วัดมงคลนิมิตร (วัดกลาง)

วัดมงคลนิมิตร หรือวัดกลาง ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๓ ถนนเยาวราช ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
ประวัติวัดมงคลนิมิตร พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๐
วัดมงคลนิมิตร ปัจจุบันเป็นวัดหลวงประจำจังหวัดภูเก็ตมีพระราชสุทธิมุณี เจ้าคณะจังหวัดเป็นเจ้าอาวาส
วัดมงคลนิมิตร เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองภูเก็ตและคงจะเป็นวัดหลวงแต่ครั้งตั้งเมืองภูเก็ต หลังจากเมืองถลางถูกพม่าทำลายลง คงจะราวรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา เพราะก่อนจากนี้เมืองภูเก็ตอยู่แถววัดเก็ตโฮ วัดมงคลนิมิตร ใครเป็นคนสร้างไม่ปรากฏแน่ชัดไม่มีหลักฐาน แต่เจ้าเมืองภูเก็ตได้ปฏิสังขรณ์ทะนุบำรุงวัดนี้ตลอดมา แต่เดิมธรณีสงฆ์ของวัดมงคลนิมิตรกว้างขวางมากคือ ทางตะวันตกก่อนที่ถนนเยาวราชยังไม่ตัดผ่าน ที่ของวัดไปถึงโรงเรียนปลูกปัญญา วัดคุณชี ทางตะวันออกจดถนนเทพกระษัตรี บนเขารังที่ดงตาลโตนดก็เป็นที่ของวัด ปัจจุบัน ธรณีสงฆ์จึงมีน้อยลง
เล่ากันว่าพระยารัษฎาฯ จะตัดถนนผ่านวัดโดยตัดต่อจากซอยรมณีย์ออกถนนทุ่งคา แต่ท่านพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (เพรา) ท่านไม่ยอมเพราะจะต้องตัดตรงผ่านโบสถ์ด้วย ถ้าตัดถนนผ่านวัดคราวนั้นธรณีสงฆ์อาจแคบกว่าเป็นอยู่ก็เป็นได้
แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าฯเสด็จภูเก็ตได้เสด็จไปวัดมงคลนิมิตรสมัยท่านพระครูวัดฉลองเป็นเจ้าคณะจังหวัด และเป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตรด้วยทรงเห็นว่า โบสถ์ชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้วจึงโปรดให้พระยาศรีสรราชจัดการซ่อมแซมโบสถ์
ในคราวกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ของมณฑลภูเก็ต พระราชพิธีได้จัดที่วัดนี้ จากรายงานของหลวงวรากรราชกิจ ปลัดกรมสรรสรรพากรนอกระทรวงมหาดไทยซึ่งตามประกาศสารตราตั้งให้หลวงรากร นำน้ำพระพิพัฒน์จากกรุงเทพฯ มายังมณฑลภูเก็ต โดยลงเรือกลไฟชื่อ ตราด จากกรุงเทพฯ ถึงสงขลาแล้วย้อนมาถึงพัทลุง ถึงเมืองตรังมีหม่อมเจ้าประดิพัทธ เกษมศรี ปลัดมณฑลภูเก็ตกับพระสถลสถานพิพักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองตรังได้กระทำการถือน้ำที่วัดกันตัง ครั้งถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าประดิพัทธ เกษมศรี ปลัดมณฑลภูเก็ตกับพระสกลสถานพิทักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองตรังได้กระทำการถือน้ำที่วัดกันตังครั้นถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าประดิพัทษ์ ได้จัดตั้งพิธีถือน้ำ ณ วัดมงคลนิมิตรมีข้าราชการ ผู้ใหญ่น้อยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมาประชุมพร้อมกันโดยกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรและพระบรมรูปพระจุลจอมเกล้าฯ และพระมงกุฎเกล้าฯ แล้วได้ดื่มน้ำโดยทั่วถึงกัน ในครั้งนี้มีพ่อค้าจีนได้ตัดเปียด้วย
วัดมงคลนิมิตรมีพระพุทธรูปทอง องค์หนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปทองวัดไตรมิตร กรุงเทพมหานคร เดิมอยู่ในเจดีย์หน้าโบสถ์ รวมกับพระพุทธรูปแบบพม่าครั้งแรกลงรักสีดำ ได้ขัดกันมาหลายครั้ง ต่อมาเห็นรอยด้านหน้าร้าวจึงได้ขัดทั้งองค์โดยท่านเจ้าคุณรูปปัจจุบันได้เรียกช่างมาดู ปรากฏว่าเป็นทองคำดังกล่าวแล้ว
สำหรับเจ้าคณะจังหวัดหลังจากท่านพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณี (หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง) แล้วรูปถัดมาคือ พระวิสุทธิวงศาจารย์ฯ (ไข่) พระราชวิสุทธิวงศาจารย์ ( เพรา) และท่านเจ้าคุณรูปปัจจุบัน คือ พระราชวิสุทธิมุนี (ริ่น) เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต
คัดลอกจาก
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน (๒๕๒๐) ประวัติเมืองภูเก็ต หน้า ๕๙ ๖๐ เพชรบุรี : วิทยาลัยครูเพชรบุรี







*****
|