ชาวไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยถือและปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนา ซึ่งได้มาจาก 2 แนวทางด้วยกัน คือ ตามพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน (AL-KURAN) ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า คัมภีร์โกหร่านและอัลฮาดิส (AL-HADIS) หรือพระวัจนะของท่านนาบีมุฮัมมัด (พระมะหะหมัด) ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม คัมภีร์ทั้งสองนั้น เป็นทั้งกฎหมาย หลักปฏิบัติ ข้อห้าม ศีลธรรม จรรยา ข้อควรละเว้น ตลอดจนอานิสงส์ในการปฏิบัติธรรม แต่ทั้งนี้มุสลิมทุกคนจะต้องมีหลักการสำคัญในการปฏิบัติตนอยู่ 2 ประการ คือ
1. หลักการศรัทธา (อิหม่าม) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่จะต้องวางอยู่ในจิตใจของมุสลิมทุกคนให้มั่นคง เปรียบเหมือนเนื้อนาบุญ ที่ตระเตรียมไว้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะปลูกฝังเมล็ดพืชพันธุ์แห่งความดีหรือหลักธรรมต่างๆ ลงไป ก็จะได้เจริญงอกงามในจิตใจที่มั่นคง ยากที่จะคลอนแคลนได้ ศรัทธาดังกล่าวนั้นคือ
1.1 ศรัทธาเชื่อมั่นว่ามีพระองค์อัลเลาะห์ (พระอาหล่า) คือ พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้สร้างและลิขิตสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาในโลก รวมทั้งมนุษย์ สัตว์ พืชพรรณทั้งหลาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ
1.2 ศรัทธาแด่บรรดาทูตสวรรค์ (ม่าลาอีก๊ะห์) ของพระองค์ ว่าเป็นผู้นำเรื่องราวและปฏิบัติกิจต่างๆ ตามโองการของพระผู้เป็นเจ้า
1.3 ศรัทธาในพระคัมภีร์ของพระองค์ ซึ่งประทานมาในยุคสมัยต่างๆ ได้แก่ คัมภีร์ซาบุ๊ร (SABUR) เตาร้อต (TAORAT) อินยีล (INJEEL) และคัมภีร์กุรอาน (AL-KURAN)
1.4 ศรัทธาในรอซุ้ล (RASUL) หรือศาสดาทั้งหลาย ทั้งในสมัยอดีตกาลก่อนโน้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น พระนาบีดาวุด อีซา (เยซู) สุไลมาน (โซโลมอน) อิบรอฮิม (อับราฮัม) และคนสุดท้ายคือพระนาบีมุฮัมมัด (พระมะหะหมัด) ว่าบรรดารอซู้ลหรือศาสนทูตเหล่านี้ เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามตามยุคสมัยของท่านตามโองการของพระผู้เป็นเจ้าศาสนาพระนาบีบุฮัมมัดนี้ เป็นรอซู้ลหรือศาสนทูตคนสุดท้ายในศาสนาอิสลาม
1.5 ศรัทธาในวันอาดีเราะห์หรือวันสิ้นโลก คือ วันที่บรรดามนุษย์ทั้งหลายได้ตายไปและรับการพิพากษา ตัดสินเพื่อไปอยู่ในแดนสุข (สวรรค์) หรือแดนทุกข์ (นรก) ตามความดีและความชั่วที่ตนได้ปฏิบัติเมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์
1.6 ศรัทธาต่อการกำหนดความดีความชั่ว ว่าย่อมมาจากกำหนดของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
2. หลักการของอิสลาม (รูกุนอิสลาม) เมื่อมีศรัทธามั่นคงในศาสนาดีแล้ว มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งเรียกว่า รุกนอิสลาม ดังต่อไปนี้ คือ
2.1 ต้องกล่าวคำปฏิญาณด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา โดยการเปล่งคำปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ควรเคารพและสักการะโดยเที่ยงแท้ นอกจากพระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.) องค์เดียวเท่านั้นและพระนาบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) นั้นเป็นรอซู้ล คือเป็นศาสดา (ศาสนทูต) เผยแผ่ศาสนาของพระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.)
2.2 การนมัสการละหมาด (นะมาส) คือ การนมัสการหรือการกราบไหว้พระผู้เป็นเจ้า คือ พระอัลเลาะห์ (ซ.บ.) วันละ 5 ครั้ง คือ เวลารุ่งอรุณ (สุโบ๊ะห์) เวลาบ่าย (ดุโฮ้ร) เวลาเย็น (อะซัร) เวลาพลบ (มักริบ) และเวลาดึก (อีซาอ์)
2.3 ให้ทำการถือศีลอด 1 เดือน ในเดือนรอมาฎอน (RAMADAN) ซึ่งเป็นเดือนหนึ่งในสิบสองเดือนของอาหรับ ชาวบ้านเรียกการถือศีลอดว่า ถือบวชหรือปอซอ คือการอดอาหาร น้ำและละเว้นเสพสิ่งทั้งหลายตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ทั้งนี้ก็เพื่อ
- ฝึกความอดทนของกำลังใจ ความซื่อสัตย์สุจริตและความศรัทธา
- ให้รู้ถึงความทุกข์ยาก ความหิวโหย ความอดอยากยากแค้นของคนยากจน
- ให้มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อดอยากยากแค้น
- ให้บริจาค สงเคราะห์ อาหาร เครื่องบริโภคอื่นๆ แก่คนยากไร้ที่น่าสงสารเหล่านั้น
- ฝึกการสำรวม มั่นคงในศีล ทั้งกาย วาจา ใจ มิให้ล่วงไปสู่ความทุจริตได้
ผลพลอยได้จากการปฏิบัติศีลอดนี้ คือ ความประหยัด เห็นอกเห็นใจ การขจัดเสียซึ่งความเหลื่อมล้ำในระหว่างชนชั้นที่เราเรียกกันในสมัยนี้ว่า ช่องว่างระหว่างชนชั้น ความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่คณะ เป็นต้น
2.4 การบริจาคซะกาต (ซะกาต) คือ การให้ทาน ซึ่งมุสลิมทุกคนถือเป็นหน้าที่ต้องบริจาคทาน จากเงินหรือทรัพย์สิ่งของที่หามาได้ในรอบปีหนึ่ง อาจเป็น เงิน ทอง ข้าว ปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อบริจาคเป็นสังคมสงเคราะห์ เช่น ครู คนยากจนเข็ญใจ นักเรียนนักศึกษาปฏิสังขรณ์สถานและวัสดุในศาสนา สงเคราะห์ผู้เข้ามานับถือศาสนา บำรุงศาสนา
2.5 การไปบำเพ็ญศาสนกิจ ประกอบพิธีฮัจยี ณ เมืองเมกกะ (มักก๊ะห์) ประเทศซาอุดิอาระเบีย เฉพาะคนที่มีทรัพย์สินเงินทองมีฐานะมั่นคงหรือมีอันจะกิน ซึ่งสามารถไปและกลับโดยไม่เดือดร้อนในภายหลัง ส่วนคนที่ไม่มีฐานะดังกล่าวนั้นไม่ถือเป็นการบังคับ การไปนั้นเรียกว่าไปบำเพ็ญพรตเป็นนักบวช ปฏิบัติกิจพิธีฮัจย์จนเสร็จ เมื่อกลับมาแล้ว ผู้ชายจะได้รับการเรียกว่าฮัจยีหรือหะยี ส่วนผู้หญิงเรียกว่า ฮัจยะห์
หมายเหตุ ผู้ใดไปทำพิธีฮัจยีมาแล้ว มักเป็นคนที่ได้รับการยกย่องในสังคมมุสลิมโดยทั่วๆ ไป เพราะถือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีศีลธรรม เนื่องจากว่าได้ไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินมัวหมอง คล้ายกับคนที่ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เมื่อสึกออกมาก็ถือว่าเป็นคนเต็มคน เป็นบัณฑิต เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป เช่นเดียวกัน
ประเพณีต่างๆ ที่น่ารู้
การแต่งงาน
ชาวไทยมุสลิมจะแต่งงานเฉพาะกับชาวมุสลิมด้วยกันเท่านั้น หมายความว่า เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างก็เป็นมุสลิมด้วยกันหรือฝ่ายหนึ่งเป็นมุสลิมและอีกฝ่ายหนึ่งก็ยอมรับเข้านับถือศาสนาอิสลามและเป็นมุสลิมด้วยกัน การแต่งงานจะประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้ คือ เจ้าบ่าว เจ้าสาว ว่าลีหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง พยานและการกล่าวรับเป็นเจ้าบ่าว เจ้าสาวต่อหน้าผู้เป็นสักขีพยาน ส่วนประเพณีอย่างอื่น เช่น ขันหมาก การอยู่เรือนหอ การปูที่นอน ฯลฯ นั้น คงคล้ายกับประเพณีของชาวไทยโดยทั่วๆ ไป
การทำศพ
หากมุสลิมตายลง ถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือน จะต้องไปเยี่ยมเยียนญาติของผู้ตาย เพื่อปลอบโยนแสดงความเห็นอกเห็นใจและทำให้ญาติของผู้ตายคลายความเศร้าโศกลง ผู้ไปเยี่ยมอาจจะนำข้าวสาร มะพร้าว ของแห้งอื่นๆหรืออาจเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารได้ ได้แก่ เป็ด ไก่ เป็นต้น ไปด้วย เพื่อมิให้ทำความเดือดร้อนให้แก่ญาติหรือเจ้าภาพที่จะต้องจัดหาเลี้ยงดู สำหรับศพหรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า มายัด นั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ยังมีชีวิตต้องช่วยกันจัดการแก่ศพ คือ
ก. ต้องอาบน้ำศพ
ข. ต้องห่อหุ้มศพ
ค. ต้องละหมาดให้แก่ศพ
ง. ต้องนำไปฝัง
การอาบน้ำศพ
เริ่มตั้งแต่ปิดหนังตาศพให้มิดชิด ใช้ผ้ารัดคางกับศีรษะ รัดแขน เข่าและเท้า ชำระล้างทวารหนัก ทวารเบา ถ้ามีของสกปรกอยู่ ต้องชำระล้างออกให้หมด เปลี่ยนเสื้อผ้าศพ เอาผ้าบางๆ คลุมศพตลอดทั้งตัว เอาสิ่งของหนักเล็กน้อยวางบนท้องศพ เพื่อให้ของสกปรกที่อยู่ในร่างกายศพไหลออกมาทางทวารหนักและเบา วางศพตั้งไว้ในที่สูง เช่น เตียง ให้ศีรษะของศพไปทางตะวันออกพยายามทำแก่ศพอย่างละมุนละไมอย่างให้หนัก ซึ่งข้อนี้ควรเป็นเรื่องของสามีภรรยาหรือพ่อแม่และบุตรจะทำให้กันและกัน ถ้ามีหนี้สิน ทายาทต้องรีบชำระให้เสร็จโดยเร็ว ให้รีบอาบน้ำศพ แล้วรีบจัดแบ่งมรดกหรือรีบประเมินราคาทรัพย์สิน สำหรับการอาบน้ำศพนั้น หลักสำคัญคือต้องอาบให้สะอาดกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรอาบ 3 ครั้ง 5 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง และอาบในที่มิดชิด ให้ผ้าปิดความอายของศพและให้อาบน้ำละหมาดแก่ศพด้วย ผู้อาบน้ำควรเป็นเพศเดียวกับศพและควรเป็นญาติใกล้ชิด เช่น พ่ออาบให้ลูกชาย ลูกชายอาบให้พ่อ แม่อาบให้ลูกสาวหรือลูกสาวอาบให้แม่ สามีภรรยาทำให้กัน ไม่ควรถูให้แรง เมื่ออบน้ำศพแล้วควรอาบให้ตัวเองด้วย
เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว ต้องห่อศพด้วยผ้าสะอาด อย่างน้อยชั้นเดียว ถ้าจะให้ดี ผู้ชายห่อ 3 ชั้น หญิงห่อ 5 ชั้น ที่ว่าหญิง 5 ชั้นนั้น คือ 1 ผ้านุ่ง 2 เสื้อ 3 ผ้าคลุมศีรษะและผ้าหุ้มห่อ อีก 2 ชั้น ก่อนห่อผ้าควรเอาของหอม เช่น ผงไม้จันทน์ น้ำมันจันทน์ ประพรมลงไปบนผ้า ทำอย่างนี้ทุกชั้น จนกว่าจะหมด เสร็จแล้วยกศพที่ห่อผ้าแล้วลงบนผ้า ก้าฝั่น (ผ้าสำหรับห่อ) แล้วห่อด้วยผ้าก้าฝั่นอีก 2 3 ชั้น เพื่อไม่ให้ศพเปิดออกขณะที่จะนำไปกุโบร์ (สุสาน)
การละหมาดญานาซะห์
หลังจากนั้นก็จะนำศพไปยังมัสยิดหรือสุเหร่า คือ สถานที่สำหรับทำการละหมาดซึ่งคนไทยทั่วไปเรียกว่า วัดหรือโบสถ์ เพื่อละหมาดให้แก่ศพเสียก่อน แล้วจึงจะนำไปฝังยังกุโบร์
การฝัง
ชาวไทยมุสลิมนั้น จะต้องรีบนำศพไปฝังภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตายลง ทิ้งไว้นานกว่านี้ไม่ได้และการปฏิบัติเกี่ยวกับศพก็ต้องทำอย่างประณีต สะอาดและประหยัด แม้แต่โลงที่จะใส่ศพต้องใช้ไม้ที่ผุง่าย เช่น ไม้ยาง เป็นต้น การฝังนั้นต้องขุดหลุมให้ลึกท่วมศีรษะหรือประมาณ 4 ศอก กว้างพอจุตัวศพ ให้ศพนอนตะแคงข้างขวา ผินหน้าไปทางทิศกิบะล้ะห์ (คือทิศที่ตั้งของวิหารก๊ะอ์บ๊ะห์ ในประเทศอาหรับ ตรงกับทิศตะวันตกในเมืองไทย) ใช้ดินหนุนศีรษะเล็กน้อย เอาดินยันไม่ให้ศพล้มแล้วกลบ
สำหรับศพที่เจ้าภาพมีฐานะดี อาจจะจ้างคนที่มีความรู้ในทางศาสนาไปนอนเป็นเพื่อนศพหรือเฝ้าศพราว 3 วัน หรือ 5 วัน 7 วัน ซึ่งส่วนมากไปเป็นคณะ โดยไปอยู่ที่ศาลาเล็กๆ สามารถยกเคลื่อนที่ไปได้ ในระหว่างอยู่เป็นเพื่อน ก็จะมีการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน (อ่านคัมภีร์) โดยพยายามอ่านให้จบคัมภีร์ ซึ่งก็ใช้เวลาราว 3 วัน 5 วัน 7 วัน หลังจากอยู่เป็นเพื่อนศพครบกำหนดวันแล้ว ก็จะกลับไปยังบ้านของเจ้าภาพและร่วมในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายนั้น ส่วนมากก็ทำในวันที่ฝังศพหรืออาจจะมีอีกวันหนึ่งหลังจากคณะเฝ้าศพกลับจากสุสานแล้วก็ได้หรืออาจทำในวันอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็คงยึดถือแบบประหยัดนั่นเอง
การตะมัต (ฉลอง) หนังสือ
การตะมัตหนังสือหรือการฉลองหนังสือนี้ ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ตะมะหนังสือ คือ การอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุราอาน ทำนองเสนาะ ต่อหน้าครูอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิในทางศาสนาอิสลาม เป็นการแสดงความสามารถของกุลบุตรกุลธิดา ซึ่งผ่านการศึกษาพระมหาคัมภีร์อัลกุราอานมาแล้วเป็นอย่างดี นับว่าเป็นความภาคภูมิใจ ความปลื้มปีติของบิดามารดา ทั้งนี้เพราะตามหลักการของศาสนาอิสลามนั้น บิดามารดาถือว่ามีหน้าที่สำคัญต้องให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ให้มีความรู้ในทางศาสนาและทางโลก เพื่อให้เป็นคนดี มีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าและศาสนาของพระองค์ ถ้าลูกมิได้รับการศึกษา จะถือว่าบาปนั้นจะต้องตกอยู่กับพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องมีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้ลูกมีความรู้ในทางศาสนา ในตอนเยาว์วัยก็จะต้องให้มีความรู้ในการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้ถูกต้องเสียก่อน คือ ต้องอ่านให้ถูกวรรคตอน หนัก เบา สั้น ยาว สูง ต่ำและถูกทำนอง ตามที่โบราณาจารย์ได้กำหนดไว้ ผู้ใดอ่านพระมหาคัมภีร์ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ถือว่าบาปมาก เพราะเป็นพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพ จะต้องศึกษาอย่างอุตสาหพยายามและตั้งใจมั่น กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลานานหลายปี
ปัจจุบันนี้มักจะส่งบุตรหลานไปศึกษากับครูผู้มีความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะเป็นผู้สอนให้ผู้ใดเรียนได้สำเร็จและครูผู้สอนเห็นว่ามีความสามารถพอแล้ว ก็จะจัดให้มีการฉลองพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน โดยจะจัดให้มีงานใหญ่โตแบบเดียวกับการมงคลสมรส (แต่งงาน) เลยทีเดียว ในงานก็จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้แก่ครูผู้ทรงความรู้ในการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นอกจากนี้ก็มีคณะกรรมการในทางศาสนา เช่น คอเตบ บิหลั่น ผู้มีเกียรติทั้งหลายมาร่วมเป็นสักขีพยานและให้ผู้สำเร็จการศึกษา ได้อ่านให้คณะกรรมการดังกล่าวฟัง หลายบทหลายตอนทีเดียว ถ้าหากว่ายังอ่านไม่ถูกต้องตอนใด ก็จะทักท้วงและสอนให้ ซึ่งถ้าหากได้รับการทักท้วงมาก ก็จะเป็นที่น่าอับอายของพ่อแม่ ครูอาจารย์ที่สั่งสอนมา ตรงกันข้ามหากไม่ได้รับการทักท้วง ก็มักจะได้รับคำชมเชยในความสามารถ พ่อแม่ครูอาจารย์ก็จะภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ใครได้ยินได้ฟังก็จะถามกันว่า เด็กคนนี้เก่งมาก เรือนหนังสือกับใครและมักจะชมเชยมายังครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ บิดามารดาก็ปลื้มใจ ถึงแม้ว่าจะหมดเปลืองในการจัดงานฉลองหนังสือนี้ จะไม่เสียดายเลย การจัดงานนี้ส่วนมากจะมี 3 วัน คือวันแรกเรียกว่า วันกวน มีการกวนข้าวเหนียวแดงหรือกะละแม เพื่อแจกเป็นของชำร่วยแก่แขกที่มาช่วยงาน วันที่สองเรียกว่าวันช่วย บรรดาแขกที่ได้รับการบอกเชิญก็จะมาช่วยทำบุญ มีการล้มวัวล้มควาย สำหรับทำอาหารเลี้ยงแขกและบัณฑิตผู้ทรงความรู้ วันที่สามเรียกว่า วันกิน เป็นวันฉลองพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เลี้ยงกันอย่างเต็มที่ หลังจากที่ได้เลี้ยงอาหารคาวแก่แขกและบัณฑิตผู้ทรงความรู้แล้วก็จะนำผู้ที่จะทำการฉลองพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานไปเข้าพิธีแห่แทน ขับร้องประโคมดนตรีเป็นที่สนุกสนานและเป็นการประกาศให้คนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกันและยังทำให้ผู้ที่จะอ่านทดสอบนั้นคลายความประหม่าไปด้วย ขบวนการแห่ก็จัดอย่างมโหฬาร ประกอบด้วยคนถือแจกันดอกไม้ 1 คู่ คนถือชุดกำยวน 1 คน คนถือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อนคนที่จะตะมัตหนังสือและบรรดานักร้องนักคอรีทั้งหลาย ซึ่งสนุกสนานมาก
เมื่อเสร็จพิธีฉลองแล้ว เจ้าภาพหรือบิดามารดาซึ่งเป็นเจ้าของงาน ก็จะจัดเครื่องคำนับครู อาจารย์ มีอาหาร เสื้อผ้า ถ้วยชาม ปิ่นโต กระติกน้ำ กาน้ำและอื่นๆ มาไหว้ครูอาจารย์ที่สั่งสอนกุลบุตรกุลธิดา เป็นการแสดงความรำลึกถึงในพระคุณของคุณครูอาจารย์
การจัดงานฉลองหนังสือนี้ บางทีก็มักจะจัดพร้อมกับงานอื่นๆ เพื่อเป็นการประหยัด เช่น จัดพร้อมกับงานแต่งงาน การโกนจุก โกนผมไฟ ของคนในบ้านหรือญาติพี่น้อง จึงนับว่าเป็นประเพณีที่น่าสนใจและน่านิยมเป็นอย่างมาก
คำที่น่ารู้เกี่ยวกับอิสลาม
อิสลาม
|
- เป็นชื่อศาสนา แปลว่า สันติ
|
มุสลิม
|
- เรียกชื่อผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ตรงกับภาษาไทยว่า อิสลามมิกชน
|
มัสยิด
|
- เป็นภาษาอาหรับ เรียกสถานที่สำหรับนมัสการละหมาดร่วมกันของชาวมุสลิม คนไทยเรียกว่า วัดหรือโบสถ์
|
สุเหร่า
|
- เป็นภาษามลายู คือ มัสยิด นั่นเอง
|
อิหม่าม
|
- เป็นผู้นำในทางศาสนา เป็นหัวหน้าชาวมุสลิมในมัสยิดต่างๆ ตรงกับเจ้าอาวาสในทางพุทธศาสนา
|
คอเตบ
|
- คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปาฐกถาธรรมในวันศุกร์ โดยขึ้นไปบนธรรมาสน์สั่งสอนธรรมต่างๆ
|
บิหลั่น
|
- คนที่ทำหน้าที่ดูแล ควบคุมกิจการต่างๆ ในมัสยิดและทำการติดต่อกับชาวมุสลิมดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการ รายได้ของมัสยิด ทำหน้าที่คล้ายกับมัคทายกของชาวพุทธ
|
หะยี (ฮัจยี, ฮัจย้ะห์)
|
- ผู้ที่ไปบำเพ็ญศาสนกิจ ประกอบพิธีฮัจยี ณ นครเมกกะ (มักก๊ะห์) ประเทศซาอุดีอาระเบียมาแล้ว ถ้าเป็นชายเรียกว่า หะยีหรือฮัจยี ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า ฮัจย้ะห์
|
กำปง
|
- ภาษามลายู หมายถึง หมู่บ้านที่ชาวมุสลิมอยู่รวมกัน
|
ปอซอ
|
- เป็นภาษามลายู ภาษาอาหรับเรียกว่า อัซซิยาม หมายถึง การถือศีลอด
|
กุโบร์
|
- สุสานหรือที่ฝังศพของชาวมุสลิม
|
สุนัต (สนับ)
|
- การทำพิธีเข้าเป็นมุสลิม ถ้าเป็นชายต้องขลิบอวัยวะเพศด้วย เรียกว่า เข้าสุนัดหรือเข้าสนับ
|
กุรอาน (โก้หร่าน)
|
- พระมหาคัมภีร์สำคัญของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประทานมาให้แก่พระศาสดามะหะหมัดเป็นทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ หลักศาสนา คำแนะนำ ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติ เป็นคัมภีร์เล่มสุดท้าย เป็นภาษาอาหรับ เป็นฉันทลักษณ์ที่ไพเราะยิ่ง
|
นักคอรี
|
- นักอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน มีความสามารถ มีเสียงไพเราะ อ่านได้น่าฟัง ถูกทั้งฉันทลักษณ์และคีตศิลป์
|
มายัต
|
- ศพ
|
มุกัลลัฟ
|
- คนที่มีอายุบรรลุนิติภาวะ
|
ซ.บ.
|
- ย่อมาจากคำ ซุบฮาน่ะฮูว่ะตะอาลา เป็นคำสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเอ่ยถึงพระนามของพระองค์อัลเลาะห์ จะต้องมี (ซ.บ.) ต่อท้ายทุกครั้งเป็นการแสดงความเคารพ
|
ฮ.ล.
|
- ย่อมาจาก ซอลลัลลฮุอะลัยฮิว่ะซัลลัม เป็นคำสรรเสริญพระนาบีมุฮัมมัด (พระมะหะหมัด) เมื่อเอ่ยพระนามของพระมะหะหมัดต้องมี (ซ.ล.) ต่อท้ายเสมอ
|
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร ( ๒๕๐๕ ) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สำนักพิมพ์ คลังวิทยา
สมาคมคุรุสัมพันธ์ ( ๒๕๑๐ ) แบบเรียนศาสนาอิสลาม เล่ม ๓ สำนักพิมพ์ มิตรมุขตารี
สมาคมคุรุสัมพันธ์ ( ๒๕๑๑ ) แบบเรียนศาสนาประถมศึกษา เล่ม ๔ สำนักพิมพ์ มิตรมุขตารี
อารีม อับดุลเลาะฮ์ ( ม.ป.ป. ) คู่มือมุสลิมเบื้องต้น สำนักพิมพ์ ส. วงศ์เสงี่ยม
: ผศ. สมาน โซ๊ะเหม
NOTE
สมาน โซ๊ะเหม ( ๒๕๒๕ ) ศาสนาอิสลาม ๓๑๓ ๓๑๘ สมุดเพชรบุรี ๒๕๒๕ ( จังหวัดเพชรบุรี พิมพ์ในโอกาสงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์