ศาลเจ้าเต่งกองต๋อง
ศาลเจ้าเต่งกองต๋อง หรือ เต่งก้องต๋อง หรือ ติงกวานทัง หรือแสงธรรม ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๙/๕ ถนนพังงา ใกล้สามแยกปลายถนนพังงาตัดกับถนนเยาวราช ข้อสังเกตจะเห็นซุ้มประตูเล็กๆ เป็นศาลเจ้าบูชาเทพเจ้าประจำตระกูลแซ่ตัน (แซ่เฉิน)คือ ตันเส้งอ๋อง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเทพเจ้าอ่องซุ่นต่ายส่าย ผู้สร้างเป็นกลุ่มคนจีนชาวฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาเป็นกรรมการเหมืองแร่ดีบุก แล้วได้อาศัยอยู่บริเวณแห่งนี้ เริ่มแรกก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ สมัยรัชกาลที่ ๕ซึ่งคนจีนเข้ามาอาศัยหลายหมื่นคน จากทรากหลังคาลายปูนปั้นที่อนุรักษ์ไว้เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนภาคใต้ที่นิยม ปั้นรูปบนหลังคาศาลเจ้าประดับประดาด้วยกระจกกระเบื้องหลากสี หลังคาศาลเจ้าแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ตรงกลางปั้นรูปนายทหารขี่ม้าถือถะเจดีย์ข้างหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นหลี่จิ้งบิดา หลี่โลเชีย สองข้างเป็นรูปนายทหารขี่ม้าและพลทหารเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับงักฮุย รูปปราสาท รูปมังกรพ่นน้ำ รูปปลา รูปมังกรสี่เล็บ จึงไม่เหมือนศาลเจ้าร่วมสมัยแห่งอื่นที่มีหลังคาทรงเรือแบบเรียบ เป็นอาคารศาลเจ้าขนาดเล็กกะทัดรัดแต่ทรงไว้ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เข้าใจว่าเป็นช่างจีนที่มาจากเมืองจีน
เมื่อเข้าไปสู่ซุ้มประตูที่สองทางซ้ายมือเป็นศาลเจ้าหลังเล็กๆเป็น เทพเจ้าประจำท้องที่และผู้ที่เคยอุปการะศาลเจ้าแห่งนี้แต่สิ้นชีวิตไปแล้ว เสาโกเต้ง ซุ้มบรรจุหลังคาเก่าทำเป็นตู้กระจกหลังคาเข้าใจว่าเลียนแบบหลังคาเดิมใช้ กระเบื้องกาบ เตาเผากระดาษทอง แล้วถึงตัวศาลเจ้า ซึ่งเข้าใจว่าแรกสร้างได้ก่อสร้างอาคารทรงตึกลวดลายสวยงาม ต่อมาหน้าศาลเจ้าได้มีการก่อสร้างอาคารปิดทางเข้า ศาลเจ้าไม่มีคนดูแลปล่อยทิ้งร้างมานาน จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ เทพเจ้าได้เข้าทรงแล้วสั่งให้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ ผู้มีจิตศรัทธาจึงช่วยกันออกทุนทรัพย์ปรับปรุงศาลเจ้าแบบผู้รู้เรื่องการ อนุรักษ์โบราณสถานวัตถุ ดังนั้นภาพจิตกรรมประติมากรรมฝาผนังของเดิมจึงยังคงอยู่ในสภาพเดิมๆที่ค่อน ข้างหาดูได้ยากในภูเก็ต เมื่อบูรณะเสร็จแล้วก็ยังได้นำส่วนที่ที่มีอยู่เดิมคือยอดหลังคามาจัดแสดง ไว้อีกด้วย จนได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ได้รับรางวัล การอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังข้อความว่า สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานกิตติบัตร แก่ นายไกรภพ ลิ่มกังวาสมงคล ผู้แทนคณะกรรมการศาลเจ้า ผู้ครอบครองอาคาร ศาลเจ้าแสงธรรม จังหวัดภูเก็ต ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปี ๒๕๔๐ รางวัล ศิลปสถาปัตยกรรม ในด้านปูชนียสถานและวัดวาอาราม โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นายจำเนียร ศศิบุตร นายกสมาคนสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ภายในห้องโถงแรกมีโต๊ะบูชาทีกง ป้ายศาลเจ้าและภาพเกี่ยวกับขุนนางและบริวารทั้งหญิงชาย ช่องลมเหนือประตูเป็นศิลปะจีน ตรงหัวเสาทั้งสี่ต้นวางรูปเทพเจ้าสี่ทิศ คือ ทิศเหนือ เทพตัวเหวินเทียนถือร่ม ทิศใต้เทพเจิงฉางเทียนถือดาบ ทิศตะวันออกเทพฉือกั๋วเทียนถือพิน ทิศตะวันตกเทพก่วงมู่เทียนถือถะเจดีย์ บานประตูมีเทพเจ้าประจำประตูแบบแกะ สลักสวยงาม ตรงผนังหลังประตูหน้าทั้งสองข้างเป็นบานประตูเก่าที่เก็บรักษาไว้ ภายในอาคารหลักห้องโถงบริเวณฝาผนังด้านซ้ายมือ เมื่อเข้าไปมีประตูออกไปทางข้าง ฝาผนังทั้งสองด้านเป็นจิตกรรมลายเส้นหมึกจีนสีดำ จัดทำเป็นห้องๆหรือภาพข้างละ ๕๓ ห้อง รวมทั้งหมด ๑๐๖ ห้องภาพ เป็นภาพเล่าเรื่องราวชีวประวัติของเทพเจ้าซิยิ่นกุ้ยและราชวงศ์ถัง เป็นภาพลายเส้นที่สวยงามการแต่งกายเข้าใจว่าเป็นสมัยราชวงศ์หมิงแบบเดียวกับ ชุดงิ้วเรื่องสามก๊ก คือเรื่องซิยิ้นกุ้ย เหนือผนังทั้งสองด้านตรงผนังหน้าจั่วเป็นภาพเซียน ๓๖ องค์ ข้างละ ๑๘ องค์ทรงพาหนะสัตว์ชนิดต่างๆ ในเทพนิยายเรื่องเฟิงเสินปัง เช่น หลี่จิ้ง หลี่กิมเชีย หลี่บกเชีย หลี่โลเชีย หลุยจินจู้ เอียวเจี้ยน อุยฮอ เมิ่งปั๋วเนียงเหนียง เป็นต้น เป็นภาพวาดต่อเนื่องกันด้วยเมฆฝีมือสวยงามภาพสมส่วนไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่เทพ แต่ละองค์ทรง
ก่อนถึงผนังด้านหลังมีฉากไม้กั้นทำเป็นช่องประตูซ้ายขวาตรงกลางโปร่ง แต่วางแท่นตั่งสูงประดิษฐานเทพเจ้าตันเส้งอ๋อง หลี่โลเชีย เตียวเทียนซื่อ มาจอโป๋ พระจี้กง ฯลฯ ด้านในสุดหลังฉากไม้เป็นห้อง ข้างประตูทางซ้ายขวามีรูปปั้นลอยนูนขนาดใหญ่เป็นเทพเจ้าสี่องครักษ์ข้างละ สององค์ทรงเครื่องนายพลทหารข้างหลังปักธงสี่คัน ถือดาบ กระบองและกระบองน้ำเต้า ผนังห้องนี้ตรงกลางประดิษฐานพระประธานศาลเจ้าในเก๋งไม้แกะสลัก คือ เทพอ๋องซุ่นต่ายส่ายหลายขนาดในชุดนายพลทหารปักธงสามชายข้างหลังห้าคัน มือขวาถือเข็มขัดมือซ้ายวางบนเข่า เหนือเก๋งประทับขององค์ประธานมีอักษรสี่ คำว่า ต่ายส่ายเอี๋ยเอี๋ย ด้านขวามือองค์ประธานวางรูปกวนอู ส่วนทางซ้ายมือวางรูปพระกวนอิม
ผนังทางด้านซ้ายมือองค์ประธานเป็นภาพปั้นลอยนูนขนาดใหญ่ คือเทพเจ้าผู้ทรงให้ดวงวิญญาณที่ชดใช้กรรมในนรกไปแล้วช่วงหนึ่งให้ไปเกิด ใหม่ คือ จู่แซ้เนียวเหนียวหรือซำเซียนตงจื่อ องค์พี่ผู้เป็นประธานชื่อ เมิ่งปั๋วเหนียงเหนียงหรือ หุนเสียวหรืออินเสียว กับน้องสาวอีกสององค์คือ ผางเฉอเหนียงเหนียง หรือ เพกเสียวหรือจงเสียว และกงเต๋อเหนียงเหนียง หรือ เกงเสียวหรือหลิงเสียว เทพทั้งสามองค์ประจำอยู่ที่ศาลพิจารณาที่สิบมี จ้วงหลุนหวางเป็นประธาน ส่วนด้านขวามือเป็นภาพปั้นลอยนูนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน คือเจ้าแห่งนรก ชื่อ ฉินกวงหวาง ประจำศาลพิพากษาที่ ๑ สำหรับพิจารณาดวงวิญญาณทุกดวงที่เคยทำดีทำชั่วเมื่อมีชีวิตอยู่ มีเสนาบดีอ่านความดีความชั่ว มีเทพหัวม้าหัวควายคอยกำกับ ผู้ไม่มีบาปเดินทางข้ามสะพานทองขึ้นสวรรค์ไปทางทิศตะวันตก ผู้ที่ยังมีบาปอยู่แต่ต้องชดใช้กรรมเหล่านั้นเดินข้ามสะพานเงินทางทิศใต้ ต้องลงไปเกิดใหม่ชดใช้กรรมแต่ไม่มากนัก ส่วนผู้มีบาปทั้งหลายต้องไปลงนรกขุมต่างๆตามโทษานุโทษ
ศาลเจ้าเต่งกองต๋องจึงเป็นศาลเก่าแก่แห่งหนึ่งที่น่าสนใจด้านศิลปสถาปัตยกรรม ทั้งงานจิตกรรม ประติมากรรมลายปูนปั้นและสถาปัตยกรรมงานก่อสร้างแบบจีนในภูเก็ต
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑ มกราคม ๒๕๕๑
***
ห้ามถ่ายรูปในศาลเจ้า ! ! !
NO PHOTO !!!!
*****
|