ศาลเจ้าต่องย่องสู
ศาลเจ้าต่องย่องสู ตั้งอยู่ที่ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ ภูเก็ต ตั้งอยู่ริมถนนและติดเขตวัดกะทู้ เป็นศาลเจ้าบูชาวีรชนผู้เสียชีวิตในการสู้รบกันเองของคนจีนในภูเก็ต ระหว่างอั้งยี่ก๊กงี่หินหรือหยี่หิ้นตำบลกะทู้ กับก๊กปุนเถ่ากงในเมืองภูเก็ต ภายในศาลเจ้าจึงมีแต่ป้ายวิญญาณ หรือซินจู้ของตระกูลต่างๆที่เสียชีวิตในครั้งนั้น ปัจจุบันมีเหลืออยู่ ๔๑๖ คน ประกอบด้วยหลายแซ่สกุล ได้แก่ แซ่อ๋อง ๓๘ คน แซ่หลิม ๕๖ คน แซ่ตัน ๔๗ คน แซ่อึ๋ง ๓๔ คน แซ่เตียว ๑๓ คน แซ่หลี่ ๒๓ คน แซ่เอี๋ยว ๑๒ คน แซ่จั่น ๑๑ คน แซ่แต่ ๑๑ คน รวมทั้งคน แซ่ฉั่ว แซ่หงอ แซ่อ๋อ แซ่หนา แซ่ส้อ แซ่สิ แซ่เต่ แซ่สือ แซ่เหนียว แซ่เอียบ แซ่โห แซ่เสีย แซ่โก้ย แซ่ง่อ แซ่จื้อ แซ่เหลา แซ่ขอ แซ่เต่ง แซ่เติ้ง แซ่เหลียง แซ่ต่อ ฯลฯ
คนจีนที่เข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ดีบุก ในช่วงปลายรัชกาลที่๓ รัชกาลที่๔ และต้นรัชกาลที่ ๕ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงจำนวนหลายหมื่นคน คนเหล่านี้บางส่วนก่อนจะถึงตรุษจีน ต่างเบิกเงินกลับไปเมืองจีนแถบฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน บางส่วนย้อนกลับมาอีก บางส่วนจะทำมาหากินมีครอบครัวอยู่ภูเก็ต อาจกลับไปเยี่ยมญาติบ้าง หลายคนเคยทำมาหากินแถบเมืองปีนังมลายูของอังกฤษ แล้วขยายสาขาห้างสินค้าหรือย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ตเต็มตัว คนเหล่านี้จึงมีหลายกลุ่มหลายก๊กหลายพวก แต่ละกลุ่มจะมีกงก้วนช่วยเหลือกัน ต่างก็มีหัวหน้าควบคุม คือ พี่ใหญ่หรือ ตัวโก พี่รองหรือ หยี่โก พี่สามหรือส่าโก ก๊กที่ใหญ่มีสองก๊ก คือ ก๊กหงี่หิ้นหรือ หยี่หิ้นเกียนเต็ก อยู่กะทู้ มีพี่ใหญ่สกุลแซ่หลิมสามคนควมคุม ใช้สัญลักษณ์สีแดงหรือธงแดง อีกก๊กหนึ่งคือ ก๊กปุนเถ่ากงมีสกุลแซ่ตันเป็นพี่ใหญ่ อยู่แถบบางเหนียวและในตลาดตัวเมืองภูเก็ต ใช้สัญลักษณ์สีขาวหรือธงขาว สมาชิกทั้งสองก๊กต่างมีเรื่องระหองระแหงกันเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๐แล้ว เมื่อลูกน้องไปมีเรื่องกัน พวกหัวหน้าทั้งสองกลุ่มต่างประนีประนอมแก้ไขกัน ทั้งสองก๊กต่างก็เป็นสมาชิกของอั้งยี่เมืองปีนัง
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ อั้งยี่ทั้งสองก๊กในเมืองปีนังต่างทะเลาะกันยกพวกจัดเป็นกองทัพเข้ารบราฆ่าฟันกัน จนอังกฤษต้องปราบปราม ส่วนเมืองภูเก็ตเกิดเหตุขั้นรุนแรงในช่วงพ.ศ. ๒๔๑๘ ๒๔๑๙ ต่างไม่พอใจนายจ้าง การไม่จ่ายให้พวกตนที่จะกลับไปเมืองจีนช่วงตรุษจีน แย่งน้ำกันทำเหมืองแร่ ทะเลาะกันในตลาด กรมการเมืองดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้ถูกมองว่าไปเข้าข้างอีกพวก ฯลฯในระยะหลังทั้งสองก๊กฆ่ากันตายบ่อยมาก
เพื่อให้เหตุการณ์สงบ หัวหน้าทั้งสองก๊กจึงนัดกันยุติศึก ด้วยการเชิญสมาชิกทั้งสองฝ่ายมาร่วมกินอาหาร โดยฝ่ายก๊กปุนเถ่ากงในเมืองภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงเพื่อสมานฉันท์ ที่นัดเลี้ยงคือเขตแดนของทั้งสองฝ่าย บริเวณใกล้สนามกีฬาจังหวัดสี่แยกถนนบายพาส ตกลงเลี้ยงกันในวันที่ ๑๗ ค่ำ เดือน ๖ หรือหลักโง้ยจับฉีด ฝ่ายก๊กหยี่หิ้นเกียนเต็กจึงพากันไปตามวันเวลาที่นัด เมื่อกินข้าวต้มกับข้าวและคงมีสุราพร้อมสรรพได้ที่แล้ว หัวหน้าฝ่ายจัดเลี้ยงให้สัญญาณ พวกฝ่ายปุนเถ่ากง จึงชักเอามีดอาวุธที่ซ่อนไว้ออกมาฆ่าฟันอีกพวกที่ไม่มีอาวุธอะไรเลย พร้อมกับจุดไฟเผาโรงเลี้ยง พวกเกียนเต็กถูกฆ่าและถูกไฟครอกตายไปไม่ต่ำกว่า หกร้อยคน บางส่วนหนีทันรอดจากการถูกฆ่าและถูกไฟเผาทั้งเป็นกลับไปตำบลกะทู้
ต่อมาเพื่อนๆและบรรดาญาติผู้ตายหมู่ ต่างคิดกันสร้างศาลเจ้าและจัดทำป้ายวิญญาณ เพื่อบวงสรวงสักการะพวกเขาเหล่านั้น และเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ว่า ต่องย่องสู ซึ่งหมายถึงศาลเจ้าที่สิงสถิตของผู้หาญกล้ามีความซื่อสัตย์ เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญ คือ วันที่ ๑๗ ค่ำ เดือน ๖ วันสารท จัดให้มีเทศกาลเซ่นไหว้ทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยก่อน ชาวภูเก็ตใช้ศาลเจ้าแห่งนี้แสดงถึงความบริสุทธิ์ของตน เมื่อถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่า ขโมยของ นินทาว่าร้าย คู่กรณีต่างพากันไปสาบาน ถ้าหากไม่เป็นความจริงขอให้อีกฝ่ายมีอันเป็นไป เช่น ถูกฆ่าตาย ฟ้าผ่าตาย คอหักตาย ฯลฯ แล้วแต่จะตกลงกัน บางคู่ใช้วิธีสับคอไก่ ถ้าขาดแสดงว่าตนบริสุทธิ์
ตัวอาคารศาลเจ้าในปัจจุบัน จัดคล้ายกับศาลเจ้าทั่วไป คือ ด้านหน้ามีที่เผากระดาษเงินกระดาษทอง มีโต๊ะบูชาที่กง ภายในมีกระถางธูปขนาดใหญ่ปิดทองคำเปลวจากผู้มาแก้บนหรือบูชา ด้านในมีแท่นวางป้ายวิญญาณเรียงรายกัน มีทั้งป้ายชื่อรวมและป้ายชื่อแต่ละคน แกะสลักลวดลายสวยงาม ด้วยเหตุที่อยู่ข้างถนนจึงมีฝุ่นจับหนา แต่ก็ยังเห็นรูปรอยแกะสลักที่ชัดเจน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑ เมษายน ๒๕๕๑
Title : Thong Yong Su Shrine, Kathu District, Phuket.
: Somboon Kantakian
|