เทศกาลวันสารทจีน
ประเพณีของคนภูเก็ตเชื้อสายจีนในรอบปีที่สำคัญ และกระทำกันเช่นเดียวกับคนจีนและคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆของไทยและต่างประเทศทั่วโลก ประเพณีหลักๆที่สำคัญ เช่น วันตรุษจีน ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ชิดโง้ยโฉ่ยอิด แล้วถึงวันเช็งเหม็งในช่วงวันที่ ๕ เดือนเมษายน หลังจากนั้นเป็นวันสารทจีนในเดือน ๗ วันที่ ๑๕ ค่ำตามจันทรคติจีน และวันถือศีลกินผักในเดือนเก้าวันหนึ่งค่ำถึงเก้าค่ำตามจันทรคติจีน
วันสารทจีน
๑. ความเป็นมา
ชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณเชื่อกันว่า เดือน ๗ ตามจันทรคติจีน ตั้งแต่วันที่ ๑ ค่ำ จนถึงวันที่ ๓๐ ค่ำตลอดเดือน เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้จิตวิญญาณภูตผีปีศาจทั้งหลายได้ออกมาเยี่ยมญาติและกินเครื่องเซ่นไหว้ตามบ้านญาติหรือลูกหลาน หรือตามศาลเจ้า วัดจีน ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้พวกผีเหล่านั้นได้กินกันทั่วถึง จึงได้มีกำหนดวันที่จะทำอาหารคาวหวานให้แต่ละครอบครัวไปดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ ค่ำ ถึงวันที่ ๓๐ ค่ำตลอดทั้งเดือน ๗ ดังนั้นทุกบ้านจึงต้องรับผิดชอบทำเครื่องเซ่นไหว้และไหว้เพียงหนึ่งวันในเดือน ๗ ต่อมาต่างเห็นกันว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องแจกแจงให้แต่ละบ้านรับผิดชอบและจะต้องไหว้ตลอดเดือน จึงได้กำหนดใหม่ ให้ไหว้ในวันเดียวพร้อมกัน คือ เดือน ๗วันที่ ๑๕ ค่ำ หรือเรียกว่า ชิดโง้ยปั่ว เป็นพิธีการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างก็เรียกขานกันว่า ตั่งเจะ หรือ ต่งโจ่ย
ตามลัทธิเต๋าถือเอาเดือน ๗ วันที่ ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่เทพเจ้า ไท่เสียงเล่าจุน กับ เทพเจ้า ง่วนสีเทียนจุน ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่ออำนวยพรให้แก่เหล่ามนุษย์ทั้งหลาย นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ตี่กั๋ว ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์เช่นเดียวกัน เพื่อตรวจสอบความดีความชั่วที่มนุษย์แต่ละคนได้กระทำในหนึ่งรอบปี โดยสอบถามจาก เทพเจ้าธรณี ข้างนักพรตเต้าหยินลัทธิเต๋าต่างประกอบพิธีเชิญพวกผีไม่มีญาติทั้งหลายที่อดอยาก ให้มารับเครื่องเซ่นไหว้สุราอาหารคาวหวาน ให้กินให้อิ่มจงทุกตน เรียกว่า พิธีสารทตงง้วน
ส่วนทางด้านพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีน เชื่อกันว่า เทพเจ้าไท่เสียงเล่าจุน หรือ เหล่าโจ้วกง และท่านปรมาจารย์ ง่วนสีเทียนจุน ได้เสด็จลงมาเป็นองค์ประธานในพิธี และอำนวยพรให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นพิธีสารทที่เรียกว่า ตงหงวนโจ่ย หรือ พิธีเทกระจาด โดยนำอาหารคาวหวานและอาหารแห้งจำนวนมากมาถวายพระรัตนตรัย นอกจากนี้ยังมีของหอมนานาชนิด ผลไม้หลากรส เพื่อถวายแด่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเจ็ดชั่วคน เป็นการตอบแทนพระคุณบรรพบุรุษและบิดามารดาที่ได้เลี้ยงมา เป็นบุญกุศลที่มีอานิสงค์เป็นร้อยเท่าพันทวีทีเดียว ประเพณีเทกระจาดได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่รัชสมัยราชวงศ์เหนือ ใต้ ระหว่าง พ.ศ. ๙๒๙ ๑๑๓๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนนรก หรือ เฝิงตู้ ที่ชาวจีนเชื่อกันนั้น แตกต่างกันไป บ้างก็ว่านรกมี ๓- ๔ขุม บ้างว่า นรกมี ๑๐ ขุม บ้างก็ว่ามี ๑๘ ขุม สำหรับพิพากษาผู้กระทำผิด นรกตามความเชื่อของชาวจีนมิได้อยู่ใต้ดิน แต่อยู่ที่ภูเขา โดยมีเทพเจ้าชื่อ ไท่อี้จิ่วคู่เทียนจุน หยันลั่วอ๋อง หรือ โกวเสี่ยเอี๋ย หรือ ตัวซิเหย่ หรือ พ้อต่อกง เป็น พญายมราช หรือ เจ้านรก เมื่อมนุษย์ตายไป จะมีการนำเอาจิตวิญญาณไปกักขังไว้ที่เขาวงกต หรือ ปราสาทนรก เพื่อพิพากษาความผิดและรับโทษเบาหนักตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ที่โลกมนุษย์ตอนที่เป็นคน เฝิงตู้หรือนรก มิใช่เป็นเพียงสถานที่ทรมานพวกผีเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่จะต้องให้พวกจิตวิญญาณที่ได้ชดใช้กรรมของตนหมดแล้วหนึ่งชาติให้ไปเกิดใหม่ ผู้ทำหน้าที่นี้คือเทพธิดาชื่อ เหมิงโป๋ ทรงเป็นผู้ที่กำกับดูแลจิตวิญญาณที่จะไปเกิดใหม่ โดยให้ดึ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้จิตวิญญาณแต่ละดวงลืมอดีตของตนจนหมดสิ้น แล้วจึงส่งให้ไปเกิดใหม่ และจากตำนานห้องสิน เกียงจูแหย หรือ เจียงไท่กง ได้ให้นางอุนเซียว นางเกงเซียว และนางเพกเซียว สามคนได้บำเพ็ญเพียรมาช้านานแต่มาเข้ากับฝ่ายผิด จึงให้ไปเป็นเทพเจ้าผู้คอบสูบเอาความทรงจำของคนที่จะไปเกิด ให้ลืมอดีตเสียให้สิ้น โดยให้ดำรงตำแหน่ง ฮุนเซียวเนียเนี่ย เกงเซียวเนียเนี่ยและ เพกเซียวเนียเนี่ย
ที่จังหวัดภูเก็ตมีการจัดงาน พ้อต่อ คือ งานวันสารทจีน นั่นเอง แต่เป็นการไหว้ผีไม่มีญาติตามศาลเจ้าและสถานที่ต่างๆที่กำหนดกันขึ้น เรียกว่า พิธีป่ายปั๋ว การจัดพิธีไหว้ตามสถานที่ดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตรงกัน จึงกำหนดวันให้แต่ละแห่งจัดการ ในเดือน ๗ วันที่ ๑ ค่ำถึงวันที่ ๓๐ ค่ำ เช่น
เริ่มจากศาลเจ้าต่องหย่องสู -----> ศาลเจ้าชิดแชเหนียว -------> ศาลเจ้าฮกหงวนกัง -------- >ศาลเจ้าแซ่อ๋อง --------- > บริเวณตลาดสดถนนระนอง -----------> ศาลเจ้าพ้อต่อกง --------->โรงเรียนเก่าภูเก็ตไทยหัวถนนกระบี่ --------> บริเวณถนนตะกั่วป่า เฉพาะที่ศาลเจ้าพ้อต่อกงบางเหนียว จะมีผู้นำขนมหวานรูปเต่าตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ไปถวายองค์พ้อต่อกง ผู้นำไปไหว้อาจจะเอากลับหรือไม่ก็ได้ ส่วนคนอื่นอาจจะขอเต่าจากองค์พ้อต่อกงไปรับประทานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว ด้วยการเสี่ยงทาย เพื่อปีหน้าจะได้นำกลับมาถวายชดใช้ให้ตัวใหญ่กว่าก็ได้
๒. เทพเจ้าและบรรพบุรุษที่จะต้องเซ่นไหว้
สถานที่ที่เจ้าของบ้านจะต้องเซ่นไหว้ มีดังนี้
๒.๑ ทีกง จะมีป้ายและที่ปักธูปเทียนตั้งอยู่ทางซ้ายมือของหน้าบ้าน
๒.๒ เทพประจำบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ตรงห้องโถงแรกของตัวบ้าน จะมีฉากหรือผนังกั้น เทพประจำบ้านจะเป็นองค์ใดนั้นแล้วแต่เจ้าของบ้านที่ได้ตั้งเคารพต่อเนื่องกันมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ปุนเถ่ากง กวนอู หลิมฮู้ไท่ซือ ฯลฯ
๒.๓ จ้อกง จ้อกงม่า จ้อกงโป๋ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
๒.๔ จ้าวอ๋อง หรือ จ้าวฮุ่นกง เทพแห่งเตาไฟในครัว
๒.๕ โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
๒.๖ เทพประจำประตู
๓. ช่วงเวลาที่จะเซ่นไหว้
การเซ่นไหว้จะมีสามเวลา คือ เวลาเช้าประมาณ เจ็ดถึงแปดโมงเช้า ไหว้ทีกง เทพประจำบ้าน และจ้าวฮุ่นกง เวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้าหรือก่อนเที่ยงวัน ไหว้จ้อกง จ้อม่า บรรพบุรุษทั้งหลาย และเวลาตั้งแต่สิบห้านาฬิกาถึงสิบหกนาฬิกา ไหว้โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
๔. ของเซ่นไหว้
เวลาเช้าของที่จะเซ่นไหว้สามแห่ง มีดังนี้
๔.๑ ทีกง ของเซ่นไหว้ประกอบด้วย
๑) หมูต้มพอสุก ๑ ชิ้น
๒) หมี่เหลืองดิบเส้นใหญ่
๓) ปูต้ม
๔) กุ้งต้ม
๕) หมึกแห้ง
๖) สุราขาว 1 จอก
๗) กระดาษทองอย่างเดียว ๑ ปึก
เอาของทั้งหมดรวมใส่ในถาดใบเดียวกัน
๔.๒ เทพประจำบ้าน ของเซ่นไหว้มีดังนี้
๑) หัวหมูต้ม ๑ หัว
๒) เส้นหมี่เหลืองดิบเส้นใหญ่
๓) ปูต้ม
๔) กุ้งต้ม
๕) หมึกแห้ง
๖) ไก่ต้มมีหัว ๑ ตัว
๗) สุราขาว ๑ จอก
๘) กระดาษทองอย่างเดียว ๑ ปึก
เอาของทั้งหมดใส่ในถาดใบเดียวกัน
๔.๓ จ้าวฮุ่นกง ให้จัดเช่นเดียวกับชุดการไหว้ทีกง
๕. พิธีการเซ่นไหว้ภาคเช้า
๕.๑ นำของไหว้ไปวางไว้หน้าหิ้งพระที่จะไว้ทั้งสามแห่ง
๕.๒ จุดเทียนหน้าพระบนหิ้งทุกที่ที่เจ้าของบ้านเคารพนับถือ
๕.๓ ธูปแห่งละสามดอก และเพิ่มธูปแห่งละสามดอกสำหรับวางในถาด
๕.๔ เริ่มจากการไหว้ทีกงหน้าบ้าน
คำกล่าว ข้าขอสักการะทีกง ( องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ) ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ ขออัญเชิญมารับเครื่องสักการะเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ธูปหอม สุราอาหาร ด้วยเทอญ
แล้วปักธูปบนหิ้งสามดอก และในถาดสามดอก
๕.๕ ไหว้เทพประจำบ้าน
คำกล่าว ข้าขอสักการะองค์ปุนเถ่ากง ผู้เป็นเทพประจำบ้าน และอัญเชิญมารับเครื่องสักการะเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
แล้วปักธูปบนหิ้งหน้าองค์ปุนเถ่ากงก่อนและปักธูปสามดอกที่ถาดเครื่องเซ่นไหว้ แล้วจึงปักธูปหน้าพระหรือเทพองค์อื่นที่เรียงอยู่บนหิ้งในบ้าน
๕.๖ ไหว้จ้าวฮุ่นกง
คำกล่าว ข้าขอสักการะจ้าวฮุ่นกง ผู้ปกปักรักษาเตาไฟในครัวและผู้อยู่ในบ้านหลังนี้ ได้โปรดมารับเครื่องสักการะประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
ปักธูปบนหิ้งสามดอก และในถาดสามดอก
หลังจากเสร็จพิธีการไหว้สามแห่งแล้ว แม่บ้านและลูกหลานนำอาหารที่เซ่นไหว้มาปรุงเป็นอาหารต่างๆ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและผีไม่มีญาติต่อไป อาหารทั้งหมดแบ่งเป็นสองชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษชุดหนึ่งและโฮ่วเหี่ยวตี่ชุดหนึ่งใส่กะละมังหรือชามใบใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรดาลูกหลานได้จัดทำอาหารมาให้กินทั้งหมดโดยไม่ได้เว้นไว้แม้แต่น้อย เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ของลูกหลานต่อบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติ ในเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้าหรือก่อนเที่ยงวัน อาหารปรุงเสร็จจัดการเตรียมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
๖. การเซ่นไหว้จ้อกง บรรพบุรุษ
จัดการตั้งโต๊ะไว้ในบ้านตรงกับประตูใหญ่ห่างจากขอบประตูพอเดินเข้าออกได้สะดวก แล้วนำกับข้าวคาวหวานทั้งกะละมังของที่จะเซ่นไหว้ออกมา วางเรียงเป็นแถวบนโต๊ะ ดังนี้
๑) กระถางธูปใส่ทรายหรือข้าวสารอาจใช้แก้วน้ำ เทียนวางไว้หน้าสุด
๒) ผลไม้ แตงโม องุ่น แอปเปิล สับปะรด ส้ม เงาะ ลำไย กล้วยหอม วางแถวที่สอง
๓) ขนมหวาน กี่จ่าง ฮวดโก๊ย อั๋งกู้ ข้าวเหนียวกวน แป๊ะทงโก้ ขนมชั้น วางแถวที่สาม
๔) อาหารคาว
(๑) หมี่เหลืองผัด
(๒) ผัดบังกวน( มันแกว ) กับปลาหมึกหั่นฝอย
(๓) ผัดโอเต้า ( โกเต้า )
(๔) หมูเต่าอิ๋ว
(๕) แกงจืดกระดูกซี่โครงหมูกับผักกาดดอง
(๖) แกงเผ็ดไก่กับมันฝรั่ง
(๗) ผัดผักรวมมิตร ( ซวนน่า กะหล่ำปลี ก่าเป๊ก ถ้ามี )
(๘) โปเปี๊ยะสด
(๙) หมูต้มจิ้มน้ำจิ้ม
(๑๐) อื่นๆ ตามที่เจ้าบ้านจะนำมาเซ่นไหว้เพิ่มเติม เช่น ปลาทอด กุ้งทอด/ต้ม ปูต้ม
(๑๑) ข้าวสวย ๕ ถ้วย เรียงไว้หลังสุด พร้อมตะเกียบและช้อนกลางตักแกง ๕ ชุด วางข้าง ถ้วยข้าวแต่ละถ้วย
(๑๒) สุราขาว ๕ จอก วางไว้ข้างถ้วยข้าวแต่ละถ้วย พร้อมสุรา ๑ ขวด
(๑๓) น้ำ ๑ แก้ว วางไว้ใกล้ถ้วยข้าว
๖.๑ เทพประจำประตู
เมื่อวางของเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ประธานเจ้าของบ้านจุดธูปสามดอกและเทียนที่โต๊ะ เพื่อขออนุญาตเทพประจำประตู ขอให้เปิดประตูเพื่อญาติของเจ้าของบ้านที่จะได้รับเชิญให้เข้ามากินของเซ่นไหว้
คำกล่าวขออนุญาตเทพประจำประตู ข้าขอสักการะ เทพหมึงค่าวและหมึงโป ผู้ปกปักรักษาประตูบ้านหลังนี้ ได้โปรดมารับเครื่องสักการะประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ และขอให้เปิดประตูให้บรรดาบรรพบุรุษของข้ามารับเครื่องเซ่นไหว้ด้วย
๖.๒ ประธานจุดธูปสามดอกเพื่ออัญเชิญบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้ ให้ ยืนหลังโต๊ะในสุด
คำกล่าวอัญเชิญบรรพบุรุษ ข้าขออัญเชิญ จอจ้อกง จอจ้อม่า จ้อกง จ้อม่า จ้อโป๋ อากง อ่าม่า อ่าโป๋และบรรดาญาติที่ล่วงลับทั้งหลาย โปรดมารับเครื่องสักการะ ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร เมื่อ ด้วยเทอญ
หมายเหตุ อาจจะเอ่ยชื่อ ญาติผู้ล่วงลับทั้งหมด ต่อด้วยข้อความว่า และบรรดาญาติที่ล่วงลับทั้งหลายที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ
๖.๓ รอสัก ๕ - ๑๐ นาที ปัวะโป๊ย ถามว่า จ้อกง จ้อกงม่า จ้อกงโป๋ และญาติที่ล่วงลับทั้งหลายมารับเครื่องเซ่นไหว้หรือยัง หากโป๊ยขึ้นคว่ำอันหงายอันแสดงว่า มากินแล้ว หากขึ้นหงายทั้งสองหรือคว่ำทั้งสองแสดงว่ายังไม่มา ให้รอประมาณ ๕ นาทีแล้วถามใหม่ หากยังไม่มาให้นำโป๊ยไปรมควันธูปเวียนสามรอบแล้วถามใหม่ แต่บางตำนานกล่าวว่า การปัวะโป๊ยต้องสามครั้ง คือ ครั้งแรก หงายหมด หรือ คว่ำหมดอย่างเดียวถือเป็นหนึ่งครั้ง ครั้งที่สอง คว่ำหมดหรือหงายหมด แต่ไม่ซ้ำกับครั้งแรก ครั้งที่สาม คว่ำหนึ่งหงายหนึ่ง จึงถือว่าใช้ได้
๖.๔ ถ้ามารับเครื่องสังเวยแล้ว ให้รอสัก ๒๐ - ๓๐ นาที แล้วปัวะโป๊ยถามว่า กินอิ่มหรือยัง หากขึ้นคว่ำอันหงายอันแสดงว่ากินอิ่มแล้ว หากคว่ำสองหรือหงายสองอันแสดงว่ายังกินไม่เสร็จให้รอสักสิบนาทีแล้วถามใหม่
๖.๕ ถ้ากินอิ่มแล้ว ให้ยัวะกิม นำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผาที่หน้าโต๊ะเซ่นไหว้ ให้หาภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้วมารองรับด้วย เอาธูปทั้งหมดและเทียนในกระถางเผารวมกันไป
๖.๖ ตักกับข้าวอย่างละครึ่งช้อนใส่ลงในกองไฟ
๖.๗ เอาสุราขาวบนโต๊ะนั่นแหละ ๑ จอก รดเวียนรอบกองไฟ เป็นเสร็จพิธี
๖.๘ ไม่ต้องจุดประทัดไล่บรรพบุรุษหลังจากเสร็จพิธี
๗. การเซ่นไหว้โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
ผีเปรตทั้งหลายที่ไม่มีญาติหรือญาติมิได้จัดทำเครื่องเซ่นไหว้ เจ้าบ้านจะนำของเซ่นไหว้ ดังนี้
๗.๑ เวลาไหว้ประมาณ ๑๕.๐๐ ๑๖.๐๐ น.
๗๒ ตั้งโต๊ะนอกบ้านบริเวณหลังบ้าน
๗.๓ จัดอาหารคาวหวานที่ได้เตรียมไว้แล้วตามข้อ ๕.๖ ออกมาวางเรียงบนโต๊ะเหมือนกับการไหว้บรรพบุรุษ
๗.๔ ข้าวสวย ๓ ถ้วย สุรา ๓ จอก
๗.๕ จุดเทียนและธูปหนึ่งมัด ใช้ธูปปักที่อาหารชามละหนึ่งดอกทุกชาม เจ้าบ้านเตรียมไว้สามดอก ธูปที่เหลือให้วางไว้ที่โต๊ะไหว้
๗.๖ อัญเชิญโฮ่วเหี่ยวตี่มารับเครื่องเซ่นไหว้
คำกล่าวอัญเชิญโฮ่วเหี่ยวตี่ ข้าขอสักการะโฮ่วเหี่ยวตี่ทั้งหลายที่ไม่ได้รับเชิญ ขออัญเชิญมารับเครื่องสักการะ ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
๗.๗ รอสักประมาณ ๕ - ๑๐ นาที ปัวะโป๊ยถามว่ามากินหรือยัง ถ้าคว่ำอันหงายอันแสดงว่ามากินกันแล้ว ถ้าคว่ำสองหรือหงายสองอันแสดงว่ายังไม่ได้มากินให้รอสักระยะแล้วถามใหม่
๗.๘ ถ้ามากินแล้ว รอสัก ๒๐ - ๓๐ นาที ปัวะโป๊ยถามว่ากินอิ่มหรือยัง ถ้าคว่ำอันหงายอันแสดงว่ากินอิ่มแล้ว ถ้าหงายสองหรือคว่ำสองแสดงว่ายังไม่อิ่มให้รอสักพัก แล้วถามใหม่
๗.๙ หากกินอิ่มแล้ว ให้เผากระดาษเงินกระดาษทองพร้อมธูปเทียนทั้งหมด
๗.๑๐ เอาสุราหนึ่งจอกรดเวียนรอบกองไฟที่เผานั้น
๗.๑๑ เอาอาหารประมาณอย่างละครึ่งช้อนที่ไหว้นั้นใส่ในกองไฟ
๗.๑๒ จุดประทัดหรือไม่แล้วแต่เจ้าของบ้าน เป็นเสร็จพิธี
๘. กำหนดวันไหว้ในปีถัดไป
๒๕๕๒ วันพฤหัสบดี ที่ ๓ กันยายน
๒๕๕๓ วันอังคาร ที่ ๒๔ สิงหาคม
๒๕๕๔ วันอาทิตย์ ที่ ๑๔ สิงหาคม
๒๕๕๕ วันศุกร์ ที่ ๓๑ สิงหาคม
๒๕๕๖ วันพุธ ที่ ๒๑ สิงหาคม
๒๕๕๗ วันอาทิตย์ ที่ ๑๐ สิงหาคม
๒๕๕๘ วันศุกร์ ที่ ๒๘ สิงหาคม
๒๕๕๙ วันพุธ ที่ ๑๗ สิงหาคม
๒๕๖๐ วันอังคาร ที่ ๕ กันยายน
๒๕๖๑ วันเสาร์ ที่ ๒๕ สิงหาคม
๒๕๖๒ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๕ สิงหาคม
ฯสฯ
พิธีกรรมเซ่นไหว้ บางบ้านอาจจะไม่เหมือนดังที่เขียนมา อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์สิ่งที่ได้พบเห็นกันมาและสืบต่อๆกันมา ส่วนข้อความทั้งหมดที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นนี้ ได้สอบถามมารดา คือ คุณแม่หลิน แก่นตะเคียน บางส่วนได้เพิ่มเติมตามเอกสารที่ได้อ่านมาประกอบ เพื่อรักษาประเพณีของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘
Title : Ancestors Worship Festival
: Somboon Kantakian
|