โบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม
โบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรืออันเป็นเมืองภูเก็ตเก่า อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
บ้านพระยาวิชิตสงคราม
บ้านพระยาวิชิตสงคราม ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ หมู่ที่๓ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ภูเก็ต กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๒๘ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ มีเนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา ทางกรมศิลปากรได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑
จากจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ( พ.ศ. ๒๔๕๓ ) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ...ขากลับแวะทอดพระเนตรบ้านท่านพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต ที่ตำบลท่าเรือ บ้านนี้ท่านพระยาวิชิตไปสร้างขึ้นเมื่อครั้งจีนกระทำการตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็ต ท่านพระยาวิชิตเห็นว่าอยู่ในเมืองภูเก็ตใกล้ภัยอันตรายนัก จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือสำหรับเป็นที่เลี่ยงไปอยู่ มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะๆรอบ เตรียมรบเจ๊กอย่างแข็งแรง ภายในได้ก่อตึกรามไว้หลายหลัง แต่ปรักหักพังเสียเกือบหมดแล้ว...
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าเรือทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ที่เรือสำเภาเข้ามาจอดทอดสมอได้ และเป็นท่าเรือที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองถลางมาตั้งแต่สมัยท้าวเทพกษัตรีย์แล้ว ท่าเรือแห่งนี้เป็นชุมชนที่เรือสำเภาเข้ามาขนถ่ายสินค้าขึ้นและนำดีบุกที่ถลุงและหลอมแล้วลงเรือสำเภา เพราะมีหลักฐานจากขี้ตะกรันเศษดีบุกที่ติดกับแบบหลอมดีบุกกองอยู่บริเวณกำแพงบ้านเป็นจำนวนมาก นอกจากการขนถ่ายสินค้าแล้ว คนที่จะเดินทางไปยังหัวเมืองอื่นก็ต้องมาลงเรือที่ท่าเรือแห่งนี้เช่นเดียวกัน และเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรขาเข้าขาออกภาษีปากเรือของพนักงานของรัฐด้วย ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันตกเมืองถลาง บริเวณเลพัง บ้านดอนมีท่าเรือมาแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกัน
ภายหลังจากที่กรมศิลปากรได้บูรณะขุดแต่งจัดทำแผนผังซากอาคารต่างๆ พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายสังเขปตามข้อสันนิษฐาน ทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจมากขึ้น จากแผนผังในเนื้อที่ ๒๓ ไร่เศษ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสามตอน คือ ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงหนา ๒๐ นิ้ว บางส่วนหนา ๑๖ นิ้ว หอคอยป้อมปืนอยู่ตรงกลางทั้งสี่ด้าน ช่องประตูทางเข้าอยู่ทางทิศใต้
พื้นที่ส่วนหน้า ประกอบด้วย
(๑) ช่องประตูทางเข้าอยู่ตรงกลางข้างป้อมปืน
(๒) ป้อมปืนสังเกตการณ์ เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างมีช่องปืนใหญ่สองกระบอก ขนาดพื้นที่ของป้อม ๗ x ๗.๒๐ เมตร ป้อมปืนส่วนนี้ยังมีสภาพหลักฐานเดิม มีเศษกระเบื้องดินเผามุงหลังคา ส่วนยอดของหลังคาทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมสอบปลายยอดแหลม ประดับลวดลายแบบจีน หลังคาทรงปั้นหยา
(๓) กำแพงทั้งสี่ด้าน สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวไว้ว่า กำแพงสูง ๖ ศอก ใบเสมาศอกคืบแบบจีน กำแพงบางไม่มีเชิงเทิน ความกว้างของกำแพง ๖๐ วาทั้งหน้าหลัง กำแพงสร้างอย่างแข็งแรง เพื่อป้องกันการสู้รบกับอั้งยี่
(๔) อาคารหมายเลข ๒, ๓ เป็นศาลหอนั่ง ขนาด ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐ เมตร อยู่ริมกำแพงทิศใต้ส่วนหน้าเช่นเดียวกัน เป็นอาคารตึกสำหรับเป็นศาลและหอนั่ง ด้านหน้าเป็นโถงโล่ง ส่วนหลังคาเป็นทรงปั้นหยา
(๕) กลุ่มอาคารทิมดาบ ด้านหน้าทั้งสองมุม เป็นกลุ่มอาคารห้องแถวมุมกำแพงพอดีแยกออกทั้งสองปีก ด้านละ ๕ ห้องมุมหนึ่งรวม ๑๐ ห้อง หน้าอาคารน่าจะปูไม้เป็นนอกชาน สำหรับพวกตำรวจพัก รวมสองมุม ๒๐ ห้อง
(๖) ตรงกลางอาคารส่วนหน้าเป็นอาคารว่าราชการหรือรับแขกมีบันไดขึ้นทั้งสองด้าน ถัดบันไดเข้าไปภายในเป็นพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาขนาดใหญ่สีแดง อาจจะต่อเชื่อมเข้าไปเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยไม้มีตอม่อเสาปูนเรียงด้วยอิฐ
(๗) ตรงส่วนหน้ามุมซ้ายสุดติดกำแพงเตี้ยกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนกลาง มีอาคารชั้นเดียว (หมายเลข ๔) สามด้านก่ออิฐส่วนด้านหน้าอาจเป็นไม้ทำเป็นนอกชานโล่ง ขนาด ๗ x ๑๑ เมตร เป็นอาคารหลังเล็ก หลังคาน่าจะเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินเผา แต่ฟากตรงกันข้ามทางริมกำแพงทิศตะวันออกไม่มีอาคารแบบนี้
(๘) กำแพงแบ่งพื้นที่ส่วนหน้ากับพื้นที่ส่วนกลาง มีช่องประตูทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางสองช่องซ้ายขวาของกำแพง
พื้นที่ส่วนกลาง
พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นพื้นที่หลัก มีขนาดกว้างใหญ่กว่าพื้นที่อีกสองส่วน ประกอบด้วย
(๑) อาคารหมายเลข ๕ มีขนาด ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐ เมตร เป็นอาคารสองชั้นหลังใหญ่ อยู่ขนานกันกับอาคารหลังใหญ่ตรงส่วนหน้า อาคารหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน ชั้นล่างยกพื้นสูงมีบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง บันไดขึ้นชั้นสองอยู่ตรงกลางห้องโถง เจ้าของบ้านเข้ามาอาศัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐
(๒) สระน้ำ อยู่ด้านหลังอาคาร เป็นสระน้ำขนาดเล็ก ขนาด ๑๕ x ๒๐ เมตร พื้นสระปูด้วยหินจัดเรียงเรียบสวยงาม ลำร่องน้ำเข้าสระขุดเชื่อมกับคลองท่าเรือทิศตะวันตกของตัวบ้าน เป็นร่องน้ำตื้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าสระ กล่าวกันว่า น้ำในลำคลองท่าเรือใสสะอาด น้ำไหลตลอดปี ส่วนร่องน้ำไหลออกจากสระทางทิศเหนือ ขุดลึกเสมอพื้นสระเพื่อให้ตะกอนไหลออกได้สะดวก
(๓) ป้อมปืนรักษาการณ์ทั้งสองด้านคือด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ป้อมทางทิศตะวันออกจะเห็นช่องเสียบปืนใหญ่สองช่อง
(๔) ถัดจากสระน้ำไปทางทิศเหนือติดกำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ชั้นกลางกับชั้นหลังมีอาคารชั้นเดียวอยู่ตรงกลางขนานกับบ้านหลังใหญ่
(๕) มุมขวาของส่วนกลางติดกำแพงส่วนหลังมีอาคารชั้นเดียวหลังหนึ่ง
(๖) กำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ส่วนหลังมีช่องประตูเข้าออกสองช่องซ้ายขวา
พื้นที่ส่วนหลัง
พื้นที่ส่วนหลังตรงกลางกำแพงมีป้อมปืนสังเกตการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนหน้า ตรงมุมกำแพงทั้งสองด้านมีห้องข้างละ ๑๐ ห้อง รวมสองด้าน ๒๐ ห้อง เช่นเดียวกับส่วนหน้า กล่าวกันว่า พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่เก็บยุ้งฉางเสบียงอาหาร
******
ภาพบริเวณบ้านพระยาวิชิตสงคราม
******
สระน้ำสำหรับอาบและใช้สอย
ป้อมทั้งสี่ทิศ
***
ป้อมและกำแพงมีใบเสมาแบบจีน
*****
ป้อมยามทั้งสี่ทิศ
แสดงความหนาของกำแพง
พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )
อนุสาวรีย์ พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)
วัดวิชิตสังฆาราม อำเภอเมือง ภูเก็ต
*******
|