ศาลเจ้าหงอจิ้นหยิน

ศาลเจ้าท่าเรือ หรือศาลเจ้าหงอจิ้นหยิน หรือ ศาลเจ้าโปเซ้งไต่เต่ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๙ ถนนเทพกระษัตรี หมู่ที่ ๓ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ศาลเจ้าหงอจิ้นหยินเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่แห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นสมัยคนจีนจำนวนหลายหมื่นคน ที่ได้เดินทางมาเป็นกุลีเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต ในช่วงนั้นได้มีแป๊ะหง่อโจ่ยเดินทางเข้ามาด้วย เมื่อเห็นว่าที่ภูเก็ตเหมาะที่จะตั้งรกรากได้ หลังจากเดินทางไปกลับภูเก็ตเมืองจีนหลายครั้งแล้ว ครั้งหลังจึงได้นำรูปแกะสลักไม้หงอจินหยินในฐานะที่เป็นจ้อกงลงมาที่ภูเก็ตด้วย ต่อมารูปดังกล่าวได้ตกไปอยู่ที่นายหว่อ แซ่หลิม
จากประวัติศาลเจ้าท่าเรือกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ประมาณพ.ศ. ๒๔๔๓ นายหว่อได้นำรูปแกะสลักเทพเจ้าหงอจิ้นหยินมาบูชาที่บ้านของตน วันหนึ่งนายหว่อเกิดฟกช้ำที่สันหลังและอักเสบเจ็บปวดมาก ไปหาหมอมาหลายแห่งก็ไม่หาย กลับมีอาการหนักกว่าเก่า บังเอิญเทพหงอจิ้นหยินเข้าทรงนายหีด แล้วทำการรักษานายหว่อจนหายเป็นปกติ เมื่อชาวบ้านท่าเรือทราบว่าเทพหงอจิ้นหยินสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ จึงมีชาวบ้านมาให้องค์ท่านรักษาให้เสมอ และเรียกว่า พระหมอ
เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน นายหว่อและกรรมการได้ไปอัญเชิญดวงวิญญาณเทพหงอจิ้นหยินที่วัดพระทอง เป็นประจำทุกปี โดยจัดขบวนแห่ในเวลากลางคืนจากบ้านนายหว่อไปยังวัดพระทอง ตอนขากลับตามระยะทางจากวัดพระทองมายังท่าเรือ เมื่อรู้ว่าใครป่วย พระประทับทรงก็จะเข้าไปรักษา และปรากฏว่าแต่ละคนหายป่วย ต่างบอกกล่าวต่อๆกันไป ต่อมาไม่นานนักนายหว่อถึงแก่กรรมลง นายหยองผู้เป็นญาตินายหว่อจึงนำกิมสีนหงอจิ้นหยินมาไว้ที่บ้านของตน คนป่วยก็ยังตามมารักษาเช่นเดิม ครั้นนายหีดม้าทรงถึงแก่กรรม ทำให้ขาดคนทรง แต่คณะกรรมการและนายหยองก็ยังแห่พระไปวัดพระทองทุกปี เมื่อไปถึงใกล้ตลาดบ้านเคียน อำเภอถลาง เทพหงอจิ้นหยินก็เข้าจับม้าทรงคนใหม่ คือนายเบี้ยว ผู้เป็นหลานของนายหีด
เมื่อเห็นว่าถึงเวลาเหมาะสม ชาวบ้านและคณะกรรมการ จึงได้เรี่ยไรเงินสร้างศาลเจ้าชั่วคราวขึ้น แล้วช่วยกันจัดซื้อที่ดินเป็นของศาลเจ้า โดยโอนให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของศาลเจ้า แล้วจัดงานการกุศลเพื่อหาทุนสร้างศาลเจ้าแบบถาวรเป็นอาคารยกพื้นปูซีเมนต์หลังคาปูกระเบื้องลูกฟูก ด้านหน้ามีเสาปูนห้าเสามีหลายประตู และประดิษฐานเทพหงอจิ้นหยินไว้เป็นองค์ประธานศาลเจ้า ด้านหน้ามีเตาเผากระดาษทอง และโรงเจ
ศาลเจ้าหงอจิ้นหยินได้เริ่มจัดให้มีพิธีกินผักเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ โดยมีบุคคลกลุ่มหนึ่งส่วนใหญ่เป็นม้าทรง ได้แก่ นายหลี่ นายอิ่น นายอ้วน นายโล่ย นายกี้ นายไข่ และนายเฉ่งตีด เมื่อประชุมปรึกษากันแล้วก็ตกที่ปัญหาว่า จะเอาเงินที่ไหนมาจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการกินผัก ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนทั้งพวกถ้วยโถโอชามหม้อไห และข้าวสารอาหารผัก จึงตกลงกันให้จัดงานขึ้นด้วยการ รำวงการกุศล จนได้ข้าวของเครื่องใช้พร้อม แล้วติดต่อไปยังศาลเจ้ากะทู้เจ้าตำหรับการกินผักให้ช่วยสงเคราะห์ ทางศาลเจ้ากะทู้ตกลงให้ความช่วยเหลืออัญเชิญเทพเจ้า มาเข้าร่วมพิธีกินผักที่ศาลเจ้าท่าเรือ แต่มีข้อแม้ว่า ให้กินผักเป็นเวลา ๓ ปีครบ ๙วัน ถ้าปฏิบัติไม่ได้จะนำพระกินผักกลับศาลเจ้ากะทู้ เทพเจ้ากินผักองค์ดังกล่าวน่าจะเป็นเทพเจ้าเล่าเอี๋ยนั่นเอง
ศาลเจ้าท่าเรือจึงเริ่มกินผักเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางศาลเจ้าท่าเรือโดยคณะกรรมการต่างปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนการกินผักจนครบบริบูรณ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
อาคารหลังใหม่ปัจจุบัน เริ่มวางเสาเอกเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ จนชั้นล่างเสร็จแล้ววางเสาเอกชั้นสองในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เริ่มก่อสร้างในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ในช่วงเทศกาลกินผัก เสร็จจนสามารถใช้งานได้เฉพาะชั้นบน ส่วนชั้นใต้ถุนยังไม่ได้ดำเนินการ อาคารหลังใหม่นี้ เป็นสถาปัตยกรรมจีนที่สวยงามลงตัว เป็นแบบพระราชวังจีนโดยเฉพาะ มีใต้ถุนโล่งยกสูงกว่าถนนขึ้นไปมาก จึงทำให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่สี่แยกท่าเรือ เพราะเป็นส่วนโค้งของถนนพอดี มีบันไดทางขึ้นทำเป็นสามช่อง มีซุ้มประตูสำหรับให้คนเดินทั้งสองข้าง ส่วนตรงกลางเป็นลวดลายมังกร
เมื่อขึ้นไปถึงระเบียงชั้นแรก ประดับด้วยภาพวาดขนาดใหญ่รอบศาลเจ้า เป็นภาพเกี่ยวกับนก ปลา ดอกไม้ แล้วขึ้นบันไดไปชั้นสอง มีมังกรทั้งสองข้างตรงกลางเป็นรูปกิเลนปั้นลอยนูน รอบฐานอาคารเป็นรูปวาดเกี่ยวกับ แปดเซียน หลี่โลเชียกำลังจับมังกร เทพกวนอู รูปลกฮกซิ่ว พระถังซัมจั๋ง เป็นต้น เสาด้านหน้าและด้านข้างรวม ๒๐ ต้น มีลวดลายมังกรปั้นพันรอบเสา
จนถึงลานชั้นนอกมีโต๊ะบูชาทีกงพร้อมรูปหลี่โลเชีย จนถึงผนังห้องโถงด้านหน้า ซึ่งมีประตู ๓ ช่อง ช่องกลางเป็นบานประตูหลัก มีรูปเทพเจ้าประจำประตูเป็นลวดลายแกะสลักระบายสีทั้งสองบาน ประตูซ้ายขวาข้างละบาน และมีช่องหน้าต่างวงกลมลูกกรงเป็นปูนลายไม้ไผ่
ด้านในห้องโถงใหญ่ ตรงกลางด้านผนังเป็นห้องประทับหรือตำหนักองค์กิวอ๋องไต่เต่หรือ จิ่วหวงต้าตี้ ด้านหน้าภายในทั้งสองข้างมีเสาลายมังกรสองเสา
ห้องด้านขวามือเมื่อหันหน้าออกนอกประตู เป็นเทพชุมนุม ด้านหลังสุดประดิษฐานเทพเจ้าขนาดใหญ่ มีองค์หงอจิ้นหยิน 吴真人 หรือโปเซ้งไต่เต่ 保生大帝 เป็นองค์ประธานศาลเจ้า และประกอบด้วย พระเฉ่งจุ้ยโจวสู่กง เล่าเอี๋ย กวนอู เฮียนเทียนส่องเต่ นอกจากนี้มีองค์ขนาดกลาง เช่น เตียวเทียนซื่อ ซุนอู้กง เป็นต้น และที่บูชาฮ้อเอี๋ย
ห้องด้านซ้ายเป็นแท่นบูชาพระกวนอิมโพธิสัตว์หลายขนาดหลายปาง
ศาลเจ้าหงอจิ้นหยินหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าศาลเจ้าท่าเรือเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่สวยงามแห่งหนึ่งของภูเก็ต
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑
Title : Wu Zhenren Shrine, Thalang District, Phuket.
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian 12/07/2008
Revised : 30/08/2008
|