พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์)
พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์)
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตแต่เดิมคือโรงพยาบาลเมืองภูเก็ต เริ่มต้นจากการขออนุญาตจัดตั้งโรงพยาบาลของเจ้าหมื่นเสมอใจราช (ทองดี โชติกเสถียร) ข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในปีต่อมา แต่ในระยะแรก ๆ นั้นโรงพยาบาลเมืองภูเก็ตยังขาดงบประมาณที่จะใช้ซื้อเครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรค รวมทั้งขาดหมอด้วย ในระยะแรกๆ นั้น ไม่มีหมอชาวไทยเลย เป็นแต่หมอชาวต่างประเทศ เช่น หมอแอมเมอร์ซึ่งเป็นมิชชันนารี หมอแบกซ์ หมอปีเดน หมอคนไทยซึ่งเป็นแพทย์ชั้นหนึ่งคนแรกของเมืองภูเก็ต คือ พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) ได้มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขาภิบาลจังหวัดภูเก็ต (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดโฆษิตวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยทางกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ส่งมา
ประวัติการเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ตของหลวงเวชกิจพิศาลนี้มีอยู่ว่า ในสมัยนั้นที่จังหวัดภูเก็ตได้มีบรรดาชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยอยู่หลายคน ซึ่งส่วนมากมาดำเนินกิจการทางด้านเหมืองแร่ ชาวต่างประเทศเหล่านี้ได้ร้องเรียนไปยังทางราชการในพระนคร อ้างว่ามีความเดือดร้อนในด้านการรักษาพยาบาล เพราะในขณะนั้นภูเก็ตยังไม่มีแพทย์ (ชั้นหนึ่ง) ขอให้ทางราชการได้พิจารณาจัดส่งแพทย์ต่างประเทศให้มาประจำ ทางราชการก็ได้ส่งหมอแอมเมอร์มา ต่อมาเมื่อหมอแอมเมอร์กลับไป ทางราชการก็ได้ส่งหมอแบกซ์มาแทน และในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็ได้ส่งพระเวชกิจพิศาล ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และเป็นผู้ปกครองโรงพยาบาลศิริราชของโรงเรียนราชแพทยาลัยมาอีกคนหนึ่ง โดยให้มาในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขภิบาลจังหวัดภูเก็ต จึงนับได้ว่าพระเวชกิจพิศาลเป็นแพทย์ชั้นหนึ่งคนไทยคนแรกของจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการรักษาพยาบาลร่วมกับหมอแบกซ์ การรักษาพยาบาลในขณะนั้นก็เป็นการรักษาพยาบาลอย่างธรรมดา ไม่มีการรักษาพยาบาลที่นอกเหนือไป เช่นการผ่าตัด
มีเหตุการณ์ที่ทำให้พระเวชกิจพิศาล กลายเป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศในจังหวัดภูเก็ต ก็คือพระเวชกิจพิศาลแสดงความสามารถในการผ่าตัดคนไข้ที่ป่วยเป็นแผลเรื้อรังที่เท้า อันเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นผลสำเร็จ โดยที่หมอแบกซ์ไม่เห็นด้วย ตั้งแต่นั้นมาความคิดเห็นระหว่างหมอแบกซ์กับพระเวชกิจพิศาลจึงขัดแย้งกัน ต่อมาหมอแบกซ์กลับ ทางราชการได้ส่งหมอบีเดนมาแทน แต่มาในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น และอยู่ได้ไม่นานก็กลับ ตั้งแต่นั้นก็ไม่มีหมอชาวต่างประเทศมาอีก เพราะว่าพระเวชกิจพิศาลได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดภูเก็ต พระองค์ทรงเห็นว่าโรงพยาบาลที่เป็นอยู่ในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่เล็กและมีอาณาเขตน้อย ไม่เหมาะกับบ้านเมือง ทรงให้เลือกสถานที่ใหม่ โดยใช้สถานที่เชิงเขารังซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลในขณะนี้ ได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้และพระราชทานนามโรงพยาบาลใหม่ว่า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พระเวชกิจพิศาล จึงได้นำเงินก้อนที่ได้รับพระราชทานมาดำเนินการก่อสร้าง โดยสร้างตึกอำนวยการก่อน แล้วรื้อโรงพยาบาลเก่ามาก่อสร้างตึกต่างๆ จึงนับได้ว่าพระเวชกิจพิศาล เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนี้เป็นบุคคลแรกและในเวลาต่อมามีคหบดีบางท่านได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้างตึกพิเศษรับคนไข้เป็นหลังๆ ขึ้นอีก
พระเวชกิจพิศาลได้เอาใจใส่ดูแลสร้างความเจริญให้แก่โรงพยาบาลจนเป็นที่นิยมและไว้วางใจจากพ่อค้าประชาชน ท่านจึงอยู่มาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ออกมาตั้งร้าน ชื่อ เวชกิจวโรสถ และยึดเอาจังหวัดภูเก็ตเป็นภูมิลำเนาจนสิ้นชีวิต
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทางราชการได้ให้ภูเก็ตเป็นที่ตั้งของกองร้อยเสือป่าของ ๗ จังหวัดภาคใต้ แต่เนื่องจากไม่มีพลพยาบาลประจำกองร้อย พระเวชกิจพิศาลจึงได้เปิดการอบรมพลพยาบาลขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดจัดส่งคนมาอบรมจังหวัดละ ๒ คน กำหนดระยะเวลาอบรม ๒ ปี อบรมเสร็จก็จะได้รับการบรรจุเป็นพลพยาบาลประจำกองร้อยเสือป่า นับได้ว่าพระเวชกิจเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดพลพยาบาล
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ทางภูเก็ตได้เกิดโรคระบาดขึ้นครั้งใหญ่ คือ โรคฝีดาษบรรดาผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมากพระเวชกิจพิศาลได้พยายามให้การรักษาอย่างสุดความสามารถ และในที่สุดก็สามารถปราบโรคระบาดอันร้ายแรงนี้ได้สำเร็จ
อำมาตย์ตรี พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) เกิดวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ที่ตำบลบางกะปิ อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรนายคิ้ม นางผัน ดิลกแพทย์
ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนปทุมคงคา จากนั้นศึกษาวิชาการแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ประกาศนียบัตรประโยคแพทย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ จากนั้นก็เข้ารับราชการตำแหน่งแพทย์ฝึกหัดโรงเรียนราชแพทย์ สังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ บรรจุเป็นแพทย์ประจำโรงเรียนราชแพทย์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นแพทย์ผู้ฝึกหัดหรือครูแพทย์ฝึกหัดชั้นที่ ๑ โรงเรียนราชแพทย์ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นผู้ปกครองโรงเรียนศิริราชพยาบาลของโรงเรียนราชแพทยาลัย
๑๕ มกราคม ๒๔๕๙ ย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขาภิบาลจังหวัดภูเก็ต จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ลาออกจากราชการ ตั้งร้านตรวจรักษาโรคและจำหน่ายยา ชื่อร้าน เวชกิจวโรสถ ที่ถนนเยาวราช อำเภอเมือง ภูเก็ต
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนเวชกิจพิศาล เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๕๓
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์โท เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๕๔
ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๕๖
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๔
ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์ตรี เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๕๘
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ได้รับ ได้แก่ เหรียญบรมราชภิเศก เข็มไอยราพตเสือป่า มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ (เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย) ช้างเผือกชั้นที่ ๕ (เบญจมาภรณ์ช้างเผือก) และเหรียญบรมราชภิเศกเงิน
อำมาตย์ตรี พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) มีบุคคลหนึ่งที่ทรงไว้ซึ่งจรรยาแพทย์ที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ชอบเสียสละเพื่อกิจการงานอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มีจิตใจฝักใฝ่ทางศาสนาและให้ความช่วยเหลือในด้านศาสนกิจเป็นประจำเรื่อยมา เป็นบุคคลหนึ่งที่เริ่มก่อตั้งพุทธสมาคมจังหวัดภูเก็ตขึ้น และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเรื่อยมา
พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) ใช้เวลาชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ตกระทำกิจการงานอันเป็นประโยชน์ให้กับชาวภูเก็ตหลายต่อหลายชิ้น จึงกล่าวได้ว่า พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) เป็นบรรพชนคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้บุกเบิกในด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
คัดลอกจาก :
พระเวชกิจพิศาล (เจิม ดิลกแพทย์) (๒๕๓๓) ภูเก็จ๓๓ หน้า ๑๐๘ ๑๑๐ (หนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต ๒๕ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๓) กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จังหวัดภูเก็ต
|