เจ้าพระยาสุรินทรราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ )
เจ้าพระยาสุรินทรราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ ) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้งแปดเมือง ได้แก่ เมืองถลาง เมืองภูเก็จ เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองก็รา เมืองคุระ เมืองพังงา เมืองคุรอด ในปีพ.ศ. ๒๓๒๗ ต่อจากเจ้าพระยาอินทวงศา
เจ้าพระยาสุรินทรราชา เดิมชื่อ จันทร์ เป็นบุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๒๗๖ ๒๓๐๑ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นายจันทร์เป็นมหาดเล็กเป็นที่ หลวงฤทธิ์นายเวร ได้ภรรยาเป็นหลานหลวงนายสิทธิ์นายเวร ( นายศักดิ์ นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช เป็นบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก นายเวรเป็นตำแหน่ง) ทั้งสองคน คงรับราชการปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษแล้วต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ กรมขุนพรพินิตครองราชย์ไม่ถึงปี คือปีพ.ศ. ๒๓๐๑ ๒๓๐๒ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ พ.ศ. ๒๓๐๒ ๒๓๑๐ ทั้งสองมองเห็นเหตุการณ์ในพระราชวังว่า ไม่น่าจะอยู่ได้คงเสียเมืองแก่พม่าเป็นแน่ นายสิทธิ์เดิมชื่อ พัฒน์ เป็นบุตรเขยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ท่านนี้ตั้งตนเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ภายหลังเสียกรุงพ.ศ. ๒๓๑๐ เจ้าพระยานครจึงตั้งนายฤทธิ์ เป็นพระอุปราชเมืองนคร ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ทรงเห็นว่า เจ้าพระยานครได้กระทำเช่นเดียวกับพระองค์คือตั้งตนเป็นเจ้า เพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้สงบสุข เจ้าพระยานครมิได้เป็นข้าในพระองค์ จึงถือว่าไม่มีความผิด ทั้งสองคนจึงถูกนำตัวเข้าเมืองหลวงกรุงธนบุรี
ครั้นถึงเมืองหลวงจึงทรงแต่งตั้งพระอุปราชจันทร์ ให้เป็น พระยาอินทรอัคราช จนถึงพ.ศ. ๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถูกสำเร็จโทษ รัชกาลที่ ๑ จึงทรงตั้งให้เป็น พระยาราชวังเมือง ในกรมช้าง แล้วโปรดฯให้เลื่อนเป็น พระยาสุรินทรราชานราบดีศรีสุริศักดิ์ที่ตำแหน่งสมุหคชบาลซ้าย แล้วโปรดฯให้ไปเป็น ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก ๘ เมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ พระยาสุรินทรราชาจึงอพยพครอบครัวลงมาที่เมืองถลาง ต่อมาโปรดฯให้เป็น เจ้าพระยาสุรินทรราชาอธิบดีศรีพิชัยสงครามรามภักดีพิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองทั้ง ๘ ผู้มีอำนาจเต็ม ในปีเดียวกันนี้ทรงตั้งเจ้าพัฒน์ เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชฯ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชด้วย
เมื่อมาอยู่เมืองถลาง จึงได้สร้างความคุ้นเคยกับพระยาราชกปิตัน ก่อนที่พระยาราชกปิตันจะอพยพไปอยู่เมืองไทรบุรีในปีเดียวกัน จึงได้มีหนังสือโต้ตอบกันตลอด ดังหนังสือฉบับหนึ่งว่า หนังสือท่านเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางบางคลีทั้ง ๘ หัวเมือง มาถึงพระยาราชกปิตัน ด้วยพม่ายกกองทัพมาครั้งนี้ เดชะพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกเกล้าปกกระหม่อม แลทะแกล้วทหารชาวเมืองถลาง ได้รบพุ่งต้านต่อด้วยพม่า รั้งรากันอยู่ถึงเดือนหนึ่ง ฝ่ายพม่าล้มตายเจ็บป่วยลงประมาณ ๓๐๐ ๔๐๐ คน พม่ายกเลิกแตกไป แต่ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง สัปตศกนั้น แต่บัดนี้ ฝ่ายชาวเมืองตะกั่วทุ่งบางคลี เป็นเมืองเชิงทรง บ้านเรือนเรี่ยรายกันอยู่ พม่าเผาข้าวเสียเป็นอันมาก ข้าวขัดสนเห็นไม่พอเลี้ยงบ้านเมืองไปจนจะได้ข้าวในไร่ในนา ให้พระยาราชกปิตัน เห็นแก่การแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสืบไป ให้ช่วยจัดแจงนายเรือแลสลูป ลูกค้าบรรทุกสินค้าแลข้าวมาจำหน่าย ณ แขวงเมืองตะกั่วทุ่งบางคลี แต่พอจะได้เจือจ่ายไปแก่ราษฎรๆจะได้ทำไร่นำสืบไป... จดหมายฉบับนี้เขียนเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน๕ ปีมะเมีย อัฐศก ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน จ.ศ. ๑๑๔๘ พ.ศ. ๒๓๒๙ เข้าใจว่าได้ไปตรวจการเห็นความขัดสนอาหารและเครื่องบริโภค จึงทำหนังสือถึงพระยาราชกปิตัน
ในปีพ.ศ. ๒๓๓๓ได้ข่าวว่าแขกเมืองไทรบุรีจะยกทัพไปตีเมืองเกาะหมาก จึงได้มีหนังสือไปบอกถึงความเป็นห่วง พร้อมทั้งสั่งซื้อปืนดินประสิวส่งเข้าไปเมืองถลางด้วย และหนังสือพ.ศ. ๒๓๓๔ เจ้าพระยาสุรินทรราชากับพระยาถลางเทียนมีไปถึงว่ากองทัพเมืองไทรบุรีเลิกราไปแล้ว หนังสือฉบับเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. ๒๓๓๕ เล่าถึงพ่อจวนทำเรือรบที่บ้านคอกช้างและส่งพระราชทรัพย์เข้ากรุงเทพฯเป็นอันมาก จึงทำให้มีดีบุกที่จะซื้อขายให้พระยาราชกปิตันน้อยลง
ครั้นถึงพ.ศ. ๒๓๓๗ เมื่อเจ้าพระยามหาเสนา อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพระกลาโหมยกทัพไปเมืองทวายแล้วหายสาบสูญไปนั้น ทรงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรินทรราชาเข้ากรุงเทพฯเพื่อรับตำแหน่งสมุหะพระกลาโหมแทน เจ้าพระยาสุรินทรราชาจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
เจ้าพระยาสุรินทรราชาจึงเข้าเฝ้า พร้อมขอพระบรมราชานุญาตให้ตนกลับไปรับราชการในตำแหน่งเดิม โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว อีกประการหนึ่งจะได้ไปตัดทางขนพระราชทรัพย์มาที่เมืองหลวงให้เร็วขึ้น จะได้ไม่สูญหายกลางทาง ด้วยพระราชทรัพย์จากเมืองพังงา ถลางและตะกั่วทุ่ง เดิมใช้เวลาเดินทางผ่านเขาสกมีแก่งมากน้ำเชี่ยว ทางกันดารพระราชทรัพย์จมน้ำหลายครั้ง ถ้าหากตัดทางใหม่เป็นเดินทางบกใช้เวลาเพียงสองคืน ไม่ลำบากนัก เมื่อถึงท่าพนมก็ล่องเรือถึงพุนพินแล้วออกพุมเรียง พร้อมกับขอพระราชทานช้างจากเมืองนครศรีธรรมราช ๑๐ เมืองไชยา ๑๐ ให้หลวงพิพิธคชภัณฑ์เป็นนายกองคุมช้างส่งพระราชทรัพย์ ทรงอนุญาต
เจ้าพระยาสุรินทรราชาจึงลงมาให้ขุนพิมลสมบัติ ขุนเพชรคีรี ขุนศรีสงคราม ตั้งทำการอยู่ที่ปากพนม ตั้งแต่ทางคลองมลุ่ยถึงตำบลปากลาวให้หลวงฤทธิสงครามเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนด่านทั้งห้าคือ ด่านเชิงเขานางหงส์ ด่านกระดาน ด่านทุ่งคา ด่านมลุ่ย ด่านปากพนม เจ้าพระยาสุรินทรราชาเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นพระราชทรัพย์จากเมืองถลาง พังงาและตะกั่วทุ่งขนทางใหม่นี้ ส่วนที่ตะกั่วป่าให้ใช้เส้นทางเขาสก
แล้วเจ้าพระยาสุรินทรราชาจึงให้ ขุนศรีสมโภชน์ถือหนังสือไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แจ้งเรื่องดังกล่าว ฝ่ายเจ้านครขออย่าให้เจ้าพระยาสุรินทรราชาแต่งตั้ง หลวงขุนหมื่นเลย เพราะลักลั่นกัน แต่เจ้าพระยาสุรินทรราชาไม่ยอม เพราะตนมีอำนาจตามรับสั่ง และควบคุมดูแลหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ และยังมีพระยาประสิทธิสงครามจางวาง ทั้ง ๘ หัวเมืองด้วย
เจ้าพระยาสุรินทรราชามีบุตรธิดาหลายคน เช่น นายจุ้ย ได้เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ พระยาพัทลุง พ.ศ. ๒๓๘๒ ๒๓๙๓ บุตรคนหนึ่งชื่อนายอิน บุตรชายเป็นพระยาวรวุฒิไวย ( น้อย ) พระยาพัทลุง พ.ศ. ๒๔๑๒ ๒๔๓๒ นายเริก หรือ ฤกษ์ เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธืประสิทธิสงคราม พระยาถลาง พ.ศ. ๒๓๘๐ คุณหญิงเพ็ชราพิบาล ภรรยาพระยาหนองจิก ( พ่วง ณ สงขลา )
พระยาอภัยบริรักษ์ ( เนตร ) จางวางเมืองพัทลุง ผู้พี่กับ หลวงจักรานุชิต ( พิน ) ผู้น้อง ได้ขอพระราชทานนามสกุล เป็น จันทโรจวงศ์ ประกาศเป็นครั้งที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นลำดับที่ ๑๓๗๑
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒
Title : Chaopraya Surintharacha ( Chan Chantarotvong )
: Somboon Kantakian
|