ประเพณีงานศพ
ประเพณีงานศพ๑
การจัดเตรียมงานเมื่อมีการตายเกิดขึ้น ตามประเพณีจีนมีข้อปฏิบัติที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก และเป็นงานใหญ่พอสมควร จึงต้องแบ่งกำลังออกเป็นหลายฝ่าย เป็นการแบ่งงานกันทำ การจัดเตรียมในแต่ละพิธีก็ต้องมีผู้รู้คอยแนะนำให้กระทำพิธีอย่างถูกต้องตามโบราณประเพณี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองของลูกหลานต่อไปในภายภาคหน้า
เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ลูกหลานจะต้องพร่ำพรรณนา ซึ่งถือกันว่าเป็นการเปิดทางให้กับวิญญาณผู้ตายที่เดินทางไปสู่ปรโลก หลังจากนั้นเป็นการจัดเตรียมพิธีในงานศพ
อนึ่งหากมีการตายนอกบ้าน ชาวจีนมักจะไม่นำศพเข้าไว้ในบ้าน แต่หากเป็นความประสงค์ของลูกหลานก็อาจมีการปฏิเสธ ดังนี้คือ
ให้นำศพผู้ตายเข้าทางประตูบ้านหลังบ้าน
นำร่างกายผู้ตายเข้าบ้านในลักษณะของคนเป็นกล่าวคือ ญาติพี่น้องต้องนำร่างผู้ตายเข้ามาในบ้าน โดยห้ามแสดงอาการโศกเศร้าหรือไว้ทุกข์ ต่อมาให้เพื่อนบ้านใกล้ชิดทำทีเข้าไปทักทายปราศรัย เมื่อไม่มีเสียงตอบจากผู้ตาย จึงถือว่าผู้นั้นเพิ่งเสียชีวิตไปภายในบ้าน ต่อจากนั้น ลูกหลานและญาติสนิทจึงแสดงอาการโศกเศร้าออกมาได้ และเริ่มจัดเตรียมพิธีกันต่อไป
พิธีเริ่มด้วยการหาผ้าใหม่มาคลุมบริเวณหน้าหิ้งพระไว้ และนำแป้งละลายน้ำไปละเลงตามกระจกต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะช่วยกันตกแต่งศพ ลูกหลานจะช่วยกันอาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้กับผู้ตาย ตามความเชื่อเดิมนั้นจะแต่งศพด้วยเนื้อผ้า ๗ ชั้นแต่ละชั้น จะเป็นสีผ้าต่าง ๆ กัน โดยกำหนดให้ชั้นในสุดเป็นสีขาว (หมายถึงผู้ตาย) ชั้นถัดมาเป็นสีชมพู (หมายถึงบุตรสาว) และสีอื่น ๆ อีกตามลำดับภายในปากผู้ตายจะใส่มุกแท้ไว้ ๑ เม็ด เชื่อกันว่าจะเป็นแสงสว่างส่องทางให้กับผู้ตาย สำหรับเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอื่น ๆ ไม่นิยมใช้ทองคำ แต่จะใช้พวกเงิน มุก หรือ หยกแท้ เมื่อแต่งศพเสร็จแล้วก็นำมาตั้งไว้ที่ห้องโถง โดยหันเท้าออกทางประตูใหญ่หน้าบ้าน๒ คลุมศพด้วยผ้าใหม่และตั้งโต๊ะเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ตะเกียบ ๑ คู่ ผักกาดทั้งรากลวกด้วยน้ำร้อน ๑ ต้น และกระถางสำหรับเผากระดาษเงิน ๑ กระถาง สิ่งเหล่านี้จะต้องวางไว้ และธูปเทียน ตะเกียงน้ำมันจะต้องจุดตามไว้ตลอดเวลาจนกระทั่งเคลื่อนศพออกจากบ้านแล้วจึงจะนำไปทิ้งได้
หลังจากนั้น ลูกหลานจะจัดหาผ้าไว้ทุกข์ ชุดไว้ทุกข์นี้จะแตกต่างกันออกไปตามลำดับความใกล้ชิดของญาติ การตัดเย็บชุดไว้ทุกข์นี้เดิมทีจะเย็บกันอย่างไม่ประณีตนัก คือ ไม่มีการเย็บริมผ้าและห้ามรีด ตลอดจนพิธีศพนี้ญาติผู้ตายถูกห้ามแต่งหน้าหวีผม หรือประดับเครื่องตกแต่งร่างกายเลย โดยเฉพาะผมนั้นต้องไว้จนครบ ๑๐๐ วันหลังการตายจึงตัดได้
ขณะเดียวกัน ลูกหลานบางคนขณะไปติดต่อซื้อโลงศพ (บางรายซื้อไว้ก่อนตาย) ซึ่งมีเคล็ดอยู่ว่าการซื้อโลงศพนั้น ห้ามต่อรองราคาและยังต้องเพิ่มราคาให้กับผู้ขายอีกด้วยเชื่อกันว่าจะทำให้ลูกหลานเจริญยิ่งๆ ขึ้น บางคนจะไปสั่งทำโคมไฟ (เต้ง) และสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในพิธี ส่วนเพื่อนบ้าน บ้างก็จะมาช่วยกันจัดทำประรำสำหรับเป็นที่นั่งของแขกที่มาในงาน บ้างก็ไปจัดยืมโต๊ะเก้าอี้และถ้วยชามพร้อมทั้งเครื่องครัวอื่น ๆ
ตามธรรมเนียมจีนนั้น จะต้องตั้งศพไว้ ๑ วันกับ ๑ คืน จึงจะบรรลุลงโลง (ปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว) เมื่อถึงเวลาเพื่อนบ้านก็จะไปช่วยกันหามโลงมายังบ้านผู้ตาย ตอนนี้ลูกหลานและญาติผู้ตายซึ่งแต่งกายด้วยชุดขาวและคลุมทับด้วยผ้าหมัว (ผ้าทอหยาบ ๆ ด้วยใยปอ) จะออกมาต้อนรับพร้อมกับพรรณนาบอกผู้ตายว่า บ้านใหญ่ได้มาถึงแล้วหลังจากนั้น ลูกหลานก็จะเผากระดาษเงินกระดาษทองคนละ ๑ ชุด (ประกอบด้วย กระดาษเงิน ๔ พับ กระดาษทอง ๓ พับ ร้อยเป็นพวง) แล้วนำโลงเข้าสู่บ้าน
ตามปกติจะมีการเก็บศพไว้ไม่เกิน ๗ วัน ก็จะนำไปฝัง ระหว่างเก็บศพต้องมีกิจประจำวัน ซึ่งต้องกระทำคล้ายกับผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้
ตอนเช้ามืด ลูกหลานจะต้องนำขันน้ำและผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน มาบอกกล่าวให้ผู้ตายล้างหน้า เสร็จแล้วเป็นรายการอาหารเช้า โดยนำอาหารเช้าหรือขนมพร้อมกาแฟใส่ถาดและพร่ำพรรณนาให้ผู้ตายรับประทานอาหารเช้า
กลางวัน จัดอาหารกลางวันมาเซ่นไหว้
ตอนเย็น จัดอาหารเย็นมาเซ่นไหว้
ค่ำ จัดให้มีการสวดศพทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ในการนี้ลูกหลานจะต้องเคาะฝาโลงบอกผู้ตายให้ฟังพระสวดด้วย
บริเวณหน้าบ้านต้องห้อยประดับด้วย โคมไฟซ้ายขวา ถ้าผู้ตายเป็นชาย จะจุดโคมไฟข้างซ้าย และดับโคมไฟข้างขวา หากเป็นหญิงจะจุดโคมไฟข้างขวา และดับโคมไฟข้างซ้าย (โคมไฟเขียนชื่อสกุลผู้ตายพร้อมอายุ)
เครื่องหมายแสดงการลำดับญาติ
เนื่องจากสังคมชาวจีนอยู่กันในลักษณะครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้องมากมายเมื่อกระทำพิธีในงานศพ บุคคลภายนอกที่ไม่คุ้นเคย ไม่อาจแยกแยะออกมาได้ว่า ใครเป็นญาติลำดับไหน ใกล้ชิดกับผู้ตายเพียงไร จึงจัดเครื่องหมายแสดง ๒ วิธี คือ
๑. การแต่งกาย
๒. ช่อกระดาษที่ถือ
๑. การแต่งกาย
ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานที่เกิดจากลูกชาย (หลานใน) ใส่ชุดผ้าเนื้อดิบคลุมทับด้วยผ้าหมัวหยาบและสวมหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าหมัวหยาบ (ผู้ชายสวมหมวก ผู้หญิงคลุมด้วยผ้าคลุม)
ลูกสาวใส่ชุดผ้าเนื้อดิบ คลุมทับด้วยผ้าหมัวเนื้อเนียน คลุมศีรษะด้วยผ้าหมัวเนื้อเนียน
หลานสาวที่เกิดจากลูกสาว (หลานนอก) ใส่ผ้าเนื้อดิบ ปกหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าหมัวเนื้อเนียน
น้องสาวและลูกน้องสาว ใส่ผ้าเนื้อดิบ ปกหมวกหรือคลุมศีรษะด้วยผ้าเนื้อดิบ ลูกเขย ใส่ชุดดำ สายสะพายสีน้ำตาล ผ้าคาดแขนสีน้ำเงิน
หลานเขย ใส่ชุดดำ สายสะพายผ้าขาวดิบ ผ้าแถบคาดแขนสีเขียวอ่อน
ญาติฝ่ายบิดา ชาย ใส่ดำทั้งชุด พาดสายสะพายผ้าขาวหยาบ
ญาติฝ่ายมารดา ชาย ดำทั้งชุด พาดสายสะพายผ้าขาวเนียน
หญิง เสื้อผ้าขาวเนื้อเนียน ผ้าถุงดำ คลุมศีรษะ ด้วยผ้าขาวเนื้อเนียน
๒. ช่อกระดาษ
ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานชายที่เกิดจากลูกชาย ลูกสาวที่ยังเป็นโสด ถือช่อกระดาษสีขาวล้วน
ลูกสาวที่แต่งงานไปแล้ว ลูกพี่ชาย ลูกน้องชาย ถือช่อกระดาษสีขาวปนน้ำเงิน
ลูกของลูกสาว (หลานนอก) ถือสีน้ำเงินล้วน
ไม้สำหรับทำด้ามของช่อกระดาษนั้น ถ้าผู้ตายเป็นชายจะใช้ด้ามทำด้วยไม้ไผ่
ถ้าผู้ตายเป็นหญิง จะใช้ด้ามทำด้วยไม้นมหว้า (ภาษาถิ่น)
หมายเหตุ การแต่งกายที่ต้องคลุมทับด้วยผ้าหมัวและการถือช่อกระดาษ จะใช้ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้ การรับโลงศพ การบรรจุศพ การทำกงเต๊ก การเคลื่อนศพไปฝัง ส่วนในเวลาปกติจะใส่ชุดผ้าเนื้อดิบธรรมดา ไม่ต้องคลุมทับด้วยผ้าหมัวและไม่ต้องปกหมวกหรือคลุมศีรษะ
การบรรจุศพ
ก่อนบรรจุลงโลงนั้น ต้องเตรียมสิ่งของดังนี้
กระดาษเงินพับเป็นรูปเงินจีน จำนวนพอสมควร
ขี้เถ้า
ใบชาหยาบ
หมอนสำหรับรองศีรษะผู้ตาย ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมเว้าตรงกลาง ภายในบรรจุด้วยกระดาษเงินและกระดาษทองอย่างละ ๑ พับ (ถ้าผู้ตายเป็นชาย พับกระดาษทองอยู่ทางซ้ายพับกระดาษเงินอยู่ทางขวา และถ้าผู้ตายเป็นหญิง พับกระดาษทองอยู่ทางขวา พับกระดาษเงินอยู่ทางซ้าย)
กระดาษเงินแผ่นเล็กจำนวนหนึ่ง
กระดาษซึ่งถือว่าเป็นเงินติดตัวผู้ตาย (พับละ ๑ หมื่นเหรียญ) จำนวนหนึ่ง เรียกว่า ข้อจี๋
ผ้าห่มศพ
เมื่อเตรียมของแล้ว จะให้ผู้รู้เป็นผู้กระทำพิธีด้วยการโรยขี้เถ้าลงภายในโลงและกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล ลูกหลานก็จะร้องรับพร้อมกัน ต่อมาโรยใบชาหยาบ กระดาษเงินที่พับไว้ปูทับด้วยกระดาษเงินแผ่นเล็ก วางหมอนตามลำดับ จึงจะนำศพลงในโลง ขณะเดียวกันลูกหลานแต่ละคน ก็เขียนเครื่องหมายต่าง ๆ กันลงบนข้อจี๋ที่ตนถืออยู่ วางไว้ข้างศพด้วยและคลุมผ้าห่มศพเสร็จแล้วจึงปิดฝาโลงและตอกตะปูทั้ง ๔ มุม การตอกตะปูของโลงศพด้วยและคลุมผ้าห่มศพเสร็จแล้วจึงปิดฝาโลงและตอกตะปูทั้ง ๔ มุมของโลง แล้วให้ผู้รู้ตอกตะปูทีละมุม พร้อมกล่าวคำที่เป็นสิริมงคลเป็นลำดับไปจนกว่าตะปูจะจมมิดหมดเป็นเสร็จพิธีบรรจุศพ
การคัดเลือกหลุมฝังศพ
คนจีนจะคัดเลือกและกาซื้อที่สำหรับจะฝังศพตนเอง ตั้งแต่ขณะมีชีวิตอยู่ บางคนเมื่อตายไปแล้วลูกหลานจึงไปเสาะหาที่ฝังศพให้ อาจเป็นที่ส่วนบุคคลหรือสถานที่ต่าง ๆ การคัดเลือกสำหรับฝังศพนี้ แต่เดิมต้องให้ซินแสมาตรวจหามุม (นับละเอียดเป็นองศา) ที่ถูกต้องเหมาะสมตำราแต่โบราณ ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อสังเกตที่เป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
สถานที่ฝังศพควรเป็นที่ลาดชัน เบื้องหลังเป็นภูเขาซึ่งหมายถึง ความมั่นคงแข็งแรง ความมีหลักฐานใหญ่โต ด้านหน้าควรเป็นที่ราบกว้างใหญ่หรือแม่น้ำหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อหาสถานที่เหมาะสมได้แล้ว ก็ตั้งเครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ขออนุญาตใช้เป็นหลุมฝังศพ โดยใช้ไม้คู่หรือสตางค์แดงเป็นเครื่องเสี่ยงทาย ถ้าได้รับอนุญาตก็ลงมือขุดได้ ถ้าไม่อนุญาตก็ขยับไปทีละนิดหรือเปลี่ยนสถานที่จนกว่าจะหาที่เหมาะสมและได้รับอนุญาตให้ขุดได้ การขุดหลุมฝังศพนั้น พื้นหลุมจะต้องขุดให้มีความลาดนิด ๆ ท้องหลุมโรยด้วยปูนขาวเป็นการป้องกันปลวก หลุมศพนี้ ต้องขุดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเคลื่อนศพมาฝัง ๑-๒ วัน
การเคลื่อนศพไปยังสุสาน
ก่อนจะเคลื่อนศพออกจากบ้าน จะมีพิธี คี่เชียถาว ตามขั้นตอนดังนี้
ตอนเช้าหลังจากไหว้อาหารเช้าแล้ว จะนำข้าว ๗ ถ้วย ตะเกียบ ๗ คู่ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ (เซ่งเล่) ซึ่งประกอบด้วย ไก่ หมู และเส้นหมี่เหลือง พร้อมกับชุดขนมหวาน ได้แก่ ขนมเต่าหรืออั่งกู้ ข้าวเหนียวกวน ขนมถ้วยฟูหรือหวดโก้ย ขนมถั่วเคลือบ อย่างละ ๑ ถ้วย วางไว้บนโลงศพเสร็จแล้วทำพิธีสวดโลงศพโดยภิกษุจีนเป็นผู้นำในพิธี ภิกษุจีนผู้นำในพิธีจะลั่นกระดิ่งพร้อมสวดมนต์เดินเวียนรอบโลงศพ ในขณะที่มีบุตรชายคนโตถือ ตงฮวน (พวงกระดาษด้ามถือเป็นไม้ไผ่ มีแผ่นกระดาษเขียนชื่อตระกูล วัน เดือน ปี เกิด และวัน เดือน ปี ตาย) ลูกหลานใกล้ชิดอื่น ๆ ก็เดินตามเป็นขบวน เรียกพิธีนี้ว่า ซึงก้วน หลังจากนั้น เมื่อไหว้อาหารเที่ยงเสร็จแล้วก็จะเคลื่อนศพออกไปตั้งที่หน้าบ้าน ส่วนภายในบ้านก็จะกวาดขยะออกไปทิ้งนอกบ้านหมด สำหรับลูกหลานที่เดินออกนอกบ้านไปแล้วตอนนี้ ห้ามกลับเข้าบ้านอีกจนกว่าศพจะได้รับการฝังแล้ว ขณะเดียวกันภายในบ้านจะมีพิธี เต้าเที้ย โดยนำน้ำ ๑ กะละมัง ไม้ฟืนงาม ๆ ๑-๒ อัน (ถ้ามีไม้ฟืนมีเสี้ยนไม้รุงรัง เชื่อกันว่าต่อไปลูกหลานจะมีหนี้สินมาก) วางพาดบนปากกะละมัง แล้วนำถาดใส่ข้าวสารวางไว้บนไม้ฟืนอีกทีหนึ่งบนถาดข้าวสารนั้นตรงกลางตั้งขนมด้วยฟู ๑ ถ้วย และล้อมรอบด้วยขนมเต่า ๑๒ ชิ้น ขนมบัวลอยแดง (อ่างอี๋) ๑๒ ลูก สตางค์แดงร้อยเชือก ๑๒๐ อัน เทียน ๑๒ เล่ม (เทียนนี้จะจุดเมื่อเคลื่อนศพไปฝังแล้วผู้ที่จะทำพิธีเต้าเที้ยนี้มีเคล็ดอยู่ว่า ถ้าเป็นสตรีที่มีสามีลูกหลานครบ ห้ามใช้หญิงหม้าย ส่วนโลงศพที่นำออกไปนอกบ้าน ตอนนั้นมีการจัดโต๊ะประดับอาหารเซ่นไหว้ (ป่ายปั๋ว) อาหารเหล่านั้นประกอบด้วย ข้าว ๑ ถ้วย ตะเกียบ ๑ คู่ ผักกาดเขียวกวางตุ้งทั้งรากลวกน้ำร้อน ๑ ต้น อาหารคาวหวาน หัวหมู หรือหมูย่างทั้งตัว (แล้วแต่ฐานะ) รวมทั้งผลไม้ต่าง ๆ พร้อมสุรา การวางโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้หน้าโลงศพให้วางโต๊ะเรียงตามยาวของเนื้อไม้แนวเดียวกับโลง ด้านหน้าสุดของโต๊ะเป็นผ้าเนื้อดิบสีขาวคลุมทับด้วยผ้าหมัว บนพื้นถัดมาเป็นกระถางทราย ปักต้นตะไคร้ทั้งต้น และปูเสื่อจำนวน ๓ ผืน ถัดมาเป็นแนวในลักษณะขวางพิธีคารวะศพในช่วงนี้จะทำกันตามลำดับความใกล้ชิดของญาติ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามขั้นตอนดังนี้
๑. กลุ่มหลานใกล้ชิด (ห้าวหลาม) ประกอบด้วย ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานใน ลูกสาวหลานนอกและน้อง ๆ ผู้ตาย ไหว้ศพ (ช่วงนี้ยังไม่ต้องปูเสื่อ) ลูกชายคนโตหรือหลานชายคนโต คุกเข่าคารวะเหล้า ๔ จอก
๒. บิดาหรือมารดาญาติผู้ใหญ่ของลูกสะใภ้ (ชินเก้ถาว) แต่งกายด้วยชุดดำสะพายสีขาว ก่อนไหว้ศพผู้นำทางพิธีจะพาดสายสีแดงให้ และปูเสื่อ ๑ ผืน จึงคารวะศพ
๓. ลูกเขย ผู้นำทางพิธีจะปูเสื่อ ๓ ผืน และวางผ้าห่ม ๑ ผืน ไว้ที่เสื่อผืนแรกและกระทำพิธีตามลำดับ ดังนี้
ลูกเขยพับมุมผ้าห่มที่เสื่อผืนแรก
ลุกขึ้นยืนแล้วจุดธูปไหว้
เดินไปที่เสื่อผืนสุดท้าย (ผืนที่สามใกล้โต๊ะเซ่นไหว้) คุกเข่าคารวะเหล้า ๔ จอก คำนับ ๔ ครั้ง ถอยหลังมาที่เสื่อผืนที่ ๒ (ผืนกลาง) คำนับอีก ๔ ครั้ง แล้วจึงถอยหลังกลับ
๔. หลานเขย (ลูกเขยของลูกชาย) ทำเหมือนลูกเขย (ต่างกันตรงที่สายสะพายและผ้าแถบคาดแขน)
๕. ญาติห่าง ๆ ไหว้
๖. กลุ่มลูกหลานใกล้ชิด (ห้าวหลาม) ไหว้อีกครั้ง
อนึ่ง การจุดธูปไหว้ผู้ตายนั้น ถ้าคู่มีชีวิตของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ให้จุดธูปเพียงดอกเดียว ถ้าตายแล้วทั้งคู่จึงใช้ธูป ๒ ดอก
หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะช่วยกันนำเครื่องประดับคลุมโลงศพ (ก่วนต่า) มาคลุมบนโลง และนำไม้สำหรับหามโลงมาประกอบเข้าด้วยกัน ตามปกติต้องใช้คนหามถึง ๓๒ คน เมื่อทุกอย่างพร้อมเริ่มเคลื่อนศพไปสู่หลุมฝัง
ขบวนแห่ศพ ประกอบด้วย
หน้าขบวนเป็นแผ่นผ้าเนื้อดิบคลุมทับด้วยผ้าหมัว (ห้าวหลามฉ้าย) พร้อมกับมีการโปรยกระดาษเงินไปตลอดทาง ญาติถือฆ้องใหญ่ ๑ คู่ ญาติถือโคมไฟ ๑ คู่ ญาติหามวอกระดาษใส่รูปผู้ตาย และกระถางธูป (ห้าวหลามเต๋ง) ลูกเขยหรือญาติหามวอลูกเขย (เกี้ยส้ายเต๋ง) กรณีที่ไม่มีลูกเขยไม่ต้องใช้ รถบุปผชาติ (ฮั้วเซี้ย) บรรทุกรูปผู้ตาย รถบรรทุกพระนำทาง (เป็นประเพณีไทยที่ผสมเข้ามา) ขบวนหามโลง ซึ่งลูกหลานใกล้ชิดจะเดินอยู่ข้าง ๆ โดยมีลูกชายคนโตหรือหลานชายคนโตถือตงฮวนและมีขบวนญาติ ๆ เดินตาม และร้องร่ำพรรณนาถึงผู้ตายไปตลอดทางเมื่อถึงบริเวณทางแยกหรือสะพานลูกหลานและญาติเหล่านี้ต้องร้องบอกผู้ตายให้ข้ามสะพานหรือผ่านทางแยก ขบวนรถยนต์ที่แห่ตามไปส่งศพที่สุสาน
สิ่งที่จะต้องเตรียมก่อนฝังศพ
ด้าย ๕ สี สำหรับผูกกระถางธูป หมึกแดง พู่กัน ๑ อัน กระจกบานเล็ก ๆ ๑ บาน กระถางธูป ๑ กระถาง ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ตะปู พอสมควร อาหารคาวหวานประกอบด้วย ข้าว ๑ ถ้วย ตะเกียบ ๑ คู่ กับข้าว ๔ อย่าง เหล้า เครื่องเซ่นไหว้ (ไก่ หมู หมี่) ๒ ชุด
เมื่อขบวนแห่ถึงที่ฝังศพถอดเครื่องประดับบนโลง (ก่วนต่า) ออกค่อย ๆ หย่อนโลงลงในหลุม แล้วช่วยกันหยิบดินใส่หลุมคนละ ๓ กำ และกลบหลุมในที่สุด เมื่อกลบหลุมศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกหลานนำเครื่องเซ่นไหว้และเหล้าไปไหว้เจ้าที่ ๑ ชุด ส่วนข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่นไหว้อีกชุดนำมาวางไว้ที่หน้าหลุมศพ ต่อจากนั้นพระภิกษุจีนทำพิธีสวดรอบหลุมศพอีกครั้งหนึ่ง โดยพระภิกษุจีนจะสั่นกระดิ่งเดินนำตามด้วยลูกชายคนโตถือตงฮวนลูกชายรองหรือหลานชายคนโตแบกภาพถ่ายติดตามด้วยญาติใกล้ชิดอื่น ๆ เดินวนรอบหลุมศพจนสวดเสร็จ หลังจากนั้นภิกษุจีนเจิมภาพถ่ายผู้ตายสำหรับนำไปเซ่นไหว้ที่บ้านแล้วหว่านเมล็ดถั่วเขียว ตะปู ข้าวเปลือก ไปทั่วบริเวณหลุมศพ บุตรชายคนโตจึงนำตงฮวนไปปักไว้เหนือหลุมศพ และนำดินบริเวณหลุมฝังศพไปใส่กระถางธูปไว้เซ่นไหว้ที่บ้าน (ฮ้วนจู้) การนำดินบริเวณหลุมฝังศพกลับไปเซ่นไหว้ที่บ้านจะยกเว้นเมื่อพิธีฝังกระทำในเดือน ๗ ของจีน ส่วนกระดาษ (เต๋ง) และโคมไฟ (เต้ง) นำไปไว้ที่บ้านจนครบ ๗ วัน ขณะนำกลับบ้านจะต้องกลับทางเดิมที่ได้แห่ศพมาพร้อมกับหยอดเหล้าไปตลอดทางจนถึงบ้าน
พิธีครบ ๗ วัน
ชาวจีนมีความเชื่อกันว่าเมื่อผู้ตาย ตายครบ ๗ วัน จึงจะรู้ตัวว่าตายไปแล้วเพราะเมื่อครบ ๗ วัน กลับมาบ้านลูกหลานจะทำพิธีตั้งโต๊ะเซ่นไหว้อาหาร หนึ่งในจำนวนอาหารเหล่านี้มีข้าวเหนียวกวนอยู่ด้วย เมื่อผู้ตายไปหยิบข้าวเหนียวกวนซึ่งมีความเหนียวอยู่เนื้อจะหลุดติดอยู่ที่ข้าวเหนียว จึงรู้ตัวว่าได้ตายไปแล้ว (เพราะเหตุนี้ชาวจีนจึงไม่นิยมให้ฉีดฟอร์มารีนแก่ศพ) ในโอกาสเดียวกันการทำพิธีกงเต๊ก ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในพิธีนี้จะมีหุ่นจำลองที่ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ และไม้เป็นรูปบ้าน รถยนต์ เกี้ยว คนรับใช้ และอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบถ้วย ของเหล่านี้เมื่อเสร็จพิธีต้องเผาอุทิศให้ผู้ตายเช่นเดียวกับในพิธีกงเต๊กนี้ จะมีพระภิกษุมาสวดทำพิธี
พิธีครบ ๗ วัน เริ่มต้นในตอนเช้าของวันที่ ๗ ลูกหลานต้องนำเครื่องเซ่นไหว้ ๒ ชุด พร้อมขนมหวาน (ขนมเต่า ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวกวน ถั่วเคลือบ) ไปไหว้ที่หลุมศพหลังจากนั้นจึงกลับบ้าน จัดอาหารคาวหวานไหว้ภาพถ่ายผู้ตายที่บ้าน ถ้ารายใดทำพิธีกงเต๊กก็จะกระทำกันในช่วงนี้ ตกบ่ายนำเอาหุ่นกระดาษต่าง ๆ ในพิธีกงเต๊กพร้อมวอกระดาษ (เต๋ง) และโคมไฟ (เต้ง) ไปเผาที่หลุมฝังศพอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี
การไว้ทุกข์
ลูกหลานใกล้ชิด ต้องไว้ทุกข์โดยการสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อดิบเป็นเวลา ๑ ปี และห้ามตัดผมเป็นเวลา ๑๐๐ วัน ผลัดเป็นไว้ทุกข์ด้วยชุดเสื้อผ้าสีเขียวหรือน้ำเงินอีก ๑ ปี จึงผลัดใส่เสื้อผ้าสีแดงได้ ส่วนญาติอื่น ๆ อาจไว้ทุกข์เพียงสวมใส่เสื้อผ้าขาวเนียน ผ้าถุงหรือกางเกงดำเป็นเวลา ๓ เดือน ก็ผลัดเปลี่ยนเป็นสีอื่นได้
กาลเวลาเปลี่ยนไป พร้อมกับความเจริญของบ้านเมืองภูเก็ต ในทางสื่อสาร คมนาคม และเศรษฐกิจ งานศพของคนภูเก็ตเชื้อสายจีนเกี่ยวกับพิธีกรรม จึงต้องพัฒนาตามไปด้วย นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงจากการฝัง มาเป็นการเผาแทน และใช้โลงสี่เหลี่ยมทั่วไป มีส่วนน้อยมากที่ยังคงใช้โลงแบบจีน ที่เรียกว่า โก๋ ส่วนพิธีกรรมต่างๆ ยังคงรักษาไว้เหมือนเดิม ตั้งแต่การบรรจุศพใส่โลง เอาสิ่งของต่างๆใส่โลง สิ่งของที่ไหว้หน้าโลงศพ การไหว้หน้าโลงศพวันปลงศพ การแห่ศพใส่รถบรรทุก เมื่อไปถึงเตาเผาที่วัด มีพิธีสงฆ์ การเอาโลงใส่เตาเผาก็เปรียบเสมือนการฝัง แต่ขั้นตอนต่างกันบ้าง
ส่วนการแต่งกายของลูกหลาน ก็ยังคงเดิม ยกเว้นวันปลงศพ แต่งกายตามพิธีกรรมที่กำหนด แต่เปลี่ยนจากผ้าหมัวเป็นผืน มาเป็นผ้าหมัวตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้เข็มกลัดซ่อนปลาย กลัดติดที่หน้าอก ผู้ชายไม่ต้องสวมหมวก ผู้หญิงที่เคยใช้ผ้าคลุมศีรษะเปลี่ยนมาเป็นริ้วผ้าขาวผูกผมแทน เว้นแต่ชินเกถาวที่ยังคงใช้ผ้าพาดบ่า เป็นการประหยัดตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม
การไว้ทุกข์ โดยธรรมเนียมแล้ว เหล่าลูกหลานสะใภ้ ต้องไว้ทุกข์ ๓ ปี ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น ๑๐๐ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง ลดวันไว้ทุกข์ลงมาเรื่อย ด้วยการอ้างว่า ต้องทำงาน ต้องไปงานนั้นงานนี้ ถึงอย่างไร ก็ต้องไว้ทุกข์ครบ ๓ ปีอยู่ดี ไม่ว่าลูกหลานจะออกทุกข์เมื่อไร เพราะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่งบังคับไว้ นั่นก็คือ การไหว้เทวดาวันตรุษจีน บ้านนั้น จะไหว้ได้ เมื่อครบ ๓ ปี ไปไหว้เอาปีที่ ๔ และเอาซินจู้ป้ายวิญญาณขึ้นหิ้ง
อีกประการหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ไม่นิยมเอาศพไว้ที่บ้าน เพราะความไม่สะดวกด้วยสถานที่ ถนน ยวดยาน จึงนิยมเอาไว้ที่วัด ไม่ว่าจะใช้โลงแบบจีนหรือแบบไทย เพราะวัดสะดวกทุกด้าน
พิธีศพของชาวถลางบางท้องถิ่นที่เคยเห็น เมื่อวางโลงศพอยู่บนแท่นฐานสี่เหลี่ยมแล้ว จะทำเสามุมทั้งสี่ด้าน ใช้ผ้าดาดหลังคา มีริ้วรอบ มีผ้าม่านแหวกทั้งสี่ด้าน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
ภายหลังจากเผาและเก็บกระดูกใส่ภาชนะแล้ว ลูกหลานรอนำไปบรรจุที่บัวเจดีย์สุสานประจำตระกูล หรือบัวเจดีย์ที่วัด อาจทำพิธีบรรจุแบบจีนหรือนิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธีแบบไทย ก็ขึ้นอยู่กับลูกหลาน ๓
Note
๑ ประเพณีงานศพ ( ๒๕๔๒ ) วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา ๒๔๘ ๒๕๔ คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ
๒ หมายถึงเป็นศพของเจ้าบ้าน หรือผู้เป็นใหญ่ในบ้านนั้นเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ ต้องวางโลงแอบไว้ด้านข้าง ไม่ให้วางตรงประตู
๓ ข้อความอักษรเอน เขียนเพิ่มเติม โดย ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๕๕๓
*****
หมายเหตุ๒
ติดต่อ โลงจำปา ได้ที่ โกหนก 084-4569-547 ภูเก็ต
*****
ติดต่อ โลงธรรมดาทั่วไป ได้ที่ คุณสมพร 081-8924-420 ภูเก็ต
*****
|