มาเก๊าอ่าแปะ เป็นผู้หนึ่งที่เข้ามาทำมาหากินในภูเก็ต ที่ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานบุญกุศล การช่วยเหลือเพื่อนชาวจีนและคนไทยในภูเก็ต โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ท่านมีแต่น้ำใจและแรงกายที่เอื้อเฟื้อให้คนทั่วไป จนเป็นที่กล่าวขานกันในสมัยที่คนจีนเข้ามาเป็นกรรมกร กุลีทำเหมืองแร่ดีบุกในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ เมื่อท่านตายไปแล้ว คนข้างหลังจึงได้สร้างรูปปั้นไว้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ รูปปั้นปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าซำก้วนไต่เต่หรือซำป้ายกง ที่ตำบลบางคู ท่านจึงเป็นพระภูมิเจ้าที่องค์หนึ่ง ที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือ
มาเก๊าอ่าแปะ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขาน น่าจะหมายถึง คุณลุงชาวมาเก๊า บางคนเรียก เล่าอ่าแปะ หรือ เล่าแปะกง เล่าแปะเดิมท่านชื่อ หลาน แซ่เหลียง เป็นชาวเมืองมาเก๊า ใกล้ฮ่องกงและเกาลูน ท่านพูดสำเนียงกวางตุ้งและฮกเกี้ยน ต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นกุลีเหมืองแร่ดีบุก เช่นเดียวกับคนหนุ่มจีนอื่นๆ ที่ฐานะทางครอบครัวในเมืองจีนไม่ค่อยดีนัก แต่บางคนต้องการไปผจญภัยเผชิญโชคในต่างแดน เมื่อได้เงินมาจึงกลับไปบ้าน หรือไม่ก็สร้างหลักปักฐานในภูเก็ต มีครอบครัว บางคนมีทั้งครอบครัวเมืองจีนและที่ภูเก็ต
เล่าแปะเหลียงได้เดินทางมาด้วยเรือสำเภา ประมาณต้นรัชกาลที่ ๕ แล้วไปสมัครเป็นกุลีเหมืองที่บ้านบางคู หรือพะเกติ๋ว เหมืองที่ทำน่าจะเป็นเหมืองหาบ แบบเปิดหน้าดิน แต่บางแห่งถ้าลานแร่ดีบุกอยู่ลึกจะทำเหมืองรู ชายหนุ่มกุลีเหมืองแต่ละคนจึงต้องมีร่างกายแข็งแรง ทรหด เพราะต้องหาบดินหินขึ้นจากบ่อแร่ บางคนต้องลงไปขุดในบ่อเป็นเหมืองรู
ต่อมาเล่าแปะกงได้ทำหน้าที่เป็นจงผ่อ ต้มข้าวต้มและหุงข้าวสวยให้กุลี ในแต่ละเหมือง นายเหมืองจะสร้างกงสีที่พัก เป็นโรงเรือนโครงไม้ กั้นและมุงหลังคาจาก สร้างแคร่ขนาดยาวเป็นที่นอนรวม เว้นทางเดินตรงกลาง ใต้ถุนโล่งเป็นที่นอนของหมาทั้งตัวผู้ตัวเมีย กงสีจะมีขนาดใหญ่เล็กขึ้นอยู่กับจำนวนกุลี ด้านหน้ามีโต๊ะไม้ ใช้เสาไม้ปูกระดานทำโต๊ะอาหารยาว ตอกติดด้วยไม้กระดานทำม้านั่ง
เมื่อจงผ่อต้มข้าวเสร็จใส่ถังไม้หาบมาวางไว้ด้านหน้า การต้มข้าวจึงต้องตื่นแต่ตีสาม พอสายประมาณเจ็ดโมงเศษจึงหาบไปตั้ง รวมแล้ววันละสองมื้อ เช้ากับเย็น การต้มข้าวใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่ ใช้ไม้ฟืน บางแห่งต้องหุงข้าวด้วยเผื่อคนกินข้าวสวย ด้วยความที่ยากจน และประหยัดเก็บเงินกลับบ้าน พวกเขาจึงต้องใช้ก้อนหินแช่ซีอิ้วใส่ถ้วยเวลาซุยข้าวต้มก็เอาตะเกียบคีบก้อนหินดูดเอาความเค็มแทนเนื้อหมูปลาเป็ดไก่ หลายคนช่วยกันปลูกผักข้างกงสีที่พัก เอาไว้ทำกับข้าว เมื่อแม่หมาออกลูกแต่ละครอกหลายตัว พอโตได้ที่พวกเขาก็จะจับเอาไปถลกหนัง เอาไปต้มตุ๋น เป็นอาหารมื้อวิเศษ คนจีนทุกสำเนียงกินหมา ไม่เฉพาะแต่แคะหลางหรือจีนแคะที่เราเข้าใจกัน
ฝ่ายเล่าแปะเหลียง ในช่วงว่างตอนบ่าย จะชวนพวกออกทะเลบ้านบางคูไปหาปลา ด้วยประสบการณ์ที่อยู่มาเก๊าชายทะเล เมื่อมาอยู่ภูเก็ต อาหารพวกกุ้งหอยปูปลามีมาก เล่าแปะจึงลงอวนทอดแห ได้ปลามาแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก ท่านไม่ได้เอาไปขาย แต่แจกจ่ายให้เพื่อนร่วมชาติคนจีนที่เป็นกุลี ทุกครั้ง นอกจากแจกข้าวของแล้ว เล่าแปะยังช่วยเพื่อนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ทำการเจียดยาให้โดยไม่คิดค่า โดยเฉพาะโรคมาลาเรีย บางคนป่วยจนสุดวิสัยที่จะเยียวยา พอตายเล่าแปะและเพื่อนจึงเอาไปฝังแบบง่ายๆ
ดังนั้นเมื่อคนจีนกุลีที่พลัดบ้านเมืองมาได้รับความเดือดร้อน จึงต้องไปหาเล่าแปะให้ช่วยเหลือ เป็นที่เล่าขานกันปากต่อปากไปหลายตำบล ว่าเล่าแปะเป็นผู้ที่มีน้ำใจช่วยเหลือทุกคน ชอบทำบุญสร้างกุศล
แล้ววันหนึ่ง เล่าแปะก็หายตัวไป ชาวบ้านบางคูและกุลีต่างช่วยกันตามหาไปทั่วทั้งตำบล ตลอดจนทางไปท่าเรือทางขึ้นเขาจากบ้านบางคูไปบ้านในทูหรือกะทู้ แล้วพวกเขาเจอของบางอย่างของเล่าแปะที่จอมปลวกบนเนินเขาดังกล่าว ทุกคนจึงเชื่อว่า เล่าแปะได้ตายไปแล้ว อาจจะถูกเสือใหญ่หรือลายพาดกลอนหรือเสือโคร่งเอาไปกิน แล้วกลายเป็นเสือสมิง
หลังจากนั้นไม่นาน เล่าแปะได้เข้าฝันพวกกุลีและชาวบ้านให้โชคให้ลาภ โดยเฉพาะที่พะเกติ๋วบ่อนไก่ชนและการพนัน ชาวบ้านจึงช่วยกันออกทุนทรัพย์สร้างศาลเจ้ามาเก๊าอ่าแปะขึ้นที่สันเนินเขาทางที่จะไปบ้านในทู สร้างซินจู้ป้ายวิญญาณ แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี โดยเฉพาะในช่วงวันสารทจีน
ในช่วงสมัยนั้น การทำเหมืองรู มีเป็นจำนวนมาก วิธีการเคร่าๆก็คือ เมื่อทราบว่าลานแร่ทอดผ่านไปทางทิศใด เขาก็จะขุดบ่อลงไป โดยใช้ก้าถาวหรือกว้านหมุนขึ้นมา เอาดินหินน้ำขึ้นมา จนถึงลานแร่ ความลึกของบ่อแล้วแต่สถานที่ ตั้งแต่ประมาณสิบเมตรลงไป เมื่อลานแร่พุ่งไปทิศใด กุลีก็เจาะเข้าไปเอาท่อนไม้ยาวประมาณเมตรเศษทำเสาค้ำยัน ดาดด้วยปีกไม้เป็นเพดาน เป็นอุโมงค์เจาะลึกเข้าไปเหมือนทางเข้าถ้ำ เมื่อลึกประมาณสิบหรือสิบกว่าเมตร ก็ต้องไปขุดบ่อใหม่ดักหน้าขนดินหินน้ำและแร่ดีบุก แน่นอนว่า เสาค้ำยันบางช่วงไม่แข็งแรงพอ ทำให้ดินถล่มฝังกุลีในบ่อได้ง่ายๆ กุลีที่ลงไปแต่ละบ่อต้องใช้หลายคนคือ คนขุดเจาะ คนขนดินหินแร่ลำเลียงใส่ปุ้งกี๋หมุนกว้านขึ้นข้างบน โดยสภาพเหมืองใต้ดินแล้ว อากาศร้อนอบอ้าวมาก การถ่ายเทอากาศไม่ดี
ด้วยเหตุนี้เมื่อก่อนที่ดินจะถล่ม ปรากฏว่าวิญญาณมาเก๊าอ่าแปะปรากฏขึ้นมาเตือนภัย พวกกุลีจึงรีบหนีขึ้นมา แล้วดินก็ถล่มจริงๆ พวกเขาจึงให้ความเคารพเล่าแปะมาก ก่อนที่จะลงไปในเหมืองรู จึงต้องกราบไหว้ขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย ไม่อยากเอาชีวิตมาฝังทั้งเป็น ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเล่าแปะกงได้กล่าวขานกันหลายตำบล พวกกุลีจึงให้ความเคารพนับถือมาก รวมทั้งชาวบ้านคนไทย ตลอดจนนายเหมืองบางแห่งเซ่นไหว้เพื่อให้เจอลานแร่ดีบุกมากๆ ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่ขุดร่อนหาแร่ตามภูเขา หรือไปร่อนหาแร่ท้ายรางเหมือง ต่างบนบานขอให้เล่าแปะกงช่วยบอกลานแร่และให้ได้แร่มากๆ
เมื่อพวกเขาได้สมความหวังแล้ว ต่างพากันไปแก้บนเล่าแปะกงด้วย ขนมต่าวซ้อ ขนมจี้โจ้ เจียะโก้ย กาแฟดำร้อน หรือ ข้าวต้มพร้อมกับข้าวกินกับข้าวต้ม บางคนใช้แกงจืดขาหมูต้มหัวเผือกก็มี เป็นต้น
เมื่อทางการได้ตัดถนนผ่านสันเขาไปย้งบ้านกะทู้ ทำให้การขึ้นไปที่ศาลเจ้าลำบากเพราะตัดหน้าดินเกือบชิดตัวศาลเจ้า ทางกรรมการศาลเจ้าจึงประกอบพิธีอัญเชิญวิญญาณมาเก๊าอ่าแปะมาไว้ที่ศาลเจ้าซำก้วนไต่เต่ ประดิษฐานป้ายวิญญาณ รูปปั้น และมีพิธีเซ่นไหว้ในช่วงวันสารทจีน วันตรุษจีนเป็นประจำ
มาเก๊าอ่าแปะ จึงเป็นคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีน้ำใจล้ำเลิศ ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดมา ตั้งแต่มีชีวิตอยู่และภายหลังจากที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว มาเก๊าอ่าแปะจึงได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่งของชาวบ้านหลายตำบล
เมตตาธรรมสูงส่งเทียมเขาเหลียงซาน
นามกระฉ่อนขจายดั่งดอกหลานฮั้ว
ท่านคือเหลียงหลานกง
ขออัญเชิญมาสถิตณศาลเจ้าแห่งนี้
เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านตลอดไป
*****
(ถอดความจากภาษาจีนป้ายวิญญาณเล่าแปะกงที่ศาลเจ้าซำก้วนไต่เต่ โดย โกเกี๋ยว)
******
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓