พระยาราชกปิตัน ( Sir Francis Light )

พระยาราชกปิตัน ( Sir Francis Light )
พระยาราชกปิตัน หรือ เซอร์ ฟรานซิส ไลต์ ( Sir Francis Light ) เป็นชาวเมืองซัฟฟอล์ก (Suffolk ) ประเทศอังกฤษ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๗๓ มารดาชื่อแมรี ไม่ทราบชื่อบิดา เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซกฝอร์ด ( Seckford Grammar School ) เมืองวูดบริดจ์ เมื่อพ.ศ. ๒๒๙๐
ในปีพ.ศ. ๒๒๙๗ ได้รับราชการเป็นทหารเสนารักษ์ ต่อมา ได้เป็นนักเรียนนายเรือประจำอยู่ในเรือ H.M.S. Arrogant รับราชการอยู่ในราชนาวีอังกฤษ มียศเป็นนายเรือโท แล้วลาออกเมื่อพ.ศ. ๒๓๐๖
เมื่อพ.ศ. ๒๓๐๘ได้เดินทางไปเมืองบอมเบย์ กัลกัตตาและมัดราสในอินเดีย ได้สมัคร เป็นนายพาณิชสังกัดบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ โดยเป็นนายกัปตันเรือคลิฟ ซึ่งแล่นระหว่างท่าเรือชายฝั่งอินเดียกับคาบสมุทรมลายู ขณะนั้นอายุประมาณ ๓๒ ปี
หน้าที่ของเขานอกจากการเป็นกัปตันเรือแล้ว ยังเป็นพ่อค้าด้วย ด้วยการเป็นพ่อค้าขายอาวุธชนิดต่างๆรวมทั้งอุปกรณ์การรบ การค้าฝิ่นโดยเอามาจากอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังขายของกินของใช้ทุกประเภท เช่น ผ้าชนิดต่างๆ ตามแต่ลูกค้าจะสั่ง เขามีความสนิทสนมกับพระยาถลางพิมล ครอบครัวของคุณหญิงจัน และได้ภริยาเป็นชาวเมืองถลาง คือมารดาเป็นชาวเมืองถลางส่วนบิดาเป็นชาวโปรตุเกส นางชื่อ มาติน่า โรเซลล์ (Martina or Martinha Rozells) เขาตั้งบ้านเรือนและเป็นห้างเก็บสินค้าไปด้วยในตัว ที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ ซึ่งมีกลุ่มชาวตะวันตกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากการที่เขาอยู่เมืองถลางถึง ๙ ปี เข้าใจว่าคงรู้ภาษาไทยดีพอใช้ รวมทั้งภาษามาเลย์ ฝ่ายภรรยาได้ให้กำเนิดบุตรสาวคือ ซาร่าห์ ที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ
เมื่อ มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกสำเร็จโทษ เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๔ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชย์ ในเวลานั้นพวกขุนนางที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ ๑ รับสั่งให้พระยาธรรมไตรโลกข้าหลวงลงมาสืบสวนเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตกในข้อหาเป็นขบถต่อแผ่นดิน เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๗ พระยาธรรมไตรโลกอ้างท้องตราหาว่าพระยาราชกปิตันได้ค้างเงินหลวงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงให้กรมการเมืองถลางหักเอาเงินไว้ ทำให้พระยาราชกปิตันโกรธเคืองมาก เพราะไม่เป็นความจริง พระยาราชกปิตันจึงอพยพครอบครัวไปเมืองไทรบุรีประมาณพ.ศ. ๒๓๒๗ ในขณะที่ภรรยาตั้งครรภ์
จาก จดหมายติดต่อระหว่าง ฟรานซิส ไลต์ กับบุคคลต่างๆ ในเมืองถลาง แสดงว่า แต่เดิม กัปตันไลต์ได้ตั้งห้างค้าขายอยู่ที่เมืองมังคลา (บังกล่า หรือ เบงกอล) ในอินเดีย นอกจากนี้ห้างเป็นของตนเองแล้ว ยังมีเรือสินค้าของตนแล่นไปมาค้าขายตามเมืองท่าระหว่างอินเดียกับชายฝั่ง ตะวันตกของไทย ตลอดแหลมมลายูถึงเมืองมะละกา ปัตตาเวีย เมืองอาเจ๊ะ จากการที่ได้แล่นเรือไปมานี่เอง กัปตันไลต์เห็นว่าสถานีการค้าที่เมืองบันกุลัน สุมาตราไม่เหมาะแก่การจอดเรือและแล่นเรือในฤดูมรสุม จึงได้คิดหาท่าเรือใหม่ให้เหมาะสมจึงเห็นว่า เกาะหมากหรือปีนัง กับเกาะถลาง เป็นท่าเรือที่ดีจึงได้เสนอไปยังบริษัทอินเดียตะวันออก ขั้นแรก กัปตันไลต์ได้ไปตั้งห้างอยู่ที่เมืองไทรบุรีก่อน โดยเป็นตัวแทนของบริษัท เมื่อได้โอกาสจึงเจรจากับพระยาไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๑๔ พระยาไทรบุรีตกลงว่า ตนจะยกดินแดนตอนชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปากน้ำเคดะห์ไปจนถึงหน้าเกาะหมากให้ ถ้าอังกฤษจะช่วยป้องกันการรุกรานจากสลังงอและไทย ฟรานซิส ไลต์ จึงไปเจรจากับผู้อำนวยการบริษัทที่เมืองกัลกัตตา แต่ทางบริษัทไม่สามารถจะรับสัญญาดังกล่าวได้
เมื่อ ไม่ได้เกาะหมาก ฟรานซิส ไลต์ จึงเดินทางมาอยู่เมืองถลางตั้งห้างค้าขายที่นี่ และจากการที่ได้คบกับเจ้าเมืองและกรมการเมืองถลาง ฟรานซิส ไลต์จึงได้จัดข้าวของได้แก่อาวุธปืนส่งเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงอนุญาตให้จัดซื้อขายดีบุกได้ และได้พระราชทานดีบุกจำนวน ๑๐๐ ภารา ให้เป็นทุน และด้วยความดีความชอบจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชกปิตัน ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๐
ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ พระยาราชกปิตันได้ติดต่อไปยัง ลอร์ด เฮสติงส์ ที่เมืองกัลกัตตา เพื่อเสนอให้ยึดเกาะถลางเป็นสถานีการค้า แต่ เฮสติงส์ มีความจำเป็นต้องกลับไปยุโรปเกี่ยวกับเรื่องสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เรื่องดังกล่าวชงักแค่นั้น ครั้น ถึง พ.ศ. ๒๓๒๙ ได้เปลี่ยนผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกใหม่เป็น ลอร์ด คอร์นอวอลลิส พระยาราชกปิตันได้ไปเจรจากับพระยาไทรบุรีใหม่ คราวนี้ได้ผลคือพระยาไทรบุรีให้อังกฤษเช่าเกาะหมากได้
ตาม ความเป็นจริงแล้วเมืองไทรบุรี และเกาะหมากขณะนั้นเป็นเมืองท่าตั้งสถานีการค้าและตัวเองเป็นเจ้าเมืองเกาะหมากด้วย และตั้งชื่อเกาะเสียใหม่ว่าเกาะปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ จากสัญญาที่ไม่แน่นอนทำให้เข้าใจผิดเกิดขึ้น พระยาไทรบุรีจึงขอยกเลิกและยกทหารไปขู่พระยาราชกปิตัน ฝ่ายพระยาราชกปิตันได้ขัดขวางและเกิดสู้รบกันขึ้นพระยาไทรบุรีแพ้ต้องยอมเสีย ค่าชดเชยให้อังกฤษปีละ ๖๐๐๐ เหรียญเสปน เรื่องพระยาไทรบุรีเอาใจไปเผื่อแผ่พม่า ทางกรุงเทพฯ จึงให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบ เจ้าเมืองไทรบุรีหนีไปเกาะหมาก
เกี่ยวกับชีวิตของพระยาราชกปิตัน กล่าวกันว่าตอนที่พระยาราชกปิตันอยู่เมืองไทรบุรีนั้นได้ลูกสาวพระยาไทรบุรีเป็นภริยาด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีผู้หญิงอีก ๒ คนที่มีจดหมายไปถึงพระยาราชกปิตัน คือบุญจัน กับบุญแก้ว จากข้อความตอนหนึ่งของจดหมายของคุณบุญแก้วว่า ด้วย ข้าฯอยู่ทุกวันนี้ลำลึกถึงบุญพระคุณท่านทุกเวลา ซึ่งท่านทำไว้แต่ก่อน ข้าฯ หาลืมบุญคุณท่านไม่เลย แต่วาสนาข้าฯน้อยเอง ที่จะเป็นข้าพระคุณท่านนั้นไม่รอด (ตลอด) เหมือนหนึ่งเราเคยเก็บดอกไม้ประจวนกัน.... จะเห็นว่าคุณบุญแก้วกับพระยาราชกปิตันเคยมีความสัมพันธ์กัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงต้องแยกทางกัน เข้าใจว่าคุณบุญแก้วอาจเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองถลาง หรือไม่ก็เป็นบุตรสาวของคุณหญิงจัน คนที่ชื่อกิ่มก็ได้ ตามที่เคยเข้าใจกันว่าภริยาของพระยาราชกปิตันชื่อทองดีนั้น ที่จริงทองดีเป็นผู้ชายและเป็นหลานของพระยาทุกขราช (เทียน) หรือ พระยาถลางในสมัยต่อมานอกจากนี้พระยาราชกปิตันมีคนใช้ผู้ซื่อสัตย์ชื่อ เจ้ารัด อยู่เมืองถลาง และขุนท่า
ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ พระยาราชกปิตันได้เขียนจดหมายเล่าเรื่องของตนไปให้ มิสเตอร์จอห์นแมคเฟอร์สัน ผู้สำเร็จราชการที่บริษัทอินเดียว่า ผู้แทนคนหนึ่งจากประเทศสยามได้ไปหาพร้อมกับอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้า กรุงสยามมาแสดงไมตรี และพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับความประพฤติ ของข้าราชการบางคนของพระองค์ที่แสดงต่อพระยาราชกปิตันที่เมืองถลาง เจ้าพระยาลู (Choo Pia Loo) ถูกจับแล้วและขอให้พระยาราชกปิตันไปยังพระราชสำนักด้วยเพื่อรับพระกรุณา ดังจดหมายว่า
ด้วย มีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้ากระหม่อมออกมา ณ เมืองถลางว่า กรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฤาเจ้าราชกูลออกมาแต่ก่อนคิดอ่านหักเอาเงินของโตกพระยาท่านไว้ว่าโตก พระยาท่านติดเงิน แต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้านั้นนอกท้องตรา ซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูล ถือมา ทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึง นั้นทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวง แลกรมการเมืองถลาง ซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกับฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตกคิดถึงจะใคร่ได้พบโตกพระยาท่านปรึกษาราช กิจบ้านเมือง... เข้าใจว่า พระยาราชกปิตันคงจะไปเข้าเฝ้าตามรับสั่งณ กรุงเทพมหานคร
การ ติดต่อค้าขายกับเมืองอื่นๆ เช่น พัทลุง เจ้าเมืองพัทลุงคือ เจ้าพระยาแก้วโกรบพิชัยบดินทร์ศรีสุรินทร เดชชัยมไหศวรรย์อนันทพิริยภาปรากรมพาหะ มีหนังสือไมตรีไปถึงพระยาราชกปิตัน ท่านเจ้าเมืองได้ทราบกิตติศัพท์เลื่องลือไปว่า พระยาราชกปิตันได้มาตั้งค้าขายอยู่ที่เกาะหมาก หน้าเมืองไทรบุรีเป็นที่พึ่งพิงของแขกไทยจีนลูกค้านานาประเทศ จะได้จัดทำดีบุกที่เมืองตรังก่อนแล้วจึงค้าขายกันและได้ทราบข่าวว่าพม่าจ้าง ฝรั่งเศสให้ไปตีเมืองไทร เมืองถลางและเมืองพัทลุงอยู่ระหว่างกลางจึงซื้อปืนและดินปืนไว้ป้องกันเมือง หนังสือที่มีไปถึงพระยาราชกปิตันเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐
สำหรับ การติดต่อค้าขายกับเมืองถลาง พระยาราชกปิตันได้ให้กัปตันของตนแล่นสำเภาเข้ามาค้าขาย กัปตันเหล่านี้เป็นฝรั่ง บางคนพูดภาษากันไม่รู้เรื่องจึงต้องอาศัย ขุนล่าม ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามกัปตันที่คุมเรือมาเช่น กัปตันมิราเสน,กัปตันวิศโตน, กัปตันสะหวาด, กัปตันมังกู, กัปตันลิกี เป็นต้น
บุคคล ต่าง ๆ ในเมืองถลางที่มีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตันได้แก่ พระสิทธิสงคราม ออกหลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลัง,ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม, ท้าวเทพกระษัตรี, เมืองภูเก็ตหรือพระยาทุกขราช(เทียน), แม่ปราง, บุญจัน, บุญแก้ว, เจ้ารัด เป็นต้น
ดัง ที่ได้กล่าวแล้วว่า นอกจากจดหมายหรือหนังสือหรือหนังสือต่าง ๆ แล้วยังมีสัญญาการซื้อขายระหว่างลูกค้ากับพระยาราชกปิตันด้วย สัญญาเหล่านี้ผู้ทำมิได้ลงชื่อแต่ได้ขีดแกงไดไว้ (แกงไคคือ เครื่องหมายรอยกากบาทที่บุคคลไม่รู้หนังสือทำไว้แทนการลงชื่อ) สัญญาต่าง ๆ เหล่านี้มีแต่เมืองมังคลาเช่น สัญญาการยืมเงินของขุนทิพการีม ตัวอย่างหนังสือสัญญาการซื้อขายเช่น วัน เสาร์เดือนเก้าแรมค่ำหนึ่งปีจอเอกศก ข้าพเจ้านายไชยผู้ผัว อำแดงชอดผู้เมีย ขอทำหนังสือเปฯคำนับ เข้ามารับเอาข้าวสาร ๖ กุหนีคิดเปนเงิน ๓ แผ่น ๖ บาทพูกัน ข้าพเจ้ารับต่อห่มอมท่าน กว่าจะคืบหามาได้ ถ้าได้เมื่อใด จะส่งให้เมื่อนั้น ขอขีดแกงไดให้ไว้เป็นสำคัญ+ หนังสือนี้ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๒ คำว่า กุหนี คือ งุหนี หรือ กระสอบ นายไชยผู้นี้อยู่ บ้านลิพอน
ชีวิตครอบครัวของพระยากปิตัน ภายหลังจากที่อพยพไปอยู่เมืองไทรบุรีแล้ว ภรรยาได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สองเป็นชาย ชื่อ วิลเลียม ( William ) คนที่สามชื่อ แมรี ( Mary ) คนที่สี่ชื่อ แอน (Ann ) และคนสุดท้องชื่อ ฟรานซิส ลานูน ( Francis Lanoon ) แต่ละคนต่างมีครอบครัว ที่มีชื่อเสียงคือ วิลเลียม ไลต์ เป็นผู้ก่อตั้งเมือง แอ๊ดเหลด ( Adelaide ) ที่ออสเตรเลีย
พระยาราชกปิตัน มีชื่อเรียกขานตามจดหมายที่ปรากฏคือ กปิตันลาด พระยาราชกปิตันเหล็ก พระยาราช ท่านราชโต๊ะ แต่ฝ่ายเมืองถลางมักเรียก โตกพระยา ลาโตก คำว่า เหล็ก น่าจะมาจาก ไลต์ (Light) แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็น ลาด- เหล็ก ส่วนคำว่า ลาโตก น่าจะเป็น ลาโต๊ะ ดาโต๊ะ หรือ ราชโต๊ะ เป็นคำยกย่องเรียกของชาวมลายู
พระยา ราชกปิตันได้ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย จนถึงแก่กรรมที่เมืองปีนังเมื่อ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๗ อายุได้ ๖๔ ปี ศพฝังไว้ที่สุสานถนนจาลัน สุลต่าน อาห์หมัด ซาห์ ส่วนอนุสาวรีย์สร้างไว้ที่พิพิธภัณฑ์ปีนัง กล่าวกันว่า รูปปั้นของท่านใช้หน้าตาของบุตรชายป็นเค้า บุตรชายชื่อ วิลเลียม ไลต์
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕..
Title : พระยาราชกปิตัน ( Sir Francis Light )
: Somboon Kantakian
rev.&enl. 20/12/2018
ภาพประกอบ






******
ภาพบุตรชาย
นายวิลเลียม ไลต์

*****
|