บ้านเมืองใหม่
บ้านเมืองใหม่
บ้านเมืองใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จากพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
ข้ามคลองบางขนุน ๔.๐๕ ถึงบ้านเมืองใหม่ บ้านพระยาถลางทองตั้งที่นี่ มีปืนม้าเหลี่ยมเหล็ก ๓ ฤา ๔ บอก ข้ามคลองเมืองใหม่ถึงตลาดเมืองใหม่ มีตึกหลังหนึ่งจาก ๕ ฤา ๖ หลัง
พระยาถลางทอง หมายถึง พระยาถลาง ทองพูน และจากประวัติของพระยาถลางทองพูน ณ ถลาง ความตอนหนึ่งว่า
ค่ายพม่าอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่และได้ยิงไปทุกวัน ได้รบพุ่งกันอยู่ราวเดือนเศษ ฝ่ายพม่าล้มตายไป ๓๐๐ - ๔๐๐ คนเศษและเจ็บป่วยอีกเป็นจำนวนมาก กองทัพเมืองถลางจึงยกเข้าโจมตีทัพพม่า พวกทหารพม่าลงเรือแล่นหนีไป เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง
หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว ทางเมืองถลางมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองได้ทำใบบอกแจ้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไปกราบทูลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพลงมาทางปักษ์ใต้เพื่อตีทัพพม่าขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โดยให้เมืองภูเก็จเทียนถือไปถวาย หนังสือใบบอกอีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อเสร็จศึกแล้ว จึงเสด็จเข้ากรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อกราบทูลถวายรายงานราชการสงครามหัวเมืองปักษ์ใต้ และผู้ที่จะได้รับบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้ คุณหญิงจัน ภรรยาพระยาถลางคนก่อน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ให้คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ให้พระปลัดทองพูนเป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลางเจียดทองเสมอเสนาบดี มีศักดินา ๑๐๐๐๐ และถือว่าเป็น พระยาพานทองคนแรกของเมืองถลาง คนอื่นๆต่างก็ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นถ้วนหน้า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ คือเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก รวมทั้งเมืองภูเก็จเทียนที่ได้เป็น พระยาทุกขราช ในตอนที่เข้าไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรที่สงขลา
เมื่อพระปลัดทองพูนได้เป็น พระยาถลางแล้ว เคยมีหนังสือไปถึงพระราชกปิตันที่เมืองปีนังเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๓๐ เรื่องขัดผลประโยชน์ระหว่างกรมการเมืองถลาง ที่ซื้อสินค้าจากเรือสินค้าของพระยาราชกปิตัน เอามาขายให้ชาวถลางบวกกำไร ในขณะเดียวกันกัปตันเรือของพระยาราชกปิตันกลับเอาสินค้าชนิดเดียวกัน ออกขายให้ชาวถลางในราคายุติธรรม ทำให้พวกกรมการเมืองถลางที่ซื้อสินค้ากักตุนหวังกำไรมาก ต้องขาดทุน พระยาถลางทองพูนจึงมีหนังสือร้องเรียนไปยังพระยาราชกปิตันให้ว่ากล่าวกัปตันด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องพระยาธรรมไตรโลกข้าหลวงที่อ้างท้องตราจากเมืองหลวงกล่าวหาพระยาราชกปิตันนั้น อาจจะเป็นท้องตราจริงก็ได้ ด้วยมีการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บรรดาหัวเมืองต่างไปเข้าเฝ้าเอาสิ่งของไปถวายเป็นราชบรรณาการ ดังที่พระยาราชกปิตันเคยกระทำในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ในแผ่นดินนี้ยังไม่ได้กระทำ ทางเมืองหลวงหาทางปราม แต่พระยาราชกปิตันเป็นฝรั่งจึงไม่เข้าใจการจิ้มก้อง เลยพาลโกรธพระยาธรรมไตรโลก และขุนนางกรมการเมืองถลางบางคน เมื่อทางเมืองหลวงเห็นว่า พระยาราชกปิตันเป็นพ่อค้าอาวุธสมัยใหม่ทุกชนิด เกรงจะเอาไปขายให้พม่า ตามคำกราบบังคมทูลของท้าวเทพกระษัตรีเมื่อท่านไปกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ จึงต้องมีท้องตราถึงเมืองถลางดังข้อความว่า หนังสือ ข้าพเจ้าพระยาทุกราช ผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโตกท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลางว่า กรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฤาเจ้าราชกูลออกมาแต่ก่อนคิดอ่านหักเอาเงินของโตกพระยาท่านไว้ว่าโตกพระยาท่านติดเงิน แต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้านั้น นอกท้องตรา ซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลถือมา ทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึงนั้น ทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวง แลกรมการ ณ เมืองถลาง ซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกันฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตก คิดถึงจะใคร่ได้พบโตกพระยาท่านปรึกษาราชกิจบ้านเมือง... ถ้าหากเหตุการณ์เป็นดั่งนี้ พระยาธรรมไตรโลก และกรมการเมืองถลางบางคนกลายเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติไป พระยาธรรมไตรโลกจึงถูกสอบสวนทำโทษ กรมการเมืองถลางบางคน ก็คือ พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม พระยาถลางทองพูนหรือพระยาถลางเจียดทอง ที่ต้องถูกคุมตัวเข้าไปกรุงเทพฯ ประมาณพ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อสอบสวน พระยาถลางทองพูนพักอยู่ที่กรุงเทพฯ และถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ
เข้าใจว่า ภายหลังจากเสร็จศึกพ.ศ. ๒๓๒๘ แล้ว พระยาถลางทองพูนคิดหาทางที่จะสร้างเมืองถลางขึ้นมาใหม่ คงเห็นว่า บริเวณที่นั้นมีชัยภูมิดีที่สามารถป้องกันการถูกข้าศึกโจมตี ได้ดีกว่าที่เมืองถลางเดิม ในฐานะเจ้าเมืองถลางเจียดทอง จึงมีคำสั่งให้นายทหารและชาวบ้าน ตลอดจนทหารที่ทางเมืองหลวง ส่งมาให้รักษาเมืองถึงสองพันนาย ช่วยกันสร้างเมืองขึ้นใหม่มีบ้านพระยาถลาง หลักเมือง พร้อมค่ายคูประตูหอรบ แต่สร้างด้วยไม้ อีกประการหนึ่งพระยาถลางทองพูนต้องถูกคุมตัวเข้ากรุงเทพฯประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๑ คงสร้างเมืองใหม่ได้เพียงปีเศษ บ้านเมืองใหม่จึงเรียกขานกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖
***
|