หลวงพ่อเกษร
วัดสว่างอารมณ์ (วัดราไวย์) ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
หลวงพ่อเกษร เป็นชื่อของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดสว่างอารมณ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ ซ.ม. สูง ๘๐ ซ.ม. เมื่อดูโดยไม่สังเกตอาจจะคิดว่า เป็นพระที่สร้างจากปูนปั้น หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง พุทธลักษณะก็ไม่ได้งดงามตามคตินิยม แต่ก็แปลกที่ผู้สร้างได้มีแนวความคิดที่ไม่เคยมีใครเคยคิดสร้างมาก่อน จึงเป็นความแปลกที่ไม่ซ้ำแบบผู้ใด ประกอบกับการที่มีอายุและประวัติการสร้างนานประมาณ ๒๐๐ ปี ควรที่จะรวบรวมประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อเกษรไว้เป็นหลักฐานเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นต่อไป เพราะผู้ที่ไม่ทราบต่างนึกว่า หลวงพ่อเกษร เป็นพระสงฆ์อดีตเจ้าอาวาสบ้าง เป็นเกจิอาจารย์บ้าง เมื่อได้อ่านเอกสารนี้คงจะได้ทราบ
วัดสว่างอารมณ์แรกเริ่มก่อนสร้างวัดได้มีพระธุดงค์ เดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่อ พระช่วง เพื่อมานมัสการรอยพระพุทธบาทที่เกาะแก้วพิสดาร เนื่องจากการไปมาระหว่างบ้านราไวย์กับเกาะแก้วพิสดารไม่ได้สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ท่านจึงต้องมาปักกลดพักที่บ้านราไวย์ นัยว่า พักปักกลดใต้ต้นพิกุลใหญ่ในวัด เพื่อขอให้ญาติโยมชาวบ้านช่วยนำเรือไปส่งที่เกาะแก้วพิสดาร และพักค้างคืนที่เกาะแก้วพิสดาร ญาติโยมต้องคอยเป็นธุระในการช่วยนำของขบฉันไปส่งที่เกาะแก้วพิสดาร เมื่อกลับมาจากเกาะแก้วพิสดารก็ได้กลับมาปักกลดพักที่เดิม ก่อนที่จะเดินทางกลับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และรับนิมนต์จากชาวบ้านว่าเมื่อออกพรรษาในปีต่อมาท่านจะกลับมาอีก
ก่อนที่พระช่วงจะกลับพระนครศรีอยุธยา ท่านรับจะจัดสร้างพระพุทธรูปไว้ให้ชาวบ้านบูชา โดยขอให้ญาติโยมได้ช่วยกันรวบรวมดอกไม้และเกสรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิดและให้เก็บดอกไม้ที่ชาวบ้านบูชาพระที่แห้งเหี่ยว เพื่อจะนำมาสร้างพระพุทธรูปไว้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ช่วยกันรวบรวมเตรียมไว้ให้ เมื่อพระช่วงเดินทางกลับมาบ้านราไวย์ในปีต่อมา ก็ได้นำดอกไม้และเกสรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิด รวมกับดอกไม้แห้งของชาวบ้านที่เก็บรวมรวมจากการบูชาพระ มาตากแห้งบดเป็นผง แล้วรวบรวมเปลือกหอยมาเผาบดผสมผงเกสรดอกไม้และว่านต่าง ๆ มาผสมรวมกับดินที่ได้จากที่สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งนำมาจากสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย ผสมเข้าด้วยกันปั้นและทำพิธีปลุกเสก โดยเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ๙ รูป มาเข้าร่วมพิธีปลุกเสก แล้วนำมาตั้งไว้เป็นที่บูชาของญาติโยมชาวราไวย์บริเวณที่ชาวบ้านสร้างที่พักสงฆ์ให้ เหตุการณ์ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างวัดขึ้น แล้วพระช่วงก็เดินทางกลับพระนครศรีอยุธยา จากนั้นท่านก็ไม่ได้กลับมาบ้านราไวย์อีก
ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระบุญรอด ธมมกาโม เดินธุดงค์มาจากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ชาวบ้านก็ได้นิมนต์เข้าพักที่พักสงฆ์และจำพรรษา ต่อมาญาติโยมได้จัดสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม จนเป็นหลักฐานมั่นคงมีฐานะเป็นวัดสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๓๘๕ ชาวบ้านนิยมเรียก วัดราไวย์ ตามชื่อบ้าน โดยมีอุโบสถเป็นอาคารชั่วคราวระยะแรกมุงด้วยตับจากต่อมาได้ปรับปรุงเป็นสังกะสี เมื่ออุโบสถหลังเดิมชำรุด คณะพุทธบริษัทได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งหลังเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๙ และผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๓ ดังนั้นประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อเกษร จึงเก่ามีมาก่อนที่จะตั้งวัดเสียอีก
หมายเหตุ คำว่า หลวงพ่อเกษร เป็นคำเดิมที่ใช้ในความหมายของคำว่า เกสร ในปัจจุบัน เห็นว่า เป็นชื่อเฉพาะของหลวงพ่อไปแล้ว
รวบรวมจากคำบอกเล่า ของพระครูสุพจน์ธรรมาทร เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์รูปปัจจุบัน และเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๓ ของกองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๒๗
ตอ่มาผู้มีจิตศรัทธาได้หล่อโลหะองค์เท่าหลวงพ่อเกษรประดิษฐานบนแท่นด้านหน้าองค์เดิม เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
นอกจากนี้ทางวัดได้สร้างเหรียญและพระบูชาหลวงพ่อเกษร รุ่นแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑ จนถึงรุ่นปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อหารายได้บูรณะเสนาสนะ
: มงคล ห้วยจันทร์ รวบรวม
|