ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึ๋ง
ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึ๋ง เป็นชื่อสำนักประดิษฐานเทพเจ้ามาจอโป๋ หรือ เจ้าแม่ย่านางเรือ หรือเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๐ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งอยู่ใกล้สี่แยกตลาดเหนือ และติดกับศาลเจ้าไถ้หงวนต๋องหรือจ้ออ๋อง ซึ่งเป็นศาลเจ้าบูชาบรรพชนตระกูลแซ่อ๋อง
ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึ๋งก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ผู้ก่อตั้งคือ หลิมบุ่นซ่วน เพื่อจัดเป็นสโมสรชาวฮกจิวที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ด้วยเหตุที่ผู้ก่อตั้งเป็นคนแซ่หลิม จึงได้นำรูปแกะสลักองค์เทพมาจู่ หรือมาจอโป๋ประดิษฐานบนแท่นบูชา องค์แรกที่นำมาจากเมืองจีนปัจจุบันยังเก็บรักษาอยู่ในเก๋งแท่นบูชา ศาลเจ้าแห่งนี้บริเวณด้านหน้าตรงกันข้ามฝั่งถนนมีคลองเป็นป่าต้นจากเดิมเรือคงมาเทียบท่าหน้าศาลเจ้าโดยล่องมาจากหน้าศาลเจ้าปุดจ้อซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันถมที่เพื่อสร้างที่จอดรถยนต์ของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ่เก้ง
บริเวณศาลเจ้าเป็นพื้นที่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวจากถนนเป็นทางลาดขึ้นไปหลังศาลเจ้า ตัวศาลเจ้าได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ๒๕๒๕ จึงได้บูรณะครั้งใหญ่ จัดทำซุ้มประตูทางเข้าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ จัดสร้างกำแพงทั้งสองข้างพร้อมจารึกชื่อผู้บริจาคไว้ พื้นด้านหน้าปูปูนจนถึงหน้าสวนหย่อมหน้าศาลเจ้า มีเตาเผากระดาษทองและที่จุดประทัด
ตัวอาคารแบ่งเป็นส่วนหน้าซึ่งวางสิงโตคู่ตรงข้างบันได บริเวณหน้าห้องโถงมีโต๊ะบูชาทีกง ถัดไปเป็นห้องกลางคั่นมีลูกกรงไม้ ผนังขวาซ้ายมีรูปปั้นลอยนูนพญาเสือขาว และมังกรตามทิศของศาลเจ้า หน้าห้องโถงกลางมีประตูสามช่อง ตรงช่องกลางบานประตูเป็นรูปเทพเจ้าประจำประตูเหนือประตูมีป้ายชื่อสำนักขนาดใหญ่
บริเวณห้องโถงเมื่อหันหน้าออก ทางด้านซ้ายมือเป็นห้องเก็บของ ส่วนทางด้านขวามือเป็นห้องประชุมกรรมการศาลเจ้าและชมรมชาวฮกจิ้ว ( ฝูโจว ) พร้อมติดรูปกรรมการทั้งเก่าและใหม่รวมทั้งที่บูชาผู้ก่อตั้งศาลเจ้าพร้อมรูปและป้ายวิญญาณด้วย คือ หลิมบุ่นซ่วน ด้านหน้าห้องนี้ทำประตูเป็นทางเข้าออกด้วย
ห้องโถงกลางจัดกลุ่มเทพเจ้าออกเป็นสามกลุ่ม องค์ประธานตรงกลาง ขวามือเป็นแท่นบูชาเทพชุมนุม ส่วนซ้ายมือเป็นเทพปุนเถ่ากงปุ่นเถ่าม่า โต๊ะกลางห้องโถงตั้งกระถางธูปเทียน และรูปเทพ
หลี่โลเชีย หลังโต๊ะนี้ทำเป็นฉากแกะสลัก ตรงกลางมีตั่งสูงคั่นสำหรับวางกระถางธูปและป้ายบอกชื่อเทพเจ้าและองครักษ์ทั้งสอง บริเวณหลังฉากวางเก๋งประดิษฐานองค์ประธาน คือมาจอโป๋องค์ใหญ่องค์เล็กและองค์ดั้งเดิมพร้อมทั้งองครักษ์ทั้งสองคือพี่น้องแซ่เกา พี่ชื่อเกาหมิงหน้าเขียวต่อมาเป็นเทพชื่อ เฉียนลี่เหยิน ผู้มีตาทิพย์กับเกาชุกน้องหน้าแดง เป็นเทพชื่อ ชุนเฝิงเอ้อ ผู้มีหูทิพย์ หลังแท่นเก๋งนี้ตรงผนังมีรูปปูนปั้นลอยนูนรูปกิเลนลงรักสวยงาม ส่วนเทพชุมนุมด้านขวามือมีรูปกวนอู พระสังกัจจายน์ ลกฮกซิ่ว ด้านซ้ายแท่นบูชาเป็นรูปเทพปุนเถ่ากงและปุนเถ่าม่า และตู้เซียมซี กล่าวกันว่าแม่นยำนัก
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐
Title : Sam Shan Tian Hua Gong Shrine, Phuket.
****
หมายเหตุ :
ศาลเจ้าซัมส้านเที่ยนเฮวกึ๋ง
แยกเป็นคำได้ดังนี้
ซัม หมายถึง สาม
ส้าน หมายถึง ซาน ภูเขา
เที่ยน หรือ เทียน เทพ
เฮว หรือ ฮั้ว หมายถึง ดอกไม้
กึ๋ง หรือ ก้ง หรือ กง หรือ เก้ง หมายถึง ตำหนัก ที่พักขุนนางชั้นสูง
คำว่า "ซัมส้าน" หมายถึง ภูเขาสามลูก
ภูเขาสามลูกดังกล่าว บางท่านว่า น่าจะหมายถึงภูเขาที่ล้อมรอบเมืองฮกจิว ภูเขาหลายลูกที่มีความสูงตั้งแต่ ๖๐๐ - ๑๐๐๐ เมตร เช่น กู่ซาน อิ้วซาน ฝูเจี้ยนอู่ซาน ฝูโจวอู่จิวซาน ผิงซาน เป็นต้น
แต่ถ้าหากพิจารณาถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของศาลเจ้าแล้ว จะเห็นว่า ตัวศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณเชิงเขารัง คำว่า เขารัง คนภูเก็ต เรียก เขาหลัง ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นที่ถูกต้อง แต่คนภาคอื่นมาเปลี่ยนเป็น เขารัง คำว่า เขาหลัง แสดงว่า ต้องมี เขากลาง เขาหน้า
ดังนั้นสามภูเขา จึงน่าจะได้แก่ เขาหน้า เขากลาง เขาหลัง
สามภูเขาดังกล่าว สามารถมองเห็นได้ทั้งสามจอม โดยไปยืนบริเวณหลังสนามสุรกุล จะเห็นจอมเขาสามจอม นั่นคือ ซัมส้าน
****
|