ประวัติพระครูวิสุทธิวงษาจารย์ฯ (แช่ม)
พ่อท่านเกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ ตำบลบ้านบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา มณฑลภูเก็ต บิดามารดาได้อพยพครอบครัวหนีศึกพม่ามาอยู่ที่บ้านฉลอง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศอิสาน ของวัดไชยธาราราม (ฉลอง ) บวชเป็นสามเณรอยู่ ๑ พรรษา อายุครบอุปสมบท เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๐ เมื่อท่านอายุได้ ๒๓ ปี ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม ( ฉลอง ) ซึ่งตรงกับปีที่พ่อท่านเจ้าวัดได้ผุดขึ้น ( พ.ศ. ๒๓๙๓ ) นี่แสดงสักขีพยานให้มหาชนชาวฉลองเห็นว่า ท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ครั้งแรกชาวบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย ออกชื่อบนบานให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยหาย แล้วจะเอาทองมาติดท่าน การเจ็บไข้ก็หายไปตามความปรารถนาจริงๆ เรื่องจึงเลื่องลือโด่งดังกันทั่วทั้งเมืองภูเก็ต
เมื่อพ่อท่านอายุได้ ๕๐ ปี บิดาของข้าพเจ้าคือ ขุนโภชน์สาลี อายุได้ ๑๘ ปี ได้บวชเป็นสามเณรเป็นศิษย์ต้นห้องของพ่อท่าน ได้เล่าเรื่องราวต่างๆให้ข้าฯฟัง จึงจดจำไว้เท่าที่จำได้ ข้าฯเองก็เป็นศิษย์ของพ่อท่านตั้งแต่อายุ ๖ ๗ ปี ได้เข้ามานอนในวัดตรงปลายเท้าของท่านเป็นประจำ เมื่อท่านมีกิจธุระ ข้าฯเป็นผู้รับใช้เสมอ จนข้าฯอายุได้ ๑๓ ปี จึงพอจำเรื่องราวได้บ้างไม่มากก็น้อย หากที่เล่าต่อไปนี้ขาดตกบกพร่องอย่างไร ข้าฯขออภัยแก่ท่านผู้รู้แจ้งทุกๆคนด้วย
อนุสรณ์จีนกับไทยรบกันที่ตำบลฉลอง
เริ่มก่อการณ์จะเกิด วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ พวกจีนถืออำนาจเที่ยวอาละวาดข่มเหงด้วยถือว่ามีพวกและคณะมาก ไทยชายหญิงที่ลงมาซื้ออาหารที่ในเมือง จีนคอยหาเรื่องก่อการวิวาทอยู่เสมอ จีนได้มาคอยดักอยู่ที่กาหยีราวมะพร้าวต้นเดียวบ้านแหลมชั่น คอยโจรกรรมคนไทยที่ลงมาซื้ออาหารในเมืองเป็นเนืองนิตย์ มีความเดือดร้อนกันยิ่งนัก ชาวบ้านจึงจัดการให้ผู้หญิงที่ร่างการแข็งแรง ๓ - ๔ คนลงมาด้วย ส่วนผู้ชายอีก ๘ ๙ คน คอยซุ่มอยู่ ปล่อยให้พวกผู้หญิงเดินผ่านไป จีนเห็นเข้าก็วิ่งไปสกัดจับผู้หญิงมา พวกผู้ชายที่ซุ่มอยู่เมื่อเห็นดังนั้น ก็พากันออกมาสกัดหน้าจีน ตะลุมบอนทำการขัดขวางเอาไว้ ฆ่าโจรจีนตาย ๒ ๓ คน จึงบังเกิดเรื่องขึ้นใหญ่ จีนกล่าวหาว่าไทยข่มเหง เลยกำเริบคุมพวกพ้องเที่ยวปล้นบ้านคนไทย ตามระยะทางใกล้และไกล ใจเหิมฮึกไม่นึกกลัว เลยมาตั้งกองอยู่บ้านบนสวนชวนไทยรบ เวลานั้นหลวงชนะสงคราม ( ชื่น ) ซึ่งเป็นน้องชายพระครูวิสุทธิ์ฯ ( แช่ม ) เป็นนายอำเภอบ้านฉลอง จีนเที่ยวรุกรานเผาบ้านเรือน ไทยเพื่อนชวนวิ่งเร่เฮเข้าวัด บ้านที่จีนเผามีชื่อเรียกว่า บ้านไฟไหม้ อยู่ในกลางทุ่งนา ทางทิศเหนือวัดลัฏฐิวนาราม ( โคกโตนด ) ชาวบ้านได้อพยพหลบหนีภัยวิ่งมาอาศัยบารมีของพ่อท่าน
เมื่อญาติพี่น้องร่วมท้องกัน ที่มาเล่าเรียนจะเขียนบวช เห็นญาติวงศ์พงศาคณาญาติ อุ้มลูกจูงหลานร่ำร้องมาน้ำตาไหล เกิดเป็นไฟเดือดร้อนกันขึ้นมา ประชุมปรึกษาหารือกัน ฆ่าฟันพวกจีนสินหัวเสีย นักบวชทั้ง ๑๕ ปรึกษาเสร็จ จัดการงานคั่วข้าวไว้เป็นอาหาร เพื่อเตรียมการงานออกรบ ฤกษ์รุ่งนี้เช้านิมนต์อาจารย์เจ้าเข้าในโบสถ์ ท่านสั่งสามเณรบิดาข้าให้เตรียมพร้อม ตะกรุดทิศหมอนตอนเช้าเข้าพิธี ถึงเวลาท่านปลุกเสกเลขยันต์กันตัว ให้แจกตะกรุดทิศหมอนคนละดอกบอกเวลา ฤกษ์งามยามดีมีตบะรีบจากวัดวาอารามไป อ้ายริ่นมึงอายุมากเป็นแม่ทัพกำกับพล รีบจรดลเดินทัพไม่กลับหลัง ถึงหน้าวัดทุ่งนาพากันหยุด สมมุติทำพิธีข่มนามตามท่านสั่ง ตั้งรูปหุ่นลงฟันบั่นเกศา เดินทัพมาไม่หยุดยั้งอย่างทหาร มุ่งตรงไปทุ่งนาหาข้าศึก
จีนเห็นไทยน้อยหรอยมือหว่า ยกพลมาน้อยตัวกลัวอะไร วิ่งวุ่นชุลมุนกันเข้ามา พุ่งศาสตราหอกง้าวเข้าหาไทย นายริ่นแม่ทัพใหญ่ใจเด็ดขาด ให้โอวาทใครถอยทัพกูจับฆ่า พวก ๑๔ คนคงกระพันขันต่อสู้ เกิดลำพองคะนองศึกไม่นึกกลัว กูตัดหัวเซ่นธงไชยใจฉลอง แม่ทัพได้ยินสำเนียงเสียงเพื่อนรับ บังคับแยกแตกปีกกาออกสามกอง ตอนละ๔และ๕พากันเดิน ได้ทีพุ่งตรงพงเข้าฟันบั่นหัวเสีย เพราะพี่ไทยใจเด็ดไม่เข็ดขาม ท่านอาจารย์ท่านดีเลิศประเสริฐนัก ช่วยพิทักษ์รักษากายาอยู่ เหวยพวกเราอย่าพรั่นฟันศัตรูให้อยู่มือ ฟันตบะน่องพุงเสีย จีนร้องอ้ายยาทยอยถอยหลังกลับ หนีทัพทิ้งเพื่อนอยู่เกลื่อนกลาด ไทยรุกบุกฟันบั่นเกศา ฆ่าเล่นให้เห็นฝีมือลือถึงฟ้า ฝ่ายศัตรูถูกฟันไม่ทันตาย มันช่วยหามตามแซ่สกุล ตายหนึ่งกลายเป็นสามตามคาดหมาย ข้อนี้แหละศัตรูย่อมเสียเปรียบมาก พอเที่ยงเข้าจีนขอพักรบ๒ชั่วโมง เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ไทยเตรียมข้าวคั่วติดตัวมา พักรบรับประทานอาหารการกินนอน พักผ่อนใต้ร่มไม้ให้สบาย ชั่วโมงสายบ่ายลงจะตรงเวลา ได้ช่องโอกาสแล้วหนาพากันเดิน ลอดลัดตัดทางไปกลางซัง คอยบังร่างกายอย่าให้เห็น มุ่งตรงไปกองทัพจับมันฆ่า ห้าคนเข้ากุมอาวุธยุดให้มั่น สิบคนเข้าหาแม่ทัพกำกับเอง โห่ร้องก้องสามลาพากันเดิน
ถึงทัพใหญ่ไทยคอยดูอยู่ตั้งพัก มันเดินทยอยถอยกันมาหาอาหาร นั่งเป็นลำดับตามตำแหน่งแห่งผู้ใหญ่ แม่ทัพไทยจ้องแลให้แน่ใจ ผู้ใหญ่นั่งหัวแต่งตัวแปลก โน่นแน่มาไรๆไทยคอยท่า บั่นเกศาฆ่ามันเสียจีนโจรใหญ่ พอไปนั่งตรงหัวโต๊ะโยกตัวเล่น นายริ่นนำพลเข้ารุกบุกฟัน บากบั่นฆ่าให้สิ้นจีนแม่ทัพ ส่วนพลพรรควิ่งหากองอาวุธ ไทยยุดยืนคอยท่าฆ่ามันเสีย พุ่งหอกง้าวหลาวแหลนเล่นเข้าหา อ้ายยาหว่าสีคราวนี้หนา ไทยเหนื่อยอ่อนหย่อนกำลังวังชา ฝ่ายแม่ทัพจับดูอยู่กับตา จึงสั่งว่าถอยทัพกลับวัดวา ฝ่ายจีนวิ่งวุ่นชุลมุนใหญ่ ไม่มีผู้ใดบัญชาว่าสั่ง พลุกพล่านลั่นทั้งกองร้องอ้ายยา ทัพไทยมาถึงวัดนัดประชุม หนุ่มแก่เฒ่ารุมรับอาสาฆ่าจีน จัดคนไปแจ้งทุกแห่งเรือน ไทยดีไทยกลางวิ่งวางมา รับอาสาอกศึกไม่นึกหนี ราไวย์นายเผือกไทยใจทหาร รุ่งสว่างรางๆมาคุมทัพกำกับพล ๕๐คนเข้าวัดจัดพล กะตะและกะรนนายทรายชายฉกรรจ์ ก็พลันมาทันในตอนเช้า คุมพลมา๖๐ทัดจัดเข้ากอง ฉลองได้๑๒๐ทัดไม่ขัดสน แบ่งรับขยับได้ ๓ กอง หนึ่งฉลอง ๙๐ ทัดเต็มอัตรา ปีกขวานายเผือกใหญ่ใจทหาร เคยล้างผลาญผู้คนจนโด่งดัง ปีกซ้ายนายทรายชายฉกรรจ์ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ตามกำหนด
จีนยกทัพมาแต่เช้าเข้าบุกไทย ไทยรู้ตั้งรับจัดทัพไว้คอยท่า แม่ทัพสั่งแยกปีกกาซ้ายขวา ล้อมเข้าไว้ได้จังหวะกะเข้าที่ จีนเห็นไทยน้อยตัวไม่กลัวเกรง ร้องตะเบ็งส่งเสียงเพียงทะลาย ส่วนไทยมุ่งเขม่นจะเข่นฆ่า จีนวิ่งมาไทยเวียนเปลี่ยนล้อมตรงเข้าหา ล้อมเป็นวงเดือนเตือนให้ฟัน บุกบั่นเลือดแดงแสยงขน ตะลุมบอน ๓ ทัพขับเข้าพร้อม ฟันล้อมเข้ามาไม่ปราณี อุตลุดชุลมุนวุ่นกันใหญ่ จับได้มัดไว้ ๒๘ คน จีนแหกแตกทัพกลับบนสวน ไทยนำเชลยมาวัดจัดถวาย มุ่งหมายหวังดีให้มีชื่อ ท่านว่ามึงหรือจะเอาหวายให้ผู้คุม รีบเอาไปปล่อยให้พ้นเขต จึงจูงเชลยมาถึงโคกหล่ออิฐหน้าวัดจัดประหาร
รุ่งขึ้นวันที่ ๔ ตอนเช้า จีนยกพลเข้ารายล้อมวัด ท่านลงมารับข้าศึกด้วยไม้เท้า ห้ามมิให้จีนเข้ามาจะทุบตี จีนเห็นว่าท่านองค์เล็ก แต่ถือไม้เท้าโตเท่าลำตาลโตนด เห็นบุญฤทธิ์ผิดคนทั้งหลาย จะบุกรุกเข้าทำร้ายคนซึ่งมาพึ่งบารมีท่านไม่ได้แล้ว ก็ถอยทัพกลับมารบทัพไทย ซึ่งตั้งซุ่มอยู่ข้างวัด ไทยกับจีนตะลุมบอนกัน คนซึ่งอยู่ในบริเวณขึ้นดูที่สูง เห็นจีนเป็นอันตรายมากหลาย เพราะไทยรุกบุกบั่นเข้าฟันฟาด หัวขาดมือขาดเลือดลาดแดงทุกแห่งดิน
พอจวนเที่ยงจีนเบี่ยงขยายทัพ ขอรับอาหารการกินอยู่ ไทยรู้เท่าเข้าพันตูอยู่ไม่ขาด แม่ทัพกลับสั่งบังคับ การล้างผลาญศัตรูให้อยู่มือ ผู้ใดถอยหลังสั่งตัดหัวอย่ากลัวเกรง เราพี่น้องร่วมท้องเหมือนท้องเดียว เชิญรุกรบบุกฟันเข้าบั่นหัว จีนอ่อนเพลียหิวข้าวหน้าเศร้าหมอง ถอยทัพยุบยับไปทั้งกอง ทัพแตกแยกไม่เป็นขบวน จอมทัพขับพลรุกบุกเข้าฟัน โรมรันเฮฮาฆ่ามันเสีย ระดมพร้อมมือกันฟันเข้าไป เมียเป็นม่ายได้ใครก็ช่างหัว จีนตกใจงัดงกตกประหม่า วิ่งเป็นบ้าในวงล้อมอยู่พร้อมกัน ไม่คิดสู้รบเที่ยวหลบหนี ไทยรุกบุกฟันกันเฮฮา ตายลงเกลื่อนกลาดอนาถจิต เพราะชีวิตไม่ใช่เล่นเห็นกับตา นายหนูบอกว่าฆ่าด้วยมีดตอกบอกตรงๆ ฉันไม่หลงท่านเล่าอายุย่างสิบห้าปี ที่กุฏิท่านพระครูแขวงเพราเราเป็นศิษย์ กุฏิอยู่อาคเนย์ไม่เหหาย ชื่อวัดมงคลนิมิตรสถิตอยู่หมู่ตลาดใหญ่ จีนพุ่งหอกง้าวสักเท่าใด คนไทยรบรับกลับไม่เข้า ถือว่าอาจารย์ดีมีอาคมบรมครู ศิษย์ต่อสู้ไม่ย่อท้อต่อไพรี เนื้อดีอยู่ยงคงกระพันฟันไม่เข้า จีนแตกแยกเป็นกลุ่มไทยรุมฆ่า วิ่งไปบนสวนชวนกันหนี ไทยไล่ชิดติดมาบ้านท่าแครง
ไทยย้อนทัพกลับหลังยังฉลอง เสียงกึกก้องชัยโยโห่กัน ถึงทับร้างตั้งบนสวนชวนกันตรวจ พบอาหารตั้งบนเตาเขาไม่ยก ท้องอยากปากห้ามว่าอย่ากิน ลองชิมแต่น้อยค่อยพิเคราะห์ สมเหมาะยาเบื่อเนื้อหมูต้ม เทวดานำให้พบประสบตะเกียบงา เอามาลองจิ้มของแล้วลองชิม แคล้วคลาดเครื่องเมาเขาใส่ไว้ กินกันให้พุงตึงเหมือนขึงหนัง นายหนูมาพบฝิ่นถังใหญ่ใจสบาย โวยวายหายโกยเยี้ยนอาเพี้ยนแล้ว เพื่อนวิ่งมากลุ้มรุมแลเห็นยาฝิ่น กูชิมดูสักหน่อยถอยออกไป มึงเข้ากูเข้าแลบลิ้นกินแต่น้อย แก้โกยเยี้ยนอาเพี้ยนเมา รอให้ถึงวัดวาข้าจะแบ่งปัน จัดสรรกินกันควันโขมงทั้งโรงครัว เคลื่อนทัพกลับหลังยังวัดวา สารพากึกก้องทั่วทุ่งนา
มาถึงวัดเล่าเหตุการณ์อาจารย์ฟัง เสร็จแล้วแม่ทัพรับสั่งเข้าประชุม ปรึกษาว่าเขยจีน กินหมากให้สิ้นเป็นคนไทย ใครไม่ทำตัดหัวเสียเมียเป็นม่าย ท่านห้ามไว้กูระงับลำดับเอง ใครไม่ทำตามคำสั่งสอน กูบอกก่อนเฆี่ยนหลังสั่งไว้ ขอรับรองพร้อมกันตามบัญชา พ่อท่านสั่งมาข้านับถือ เริ่มปฏิบัติไม่ขัดตามวาจา กินหมากกินพลูมาทุกผู้คน จีนซั่วจีนอู่อยู่เป็นพยาน ถิ่นฐานบ้านวัดใหม่เป็นไทยสิ้น ข้าศึกแตกทัพยับเยินมา ไทยรอล้า ๑๕ ราตรีไม่มีข่าว เรื่องราวยกทัพกลับบนสวน ไทยชวนกันลงมาหาอาหารการกิน ในถิ่นทุ่งคามากมายผู้คน บ้างประสบพบคู่หมู่ไพรี ใจดีพูดจาอัชฌาสัย หวาดกลัวคนไทยใจกล้าหาญ ล้างผลาญฟันแทงไม่เข้า คนไทยมีคาถาฆ่าไม่ตาย พ่อท่านลื้อให้วิชาหว่ารู้แล้ว เมื่อคนข่าวลงมาสืบได้ความชัด กลับวัดแจ้งการงานหยุดรบ ประชุมปรึกษาให้พากันกลับ ประน้ำมนต์ให้ทั่วขอความสุขทุกคน โรคาพยาธิให้แคล้วคลาด สิ่งอุบาทว์จังไรไกลมึงเอ๋ย นับตั้งแต่ครั้งนั้น จีนในเมืองภูเก็ตก็เกรงกลัวบุญบารมีพ่อท่าน เมื่อท่านมีกิจธุระลงมาในเมือง จีนเห็นเข้าก็ลงมาคุกเข้าบูชา เกรงกลัวหนักหนาวาจาสิทธิ์ โฮ่ยเซียวเท่าเจ้าวัดฉลอง ใครเห็นใครกลัวขนหัวพอง นั่งยองๆยกมือทั้งสองไหว้ ทุรพลคนเข็ญใจไม่เลือกหน้า บูชาไม่ว่า ณ แห่งไหนฝรั่งมังค่าและแขกไทย เกรงกลัวไปถึงเมืองนอกปีนังสิงคโปร์เคยนิมนต์ ปราบไข้ได้ผลคนนับถือ เลื่องชื่อลือชาวาจาสิทธิ์ ประน้ำมนต์ทำได้ให้ทุกคน แผ่ผลบารมีดีหนักหนา เพราะท่านดีมีอากาศประหลาดนัก รู้จักเห็นบ้างตั้งตรงไหน ลักษณะอากาศเป็นอย่างไร คือใครได้เคยเห็นเป็นขวัญตา
ข้าพเจ้าได้เข้าอยู่ในวัดฉลอง เมื่ออายุได้ ๗ ปี (ขณะนี้อายุได้ ๗๐ แล้ว ) ได้ไปนอนที่ปลายตีนของพ่อท่านแช่มเป็นประจำ เมื่อท่านมีธุระ ข้าฯเป็นผู้ได้รับใช้เสมอมา ถ้าหากว่าเขานิมนต์ท่านเข้ามาในเมือง ข้าฯเป็นผู้ติดตามมิได้ขาด จนกระทั่งพ่อท่านเจ็บป่วยลงอาพาธหนักเข้า ข้าฯได้เป็นผู้ได้อยู่พยาบาลจนถึงวันมรณภาพ เวลานั้น ข้าฯอายุได้ ๑๓ ปี เดือน๔ ปีระกา ปลายปี ได้ทำเมรุฌาปนกิจท่าน พระอริยมุนีฯ เจ้าคณะมณฑลได้ชักลำนำและจุดศิลาหน้าเพลิงเป็นบุคคลแรก ในงานฌาปนกิจนี้ พระครูศรีขรรัฐสมณคุณ รองเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งสานุศิษย์ของท่านเป็นเจ้าภาพ และเจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตร เมื่อทำศพเสร็จแล้ว ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิวงษาจารย์ฯ เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตแทน
ความเรื่องจีนรบกับไทยนั้น ตาขุนบำรุง ( เผือก ราไวย์ ) กับตาเจ้าหนูน้ำผึ้งวัดมงคลนิมิตร ผู้ได้ออกรบเป็นผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ซึ่งเวลานั้นข้าฯอายุได้ ๑๕ ปี ลงมาอยู่ที่กุฏิพระครูแขวง ( เพรา ) เล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนวรสิทธิ์ แม่ทัพซึ่งได้แก่นายริ่น ผู้บัญชาการรบ ภายหลังได้อุปสมบท เมื่อสึกจากพระแล้ว ได้เป็นขุนราษฎร์บัญชา แม่ทัพปีกขวาได้แก่นายเผือก ( ราไวย์ ) ภายหลังได้เป็น ขุนบำรุงราษฎร์ ส่วนแม่ทัพปีกซ้ายได้แก่นายทราย ( กะตะกะรน ) ภายหลังได้เป็น ขุนอินทร์เดชา
จัด สาลีบุศย์
บ้านฉลอง ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗
คัดลอกจาก :
จัด สาลีบุศย์ ( ๒๕๐๗ ) เกล็ดประวัติหลวงพ่อเจ้าวัดไชยธาราราม (ฉลอง) และพระครูวิสุทธิวงษาจารย์ฯ (หลวงพ่อแช่ม) ภูเก็ต : โรงพิมพ์ทวีสิน
หนังสือนี้ พิมพ์ครั้งแรก ๑๒๐๐ เล่ม นายรัตน รักตะจิตระการ และนายศิระ รักตะจิตระการ พิมพ์ถวายโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อสมทบทุนสร้างพระวิหารประดิษฐานหลวงพ่อเจ้าวัด ( นอก ) ขออุทิศส่วนกุศลผลบุญในครั้งนี้แด่บรรพบุรุษและบรรดาญาติพี้น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยทั่วกัน
หมายเหตุ
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟ ขนาด ๑๖ หน้ายก เมื่อนานวันเข้าย่อมเปื่อยยุ่ย และพิมพ์จำนวนน้อย ปัจจุบันคงเหลือน้อยมาก เพื่อรักษาเนื้อหาที่ทรงคุณค่าไว้ จึงกราบขออนุญาตท่านเจ้าของบทความ นำมาพิมพ์ตามต้นฉบับ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
|