พระพุทธมณีศรีถลาง
พระพุทธมณีศรีถลาง
พระพุทธมณีศรีถลาง เป็นพระพุทธรูปปางคันธาระ หรือปางขอฝน ประดิษฐานอยู่ที่อนุสรณ์สถานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร บริเวณวัดร้างเดิมคือวัดม่วง บ้านเหรียง หมู่ที่ ๓ ตำบลเทพกระษัตรี เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะดีบุกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ องค์ประธานการหล่อ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธมณีศรีถลาง บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งนี้ทางมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เป็นผู้ดูแล
เป็นเพราะเหตุใดจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูล แต่ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ว่า น่าจะเกี่ยวกับเมืองถลางโบราณ
ในสมัยโบราณพุทธศาสนิกชนชาวอินเดีย ไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพตามคติที่ยึดถือกันมา แต่ภายหลังได้รับอิทธิพลจากศิลปะเฮเลนิกแบบกรีก จึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปกันขึ้นมาอย่างแพร่หลาย ภายหลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ล่วงแล้วประมาณ ๖๐๐ ปี
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งราชวงศ์มาซิโดเนียของกรีก ทรงกรีธาทัพใหญ่แผ่อำนาจเข้ามารุกรานทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เมื่อพ.ศ. ๒๑๒ มีแคว้นคันธาระ กัสมีระ กำโพช และปัญจาบ เป็นต้น แคว้นคันธาระมีพระเจ้าอัมพีเป็นกษัตริย์ มีเมืองหลวงชื่อ ตักสิลา พระองค์ทรงอ่อนน้อมยอมต่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เมืองตักสิลาจึงไม่ย่อยยับ ด้วยเหตุที่เมืองนี้เป็นเมืองที่ราษฎรมีอิสระเสรี ในการนับถือศาสนาและปกครองด้วยความเป็นธรรม ชาวเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ประทับอยู่ถึง ๘ ปี ทรงนำเอาศิลปะแบบเฮเลนิกเข้ามาด้วย คือ ประติมากรรมรูปเหมือนจริง จนต่อมาภายหลังได้มีการประสมประสานระหว่างศิลปะอินเดีย อาหรับ เข้าด้วยกัน
หลังจากนั้นแคว้นคันธาระ ได้มีการเปลี่ยนวงศ์กษัตริย์ปกครองถึงสามวงศ์ คือ วงศ์สะกะ วงศ์ปาร์เทียน และวงศ์คุศาน ในสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งวงศ์คุศาน(พ.ศ. ๖๖๓ ๗๐๕)ได้ทรงฟื้นฟูศิลปะแบบเฮเลนิก เป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด จนหมดยุคด้วยถูกต่างแคว้นรุกราน ศิลปะแบบคันธาระเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากศิลปินกรีกเฮเลนิกในแคว้นคันธาระ และเป็นศิลปะพุทธศาสนาโดยเฉพาะ แล้วได้แพร่ขยายไปยังแคว้นมถุรา สารนาท พิตา อมราวดี จนถึงลังกา สุวรรณภูมิ และประเทศใกล้เคียง
เมื่อศิลปะพระพุทธรูปแบบคันธาระ เจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยพระเจ้ากนิษกะระหว่างพ.ศ. ๖๖๓ ถึงพ.ศ. ๗๐๕ ซึ่ง ร่วมสมัย กับปโตเลมี คลอดิอุ๊ส (Claudius Ptolemaeus or Ptolemy) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างพ.ศ. ๖๓๓ ๗๑๑ เป็นชาวกรีกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องแผนที่สมัยโบราณ จากแผนที่โลกของปโตเลมี ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสองตอน คือ ตอนแรกกล่าวถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนที่สองกล่าวถึงทะเลจีนใต้ทางตะวันออก ประกอบด้วย ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย ศรีลังกา และ คาบสมุทรสุวรรณภูมิ (Aurea Chersonesus) หรือแหลมทอง ซึ่งเกาะถลางรวมอยู่ณแหลมสุวรรณภูมินี้
พระพุทธรูปแบบคันธาระ ครั้งแรกสร้างรูปลอยนูนเพื่อประกอบพระสถูปบรรจุพระธาตุ ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นองค์พระพุทธรูป ที่สร้างเหมือนคน ทั้งพระพักตร์ พระเกศา เมาลี ห่มผ้าคลุมไหล่ จัดกลีบจีวรเป็นริ้วลอนอย่างสวยงาม บางองค์ลักษณะจีวรห่มเฉียงก็มี พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายเพื่อรองรับน้ำ ทรงนั่งขัดสมาธิเพชร
การเรียกชื่อพระพุทธรูปปางนี้ เป็น พระคันธารราษฎร์ พระคันธาระ พระขอฝน พระคันธาราฐ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Gandhara จึงน่าจะใช้พระคันธาระ
พระคันธารราษฎร์ เป็นพระพุทธรูปที่ใช้ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ และพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงปัจจุบัน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖
*****
พุทธศิลป์แบบคันธาระ
*******
ทรงนั่งขัดสมาธิเพชร
พระคันธารราษฎร์
ทรงนั่งขัดสมาธิราบ
*********
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
******
|