ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง หรือ ศาลเจ้ากิวอ๋องไต่เต่ หรือศาลเจ้าจิ่วหวงต้าตี้ หรืออ๊ามจุ้ยตุ่ย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๘๓ ถนนภูธร อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยย้ายอุปกรณ์และเหี่ยวโห้ย มาจากตรอกมาเก๊าหรืออ่างอ้าหล่ายหรือซอยรมณีย์ในปัจจุบัน อยู่ระหว่างถนนถลางกับถนนดีบุก
จำเดิมความ เมื่อชาวจีนได้เข้ามาทำมาหากินในเขตประเทศสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองถลางด้วย เมื่อพม่าตีเมืองถลางแตกและถูกเผาทำลายเสียสิ้นในพ.ศ. ๒๓๕๒ ต่อมาได้มีการสร้างเมืองถลางขึ้นมาใหม่โดยพระยาถลางเจิม นายแก้วบุตรพระยาถลางได้มาช่วยหลวงวิชิตภักดี เก็บส่วยสาอากรดีบุกที่เมืองเก็ตโห เขตในทูหรืออำเภอกะทู้ในปัจจุบัน ต่อมาได้เป็นพระภูเก็จ ( แก้ว )และได้ขยายการขุดหาแร่ดีบุกไปยังตำบลทุ่งคา จนทำให้เกิดเป็นเมืองทุ่งคาที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กุลีหรือกรรมกรเหมืองแร่ดีบุกไม่พอต่อความต้องการของนายเหมือง พระภูเก็จจึงเดินทางไปกรุงเทพฯ จ้างคนจีนไหหลำจำนวน ๓๐๐ คนลงทำงานที่เมืองทุ่งคา ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน มณฑลกว่างตง และเขตใกล้เคียงเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง หมุนเวียนกันหลายหมื่นคน กระจายไปตามแหล่งขุดแร่ดีบุกทั้งในทู เมืองทุ่งคาและใกล้เคียง
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวก ให้พวกเขาตามมาคือ โรงสูบฝิ่น หญิงโสเภณีจีน บ่อนการพนัน โกปี่เตี่ยมหรือร้านกาแฟ ร้านขายยา ร้านขายของกิน ขายหมี่ ขายข้าวต้ม ขายอุปกรณ์ทำเหมือง รวมทั้งแหล่งบันเทิง อย่างโรงงิ้ว หุ่นกระบอก ดนตรีและการขับร้องเพลงจีน เป็นต้น โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งหลักคือ ตรอกอ่างอาหล่ายซึ่งมีครบทุกรส โดยเฉพาะการแสดงงิ้วที่ปักหลักแสดงกันเป็นปี แต่เปลี่ยนเรื่องที่แสดงไปเรื่อยเพื่อผู้ชมจะได้ไม่เบื่อ คณะงิ้วชุดนี้คือคณะกังฉ้ายฮี่คงเช่นเดียวกับชุดที่แสดงตลาดในทู เมื่อถึงวันที่ ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงวันที่ ๙ ค่ำเดือน ๙ ต่างสร้างโรงกินผักแบบง่ายๆ ด้วยหลังคามุงจากกั้นตับจากไว้หน้าโรงงิ้ว แล้วนำเอากิมสีนองค์เล่าเอี๋ยและป้ายซินจู้กิวอ๋องไต่เต่ ป้ายซินจู้หยกอ๋องส่องเต่ออกมาสักการะในพิธีกินผักของพวกตน ทำให้ชาวจีนที่มาดูพิธี และดูงานแสดงงิ้วต่างเลื่อมใสเทพเจ้าดังกล่าวแล้ว เพราะคนจีนที่มาทำเหมืองส่วนใหญ่ จะสร้างศาลเจ้าพระภูมิเจ้าที่คือ ปุนเถ่ากงเป็นหลัก
แต่ด้วยเหตุบังเอิญ เกิดไฟไหม้ตรอกอ่างอาหล่ายขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๗ คนท้องที่จึงรีบย้ายองค์เล่าเอี๋ย และกระถางธูปอุปกรณ์ในปะรำพิธีออกมาได้ รวมทั้งป้ายซินจู้ด้วย พวกหัวหน้าคนจีนที่ทำมาหากินในแถบนั้น รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน จึงประชุมร่วมกันว่า น่าจะสร้างโรงกินผักขึ้นใหม่แบบกึ่งถาวรให้เป็นศาลเจ้า ต่างออกความคิดเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายบ้านบางเหนียวมี นายตู่เกี้ย แซ่ตัน นายแดง แซ่โก้ย นายสุ่ยกิ้ม แซ่จึ่ง นายเซียะกะ แซ่ตัน นายหง่อ แซ่ตัน กับฝ่ายชาวบ้านตลาดเหนือมีผู้ใหญ่บ้านคือนายสุ่ยติ่น แซ่เอี๋ยว นายจีเต๊ก แซ่เจี่ย นายสุ่น และคนอื่นๆอีกหลายคน ต่างก็ต้องการให้ไปสร้างที่ตำบลบ้านของตน ที่ประชุมจึงตกลงกันไม่ได้ สรุปก็คือ ต่างฝ่ายต่างไปสร้างศาลเจ้าโรงเจขึ้นที่ตำบลบ้านของตน ฝ่ายบ้านบางเหนียวได้เอาองค์พระเตี่ยนฮู้หงวนโส่ยไป และได้ดำเนินการก่อสร้างในปีเดียวกันนั้นเอง ชาวบ้านตลาดเหนือเอากระถางธูปเหี่ยวโห้ยไป และคงจะมีซินจู้องค์กิวอ๋องไต่เต่ และหยกอ๋องส่องเต่ไปด้วย คงเอาไปเก็บในที่ที่ปลอดภัย จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๐ จึงได้เริ่มดำเนินการ
กลุ่มนายสุ่ยติ่นจึงไปปรึกษานายฮก แซ่เอี๋ยวบิดานายกวนสิ่ว แซ่เอี๋ยว เจ้าของที่ดินบริเวณสวนพลู หมู่ที่ ๖ ตำบลตลาดเหนือ บริเวณหมู่บ้านจุ้ยตุ่ย เนินเขาเปงเอี๋ยงซาน ด้านหน้าเป็นท่าเทียบเรือท่าจุ้ยตุ่ย อำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าของที่ดินตกลงให้ที่ดิน เพื่อสร้างศาลเจ้าขึ้น จึงได้เรี่ยไรเงินสร้างศาลเจ้าหลังเล็กๆ ๑ หลัง มุงและกั้นด้วยตับจาก แบบเรือนกว้าน แล้วอัญเชิญเหี่ยวโห้ย และอุปกรณ์ที่เอามาจากตรอกอ่างอาหล่าย ประดิษฐาน ทำพิธีเซ่นสรวง และเรียกว่า อ๊ามกิวอ๋อง หรือ อ๊ามจุ้ยตุ่ย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อศาลเจ้าเดิมชำรุด จึงได้สร้างขึ้นใหม่แบบเรือนกว้านแบบเดิม แต่ขยายตัวอาคารให้ใหญ่ขึ้นพื้นปูซีเมนต์ มุงและกั้นตับจากเช่นเดิม ชาวบ้านต่างพากันมาเซ่นไหว้มิได้ขาด เมื่อเห็นว่าหลังคาจากใช้ไปไม่กี่ปีหลังคาก็จะรั่วง่าย จึงได้เปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐ พร้อมขยายให้กว้างกว่าเดิมเล็กน้อย
ถึง พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางกรรมการศาลเจ้าจึงซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๒ ห้อง แล้วสร้างโรงครัวขึ้นแบบถาวร พร้อมกับจัดหาอุปกรณ์ต่างๆทั้งในศาลเจ้าและโรงเจกินผัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีส่วนพัฒนาศาลเจ้าให้มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ นายวินัย แซ่ส้อ ( จิ้นเบ๋ง แซ่ส้อ ) ผู้เป็นคนทรงพระเฉ่งจุ้ยโจวสู่กง มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านมีกิจกรรมต่างๆที่คนภูเก็ตให้ความนับถือพอสมควร ต่อมาท่านได้ไปสร้างศาลเจ้าซุ่ยบุ่นต๋องที่ถนนพัฒนาท้องถิ่น บ้านหล่อโรง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ คณะกรรมการศาลเจ้าและผู้มีจิตศรัทธา จึงร่วมกันสร้างอาคารทรงตึกอย่างสวยงาม แบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตามรายชื่อส่วนหนึ่งที่ติดประกาศไว้
นับแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา คณะกรรมการศาลเจ้าต่างช่วยกันพัฒนาทยอยก่อสร้างอาคารหลายหลัง และจัดตั้งเป็นมูลนิธิจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการบริหารรับผิดชอบศาลเจ้าปุดจ้ออาคารติดกับศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย และศาลเจ้า
กิ้วเทียนเก้งซึ่งตั้งอยู่ที่สะพานหินด้วย
บริเวณศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ด้านหน้าติดถนนภูธร มีบันไดขึ้นไปเป็นลานกว้างพอสมควร ตรงบันไดมีซุ้มประตูจีนขนาดใหญ่ มีเตาเผากระดาษทองและศาลเจ้าเล็กๆประดิษฐานซินจู้เป็นป้ายฉ้ายอิ้วคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ฮวดกั้ว ม้าทรง ด้านนี้มีช่องประตูเข้าไปยังศาลเจ้าปุดจ้อด้านขวามือ ส่วนด้านซ้ายมือเป็นอาคารกิจกรรม เช่น ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการ โรงครัว ที่ขายธูปเทียน ที่ติดต่อบริจาคเงินและสิ่งของ ส่วนด้านหลังอาคารใหญ่มีตรอกตันออกไปถนนระนองตรอกนี้อยู่หลังศาลเจ้า ตรงกันข้ามหลังศาลเจ้าเป็นอาคารกิจกรรมห้าคูหาขนาดใหญ่ทะลุออกถนนปฏิพัทธ์
ภายในอาคารหลัก ด้านหน้ามีโต๊ะบูชาทีกง มีประตูทางเข้าสามช่องประตู ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลัก มีป้ายสำนักว่า กิ่วหวงไต่เต่ หรือ จิ่วหวงต้าตี้ ภายในห้องโถงกลางหน้าโต๊ะมีป้ายบอกเทพชุมนุมเป็น จงไต่ซิ่นเบ๋ง เช่น พระยูไลฮูด พระโพธิสัตว์พุทธเจ้า เทพเล่าเอี๋ย กวนอู เตียวเทียนซื่อ เป็นต้น ด้านหลังเป็นห้องตำหนักกิ่วหวงไต่เต่
เมื่อหันออกนอกอาคาร ด้านซ้ายมือเป็นห้องเทพชุมนุม แบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงหลังสุดเป็นเทวรูปขนาดใหญ่ ๔ องค์ คือ พระเฉ่งจุ้ยโจวสู่กง พระกวนอิมโพธิสัตว์ เตี่ยนฮู้หงวนโส่ย หรือฮ่องเต้ถังหมิงหวง หรือเล่าเอี๋ย และองค์ที่ ๔ เป็นส่ามฮู้อ๋องเอี๋ยหรือ ฮ่องเต้เหลียงไท่จู่หรือจูเวิน ส่วนที่เหลือเป็นองค์ขนาดเล็ก มีพระโพธิสัตว์ ซุนอู้กง เป็นต้น ช่วงที่สอง ประดิษฐานเทพขนาดใหญ่เช่น เฮียนเทียนส่องเต่ มาจอโป๋ และมีใบเซียมซีจำนวน ๘๐ เลขทั้งภาษาจีน ภาษาไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษ ช่วงที่สาม มีเฮียนเทียนส่องเต่ ปุนเถ่ากง ช่วงที่สี่ มีเทพขนาดเล็ก เช่น ปุนเถ่ากง กวนอู เล่าเอี๋ย เตียวเทียนซื่อ เอียวเจี้ยน เฮียนเทียนส่องเต่ เป็นต้น ช่วงหน้าสุด หลี่โลเชีย เล่าเอี๋ย โป๊ยเซียน
ส่วนห้องทางขวามือเป็นเทพชุมนุม ด้านหลังสุดองค์กลางเป็นกวนอู อ่องสุ้นต่ายส่าย เตียวเทียนซื่อ แถวที่สองมีกวนอู และอื่นๆ แถวที่สามองค์กลางหลี่โลเชีย ปุนเถ่ากง หลี่ฮู้อ๋องเอี๋ย
หรือหลี่จินหวาง ทิฮู้หงวนโส่ย แถวหน้าสุดองค์ขนาดเล็ก เป็นเทพต่างๆ โต๊ะหน้าสุดประดิษฐานองค์ขนาดเล็ก เช่น มาจอโป๋ เล่าเอี๋ย สามพี่น้องแซ่หลี่ ซุนอู้กง ส่วนด้านข้างมีฮ้อเอี๋ย
เทวรูปเหล่านี้อาจมีการโยกย้ายสับเปลี่ยน จัดใหม่ตามความเหมาะสม จึงไม่ได้ประดิษฐานคงที่ตลอดไป
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย จึงเป็นศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งที่ผู้ศรัทธาต่างไปเซ่นไหว้เป็นประจำ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑
Title : Jui Tui Dao Bu Geng Shrine, Phuthorn Rd. Phuket.
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian 07/07/2008
|