หลวงอำนาจนรารักษ์ (ยกกวด ตัณฑเวส)

หลวงอำนาจนรารักษ์ (ตันกวด ตัณฑเวส)
หลวงอำนาจนรารักษ์ (ตันกวด ตัณฑเวส) เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ด้วยเป็นผู้ทำให้เกิดประเพณีกินผักหรือประเพณีกินเจที่สมบูรณ์แบบขึ้นในจังหวัดนี้ และประเพณีนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งที่เป็นคนจีนและคนไทยต่างก็เข้าร่วมในประเพณีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ทุกปี จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน

หลวงอำนาจนรารักษ์เดิมชื่อนายกวด หรือยกกวด แซ่ตัน เรียกเป็นตันควด หรือ ตันยกกวด ถือกำเนิดที่ตำบลหล่วนแจ้ อำเภอตั้งฮั่ว จังหวัดจ่วนจิ้ว มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ พ.ศ.๒๓๙๑ ตรงกับรัชกาลฮ่องเต้เต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง ได้รับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้
อาชีพเดิมของหลวงอำนาจนรารักษ์ ทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้านเกิดในประเทศจีนจนกระทั่งอายุบรรลุนิติภาวะแล้วจึงแต่งงานและได้บุตรเป็นหญิง ๑ คน ในที่สุดภรรยาถึงแก่กรรม ท่านจึงได้ลงเรือจากประเทศจีนมาประเทศไทย ตอนนั้นอายุได้ประมาณ ๒๓ ปี มาอยู่ที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
เมื่อนายตันควดมาอยู่ที่ตำบลกะทู้ครั้งแรก มีอาชีพในการทำเหมืองแล่น ซึ่งเป็นเหมืองที่เคลื่อนที่อาศัยน้ำตามธรรมชาติ มีกำไรพอสมควร ต่อมาก็ได้แต่งงานใหม่กับนางสาวยกเหลียน ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดในประเทศไทย ต่อมาอีกได้เปลี่ยนกรรมวิธีการทำเหมืองจากเหมืองแล่นมาเป็นเหมืองหาบ ทำให้มีกำไรมากขึ้นมีคนงานเป็นร้อยๆคน ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นคนร่ำรวยคนหนึ่ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดให้มีการปกครองโดยมีกำนันประจำตำบลขึ้น นายตันควดหรือตันยกกวดในฐานะที่เป็นคนมีฐานะดี และมีคนงานในเหมืองเป็นจำนวนมากประกอบกับเป็นคนเคร่งครัดในศาสนามีศีลธรรม มีความยุติธรรม มีคุณธรรมประจำใจ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในตำบลกะทู้และจังหวัดภูเก็ต จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลกะทู้ และเป็นกรมการเมืองภูเก็ตในเวลาต่อมา
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมณฑลภูเก็ตกำนันตันกวดซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรมการเมือง ได้เป็นผู้ถวายการต้อนรับในอำเภอกะทู้ โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกกะทู้ มีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการรับเสด็จเป็นอย่างดี เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม หม้ออุ่นข้าว ฯลฯ ล้วนแต่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กำนันตันกวดก็ได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่๖ว่า ตัณฑะเวส ใช้ภาษาอังกฤษว่า Tandavesa เป็นลำดับที่ ๓๒๑๕ และในฐานะที่กำนันตันกวดช่วยเหลือทางราชการด้วยดีตลอดมา ได้เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงคนหนึ่ง รัชกาลที่๖จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น หลวงอำนาจนรารักษ์ ตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖

หลวงอำนาจนรารักษ์เป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมต่อคนทั่วไป ตลอดจนคนพลัดบ้านพลัดเมืองที่เข้าไปอยู่ในตำบลของท่าน ท่านจะรับเลี้ยงโดยไม่คิดเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น บางคนอยู่เป็นสิบ ๆ ปี จึงจะมีงานทำแล้วแยกตัวไป บางคนก็ได้จัดการแต่งงานให้ และหากใครมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลหรือมีผู้ต้องการนายประกัน หลวงอำนาจนรารักษ์จะรับเป็นนายประกันให้ทุกคน เวลาหลวงอำนาจนรารักษ์จะไปไหนมาไหน ก่อนจะขึ้นรถยนต์ส่วนตัวจะแจกเงินแก่ผู้ที่เข้ามาขอเป็นปกติ และจะมีผู้เข้าไปขอเป็นประจำมิได้ขาด
หลวงอำนาจนรารักษ์ เคยเป็นหัวหน้าพรรถการเมืองของจีนที่กะทู้ ชื่อ พรรคจินหิ้น ซึ่งสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ พรรคเคี่ยนเต็ก ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตได้ เพราะพรรคการเมืองของจีนในมณฑลภูเก็ตนี้เคยทะเลาะวิวาทกันตลอดมา โดยฝ่ายหนึ่งเข้าข้างกษัตริย์ อีกฝ่ายหนึ่งเข้าข้างฝ่ายปฏิวัติของประเทศจีน แม้จะมาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ยังมีความยึดถืออยู่ เคยมีการรบพุ่งและมีการฆ่ากันตายลงเป็นจำนวนมาก คนไทยรู้จักในนามของกบฏ อั้งยี่ แต่ตอนหลังด้วยความสามารถของหลวงอำนาจนรารักษ์ เมื่อเป็นหัวหน้าพรรคจินหิ้นแล้วก็ได้แก้ปัญหาจนไม่มีเรื่องราวอะไรที่รุนแรงเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ใช้หลักธรรมเข้าประสานทั้ง ๒ ฝ่าย จนเป็นที่เข้าใจกัน และทั้ง ๒ ฝ่ายตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินด้วยความสงบสุขตลอดมา
สมัยที่หลวงอำนาจนรารักษ์ยังอยู่ที่ตำบลกะทู้จะเกิดไฟไหม้และเกิดโรคภัยเป็นประจำทุกปี มีคนล้มตาย เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ละปีไม่น้อย มีอยู่คราวหนึ่งคณะงิ้วซึ่งเดินทางจากประเทศจีน มาแสดงที่กะทู้เป็นเวลานาน (เพราะกะทู้เป็นชุมชนที่มีชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก) งิ้วคณะนี้แสดงจนลืมภารกิจอื่น ๆ จนมีคนในคณะล้มป่วยลง ต่อมานึกขึ้นได้ว่าถึงเวลาถือศีลกินเจแล้วยังมิได้ทำ เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ คณะงิ้วทุกคนก็ถือศีลกินเจหรือกินผักไปจนกระทั่งวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ รวม ๙ วัน ๙ คืน เพื่อเป็นสิริมงคลอันทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หลวงอำนาจนรารักษ์พร้อมด้วยประชาชนในตำบลกะทู้หลายคน ได้ร่วมพิธีกินเจกับคณะงิ้วครั้งนี้ด้วย
หลังจากถือศีลกินเจในคราวนั้นแล้ว หลวงอำนาจนรารักษ์ได้ปรารภกับคณะงิ้วและประชาชนว่า การกินเจหรือกินผักนี้ดี ทำให้สุขภาพแข็งแรง ประชาชนไม่เจ็บป่วย เรื่องร้ายต่างๆ จากอัคคีภัยและโจรภัยก็จะไม่มี น่าจะจัดให้มีเป็นประจำทุกๆ ปี แต่คนในคณะงิ้วแจ้งว่า ถ้าจะให้มีการกินเจหรือกินผักให้ถูกต้องตามหลักของจีนแล้ว จะต้องไปเอาขี้เถ้าของธูปที่จีนเรียกว่า เหี่ยวเอี๊ยน มาจากมณฑลกังไสในประเทศจีน หลวงอำนาจนรารักษ์จึงรับสมัครผู้อาสาไปเอา เหี่ยวเอี๊ยน จากประเทศจีน ปรากฏว่ามีคนจีนซึ่งเป็นคนงานในเหมืองคนหนึ่งเป็นผู้รับอาสา ทุกคนก็ได้เสียสละเงินให้กับผู้รับอาสานั้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหลวงอำนาจนรารักษ์เองว่าจ้างเรือสามหลักให้ ๑ ลำ
ผู้อาสาเดินทางไปประเทศจีน ๓ ปี ก็กลับมาภูเก็ต จอดเรือไว้ที่สะพาน (สะพานหินปัจจุบัน) แล้วรีบไปบอกหลวงอำนาจนรารักษ์ พอหลวงอำนาจนรารักษ์ทราบข่าว ก็จัดกำลังคนเป็นจำนวนมากเพื่อแห่ไปรับ เหี่ยวเอี๊ยน ไปไว้ที่ศาลเจ้ากะทู้ พอกินเจกินผักกันครบ ๙ วัน ๙ คืนแล้วจึงนำเหี่ยวเอี๊ยมไปลอยน้ำที่สะพานหิน เพื่อเป็นการส่งกลับ การแห่พระส่งพระก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ พรรคการเมืองของจีน ๒ พรรคก็ค่อยๆ สลายไปๆ เพราะคนจีนทั้ง ๒ พรรคค่อยๆ เข้าใจกัน ซึ่งเกิดจากการเข้าร่วมประเพณีกินเจในตอนหลังอย่างทั่วหน้า

อั่งหม่อหลาวที่ถนนดีบุก อำเภอเมืองภูเก็ต
เกียรติคุณของหลวงอำนาจนรารักษ์ นอกจากเป็นผู้ริเริ่มประเพณีการกินผักหรือกินเจในจังหวัดภูเก็ตที่สมบูรณ์แบบแล้ว ยังเป็นคนใกล้ชิดของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ (คอซิมบี้) ด้วย ได้ให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ตลอดจนบริจาคเงินทองและสิ่งของเพื่อช่วยพัฒนาภูเก็ตในยุคต้นๆ เป็นอย่างดี เช่น ได้บริจาคที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อตัดทางไปยังหาดป่าตองในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นถนนถาวร และหาดป่าตองก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันทั่วโลก
บ้านของหลวงอำนาจนรารักษ์เดิมอยู่บ้านเลขที่ ๘ หมู่ที่ ๓ ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้สร้างบ้านหลังใหญ่อีกหลังหนึ่งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต บ้านเดิมที่กะทู้ ปัจจุบันนายประสิทธิ์ ตันฑเวส อาศัยอยู่พร้อมด้วยครอบครัวซึ่งหลวงอำนาจนรารักษ์เองภายหลังได้อาศัยอยู่ในตลาดภูเก็ต ปัจจุบันบ้านทั้ง ๒ แห่งยังอยู่ในสภาพใช้การได้เป็นสิ่งก่อสร้างแบบเก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก
หลวงอำนาจนรารักษ์มีบุตรธิดา ๗ คน คือ นายจิ้นซุ่น ตันฑเวส นางกิ้มเต้า แก้วเกตุ นายจิ้นเซี้ยง ตันฑเวส นางกิ้มเห้ว รัฐบุตร นางจิ้นห้อง ตันฑเวส นางกิ้มเค่ง ณ ระนอง และนายจิ้นหิ้น ตันฑเวส สำหรับนายจิ้นหิ้น บุตรคนสุดท้อง ได้รับตำแหน่งกำนันสืบต่อมาบุตรคนอื่นๆ ก็มีลูกหลานซึ่งมีฐานะตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญในจังหวัดภูเก็ตก็มี
หลวงอำนาจนรารักษ์ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๔ ปี สุสานของท่านอยู่ใกล้ๆ กับทางไปหาดป่าตอง ผลงานที่ท่านสร้างไว้ โดยเฉพาะการริเริ่มประเพณีกินเจนั้น ทำให้คนรุ่นหลังยังเอ่ยถึงนามของท่านสืบมา
คัดลอกและปรับปรนจาก :
พัฒน์ จันทร์แก้ว (๒๕๓๓) หลวงอำนาจนรารักษ์(ตันควด ตัณฑเวทย์) ภูเก็จ๓๓ หน้า ๙๒- ๙๔ (หนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต ๒๕ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๓) กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต
หมายเหตุ
นามสกุลพระราชทาน
นามสกุลเลขที่ ๓๒๑๕ นามสกุล ตัณฑะเวส นามสกุลอักษรโรมัน Tandavesa พระราชทาน หลวงอำนาจนรารักษ์ (ยกกวด) แส้ตัน
27/6/16
(๒๗ มิถุนายน ๒๔๕๙)
***
|