวนมะพร้าวเป็นพื้น ชาวจีนกลุ่มนี้ได้เคารพนับถือเทพเจ้ากวนอูมาแต่เดิมจากเมืองจีน จึงก่อสร้างศาลเจ้ามุงหลังคาจากกั้นจากหลังเล็กๆขึ้นก่อน เช่นเดียวกับที่อื่นๆ เพราะวัสดุเหล่านี้หาง่าย ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสี แล้วได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องลูกฟูก ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ขยายพัฒนาอีกดังที่ได้ปรากฏใน พ.ศ. ๒๕๕๐
คณะกรรมการศาลเจ้าซึ่งมีนายทนง องค์สันติภาพ ผู้เป็นประธานกรรมการศาลเจ้ากำลังวางแผนที่จะก่อสร้างศาลเจ้า ขึ้นใหม่ให้สวยงาม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชาของชาวนาบอน ตำบลฉลอง และของภูเก็ตต่อไป
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลกินผัก ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการศาลเจ้าจึงได้ถามพระที่เข้าทรงว่า ทางศาลเจ้าขออนุญาตสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ได้หรือไม่ เทพที่เข้าทรงอนุญาตให้สร้างอาคารหลังใหม่แทนหลังเก่า ดังนั้นจึงได้ฤกษ์ยกเสาเอกอาคารศาลเจ้าหลังใหม่เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓ ใช้งบประมาณ ๓๐ ล้านบาท นอกจากนี้ทางคณะกรรมการได้ร่วมมือกับผู้มีจิตศรัทธาทำรูปแกะสลักไม้หอมท่อนเดียวขององค์เทพกวนอู ขนาดสูง ๒.๓๗ เมตร พร้อมกับองครักษ์ทั้งสองคือ เทพจูฉ้องและเทพกวนเป๋ง ด้วยงบประมาณ ๓ ล้านบาท โดยให้ช่างจีนที่มณฑลฮกเกี้ยนเป็นผู้แกะสลัก
ศาลเจ้าใช้เวลาก่อสร้างสามปีจึงเสร็จสมบูรณ์ และประกอบพิธีเปิดศาลเจ้ากวนอูนาบอน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นปีมะเส็ง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ข้างไทย และตรงกับวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จีน ปีหมิ่นก๊กที่ ๑๐๒ โดยมีนายชวลิต ลีฬหาวงศ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๘ เป็นประธานในพิธี เปิดศาลเจ้ากวนอู บ้านนาบอน อย่างเป็นทางการ และมี พล.ต.ต.โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ผู้นำชุมชนคณะกรรมการศาลเจ้ากวนอู และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมในพิธีเปิดศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก
รูปทรงอาคารได้รับการออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนภาคใต้ คือมีการประดับตกแต่งแบบประติมากรรมปูนปั้นลอยนูนบนหลังคา เสาและภายในอาคารรวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังแบบจีนทั้งหมด โดยยึดถือคติความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณีจีนมาแต่โบราณ ตัวอาคารถมดินยกระดับ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาหล่อปูนมุงด้วยกระเบื้องกาบ ภายในโปร่งมีแสงสว่างลอดเข้าไปได้ตามลูกกรง เป็นอาคารสามคูหามีบันไดขึ้นทั้งสามคูหาหรือเรียกว่า สามตำหนัก หน้าอาคารใหญ่มีอาคารมุขสำหรับวางโต๊ะบูชาทีกงและกระถางธูปขนาดใหญ่ ข้างหน้าอาคารมีฐานเสาโกเต้ง ที่เผากระดาษทอง ด้านข้างมีศาลเล่าฉ่ายอิ้ว อาคารไม่มีประตูหลัง ห้องน้ำห้องเก็บของอยู่ด้านหลังห่างออกไปเป็นเอกเทศ และอาคารโรงเจ อาคารต่างๆจึงแยกเป็นสัดส่วนลงตัว ถึงแม้หน้าศาลเจ้าจะใกล้ถนนก็ตาม
ภายในอาคารแบ่งเป็นสามตำหนัก คือ ตำหนักกลางเป็นตำหนักของกิวอ๋องไต่เต่ หรือจิ่วหวงต้าตี้ ตำหนักด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าเข้าหาศาลเจ้าเป็นตำหนักของเทพกวนอู ส่วนตำหนักด้านขวามือเป็นตำหนักของพระกวนอิมโพธิสัตว์
การประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นแบบลอยนูน จิตรกรรมตั้งแต่หลังคา รอบอาคาร การให้สีที่ตัดกันลงตัวกลมกลืนไม่ฉูดฉาด ดูแล้วเย็นตาเพลิดเพลิน มองไปด้านไหนพบแต่สิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น นั่นก็คือ คำให้พร ตั้งแต่หลังคาลงมารอบอาคารรวมถึงภายในอาคาร
ศาลเจ้าเทพกวนอูนาบอน จึงเหมาะที่คู่บ่าวสาวไปขอพร หรือชนทั่วไปต้องการมีโชคมีลาภก็น่าจะไปสักการะขอในสิ่งที่พึงประสงค์
ขอกล่าวเพียงสังเขปเรื่องคำอวยพร เริ่มแต่หลังคา มังกรคู่กำลังเล่นกับไข่มุกเปลวเพลิง หน้าจั่วทั้งสองด้านมีรูปฮกลกซิ่ว หมายถึง ให้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองและให้อายุยืน รูปเหรียญคู๋รอบอาคารหมายถึง ให้ประสบผลสำเร็จ หน้าจั่วอาคารหน้ามีรูปพระปู้ไต้หลัวหันหรือพระสังกัจจายน์ เสาอาคารใหญ่ด้านหน้ามีแปดเสามีบัวหัวเสาพร้อมมังกรพันเสา น่าจะหมายถึง มหาสมบัติแปดประการ ตรงช่องลมด้านหน้ามีเหรียญคู่มีตัวอักษรสี่ตัวบนเหรียญเป็นคำให้พร ด้านในเหนือประตูกลางมีรูปหงส์คู่มังกร รูปอักษรฟุล้อมด้วยค้างคาวสี่ตัว ฟุหมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ค้างคาวหมายถึงมีโชคลาภมีความสุข ค้างคาวสี่ตัวหมายถึง พรสี่ประการ ค้างคาวคาบผลท้อวิเศษคือให้มีอายุยืน กวางคู่หมายถึง ให้ทั้งคู่มีอายุยืน ร่ำรวย นกกระเรียนคู่ หมายถึงให้ทั้งคู๋มีอายุยืน นกกระเรียนหลายตัวหมายถึงพาหนะพาวิญญาณไปสู่สวรรค์และเป็นพาหนะของเซียน เหรียญคู่ด้านในแต่ละเหรียญมีอักษรสี่ตัวเป็นคำพรเช่น ให้พรห้าประการ ช่องหน้าต่างด้านข้างๆละสี่ช่องเป็นรูปวงกลมมีอักษรคำพรทำเป็นซี่กรง หน้าต่างวงกลมด้านหน้ามีสี่ช่องเช่นกัน ด้านซ้ายสุดเป็นรูปเสือขาวหมายถึงตะวันตก ขวาสุดรูปมังกรเขียวหมายถึงตะวันออก ส่วนสองช่องกลางซี่กรงเป็นรูปปั้นไม้ไผ่หกท่อนหมายถึงไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากโลกคือวงกลม รูปปลาคาร์ปและรูปปลา หมายถึง มีพละกำลังแข็งแรง เด็กจับปลาหมายถึงมีอายุเพิ่มขึ้น ปลาคาร์ปห้าตัวในสระหมายถึงให้ได้พรห้าประการ เหล่านี้คือรูปภาพที่มีความหมายซ่อนอยู่ ตามความเชื่อของชาวจีน
ในส่วนจิตรกรรม ตำหนักเทพกวนอู มีภาพเรื่องราวของท่านกวนอู ตามขื่อมีภาพจิตรกรรมรูปเรือสำเภา รูปปลาเป็นฝูง เหนือเทพซุนอู้กง มีภาพท่านประกอบ ภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับภูเขาและต้นสนสองใบไซเปรส หมายถึงความมีอายุยืน ภาพจิตรกรรมหลายเถาเครือ ลายจีน ประกอบเป็นช่วงๆ
ตำหนักกลาง เป็นตำหนักของกิวอ๋องไต่เต่ หรือ จิ่วหวงต้าตี้ 九皇大帝 เป็นห้องเพื่อเทิดพระเกียรติบรรพชนชาวจีนในอดีตกาลที่เรียกขานกันว่า ซานหวงอู่ตี้ 三皇五帝 หรือ สามพระมหากษัตริย์ห้าพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นต้นแซ่ต่างๆของชาวจีน ผู้คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆเป็นต้น ที่บรรพชนได้สั่งสอนสืบเนื่องมาเป็นพันๆปี ทางศาลเจ้าได้ประดิษฐานเทพเจ้าทั้งเก้าพระองค์ไว้ที่แท่นบูชา เพื่อให้คนไทยเชื้อสายจีน ได้ระลึกถึงบรรพชนผู้ยิ่งใหญ่ของพวกตน ด้านหลังเป็นรูปปั้นลอยนูนรูปพญามังกรถือพู่กันกรงเล็บขวา ส่วนกรงเล็บซ้ายถือกล่องสัญลักษณ์อักษรอ๋อง มีมังกรองครักษ์
ตำหนักเทพกวนอู ประกอบด้วยเทพกวนอูและองครักษ์ทั้งสอง ที่แกะสลักด้วยไม้หอมสูงสองเมตรเศษ องค์เทพถือหนังสืออีกมือถือหนวกเครา ส่วนง้าวก่าโตวางไว้ด้านซ้ายมือขององค์ประธาน ด้านหน้ามีเทวรูปอื่นๆอีกหลายองค์ เหนือเพดานตามขื่อมีภาพเรื่องราวเกี่ยวกับเทพกวนอูเป็นภาพเล้กๆ ส่วนภาพใหญ่ถือง้าวขี่ม้าออกศึก ด้านหลัง มีเก๋งแกะสลักสวยงามประดิษฐานองค์เทพขนาดเล็ก
ด้านข้างของตำหนักเทพกวนอู มีโต๊ะรูปฮ้อเอี๋ยเจียงกุนและโต๊ะรูปเตียวเทียนซื่อ ด้านถัดเข้าไปข้างใน ก่อบัวรอบจอมปลวกที่มีอยู่แต่เดิม
ตำหนักด้านขวามือ มีพระกวนอิมโพธิสัตว์พันกรเป็นองค์ประธาน มีพระส่ามปอฮุดโจ้วทั้งสามองค์ มีเทพมาจอโป๋ มีองครักษ์ เทพเต่จงอ๋อง พระเฉ่งจุ้ยโจวซือ
ห้องนี้ยังซอยออกเป็นห้องขวาสุดเป็นตำหนักขององค์เทพเจ้าซุนอู้กงหรือไต่เส่งปุดจ้อหรือเฮ่งเจีย เหนือเพดานมีจิตรกรรมเกี่ยวกับท่าน
ประตูทั้งสามตำหนักมีบานประตูหกบาน เป็นรูปแกะสลักแบบลอยนูนทั้งหกบานเป็นรูปนายพลฮู้เว่ยเจียงกุน เป็นรูปเทพทวารบาลที่สวยงามสง่าทุกองค์ เหนือประตูทั้งสามช่องมีป้ายสำนักทั้งสาม
อาคารหลังเล็กด้านทิศใต้ เป็น ศาลเจ้าเล่าฉ่ายอิ้ว สำหรับประดิษฐานป้ายวิญญาณหรือซินจู้ของผู้อุปการคุณ ผู้มีบุญคุณต่อศาลเจ้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดศาลเจ้า เช่น เจ้าของโฉนดที่ดินเดิม ผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมากสร้างศาลเจ้า เป็นต้น เป็นรูปเก๋งจีนทึบสามด้าน หลังคารูปมุกเปลวเพลิง หน้าจั่วเป็นรูปดอกบัว ผนังด้านทิศเหนือเป็นรูปผู้เฒ่าคุยกับขุนนาง มีเด็กหนุ่มถือผลท้อ ผนังด้านหลังเป็นรูปนกกระเรียนเก้าตัวหมายถึงผู้นำวิญญาณสู่สวรรค์ อีกด้านเป็นรูปผู้เฒ่า มีผลท้อ หมายถึงให้อายุยืน มีค้างคาวห้าตัวหมายถึงให้ได้พรห้าประการ มีเด็กห้าคน คือลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองและอายุยืน พื้นหน้าอาคารมีรูปปลาคาร์บในสระห้าตัว คือให้ได้พรห้าประการมีความเจริญงอกงาม ผนังด้านในมีอักษรฟุหรือฮก ให้มั่งคั่งร่ำรวย มีรูปค้างคาวสี่ตัวห้อยหัวสองเงยหน้าสองตัว หมายถึงโชคลาภกำลังมาสู่โดยไว ผนังอีกสองด้านมีรูปมังกรคู่กับหงส์ให้ทั้งคู่สามีภรรยาอายุยืน
สรุปแล้ว ศาลเจ้ากวนอูบ้านนาบอน เป็นศาลเจ้าที่เหมาะที่จะไปสักการะเซ่นไหว้ขอพรในสิ่งที่ตนต้องประสงค์ เหมาะที่คู่บ่าวสาวไปขอพรให้ชีวิตคู่ยืนยาวร่ำรวยมั่งคั่ง ขอพรให้ประสบความสำเร็จในการสอบเรียน สอบเข้าทำงาน ให้มีหน้าที่ตำแหน่งการงานสูงขึ้น ธุรกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น
*********
ภาพอาคารเก่า
********
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗
s.kantakian@gmail.com
*****
ซอยศาลเจ้ากวนอู ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก
|