เทศกาลบุญเดือนสิบ
งาน บุญเดือนสิบ หรือ วันสารท ได้ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ซึ่งมีกล่าวไว้ในตำราของเก่า เช่น กฎหมายตราสามดวง ตำราพระราชพิธีเก่า ตำราพิธีทศมาสของเก่า เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้กล่าวถึง พระราชพิธีสารท ที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติ ในเดือนสิบ หนังสือที่มีรายละเอียดมากได้แก่ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวถึงความเป็นมาว่า เดิมเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ในอินเดีย ต่อมานำเอามาปฏิบัติร่วมกับพุทธศาสนา
งานบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่มีบางท้องถิ่นทำต่างกันเล็กน้อย เช่นที่ สงขลากับสุราษฎร์ธานี ทำสองวัน คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบครั้งหนึ่ง เรียกว่า วันรับตายาย และวันแรม ๑๕ ค่ำอีกวันหนึ่งเรียกว่า วันส่งตายาย ส่วนที่นครศรีธรรมราช ได้รวมเอาวันแรม ๑๔ ค่ำและวันแรม ๑๕ ค่ำ เป็น วันรับตายายและวันส่งตายาย
งานบุญเดือนสิบในจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน ถือเอาวันแรม ๑๕ ค่ำเป็นหลัก แต่มีบางวัดได้จัดงานต่างออกไป คือ วัดโฆษิตวิหาร วันขึ้น ๘ ค่ำจัดงานวันรับตายาย วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นงานเดือนสิบของวัดพระทอง วันแรม ๘ ค่ำเป็นงานเดือนสิบของวัดบ้านดอน วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบจัดงานทุกวัด
จัดงานเพื่ออะไร
งานบุญเดือนสิบ จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ปู่ย่าตาทวด บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ที่ยังตกทุกข์ได้ยาก เป็นเปรต รวมทั้งเปรตผีไม่มีญาติที่จะทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้
เรื่องของเปรต
ญาติผู้ล่วงลับบางคนยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด แต่ต้องดำรงในภพของเปรต อสุรกายอยู่ เปรตเหล่านี้อยู่บนพื้นโลกนี่เอง แต่มีที่กำหนดให้อยู่ โดยเฉพาะที่วัด เปรตเหล่านี้มีบุญเก่าอยู่ ไม่ถึงกับตกนรกหลายขุม แต่ทุกตนต้องรับกรรมรับเวร จนกว่าจะหมดเวรจึงไปสู่ภพใหม่ ที่อยู่ของเปรตเป็นโรงเรือนชั้นเดียวมีหลังคา มีเชือกกั้นเส้นเล็กๆเส้นเดียวกั้นโดยรอบ จัดเป็นห้องๆละประมาณ ๘ ๑๐ เมตรขนาดเท่าห้องเรียน มีทางเดินตรงกลางประมาณครึ่งเมตร แต่ละห้องจะแออัดไปด้วยเปรตที่มีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งหญิงชาย เป็นผู้สูงอายุที่สิ้นอายุขัยแล้วทั้งสิ้น มีทั้งพวกนั่งนอน บางตนโผล่เหลือแค่คอ ส่วนลำตัวฝังอยู่ในดินทรายก็มี ลำตัวเน่าฟอนเฟะ ผอมแห้ง อ้าปากขอส่วนบุญ แต่พวกเขาออกไปไหนไม่ได้ เสมือนถูกอำนาจบางอย่างจำกัดที่อยู่ ชีวิตอ่อนระโหยโรยแรง หิวโหยขอข้าวกิน เมื่อญาติโยมเอาข้าวใส่บาตร เอาข้าวถวายพระสงฆ์ พร้อมทั้งกล่าวอุทิศส่วนบุญไปให้พวกเขาในทันที พวกเขาก็จะยื่นมือออกมารับข้าวสุกหอมกรุ่นเหล่านั้นทุกตน แต่ด้วยบาปเวรกรรมยังคงอยู่ ข้าวหอมกรุ่นอุ่นอยู่นั้นเมื่อถึงมือถึงปากของพวกเขา ข้าวเหล่านั้นก็จะกลายเป็นข้าวบูดเน่าเหม็นทันที พวกเขาต้องจำใจกินข้าวบูดข้าวเหม็นด้วยบาปยังไม่สิ้น แน่นอนว่า ในขณะที่ท่านยกทัพพีตักข้าวใส่บาตร ยกปิ่นโตถวายพระ พวกเขารอจ้องที่ท่านจะเอ่ยคำอุทิศให้ ถ้าท่านไม่พูดในใจอุทิศให้ พวกเขาจะรับได้อย่างไร
ปู่ย่าตาทวดที่ล่วงลับไปเป็นร้อยๆปี ที่ยังไม่ได้ผุดได้เกิดมีเป็นจำนวนมาก ที่รอผลบุญจากเหล่าบรรดาลูกหลานเหลนลื้อ ญาติพี่น้องทั้งหลาย ซึ่งอาหารหลักที่พวกเปรตต้องการก็คือ ข้าว ที่ท่านใส่บาตรพระสงฆ์ นั่นแหละ ไม่ใช่กับข้าวหมูเห็ดเป็ดไก่ อาหารคาวอร่อยๆตามที่คิด ( สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ เมษายน ๒๕๓๒ )
ดังนั้นในช่วงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ๑๕ ค่ำของเดือน พวกเขาจึงรอส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติ และในช่วงฤดูสารทเดือนสิบ ซึ่งเหล่าญาติทั้งหลายพากันมาทำบุญแบบปีละครั้ง พวกเขาจึงรอส่วนบุญอยู่ เพื่อจะได้เพิ่มพลังบุญ เป็นการร่นระยะเวลาที่จะไปเกิดในภพใหม่ได้เร็วขึ้น
การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้นั้น ท่านว่า ผู้ที่ถือศีลห้าข้ออย่างเคร่งครัด ไม่ขาดตกบกพร่อง พลังบุญที่ท่านอุทิศส่งออกไปนั้นจะมีพลังอย่างมหาศาล ทำให้ผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญมากหรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ท่านอุทิศไปให้ คนเหล่านั้นก็จะได้รับผลบุญจากท่าน ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น
ส่วนกระทงเปรตหรือโทงเปรตนั้น เหล่าบรรดาญาติโยมจัดทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเปรตทั้งหลายที่ ไม่มีญาติ หรือมีเสมือนไม่มี เพราะพวกญาติมิได้ทำบุญอุทิศไปให้ พวกเขาจึงได้รับส่วนบุญจากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ แต่ได้อุทิศส่วนบุญไปให้พวกเขา
ส่วนบรรดาภูตผีทั้งหลายที่ยังไม่ได้ถึงกำหนดสิ้นอายุขัย ที่สถิตอยู่ตามข้างถนน สามแยก สี่แยก ทางโค้ง สระน้ำ บ่อน้ำ ตามบ้านเรือนห้องหับต่างๆ ตามต้นไม้ ป่าเขา ที่เราเรียกว่า ผีตายโหง ผีบ้านผีเรือน ผีนางไม้ ผีป่า ผีพราย ฯลฯ บางท่านจึงเจอด้วยพวกเขามาปรากฏให้เห็น เพื่อขอส่วนบุญ มิได้มาหลอกหลอนแต่ประการใด พวกเขารอส่วนบุญเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้รีบไปเกิดใหม่ ตามอายุขัยที่ยังเหลืออยู่ เช่น จะสิ้นอายุขัยเมื่อ ๘๐ ปี แต่เพียง ๒๐ ปีถูกรถชนตาย เขาจึงเหลืออีก ๖๐ ปี จึงต้องรีบไปเกิดใหม่อีก ๖๐ ปีจึงสิ้นอายุขัย ในทางกลับกัน ตายเมื่ออายุ ๖๐ ปีด้วยอุบัติเหตุ เขาต้องไปเกิดใหม่แต่อยู่ได้แค่ ๒๐ ปีก็หมดอายุขัย ดังนั้นเวลาทำบุญจึงต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผีเหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวดมนต์ก่อนนอนแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล พวกเขามานั่งสลอนกำลังรอรับส่วนบุญจากท่านใกล้ๆเตียงนั่นแหละ แต่เรามองไม่เห็น ยกเว้นบางท่าน
ส่วนอสุรกายที่ร่างกายสูงใหญ่ตัวโตเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม กินอาหารลำบาก ญาติโยมจึงเอาขนมลาถวายพระเพื่อให้พวกอสุรกายได้กิน
ส่วนผู้ที่ตกนรกในแต่ละขุม ยากที่จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลทั้งหมดจากญาติ พวกเขาจะได้รับเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น ถึงแม้จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็ตาม เพราะ นรกไม่ปราณีใคร ผู้ที่ทำบาปหนักตกนรก จึงต้องรับกรรมไปจนกว่าจะครบกำหนด แล้วให้ไปเกิดใหม่ ล้างผลาญกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดกับเจ้ากรรมนายเวรของตน จนกว่าคู่กรณีจะตกลงเลิกแล้วต่อกัน ไม่จองเวรกันอีกต่อไป
พิธีกรรมในงานบุญเดือนสิบ
งานบุญเดือนสิบ กล่าวสรุปแล้วมีพิธีกรรมดังนี้
๑) สวดมนต์ ฟังเทศน์
๒) ตักบาตร
๓) ถวายภัตตาหารคาวหวานแด่พระสงฆ์
๔) กรวดน้ำ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ
๕) บังสุกุล
๖) ให้ทาน
๗) ตั้งกระทงเปรต หรือ โทงเปรต
๘) แห่จาด
เครื่องบูชาที่จะต้องเตรียม
เครื่องบูชาที่จำเป็นต้องเตรียมในวันดังกล่าว ได้แก่
๑) ดอกไม้ธูปเทียน
๒) ข้าวใส่บาตร
๓) อาหารคาว
๔) ขนมหวานสิบอย่าง
๕) ผลไม้
๖) กระทงเปรต
๗) ปัจจัยถวายพระและติดกัณฑ์เทศน์
๘) ผ้าบังสุกุล ( ถ้ามี )
๙) ทำทาน
๑) ดอกไม้ ธูปเทียน ที่จะต้องเตรียม คือ สำหรับไหว้พระบนศาลาการเปรียญ ๑ ชุด แต่ถ้าจะมีกิจกรรมที่อื่น เช่น ไปไหว้พ่อท่านที่อนุสรณ์สถาน บังสุกุลที่บัวเจดีย์ ก็ต้องเตรียมเพิ่ม ส่วนใหญ่ถ้าไปทำบุญแบบครอบครัว จะหาไปแบบธูปเทียนหนึ่งมัด เพราะทุกคนต้องจุดธูปไหว้อยู่แล้ว
๒) ข้าวสุกสำหรับตักบาตร มักเตรียมใส่ขันมาจากบ้าน นอกเหนือจากเอาไปรับประทานร่วมกัน
๓) อาหารคาว มักเตรียมอาหารดีเป็นพิเศษ อาหารที่บรรพบุรุษชอบ กับข้าวมักใส่ปิ่นโตเป็นเถาเล็กเถาใหญ่ เพื่อถวายพระ และส่วนหนึ่งเตรียมไปเพื่อรับประทานด้วย
๔) อาหารหวาน ได้แก่ขนม ๑๐ อย่างที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ จำพวกทอด ๖ อย่าง คือ ขนมลา๑ กระยาสารท๑ ชุบไส้๑ ขนมพอง๑ ลูกบ้า๑ ขนมก้านบัว๑ ส่วนขนมห่ออีก ๔ อย่าง คือ ขนมห่อ(ใส่ไส้)๑ ขนมท่อนไต้๑ ขนมต้ม๑ ขนมเทียน๑ รวมเป็นสิบอย่าง สำหรับแบ่งไปถวายพระสงฆ์ในช่วงที่ถวายปิ่นโตชุด๑ ใส่กระทงเปรตชุด๑ ทำทานชุด๑ และสำหรับเอาไปรับประทานร่วมกันอีกส่วนหนึ่งด้วย ขนมเทียนของภูเก็ตใส่ไส้มีพวกหอมเจียว ฟักเชื่อม ถั่วลิสงคั่ว สมัยก่อนใส่มันหมูชิ้นเล็กๆด้วย ปัจจุบันมีคนกินเจกันมาก เลยเลิกใส่ ขนมลาของภูเก็ตทอดแบบแข็งกรอบไม่ใส่ไข่ ต่างจากนครศรีธรรมราชที่นุ่มและใส่ไข่ด้วย ขนมต้มภูเก็ตใช้ใบกะพ้อห่อ บางแห่งใส่ถั่วแดงเม็ดเล็ก
๕) ผลไม้ เป็นผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน เงาะ ลางสาด กล้วย ของสมัยใหม่ เช่น องุ่น แอปเปิล ฯลฯ
๖) กระทงเปรต สมัยก่อนใช้ใบตอง สมัยใหม่ใช้กล่องกระดาษ ลังโฟม โดยใส่อาหารทุกชนิดในกระทงใบเล็กๆชนิดละกระทง ขนมทั้งสิบอย่างละชิ้น ผลไม้ ข้าวสุก น้ำ เศษสตางค์ ธูปเทียน นำไปวางไว้ตามที่ทางวัดจัดให้ เช่น ที่วัดบ้านดอน จุดธูปเทียนกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผีเปรตไม่มีญาติทั้งหลาย ให้มารับส่วนบุญ อันเป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนกลับบ้าน
๗) ปัจจัยถวายพระใส่กัณฑ์เทศน์ ใส่ซองสำหรับนิมนต์พระไปบังสุกุลที่บัวเจดีย์
๘) ถ้าหากมีบัวเจดีย์บรรจุกระดูกบรรพบุรุษอยู่ที่วัดนั้น ลูกหลานมักนิมนต์พระไปรับผ้าบังสุกุล อาจจะรูปเดียวหรือสี่รูป พร้อมเตรียมปัจจัยใส่ซองด้วยตามจำนวนพระที่นิมนต์
๙) เมื่อทำบุญแล้วบรรดาญาติโยมต่างให้ทาน ด้วยอาหารกับข้าว ขนม ผลไม้ที่เหลือทั้งหมด ซึ่งไม่นิยมเอากลับไปบ้าน รวมทั้งให้ปัจจัยแก่ชาวเล
๑๐) แห่จาด สมัยก่อนชาวบ้านเอาข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งพวกขนมสิบอย่าง โดยเฉพาะขนมลา เอามาประดับตกแต่งสวยงาม แล้วใส่คานหามแห่ไปถวายพระในวันเดือนสิบ ที่ภูเก็ตชาวบ้านทำช่อ คือใช้ใบเตยสานเป็นแบบกระเป๋าใบเล็กๆ เอาข้าวสารอาหารแห้งใส่แล้วเย็บปากถุง ร้อยเป็นพวงเป็นช่อเอาไปถวายพระ บางแห่งเอามารวมกันแล้วแห่ไปวัด เรียกว่า แห่จาด มีกลองฆ้องร้องรำนำหน้าสนุกสนาน ปัจจุบันการแห่จาดยังคงปฏิบัติแต่กลายเป็นการแห่ปัจจัยหรือเงินแทนหรือเรียก ว่าทอดผ้าป่า เช่นที่วัดบ้านดอน ที่ภูเก็ตบางแห่งในปัจจุบัน มักเอาข้าวสารอาหารแห้งไปทอดผ้าป่าในช่วงค่ำของวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบ ซึ่งน่าจะเป็นการทำบุญจาด คำว่าจาดจึงน่าจะมาจากคำว่า จาตุทสี หรือ จตุรทศี ซึ่งแปลว่า ๑๔ ค่ำ
๑๑) การบังสุกุล ผู้ไปทำบุญมักนิยมไปทำบุญยังวัดที่บรรจุกระดูกบรรพบุรุษของพวกตนไว้ เพื่อสะดวกในการทำบุญ จึงเตรียมของไว้ ได้แก่ ผ้าบังสุกุล ตามจำนวนพระสงฆ์ที่จะนิมนต์ เป็นผ้าสบง ควรดูด้วยว่าพระวัดนั้นใช้สีอะไร เพราะปัจจุบันมีถึงสี่สี ดอกไม้ธูปเทียน ซองปัจจัย ที่กรวดน้ำ มักนิมนต์ตอนที่พระฉันเพลแล้ว
ประเพณีการทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีของชาวพุทธที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ปู่ย่าตาทวดญาติพี่น้องทั้งหลายผู้ล่วงลับ ไปแล้ว รวมทั้งเปรตที่ไม่มีญาติทำบุญไปให้ อาจเป็นเปรต หรือ ตกนรกอเวจีลำบากทุกข์ยาก หรือเป็นอสุรกาย จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศลย่นระยะเวลาทนทุกให้สั้นลง หรือจะได้ไปเกิดใหม่ให้เร็วขึ้น หากผู้ที่ไปเกิดใหม่แล้ว พวกเขาจะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ทำให้ชีวิตเป็นสุขยิ่งๆขึ้นไป
ข้อสังเกต
งานบุญเดือนสิบ มีญาติโยมไปทำบุญกันมากในแต่ละวัด ทางวัดจึงเตรียมสถานที่ไว้รองรับเป็นอย่างดี ไม่ว่า หอฉัน ศาลาการเปรียญ บริเวณวัด ห้องน้ำห้องส้วม ของจำพวกถ้วยโถโอชามทางวัดเตรียมไว้ให้ถ่ายอาหารจากปิ่นโตใส่ในภาชนะดัง กล่าวเพื่อถวายพระ แต่บางวัดมีญาติโยมนำอาหารไปถวายมากเกิน ด้วยการถ่ายอาหารใส่ถ้วยชามดังกล่าว จนล้นโต๊ะ บางวัดจึงให้ญาติโยมถวายปิ่นโต พระหยิบปิ่นโตบางเถามาฉัน เมื่อฉันเสร็จจึงคืนปิ่นโตไป แต่บางวัดไม่มีสถานที่พอและมีพระน้อยรูป พระจึงรับปิ่นโตมาแบบถวายสังฆทาน ให้ศีลให้พรกรวดน้ำเสร็จแล้ว พระท่านก็คืนปิ่นโตให้ญาติโยมไป ถือว่าเสร็จสิ้นพิธี ส่วนที่พระฉันจริงก็คือที่โต๊ะอาหารที่ญาติโยมส่วนหนึ่งตั้งไว้แล้ว วัดบางแห่งมีข้าวสุกและกับข้าวเหลือเป็นจำนวนมาก จึงต้องนำไปให้ทานต่อ
อย่างไรก็ตาม วัดโฆษิตวิหารได้ริเริ่มให้แยกใส่อาหารในหม้ออลูมิเนียมขนาดใหญ่ ด้วยการเขียนชื่อกับข้าว ขนมไว้ เช่น หม้อใส่แกงส้ม หม้อใส่ผัดเปรี้ยวหวาน ขนมลา ขนมต้ม เป็นต้น ซึ่งเป็นการริเริ่มที่ดี ที่วัดที่มีชาวพุทธไปทำบุญกันมาก น่าจะทำแบบดังกล่าว
บางวัดเก็บขนมลาใส่ปีบ โรยน้ำตาลทรายให้ญาติโยมรับประทานในวันพระต่อไป ข้าวสุกที่เหลือน่าจะเอามาอบแล้วเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ส่วนกับข้าวพวกแกงจืด ผัดจืด เอามารวมต้มจับฉ่าย เอาไปแจกโรงเรียน เรือนจำ คนยากจน ก็จะได้ประโยชน์ดีกว่าทิ้ง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓
rev.05092014
|