พระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์)
อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์)
อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด) เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะนายเหมืองแร่ดีบุกและเจ้าของสวนยางพารารายใหญ่ ซึ่งขณะนั้นเป็นเศรษฐีอันดับ ๑ ในจังหวัดภูเก็ตมีบริเวณบ้านกว้างขวางในตลาดภูเก็ตมีรั้วซุ้มประตูบ้านและตัวอาคารบ้านเรือนเป็นศิลปะแบบจีนผสมโปรตุเกสซึ่งปัจจุบันยังเหลือไว้ให้ศึกษาได้ เช่น ที่ทำการบินไทยภูเก็ต ถนนระนอง และตัวอาคารโรงพยาบาลสิริโรจน์ ถนนกระบี่ อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระอร่ามสาครเขตรในสมัยนั้น
พระอร่ามสาครเขตร เดิมชื่อตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของหลวงอร่ามสาครเขตร (ตันหงิมจ้าว) เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๒ เวลา ๐๓.๐๐ น. ที่ตำบลตลาดเหนือ อำเภอทุ่งคา (อำเภอเมืองภูเก็ตปัจจุบัน)
พระอร่ามสาครเขตรได้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ ณ เกาะปีนัง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็เดินทางกลับภูเก็ต มาประกอบอาชีพเหมืองแร่ดีบุกสืบต่อจากบิดา โดยเริ่มจากเหมืองหาบ ซึ่งต้องใช้กำลังคนงานเป็นร้อยๆ คน แล้วได้พัฒนาเป็นเหมืองสูบ ต่อมาได้เริ่มกิจการเหมืองแร่ โดยมีหุ้นส่วนกึ่งหนึ่งในกิจการร่วมกับหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ที่เหมืองนาลึก ตำบลบางเทา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต) ที่เหมืองนาลึกนี้มีความอุดมของแร่มาก ทำให้มีกำไรมากมายจนพระอร่ามสาครเขตรได้นำกำไรมากมายขยายกิจการเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งที่สำคัญคือ ได้สั่งต่อเรือขุดแร่ดีบุก โดยว่าจ้างบริษัท Werf Conrad ประเทศฮอลแลนด์ เป็นเงินในขณะนั้นหลายแสนบาท แล้วนำมาประกอบบางส่วนที่ภูเก็ต เรือที่ต่อนี้เริ่มทำการขุดแร่ที่ตำบลปากถัก อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ นับเป็นเรือขุดลำแรกที่เจ้าของเป็นคนไทยแต่ผู้เดียว
พระอร่ามสาครเขตรได้ทำการค้นหาแหล่งแร่ตั้งแต่ภูเก็ต พังงา จนกระทั่งถึงราชบุรี และได้รับประทานบัตรแหล่งแร่ดีบุกในอำเภอตะกั่วป่ามากมายเป็นรายใหญ่ในขณะนั้น นอกจากกิจการเหมืองแร่แล้วยังเป็นเจ้าของสวนยางพาราและสวนเงาะพันธุ์ บังกะหลี ซึ่งเป็นเงาะพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยในสมัยนั้น จนหมู่บ้านที่พระอร่ามสาครเขตรสร้างสวนเงาะนั้นได้ชื่อว่า บ้านสวนเงาะ ซึ่งยังเป็นชื่อหมู่บ้านที่เรียกขานอยู่จนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ริมถนนเทพกระษัตรี ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
พระอร่ามสาครเขตรเป็นคนใจบุญสุนทาน บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือคนยากจนอยู่เนืองๆ และได้สร้างสาธารณประโยชน์คือ สะพานพระอร่ามสาครเขตร ข้ามคลองบางใหญ่ ที่ถนนภูเก็ตและทั้งยังได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือทางราชการอยู่เสมอ จนได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ตัณฑัยย์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอร่ามสาครเขตร เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๕๕ และในปีเดียวกันนี้เองก็ได้โปรดเกล้า พระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอกอีกด้วย และต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และยศดังนี้ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายหมู่ใหญ่ในกรมเสือป่า
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จฯพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงอร่ามสาครเขตรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขั้นเป็น พระ ในนามเดิมคือเป็น พระอร่ามสาครเขตร และในวาระใกล้ๆ กันนี้ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรีด้วย
ในบั้นปลายของชีวิต อำมาตย์ตรีพระอร่ามสาครเขตร ได้เดินทางไปดูกิจการเหมืองแร่ในต่างประเทศและท่องเที่ยวรอบโลกกับบุตรชายคนโต คือขุนประเทศจีนนิกร (กวนฮก) ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยก็ล้มป่วยเป็นโรคหัวใจและถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เวลา ๒๓.๐๐น. รวมอายุได้ ๕๗ ปีกับ ๒ เดือน
อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตรมีภรรยา ๓ คน คือ นางสำลี ตัณฑัยย์ นางยกโถ้ย ตัณฑัยย์ และนางเคลือบ ตัณฑัยย์ มีบุตรธิดาทั้งหมด ๑๖ คน เป็นชาย ๑๐ คน และหญิง ๖ คน เป็นบุตรของนางสำลี ๑ คนเป็นบุตรของนางยกโถ้ย ๒ คน และเป็นบุตรของนางเคลือบ ๑๓ คน
หลุมฝังศพของอำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลรัษฎา ริมถนนเทพกระษัตรี อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นหลุมฝังศพที่ทำอย่างวิจิตรงดงาม ฝังของมีค่า เช่น เครื่องเพชร เครื่องทองคำ และรัตนชาติอื่นๆ ไว้จำนวนมาก ซุ้มประตูทางเข้าหลุมฝังศพสร้างเป็นศิลปะที่หาดูได้ยาก นับเป็นมรดกชี้นสำคัญชิ้นหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
คัดลอกจาก :
พัฒน์ จันทร์แก้ว (๒๕๓๓) อำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์) ภูเก็จ๓๓ หน้า ๙๔ ๙๖ (หนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต ๒๕ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๓) กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต
*****
สุสานพระอร่ามสาครเขตร ตั้งอยู่ที่ถนนเทพกระษัตรีฝั่งเขาโต๊ะแซะ
ใกล้โรงพยาบาลมิชชั่น ภูเก็ต
****
บ้านพระอร่ามสาครเขตร
ถนนระนอง อำเภอเมือง ภูเก็ต
*****
|