ภูเก็ต : การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาเมือง

ภูเก็ต : การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาเมือง
ประวัติศาสตร์ของภูเก็ตได้ถูกบันทึกไว้ด้วยเรื่องราว ของคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ยังผลให้ศิลปวัฒนธรรมของเมือง มีการผสมผสานกันระหว่างไทย จีน และยุโรป กลุ่มอาคารเก่าแก่ใจกลางเมืองภูเก็ต เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ถึงความงดงามทางสถาปัตยกรรมตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งมีคุณค่าอันเป็นเอกสิทธิ์ของเมือง แบบอย่างนี้สืบเนื่องมาจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างภูเก็ตและปีนัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ในสมัยนั้น การค้าขายติดต่อและความใกล้ชิดของวงศ์ญาติระหว่างภูเก็ตกับปีนัง มีมากกว่ากรุงเทพฯ จากความสัมพันธ์นี้ จึงได้เกิดการนำเอาแบบอย่างของสถาปัตยกรรม สถาปนิก ช่างก่อสร้าง ช่างฝีมือ และวัสดุก่อสร้างจากปีนังมาสร้างที่ภูเก็ต อาคารเหล่านี้มีทั้ง สถานที่ราชการ อาคารบ้านพักอาศัย และตึกแถวซึ่งใช้ประโยชน์ทั้งในด้านทำการค้าขายและอยู่อาศัย อันเป็นธรรมเนียมของชาวจีนที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกในภูเก็ตและที่อื่นๆ
สถาปัตยกรรมเหล่านั้น สร้างขึ้นในราวปลายศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นศตวรรษที่๑๙ อิทธิพลสำคัญที่มีต่อแบบอย่างการก่อสร้าง ได้แก่ อิทธิพลสถาปัตยกรรมจีน สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมยุโรป และสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย ยุโรป ลักษณะเหล่านี้ ถ่ายทอดผสมผสานกันอย่างสอดคล้อง มาเป็นอาคารที่มีความงดงามด้วยลักษณะและความประณีตในการก่อสร้าง ตัวอย่างของอาคารเก่าแก่เหล่านี้ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ อาคารชาร์เตอร์ ที่ทำการบริษัทการบินไทย บ้านพักอาศัยของเอกชนหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่มตึกบริเวณแถวถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนกระบี่ ถนนระนอง ถนนเยาวราช และที่อื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่เสริมสร้างบรรยากาศของเมือง เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว ที่ได้มาพบเห็นสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของภูเก็ต นอกเหนือไปจากความงดงามของภูมิประเทศ นับได้ว่าเกาะภูเก็ตเป็นไข่มุกเม็ดงามของภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆของเมือง ได้แก่ ปัญหาด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยการเจริญเติบโตของเมือง และเวลาที่ผ่านไป เป็นผลให้อาคารเก่าแก่เหล่านี้ มีสภาพทรุดโทรมลง มีบางส่วนที่ได้รับการดูแลรักษา แต่บางอาคาร โดยเฉพาะกลุ่มตึกแถวร้านค้าบริเวณถนนถลาง ถนนพังงา ถนนเยาวราช ได้เปลี่ยนสภาพเก่าแก่ลง นับวันแต่จะถูกดัดแปลงแก้ไข และทดแทนด้วยอาคารสมัยใหม่อย่างมีการใคร่ครวญน้อยเกินไป ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจการค้าที่เป็นปัญหาใหญ่ นับเป็นการขัดแย้งกันระหว่างการพัฒนาทางธุรกิจ และการรักษาเอกลักษณ์ของเมืองให้คงสภาพเดิมไว้ อีกทั้งการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลทำให้ภูเก็ต ต้องเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง ไปเป็นเมืองท่องเที่ยวสมบูรณ์แบบนั้น อาจมีผลโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ที่จะทำให้เมืองมีการขยายตัว และมีการรื้อทำลาย เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ จึงควรมีการวางแนวทางในการอนุรักษ์อาคารเก่าเหล่านี้ เพื่อเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของภูเก็ต และในขณะเดียวกัน การอนุรักษ์จะดำเนินไปได้ ถ้าสามารถเสริมสร้าง ให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ให้อาคารร้านค้าเก่าแก่บริเวณย่านการค้าใจกลางเมืองนี้ เป็นย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญ และมีความก้าวหน้ามั่นคงขึ้น โดยใช้ความงดงามและบรรยากาศของตัวเมืองเก่า เป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดให้มีกิจกรรมทางด้านการค้า ดังตัวอย่างที่เราสามารถพบเห็น ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยของเราเอง
การวางนโยบายและมาตรการในการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่เหล่านี้ ควรจัดแบ่งกลุ่มอาคารออกตามลำดับความสำคัญของการประเมินผล ทางด้านคุณค่าทางสถาปัตยกรรม อายุ ประโยชน์ใช้สอย และที่ตั้ง เพื่อจัดวางมาตรการในการดำเนินการวางแผนอนุรักษ์ ได้อย่างเหมาะสม เป็นการรักษาทั้งตัวอาคาร กลุ่มอาคาร สภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ชุมชน คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และส่งเสริมสภาพสังคม เศรษฐกิจของท้องถิ่น ตามความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจการค้าของเมือง อันจะทำให้โครงการอนุรักษ์อาคารเหล่านี้มีความเป็นไปได้ ในการปฏิบัติ
สำหรับจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายควบคุม ให้ทำการอนุรักษ์อาคารที่เป็นของเอกชนที่กำลังดำเนินธุรกิจ เช่น ตึกแถวใจกลางเมืองภูเก็ต โดยเหตุผลที่ว่า อาคารเหล่านี้มิได้เป็นโบราณสถานหรือสาธารณสมบัติ ที่มีคุณค่าสูงสุดในระดับที่๑ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ การตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์ และเป็นที่ปรึกษาในการออกเทศบัญญัติส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันจัดหางบประมาณ และวางนโยบายส่งเสริมพัฒนาด้านการค้า เพื่อให้สามารถนำผลกำไรกลับมาตอบแทนแก่เจ้าของอาคาร ซึ่งได้ลงทุนใช้จ่ายเงินในการซ่อมแซม และดูแลรักษาอาคารของตน ตามแผนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมนี้
หลักเกณฑ์ในการอนุรักษ์อาคาร ควรคำนึงถึง
๑. ความสำคัญของการใช้ที่ดิน ของบริเวณที่ทำการอนุรักษ์ การเก็บรักษาอาคาร กลุ่มอาคาร สภาพแวดล้อม และทัศนียภาพของเมือง
๒. การจัดระบบการจราจร และทางเดินเท้า
๓. การจัดหาผลประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมให้กับอาคาร ได้แก่ จกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว และส่งเสริมบรรยากาศให้กับเมือง เช่น อาคารสำนักงาน ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายหนังสือ บริษัทนำเที่ยว
๔. เทคนิคในการซ่อมแซมบูรณะอาคารตามหลักของสถาปัตยกรรม และการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จำเป็นจะทำการก่อสร้าง ในกลุ่มของอาคารเก่าเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการควบคุมการออกแบบ โดยคำนึงถึง ความกลมกลืนของรูปแบบและส่วนประกอบของอาคาร สี วัสดุก่อสร้าง ความสูงและสัดส่วนของอาคาร
๕. การชักจูงให้ประชาชนให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์
งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาเมือง เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย องค์การใดองค์การหนึ่งไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ จำเป็นที่รัฐและเอกชนจะต้องตั้งมาตรฐาน ความเข้าใจในคุณค่าของสถาปัตยกรรม และความจำเป็นทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป การออกประกาศให้ประชาชนรับทราบ และร่วมมือในการดำเนินงาน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการที่จะดำเนินการ ให้ลุล่วงไปตามโครงการอนุรักษ์นี้ได้
ทั้งนี้เห็นสมควร ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเมืองภูเก็ตขึ้น โดยประกอบด้วย กรรมการซึ่งมาจากภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อประสานงานกัน และเป็นคณะที่ปรึกษาในการจัดหางบประมาณ ออกกฎหมายส่วนท้องถิ่น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เพื่อให้เจ้าของอาคารมีความตื่นตัวและตระหนักในคุณค่าของอาคารเหล่านี้ อันจะทำให้เกิดการปฏิบัติให้ลุล่วงไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อที่ภูเก็ตจะได้คงความเป็นเอกลักษณ์ สามารถรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้เป็นคู่บ้านคู่เมืองต่อไปในอนาคต
****
คัดลอกจากแผ่นพับ :
โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาเมืองภูเก็ต
โดยความร่วมมือของ
จังหวัดภูเก็ต
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
*****
|