พระพิไสยสรรพกิจ (ม้าส่าย ตัณฑวณิช)
พระพิไสยสรรพกิจ ( ม้าส่าย ตัณฑวณิช )
พระพิไสยสรรพกิจ ( ม้าส่าย ตัณฑวณิช ) เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน ดังราชทินนามของท่านที่ว่า พิไสยสรรพกิจ ซึ่งแสดงถึงท่านมีส่วนช่วยเหลือเกื้อหนุนทั้งการงานอาชีพและประชาชนชาวภูเก็ต
พระพิไสยสรรพกิจ นามเดิมของท่านคือ ม้าส่าย แซ่ตัน เรียกแบบจีนว่า ตันม้าส่าย เป็นบุตรบุญธรรมของ หลวงบำรุงจีนประเทศ ( เหนี่ยวหยี่ ตัณฑวณิช หรือ ตันเหนี่ยวหยี่ หรือตันอุ่ยหยี่ ) ตันม้าส่ายถือกำเนิดที่เมืองอามอยหรือเอ้หมึงหรือเซี่ยเหมิน ประเทศจีน เป็นบุตรของพี่สาวตันเหนี่ยวหยี่ ตันเหนี่ยวหยี่ได้ขอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่เล็ก
ด้วยเหตุที่เมืองจีนเกิดทุกขภัยความยากจนและการเมืองวุ่นวาย ตันเหนี่ยวหยี่กับตันม้าส่ายบุตรชาย จึงตัดสินใจลงเรือสำเภาเดินทางไปตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกมาพักอยู่ที่เกาะปีนังก่อน ได้ทำมาค้าขายสองคนพ่อลูก จนมีเงินทองและเป็นคนในบังคับอังกฤษ ประกอบกับขณะนั้นเมืองทุ่งคาในเกาะภูเก็ต กำลังทำเหมืองแร่ดีบุกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีกุลีจีนจำนวนมาก มีคนจีนร่วมลงทุนหาแร่ดีบุก เป็นรายได้ที่ดีมาก
ดังนั้นตันเหนี่ยวหยี่จึงเดินทางมาภูเก็ต ได้นำตันม้าส่ายมาด้วย แล้วก่อร่างสร้างตัวทำเหมืองแร่หุ้นส่วนกับตันหงิมจ้าว ภายหลังได้แยกออกมาทำกิจการเป็นของตนเอง จนเจริญก้าวหน้า เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวเมืองทุ่งคา ตันเหนี่ยวหยี่จึงสร้างครอบครัวใหม่ที่ภูเก็ต มีบุตรด้วยกันหลายคน คือ ตันม้าจุ้น ตันม้าสุ่น ตันม้าฮก ตันม้าเข่ง ตันม้าเสียง ตันม้าขุ้น และ ตันม้าหลวน นอกจากกิจการของตนเองแล้ว ตันเหนี่ยวหยี่กับตันม้าส่ายต่างก็ได้ช่วยเหลือทางราชการมิได้ขาดตกบกพร่อง จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวง คือ หลวงบำรุงจีนประเทศ ส่วนตันม้าส่ายต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ พระ เป็น พระพิไสยสรรพกิจ
ข้างตันม้าส่ายเมื่อช่วยบิดาได้ระยะหนึ่งจนครอบครัวมีฐานะแล้ว ตนจึงออกมาทำกิจการส่วนตัวด้วยความสนับสนุนของบิดา ส่วนบุตรหัวปีภรรยาเมืองจีนของตันเหนี่ยวหยี่ คือตันม้าจ่ายอยู่เมืองเอ้หมึงตลอดชีวิต
ตันเหนี่ยวหยี่บิดาของตันม้าส่าย มีความรอบรู้ในเรื่องการจัดเก็บภาษีและตัวเลขตลอดจนภาษาจีน จึงได้รับราชการอีกทางหนึ่ง คือ จากเอกสารรายงานผลประโยชน์เมืองภูเก็ตของข้าหลวงใหญ่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เกี่ยวกับภาษีที่รัฐบาลผูกขาด ๗ ชนิด มีกรมการไทยเป็นผู้ดูแล และตั้งคนจีนที่มีความรู้เป็นผู้ช่วย ภาษีดังกล่าวได้แก่ ดีบุก ฝิ่น โรงต้มฝิ่น ในการนี้รัฐบาลได้แต่งตั้ง ตันเหนี่ยวหยี่ ซึ่งเป็นที่หลวงบำรุงจีนประเทศ เป็นหลงจู๊ ทำการเก็บภาษีร้อยชัก ๓ให้กับรัฐบาล
พระพิไสยสรรพกิจ พร้อมด้วยน้องชายคือ หลวงพิทักษ์ชินประชา ได้ทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อขอพระราชทานนามสกุล จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ตัณฑะวณิช เป็นภาษาโรมันว่า TANDAVANIJA เป็นลำดับที่ ๓๒๑๔ ให้แก่ พระพิไสยสรรพกิจ ( ตันม้าส่าย)พี่ และ หลวงพิทักษ์ชินประชา ( ตันม้าเสียง ) น้อง กรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ต แซ่ตัน เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ( 27/6/16 = ๒๗ มิถุนายน ๒๔๕๙)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสเมืองภูเก็ต ได้ประทับที่ตำบลสามกอง ในโอกาสนี้เหล่าบรรดาพ่อค้าในเมืองภูเก็ตได้จัดพระกระยาหารเลี้ยงรับรองขึ้น ที่สนามหน้าสถานีตำรวจภูธร ได้พระราชทานสนามนั้นว่า สนามชัยชุมพล มีบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝรั่ง คนจีน ที่ทำมาหากินในภูเก็ตต่างเฝ้ารับเสด็จ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้กล่าวนำถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ทรงกล่าวนำถวายพระพรสมเด็จพระศรีพัชรินทรทรา พระบรมราชินีนาถ มิสเตอร์เอ็ดเวิร์ด โทมัส ไมลส์ ได้กล่าวถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช(รัชกาลที่๖) ส่วนพระพิไสยสรรพกิจ (ตันม้าส่าย) กรมการพิเศษ ได้กล่าวถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช(รัชกาลที่๖) ในนามของพ่อค้าและคนจีนที่ทำมาหากินในภูเก็ต ทรงกล่าวตอบ
เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ต้องการขยายถนน ระหว่างวงเวียนสุริยเดชไปยังถนนประดิพัทธ์ แต่ที่ดินหลายตอนมีเจ้าของ โดยเฉพาะผ่านที่ดินหน้าบ้านพระพิไสยสรรพกิจ และท่านอื่นๆ ฝ่ายพระพิไสยสรรพกิจได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเมือง จึงได้มอบที่ดินส่วนหนึ่งที่หน้าบ้านเพื่อทำถนน ตัดผ่านที่ดินของตน เมื่อถนนตัดผ่าน กลายเป็นที่ดินข้างถนนสองแปลง คือที่บ้านอยู่อาศัยแปลงหนึ่ง กับส่วนที่ดินตรงกันข้ามกับบ้านของตนอีกแปลงหนึ่ง
เพื่อความเจริญก้าวหน้าของเมืองทุ่งคา พระพิไสยสรรพกิจจึงได้มอบที่ดินฝั่งตรงข้ามบ้านให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เพื่อจัดทำเป็นบ่านส้านหรือตลาดสดสาธารณะ ปรากฏมาจนทุกวันนี้ และถนนสายนั้นชื่อว่า ถนนระนอง
นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างเรือรบสำหรับกองทัพไทยอีกด้วย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จไปตรวจราชการแหลมมลายู จากจดหมายเหตุตอนหนึ่งเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๖) กล่าวว่า
...บ่าย ๔.๓๐ ออกจากบ้านไปดูเหมืองดีบุก ๔.๔๕ ถึงเหมือง พระพิไสยสรรพกิจเจ้าของเหมือง ซึ่งมาพาไปแต่บ้านนั้นต้อนรับพาดู แร่วันนี้ทำได้ ๙ ถังไม้ที่เจ๊กหาบน้ำ ยกดูถังหนึ่งเกือบไม่ขึ้น เจ๊กทำ ๙๐๐ คนหนึ่ง ๒๐ เหรียญ ดูพักหนึ่งแล้วเขาเลี้ยงน้ำชา แล้วเขาพาไปดูสูบไฟเปนเครื่องลากมี ๒ เครื่อง สำหรับสูบน้ำออก แล้วมาขึ้นรถกลับมาบ้านเจ้าของ ซึ่งอยู่ริมเหมือง ดูเขาถลุงแร่ เวลาย่ำค่ำ ๑๕ ลาเขากลับมา...
พระพิไสยสรรพกิจ มีบุตรหลายคน คือ ตันอยู่ป่า ตันอยู่เฉี่ยว ตันอยู่ถ่อ ตันอยู่หลิน ตันอยู่ก้าว ตันอยู่จั๋ว และตันอยู่โห ส่วนธิดาได้แก่ ตันส่วนหงิ้ม ตันส่วนเจี้ยม ตันส่วนเฮ็ว ตันส่วนลุ่ย ตันส่วนลิ่ว และตันส่วนเจ็ว
พระพิไสยสรรพกิจ (ตันม้าส่าย) จึงเป็นบุคคลที่ได้ช่วยพัฒนาเมืองทุ่งคาหรือภูเก็ต ให้เจริญทางเศรษฐกิจ เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญอีกท่านหนึ่ง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖
******
|