พระพุทธบาทจำลอง วัดโฆษิตวิหาร
พระพุทธบาทจำลอง
พระพุทธบาทเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ชาวพุทธทั่วโลกให้ความเคารพเสมือนเป็นตัวแทนพระพุทธองค์ เพื่อระลึกถึงพระองค์ผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา
พระพุทธบาทหมายถึงฝ่าพระบาทหรือฝ่าเท้าของพระพุทธเจ้า โดยทั่วไปมีสองแบบ คือ แบบที่ปรากฏอยู่บนแผ่นหินมาแต่โบราณ กับแบบที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเลียนแบบ อาจเป็นพระบาทข้างเดียวหรือสองข้าง ได้มีผู้ศึกษาเรื่องพระพุทธบาท เป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ โมโตจิ นิวา เขาได้ศึกษาในประเทศต่างๆในเอเชีย พบว่ามีพระพุทธบาทกว่า ๓๐๐๐ พระบาท และที่ประเทศญี่ปุ่นมีกว่า ๓๐๐ พระบาท ที่ประเทศศรีลังกามีกว่า ๑๐๐๐ พระบาท ซึ่งในแต่ละชิ้นจะมีรูปลายลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่ฝ่าพระบาทแตกต่างกันไป คือมี ๓๒ ลายลักษณ์ มี ๑๐๘ ลายลักษณ์ หรือมี ๑๓๒ ลายลักษณ์
ตามตำนานพระพุทธบาทกล่าวว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จด้วยการเหาะมาที่ประเทศศรีลังกา แล้วทรงประทับพระบาทไว้ที่ยอดเขาศรีพาดาหรือศรีพระบาท หรือยอดเขาอาดัม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศรีลังกาที่จะรับพระธรรมไว้สอนตลอดไป นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังได้ประทับพระบาทไว้ตามประเทศต่างๆเพื่อรับคำสอนของพระองค์ เช่นในประเทศไทยพระองค์ได้ทรงประทับพระบาทไว้ที่พื้นหินจังหวัดสระบุรี ซึ่งต่อมาได้สร้างมณฑปและวัดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ได้มีการพบพระพุทธบาทขนาดใหญ่ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงเปลี่ยนปีรัชกาลว่า ต้าจุ๋ 大足 ซึ่งแปลว่า ฝ่าพระบาทใหญ่ ในปีพ.ศ. ๑๒๔๔
พระบาทหรือฝ่าพระบาทได้มีการแกะสลักมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะประเทศอินเดียโบราณ และยังมีสิ่งสักการะอื่นๆคือ พระธรรมจักร พระศรีมหาโพธิ์ กาลต่อมาได้เพิ่มพระพุทธบาทอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้มีการเคารพนับถือกันที่ประเทศศรีลังกา พม่าและประเทศไทย
ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ได้มีการกล่าวถึงพระพุทธบาทไว้ในนิราศถลางของนายมีมหาดเล็ก หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร ขณะที่บวชเป็นสามเณรมีได้มาเมืองถลางซึ่งขณะนั้นเมืองถลางยังคงอยู่ที่เมืองพังงา ประมาณพ.ศ.๒๓๗๕ เมื่ออายุประมาณ ๑๗ ปี วันหนึ่งเพื่อนชวนไปไหว้พระพุทธบาท กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
...เขาว่ามีรอยพระบาทที่หาดกว้าง
แต่หนทางที่จะไปไกลหนักหนา
พี่อยากไหว้รอยพระบาทพระศาสดา
ก็ชักพากันไปเหมือนใจจง
ไปตามทางข้างทิศตะวันตก
ต้องเดินบกบุกป่าพนาระหง
ข้ามห้วยหนองคลองบางในกลางดง
ครั้นค่ำลงนอนค้างอยู่กลางไพร
ได้สองวันบรรลุถึงทุ่งกว้าง
เป็นที่ทางท้องนาชลาไหล
มีหนองน้ำอยู่ข้างหนทางไป
ดูโตใหญ่เป็นทะเลจระเข้มี
...
โดยเดินทางตัดป่าจากเมืองถลางพังงา ผ่านเมืองตะกั่วทุ่ง ถึงชายทะเลใช้เวลาเดินทางสองวัน แล้วข้ามทะเลเดินทางบกด้วยทางเกวียนต่อ มีต้นตาลโตนดเป็นจำนวนมาก จนถึงบ้านคน
...เป็นเมืองเก่าร้างเรื้อเหลือพม่า
ดูโรยราร้างไปเป็นไพรสณฑ์
มีแต่บ้านห่างๆทางตำบล
ประชาชนหญิงชายสบายบาน...
เมืองถลางที่ถูกพม่าเผาร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๓๕๒ มีคนอยู่จำนวนน้อยที่ทำมาหากินด้วยการเพาะปลูกข้าวพืชผัก
จากเมืองถลางร้าง ซึ่งน่าจะเป็นบ้านดอน เดินทางต่อไปยังชายหาดเพื่อไหว้พระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ที่ชายหาด น่าจะอยู่แถบทะเลพัง ซึ่งเดินทางไม่ไกลนัก ดังกลอนว่า
...
มาประมาณโมงหนึ่งถึงพระบาท
ที่กลางหาดเนินทรายชายสิงขร
พี่ยินดีปรีดาหายอาวรณ์
ประนมกรอภิวาทพระบาทบงสุ์
จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพร้อม
รินน้ำหอมปรายประชำระสรง
แล้วกราบกรานคลานหมอบยอบตัวลง
เหมือนพบองค์โลกนาทพระศาสดา
พี่ลูบต้องมองแลพระลายลักษณ์
เห็นประจักษ์จริงจังไม่กังขา
มีทั้งร้อยแปดอย่างกระจ่างตา
เป็นดินฟ้าพรหมอินทร์สิ้นทั้งปวง
มีขอบเขาจักรวาฬพิมานมาศ
ห้วงอากาศเมรุไกรอันใหญ่หลวง
พระสุริยันจันทราดาราดวง
มีทั้งห้วงนทีสีทันดร
นาคมนุษย์ครุฑาสุรารักษ์
ทั้งกงจักรห้องแก้วธนูศร
สกุณินกินราวิชาธร
มีไกรสรเสือช้างและกวางทราย
มีอยู่พร้อมเพริศพริ้งทุกสิ่งสรรพ์
ดูอนันต์นับยากด้วยมากหลาย
ยิ่งพิศดูยิ่งงามอร่ามพราย
ด้วยแสงทรายแวววาวอร่ามเรือง
มีบัวบุษผุดรับวะวับวาบ
ดูเปล่งปลาบแวววาวเขียวขาวเหลือง
พื้นพระบาทผุดผ่องดังทองประเทือง
ดูรุ่งเรืองด้วยทรายนั้นหลายพรรณ
...
จากคำกลอนนี้แสดงว่าเป็นพระพุทธบาทแบบ ๑๐๘ ลายลักษณ์ ผู้แต่งได้อธิบายว่า ใน ๑๐๘ ลายลักษณ์นั้นมีอะไรบ้าง ผู้แต่งได้เห็นพระบาทที่นั่นจริงหรือไม่ หรือแต่งขึ้นตามจินตนาการแบบนิราศแต่ใช้ข้อมูลแบบที่เคยเห็นจริง แต่จากบทกลอนบอกว่า อยู่กลางหาดทรายชายเขา เหตุใดพระบาทจึงเอาไปไว้ที่นั้น ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ ที่พม่ายกทัพมาตีเมืองถลางแตกย่อยยับ พม่าเผาเมืองวัดวาอาราม จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า พระพุทธบาทองค์นี้น่าจะยกหนีพม่า แต่ไม่สามารถจะเอาไปได้ จึงวางทิ้งไว้ที่หาดทรายใกล้อ่าวคลองอู่ตะเภาถึงยี่สิบกว่าปี ประมาณ ๒๓ ๒๔ ปี สามเณรมีจึงมานมัสการตามที่ชาวบ้านบอก ต่อมาเมื่อพระครูวินัยธรช่องออกธุดงค์มาพบเข้า เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๓ จึงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดโฆษิตวิหารดังกล่าว
คราวนี้เรามาดูพระพุทธบาทจำลอง ที่ประดิษฐานที่วัดโฆษิตวิหาร อำเภอเมือง ภูเก็ต นั้น ตามตำนานกล่าวว่า ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๕๓ พระครูวินัยธรช่อง ได้ออกธุดงค์ คงจะพบพระพุทธบาทจำลอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดโฆษิตวิหาร พระพุทธบาทจำลองนี้ มีขนาดกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕๑ นิ้ว มีลายลักษณ์ก้อนหอย กงจักร(ปัจจุบันหายไป) พระพุทธรูปปางต่างๆ รูปสัตว์ป่าหิมพานต์ รวม ๑๐๘ ลายลักษณ์
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ พุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ตได้ร่วมกันออกทุนทรัพย์ สร้างมณฑปขึ้นครอบพระพุทธบาทจำลอง พร้อมทั้งสร้างบันไดขึ้นไปตามไหล่เขาจำนวน ๒๕๙ ขั้น บันไดกว้าง ๑.๕๐ เมตร ด้วยกาลเวลาผ่านไปตัวมณฑปทรุดโทรมลง จึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๑ แบบ คสล.แทนของเดิม แต่ไม่แล้วเสร็จและค้างอยู่ แต่ได้จัดงานฉลองพระพุทธบาทในวันมาฆบูชาทุกปี
ต่อมาทางวัดได้ย้ายพระพุทธบาทจากมณฑป ที่สร้างไม่เสร็จและขาดการดูแลรักษา ให้มาประดิษฐานที่ศาลาพระสังกัจจายน์ข้างล่างใกล้อุโบสถ จนถึงปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธบาทจำลองที่สามเณรมีกล่าวถึงนั้น เป็นรูปแบบเดียวกันกับพระพุทธบาทจำลองที่ท่านพระครูนำมาในช่วงธุดงค์ แต่ข้อความอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านได้นำมาจากประเทศศรีลังกาเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๓
อย่างไรก็ตาม พระพุทธบาทที่มีกล่าวถึงอีกแห่งก็คือ ที่เกาะแก้วพิสดาร ตรงกันข้ามกับแหลมพรหมเทพ ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์ ผู้ที่เคยไปนมัสการเล่าว่า รอยพระบาทลึกลงไปในแท่งหินจมอยู่ในน้ำทะเล เมื่อช่วงน้ำขึ้นจึงมองไม่เห็น เมื่อช่วงน้ำลง จะเห็นรางๆ คนที่เคยไปเล่าว่าบริเวณพระพุทธบาทมีตาน้ำใสผสมผสานกับน้ำทะเล แต่ลองชิมดูปรากฏว่าจืดสนิท บางคนเห็นปลาทองจีนหางเป็นพวงด้วย ได้เคยมีการสร้างมณฑปครอบบนโขดหิน แต่ด้วยแรงคลื่นลมจึงหักพัง ปัจจุบันได้มีการสร้างแบบจำลองขึ้นบนแผ่นหิน ดังในรูป ซึ่งตั้งแต่อดีตมา มีชาวพุทธไปนมัสการกันเป็นจำนวนมาก โดยเหมาเรือไม้ระกำของชาวเล ส่วนใหญ่ไปในช่วงสารทจีน ปัจจุบันไปมาสะดวกด้วยการเช่าเรือที่ชายหาดราไวย์
พระพุทธบาทจำลองที่วัดโฆษิตวิหาร จึงเป็นวัตถุโบราณที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา สมควรที่ชาวพุทธทั้งหลาย ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปใหม่ ให้เป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖
****
ภาพพระพุทธบาทจำลอง
ที่วัดโฆษิตวิหาร อำเภอเมือง ภูเก็ต
****
ศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธบาทในปัจจุบัน
***
มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทดั้งเดิม
***
***
ภาพแสดงกงจักรที่หายไป ไม่ทราบทางวัดเก็บไว้หรือสูญหาย
***
***
***
***
*******
พระพุทธบาทจำลอง
ที่เกาะแก้วพิสดาร ราไวย์ อำเภอเมือง ภูเก็ต
*****
***
***
***
มณฑปเก่าที่พังไปแล้ว
***********
พระพุทธบาทจำลอง
จากที่อื่น
*****
พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
****
ยอดเขาศรีพาดา หรือ ศรีพระบาท
ที่ศรีลังกา
***
***
***
***************
|