ศาลเจ้าในทูเต้าบู้เก้ง

ศาลเจ้าในทูเต้าบู้เก้ง หรือ ศาลเจ้ากะทู้ ถือกันว่าเป็นศาลเจ้าโรงเจแห่งแรกในภูเก็ต ศาลเจ้ากะทู้ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒ หมู่ ๒ ถนนวิชิตสงครามตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
จากประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า ชาวจีนได้เข้ามาทำมาหากินในเขตประเทศสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองถลางด้วย เมื่อพม่าตีเมืองถลางแตกและถูกเผาทำลายเสียสิ้นในพ.ศ. ๒๓๕๒ ต่อมาได้มีการสร้างเมืองถลางขึ้นมาใหม่โดยพระยาถลางเจิม นายแก้วบุตรพระยาถลางได้มาช่วยหลวงวิชิตภักดี เก็บส่วยสาอากรดีบุกที่เมืองเก็ตโห เขตในทูหรืออำเภอกะทู้ในปัจจุบัน ต่อมาได้เป็นพระภูเก็จ ( แก้ว )และได้ขยายการขุดหาแร่ดีบุกไปยังตำบลทุ่งคา จนทำให้เกิดเป็นเมืองทุ่งคาที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กุลีหรือกรรมกรเหมืองแร่ดีบุกไม่พอต่อความต้องการของนายเหมือง พระภูเก็จจึงเดินทางไปกรุงเทพฯ จ้างคนจีนไหหลำจำนวน ๓๐๐ คนลงทำงานที่เมืองทุ่งคา ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน มณฑลกว่างตง และเขตใกล้เคียงเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง หมุนเวียนกันหลายหมื่นคน กระจายไปตามแหล่งขุดแร่ดีบุกทั้งในทู เมืองทุ่งคาและใกล้เคียง โดยเฉพาะท้องที่ตำบลในทูมีจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นคน แล้วแต่ฤดูกาลและภาวะเศรษฐกิจของกิจการเหมืองแร่ดีบุก
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวก ให้พวกเขาตามมาคือ โรงสูบฝิ่น หญิงโสเภณีจีน บ่อนการพนัน โกปี่เตี่ยมหรือร้านกาแฟ ร้านขายยา ร้านขายของกิน ขายหมี่ ขายข้าวต้ม ขายอุปกรณ์ทำเหมือง รวมทั้งแหล่งบันเทิง อย่างโรงงิ้ว หุ่นกระบอก ดนตรีและการขับร้องเพลงจีน เป็นต้น
โรงงิ้วที่ตลาดในทูตั้งอยู่บริเวณโค้ง ก่อนถึงศาลเจ้าในปัจจุบันประมาณ ๕๐ เมตร ข้างบ้านนายฮ็ไช้ มีคณะงิ้วเร่เข้ามาแสดงเป็นปี ตามลักษณะของเศรษฐกิจเหมืองแร่ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นงิ้วเร่ร่อนเหล่านี้จึงแสดงหมุนเวียนไปตามท้องที่ต่างๆในภูเก็ต งิ้วคณะใดที่มีคนดูชื่นชอบอาจอยู่ได้เป็นปี จนกว่าผู้แสดงบางคนกลับเมืองจีนหรือมีครอบครัวออกไป การแสดงจึงต้องหมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องที่แสดงไปเรื่อย เพื่อไม่ให้ผู้ชมเบื่อ พวกตนจะได้แสดงทำมาหากินอยู่นาน
ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อมีคนจีนเป็นหมื่นคนเข้ามาทำมาหากิน จึงเกิดการตั้งสมาคมลับหรือกงสีขึ้น ที่สำคัญ คือ ในปีพ.ศ. ๒๔๑๐ เกิดกงสีที่สำคัญสองกงสี คือ กงสีหยี่หิ้นหรือเกียนเต็กตั้งที่ในทูมีสมาชิก ๓๕๐๐ คน กงสีปุนเถ่ากงที่บางเหนียวและในตลาดทุ่งคามี ๔๐๐๐ คน จนถึงพ.ศ. ๒๔๑๖ กงสีหยี่หิ้นมี ๗๐๐๐ คนกงสีปุนเถ่ากงมี ๙๐๐๐ คน ไม่รวมคนที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก แต่การทะเลาะวิวาทมีตลอด ทั้งที่ทางการทราบและไม่ทราบ ด้วยเป็นคนหมู่มากและเป็นคนหนุ่มไฟแรงทั้งสิ้น การทะเลาะและการก่อกบฏรวมทั้งหมด ๗ ครั้งที่บันทึกไว้ แต่กรณีร้ายแรงคือการก่อกบฏของพวกปุนเถ่ากงในตลาดเมืองภูเก็ตที่ลุกลามไปทั่ว เหตุเกิดในเดือน ๔ พ.ศ. ๒๔๑๙ และพ.ศ. ๒๔๒๑ เหตุเกิดที่ตลาดในทู ทั้งสองพวกยกเข้าตีกันฝ่ายละหลายร้อยคน เผาโรงเรือนที่พักเผาเหมือง เมื่อทางการสอบสวนจึงถูกปรับถูกลงโทษทั้งสองฝ่ายต่อมาขออภัยโทษ หัวหน้าจึงกลับมาที่ภูเก็ตในเดือน ๙ พ.ศ. ๒๔๒๒
กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงเป็นพันธมิตร แล้วเชิญไปกินเลี้ยงกันที่บริเวณใกล้สี่แยกสนามกีฬาสุรกุลในปัจจุบัน โดยฝ่ายปุนเถ่ากงในตลาดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายหยี่หิ้นจึงยกขบวนไปจากในทู เมื่อกินอิ่มเมาได้ที่ ฝ่ายปุนเถ่ากงจึงเอาอาวุธที่ซ่อนไว้ออกมาฆ่าพวกหยี่หิ้นตายไปกว่า ๔๐๐ ๕๐๐ คน ในวันที่ ๑๗ ค่ำ เดือน ๗ เกิดในช่วงไหน ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๑๐ ๒๔๒๒ ไม่มีการบันทึกไว้
แต่เหตุที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ในเดือน ๔ พ.ศ. ๒๔๑๙ และหลังเดือน ๙ พ.ศ. ๒๔๒๒ สันนิษฐานได้ว่า ภายหลังจากที่พวกปุนเถ่ากงก่อเหตุวุ่นวายในเดือน๔แล้ว พวกปุนเถ่ากงยังแค้นพวกหยี่หิ้นอยู่ที่พระยาวิชิตสงคราม ให้ความช่วยเหลือกลุ่มในทู จึงล้างแค้นในวันที่ ๑๗ ค่ำ เดือน ๗ พ.ศ. ๒๔๑๙ อีกกรณีหนึ่ง หัวหน้าหยี่หิ้นถูกจับไปกรุงเทพฯ และขออภัยโทษกลับมาภูเก็ต ความแค้นของพวกปุนเถ่ากงที่เหมืองถูกเผายังไม่ได้ชำระ จึงเชิญมากินเลี้ยงแล้วฆ่าหมู่ในวันที่ ๑๗ ค่ำ เดือน ๗ พ.ศ. ๒๔๒๓ ส่วนกรณีอื่นๆไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะทั้งสองกรณีเกี่ยวกับตัวหัวหน้าโดยตรง
เมื่อเหตุการณ์เศร้าสลดเกิดขึ้น กับบรรดาญาติพี่น้องมากมายเช่นนี้ ทำให้กิจการของพวกงิ้วพลอยซบเซาลงไปด้วย ประกอบกับเกิดโรคภัยไข้เจ็บซ้ำเข้าไปอีก ดังนั้น ในวันที่ ๑ ค่ำเดือน ๙ ชาวคณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อล้างสิ่งโสโครกที่เกิดขึ้น แต่ทำเพียงย่อๆ ด้วยการสร้างปะรำพิธีง่ายๆ แล้วอัญเชิญเทพเจ้าเล่าเอี๋ย บรมครูของพวกงิ้วออกมาตั้งในโรงพิธีพร้อมด้วยเทพองค์อื่นๆ หรือป้ายวิญญาณที่พวกตนเคารพนับถือกันในโรงงิ้ว พร้อมกับนุ่งขาวห่มขาว ชาวบ้านกะทู้เห็นจึงเกิดศรัทธาขอเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ภายหลังจากการกินผักแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชาวคณะงิ้วจึงลาโรง โดยมอบเทพเจ้าเล่าเอี๋ยและเทพเจ้าหลี่โลเชียแกะสลักไม้ไว้ให้ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกินผักในปีต่อไป แต่ที่พวกตนทำพิธีนี้เป็นเพียงย่อๆเท่านั้น ถ้าหากต้องการประกอบพิธีกินผักให้สมบูรณ์ถูกขั้นตอน ขอให้เดินทางไปยังเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ( กังไส ) เพราะที่นั่นมีคณะงิ้วที่มีชื่อเสียงมาก และมีโรงเจที่ประกอบพิธีอย่างถูกต้องด้วย ชาวในทูจึงให้ความสนใจ ด้วยพวกตนเคยแต่ไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในช่วงเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น ในปีถัดมาจึงปรึกษากันระหว่างคนจีนหัวหน้า แล้วช่วยกันดำเนินการประกอบพิธีกินผักตามที่พวกงิ้วได้แนะนำไว้ และอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ซ่อมแซมโรงเจให้อยู่ในสภาพดี
การประกอบพิธีกรรมยังไม่สมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านในทูจึงหาคนที่จะไปมณฑลเจียงซู เพื่อเอาเอกสารประกอบพิธีมาใช้ให้ถูกต้อง มีตาแป๊ะคนหนึ่งขันอาสาที่จะไปมณฑลเจียงซู แต่ขาดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ชาวในทูจึงช่วยกันรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งเป็นค่าเดินทางไปกลับพร้อมค่ากินและใช้จ่าย ตาแป๊ะจึงเดินทางไปเมืองจีน เขาหายไป ๒ ๓ ปี ชาวในทูคิดว่าพวกเขาถูกหลอกแน่นอน จนถึงวันที่ ๗ ค่ำเดือน ๙ กำลังกินผัก ตาแป๊ะเดินทางมาถึงท่าเรือบางเหนียว ชาวในทูจึงจัดขบวนแห่ไปรับ ตาปะได้นำเหี่ยวโห้ยและเหี่ยวเอี้ยน คัมภีร์ต่างๆ เลี่ยนตุ่ยหรือป้ายชื่อ แห่ไปในทูพร้อมอธิบาย การประกอบพิธีที่ถูกต้องตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาศาลเจ้าโรงเจเกิดชำรุดทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา ชาวบ้านในทูจึงเรี่ยไรได้เงินมาจำนวนหนึ่งแล้วย้ายศาลเจ้า เต้าบู้เก้งไปยังที่ใหม่คือที่ปัจจุบันนี้ โดยมีรายชื่อผู้บริจาคทรัพย์จำนวน ๙๐ ราย เป็นอาคารเรือนกว้านหลังคามุงจาก มีประตูสามบาน ด้านหน้ามีโรงงิ้ว
จนถึงพ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งเป็นแบบอาคารเรือนกว้านหลังคาสามตอน แล้วเปลี่ยนเป็นหลังคามุงกระเบื้องกาบ ด้านหน้ามีเสาสี่เสา บริเวณห้องโถงโล่ง ด้านข้างมีโรงเจ (จากภาพถ่ายประมาณพ.ศ. ๒๕๒๓ ) อาคารดังกล่าวก็ทรุดโทรมลง ต่อมาคณะกรรมการศาลเจ้าจึงได้ก่อสร้างครั้งใหญ่ โดยมีนายทวีเกียรติ รัตนธีรวงศ์เป็นสถาปนิก ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ด้วยงบประมาณ ๑๐ ล้านบาทเศษ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม นอกจากนี้กรรมการยังได้ก่อสร้างอาคารที่จำเป็น สำหรับการประกอบกิจกรรมอีกหลายอาคาร ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ได้สร้างโรงเจขึ้นใหม่ด้วยงบประมาณ ๕ ล้านบาทเศษ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑
Title : Nai Tu Dao Bu Gang, Kathu District, Phuket.
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian 12/07/2008
|